คาร์ฟูร์เปิดตัวแบรนด์กลุ่มดิสเคานต์ใหม่อีกแล้ว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ห้างค้าปลีกชั้นนำของฝรั่งเศสอย่างคาร์ฟูร์ที่มีเครือข่ายร้านค้าอยู่ในประเทศต่างๆ จนได้ชื่อว่าเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดในด้านขนาดและใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในด้านรายรับ รองลงมาจากวอลมาร์ท ได้กลายมาเป็นห้างค้าปลีกอีกรายหนึ่งที่กำลังหันมาใช้กลยุทธ์การขยายแบรนด์ของตนเองเพิ่มขึ้น แทนที่จะมัวแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคนอื่นเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันฐานธุรกิจส่วนใหญ่ของคาร์ฟูร์อยู่ในภาคพื้นยุโรปจีน โคลัมเบีย บราซิล อาร์เจนติน่า และสาธารณรัฐโดมินิกัน โดยมีร้านค้าเปิดอยู่ในอเมริกาเหนือและบางส่วนของเอเชียด้วย

ห้างค้าปลีกคาร์ฟูร์ก็คงเหมือนกับห้างค้าปลีกอื่นๆ ที่ต้องหาทางออกให้กับธุรกิจและหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจที่คาร์ฟูร์เลือกที่จะขยายแบรนด์แบบดีสเคานต์ใหม่เพิ่มเติม เพื่อทำให้ส่วนของธุรกิจแบบดีสเคานต์สโตร์เติบโตต่อไป จนสามารถชดเชยการลดลงของปริมาณธุรกิจในส่วนอื่นได้

นอกเหนือจากแบรนด์คาร์ฟูร์แล้ว แบรนด์อื่นภายใต้การบริหารจัดการของผู้ประกอบการคาร์ฟูร์ได้แก่ เท็กซ์ (Tex) โคเฟ่ กรีน (Cofe Green) เฟิร์สไลน์ (Firstline) เดทิเนชั่น ซาโว (Destination Saveurs) ท้อปไบค์ (Top bike) แกรนด์ จูรี่ (Grand Jury) คาร์ฟูร์ไบโอ (Carrefour bio) เป็นต้น

ธุรกิจประเภทดีสเคานต์สโตร์ เน้นการจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาที่ร้านค้าปลีกทั่วไป ซึ่งสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่ได้มีเฉพาะสินค้าประจำวัน หากแต่ยังรวมถึงกลุ่มอัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าด้วย แต่เป็นแบรนด์เนมมีชื่อไม่ใช่สินค้าพวกโนเนม

การที่ห้างวอล-มาร์ท ครองตลาดอันดับ 1 ก็เพราะว่าแนวคิดของดีสเคานต์สโตร์ เป็นที่นิยมมากที่สุดในสหรัฐฯ นั่นเอง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งห้างค้าปลีกเน้นการสร้างปริมาณหรือยอดขายสูง ในขณะที่ยอดลดกำไรต่อหน่วยลงเหลือไม่มาก เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เอาเป็นเอาตายกับราคาที่ต่ำกว่าห้างอื่นเพียงไม่กี่สตางค์

มาถึงศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจย่ำแย่จนทำให้แนวคิดของดีสเคานต์สโตร์ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง และอาจเป็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตหรือดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ด้วยซ้ำ

เพียงแต่สมัยใหม่นี้ การดำเนินธุรกิจประเภทดีสเคานต์สโตร์ ไม่ได้มีทำเลที่ตั้งเหมือนเก่าๆ หากแต่เป็นการเปิดธุรกิจตามผ่านซูเปอร์เซนเตอร์ ที่มีสินค้าให้บริการหลากหลายและกว้างขวางกว่าร้านค้าปลีกแบบเดิม

กรณีของคาร์ฟูร์ การเปิดตัวแบรนด์ในลักษณะดิสเคานต์แบรนด์ ก็เพื่อนำเอาผลิตภัณฑ์ราคาถูกใหม่ๆ มาจำหน่ายเพิ่มเติมในธุรกิจส่วนนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่เติบโตทางธุรกิจในอัตราที่น่าพอใจ ในขณะที่เศรษฐกิจของฝรั่งเศสตกต่ำลงมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

ทั้งนี้ จึงมีการประเมินกันว่ากลยุทธ์ทางการตลาดในด้านการขยายแบรนด์ดิสเคานต์ของคาร์ฟูร์ น่าจะสร้างประโยชน์ทางธุรกิจในส่วนของการปรับปรุงและยกระดับภาพลักษณ์ของคาร์ฟูร์ในด้านการเปิดร้านค้าปลีกราคาถูกกว่าห้างอื่นๆ อีกทางหนึ่งด้วย

การเลือกว่าสินค้าใดจะเอามาอยู่ในกลุ่มดิสเคานต์แบรนด์บ้าง พบว่าห้างคาร์ฟูร์จะพยายามหลีกเลี่ยงสินค้ากลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยครอบคลุมกว่า 400 ผลิตภัณฑ์ โดย 80% เป็นกลุ่มอาหาร ที่เหลือเป็นสินค้าประจำวันในครัวเรือน

ปัจจุบันยอดการจำหน่ายของห้างคาร์ฟูร์มาจากตลาดภายในฝรั่งเศสเอง ประมาณ 40% ของยอดขายรวม และมีร้านค้าในฝรั่งเศสอย่างเดียวถึง 5,500 แห่ง ซึ่งร้านค้าที่ทำธุรกิจอยู่นี้ มีทั้งที่เป็นรูปแบบของไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคานต์สโตร์ และคอนวีเนียนช้อป

การเปิดตัวดิสเคานต์แบรนด์ใหม่ครั้งนี้ของคาร์ฟูร์ใช้ตลาดฝรั่งเศสเป็นตัวนำร่องก็จริง แต่ถ้าหากผลตอบรับออกมาดี เชื่อแน่ว่าคาร์ฟูร์คงจะขยายกลยุทธ์นี้ออกไปในตลาดอื่นๆ ในยุโรป อย่างเบลเยี่ยม ที่น่าจะเป็นเป้าหมายต่อไปจากนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.