|
ปัดฝุ่น 'สวนน้ำ-ทะเลกรุงเทพ''สวนสยาม'เปิดเกมรุกตลาดนอก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
มูลค่าเม็ดเงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปีที่ไหลเวียนเข้าสู่ธุรกิจสวนสนุกของเมืองไทยผสมกับยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีก 10% ในทุกๆปี เชื่อได้ว่าการมีอัตราการยอดรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสวนสนุกในเมืองไทยต้องปรับกระบวนยุทธ์เข้าฟาดฟันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจุดขายใหม่ประเภทเครื่องเล่นที่เริ่มเห็นภาพการแข่งขันที่ชัดเจนมากขึ้น
ปัจจุบันตลาดสวนสนุกในเมืองไทยจึงมีให้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆเพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้นที่เปิดให้บริการด้านเครื่องเล่น ที่ผ่านมาตำแหน่งทางการตลาดของ ดรีมเวิล์ด ดูจะชัดเจนในเรื่องของการใช้กลยุทธ์นำเครื่องเล่นมาเปิดให้บริการซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งโดยมียอดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน
ขณะที่ผ่านมาค่ายของสยามพาร์ค(สวนสยาม) แม้จะเริ่มขยับตัวเองเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาด หันมาเล่นจุดขายใหม่ด้วยการนำเครื่องเล่นมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแทนสวนน้ำ-ทะเลกรุงเทพ เพื่อเป็นการปลดล็อคทางการตลาดเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม
ล่าสุด การถูกกินเนส เวิล์ด เรคคอร์ด ร่วมกับสมาคมสวนน้ำโลก ยกให้เป็นทะเลเทียมใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็นจุดพลิกผันสำหรับเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศของสวนสยามไปแล้ว
ซึ่งแม้แต่ภาครัฐยังรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะนำสวนสนุกแห่งนี้ไปนำเสนอขายส่งเสริมการตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในแถบดูไบ เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวในตลาดตะวันออกกลางให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม- สิงหาคมศกนี้
ว่ากันว่าช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศในตลาดนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส สำหรับตลาดตะวันออกกลางนี้ เป็นตลาดใหม่และตลาดใหญ่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยมากกว่าตลาดยุโรปถึง 6 เท่า มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และท่องเที่ยวเป็นครอบครัว ซึ่งสวนสนุกแห่งนี้สามารถรองรับกิจกรรมได้ทั้งครอบครัว สำหรับทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกของประเทศไทย เป็นทะเลเทียมขนาด 13,600 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ใช้บริการในทะเลเทียมพร้อมกันได้ถึง 13,000 คน
ชัยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ บิ๊กบอสใหญ่ของสวนสยาม ยอมรับว่า แม้ต้องปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการตลาดใหม่ทั้งหมดโดยใช้ชื่อ 'สยามพาร์ค ซิตี้' เพื่อยกระดับสวนสนุกแห่งนี้สู่มาตรฐานสากลก็ตาม แต่การได้สถิติใหม่ว่าเป็นทะเลน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ บวกกับความพร้อมของเครื่องเล่นจากยุโรปและอเมริกาที่นำมาติดตั้งรวมถึง 17 ตัว โดยติดตั้งไปแล้ว 6 ตัว อาทิ ซูเปอร์เกลียวมหาสนุก, รถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่าน เป็นต้นนั้น กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่จะสามารถยกระดับสวนสยามได้ในระยะเวลาไม่น่าจะนานนัก
โดยเครื่องเล่นทุกอย่างจะแล้วเสร็จเต็มรูปแบบคาดว่าภายในกลางปี 2552 และหากเมื่อนับรวมกับเครื่องเล่นเดิมที่มีอยู่แล้วจะทำให้สวนสนุกแห่งนี้มีเครื่องเล่นมากถึง 47 ตัว
ขณะเดียวกันการมีจุดขาย 'สวนน้ำ' ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น 'สวนสนุก' ที่มีเครื่องเล่นเทียบเท่าสวนสนุกในระดับสากลจึงเชื่อได้ว่ากลเกมทางการตลาดต่อจากนี้ไปของสวนสยามจะเข้มข้นและมีสีสันต่างไปจากเดิม
แผนการตลาดของสวนสยามนับจากนี้ไปอาจจะเริ่มเปลี่ยนไป!... ภายใต้กระแสของการแข่งขันในธุรกิจสวนสนุกเมืองไทย กอปรกับการ 'รีแบรนดิ้ง' ครั้งใหญ่ของสวนสยามที่ให้ 'วายแอนด์อาร์' เอเยนซี่โฆษณาแถวหน้าเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์และรีแบรนดิ้ง พร้อมเตรียมงบการตลาดอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ซึ่งนับจากนี้ไปธุรกิจ 'สวนน้ำ' บวกกับ'เครื่องเล่น' จะสามารถเข้ามาเป็นตัวทำรายได้หลัก
ที่ผ่านมาสวนสยามมีรายได้รวมปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่มาจากสวนน้ำที่ยังไม่ได้รับการโปรโมตเท่าไรนัก ซึ่งปีที่ผ่านมามีคนเข้ามาใช้บริการเพียงแค่ 2-3 ล้านคน และหลังจากที่ติดตั้งเครื่องเล่นครบกอปรกับภาครัฐให้การสนับสนุนโปรโมตตลาดต่างประเทศเชื่อว่าจะทำให้คนที่เข้ามาเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท จากเดิมที่มีเพียง 200-300 บาท/คนเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้สวนสยามมี รายได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างมหาศาล
การปรับตัวของสวนสยามครั้งนี้ว่ากันว่าน่าจะส่งผลให้กับธุรกิจสวนสนุกไม่น้อยโดยเฉพาะคู่แข่งขันที่ชัดเจนอย่าง ดรีมเวิลด์ ที่ออกมายอมรับว่าต้องเตรียมปรับแผนการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้โดยหยิบใช้กลยุทธ์การลดราคาตั๋ว โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้า เพื่อเป็นส่วนลด เพราะถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อสร้างสีสันให้กับสวนสนุก โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น
ส่งผลให้ปลายปีที่ผ่านมาดรีมเวิลด์มีการเปิดตัวเครื่องเล่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 รูปแบบ ด้วยงบกว่า 200 ล้านบาท มีทั้งแบบผาดโผนที่รองรับกลุ่มวัยรุ่น และแบบตื่นตาตื่นใจในความแปลกใหม่และสวยงามของพันธุ์ไม้ต่างๆ อย่าง สวนสี่ทวีป เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ
การออกมาตอกย้ำแผนการตลาดที่สร้างความสำเร็จให้กับดรีมเวิลด์ครั้งนี้ กอปรกับปัจจุบันกระแสความต้องการของกลุ่มตลาดที่ชอบความท้าทายและความสนุกตื่นเต้นบนเครื่องเล่นแปลกใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น
เป็นที่สังเกตว่าแต่ละค่ายแบรนด์ในธุรกิจสวนสนุกจะสร้างความโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้นมา เพื่อต้องการที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งขาจรและขาประจำให้ได้มากที่สุด แน่นอนการสร้างกิจกรรมใหม่ๆหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจจึงกลายเป็นยุทธวิธีที่จะถูกนำมาใช้มากที่สุดสำหรับธุรกิจบริการแบบนี้ รวมไปถึงกลยุทธ์ของแต่ละค่ายจึงจำเป็นต้องฉีกหนีคู่แข่งให้ได้มากที่สุดเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|