การวางแผนที่เป็นระบบของกิจการขนาดย่อมทำกันอย่างไร!


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

องค์ประกอบซึ่งจะยกมากล่าวโดยสังเขปต่อไปนี้ล้วนแต่มีส่วนสัมพันธ์กับการวางแผนงานของกิจการอยู่ไม่มากก็น้อย อาจใช้เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารงานแต่ละด้านได้ และใช้วางแนวทางบริหารบุคลากรของบริษัทได้ด้วย

การกำหนดเป้าหมาย

กำหนดสิ่งที่บริษัทมุ่งหมายจะกระทำให้ชัดเจน โดยอาจครอบคลุมถึงสิ่งต่อไปนี้ได้แก่

- ประเภทและช่องทางธุรกิจที่ทางบริษัทสนใจจะดำเนินการ

- วิธีการโดยรวมที่บริษัทจงใจจะใช้ เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะของตัวเองให้ต่างจากคู่แข่งโดยเน้นในจุดที่บริษัทเข้มแข็งอยู่แล้ว

- จำนวนเงินและกำหนดเวลาในด้านการเงิน รวมทั้งวัตถุประสงค์อันสามารถประเมินได้อื่น ๆ

- บทบาทหน้าที่ที่บริษัทพึงมีต่อหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับทางบริษัท

- กำหนดปรัชญาการจัดการของบริษัทให้เป็นเอกภาพ

- จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายต่าง ๆ ที่ประดังกันอยู่

- คิดเผื่อสำหรับการศูญเสียที่อาจเป็นไปได้ตลอดจนปัญหาและความไม่แน่นอนที่อาจประสบเข้าและแผนงานที่วางไว้จะต้องมีการยืดหยุ่นได้

แผนการตลาด

วิเคราะห์ตำแหน่งการตลาดในปัจจุบันของบริษัท และมองถึงโอกาสที่บริษัทจะเลื่อนตำแหน่งการตลาดต่อไป โดยพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ ได้แก่

- แนวโน้มที่ดำเนินอยู่และลู่ทางในตลาดร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกที่ทางบริษัทติดต่อขายอยู่หรือที่กำลังหาช่องทางจะขายต่อไป กรณีนี้ครอบคลุมถึงส่วนแบ่งการตลาด ความต้องการของผู้ซื้อ เทคโนโลยี ประชากรศึกษา แนวทางการใช้ชีวิต ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบถึง

- ตำแหน่งการตลาดของคู่แข่งขันรายอื่น ๆ

- ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดสินค้าตัวอื่นที่มีผลต่อสินค้าและตลาดของบริษัท

- วิเคราะห์คุณลักษณะที่ทำให้สินค้าดึงดูดใจผู้ซื้อทั้งตัวสินค้าของทางบริษัทเองและสินค้าของคู่แข่ง โดยการมองจากทัศนะของผู้ซื้อว่าสิ่งใดคือคุณค่าที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจ ในแง่มุมใด และมากน้อยเพียงไร

- ความเหมาะสมระหว่างปริมาณการผลิตกับส่วนแบ่งการตลาดของบริษัท

- เลือกเฟ้นวิธีการที่สามารถดึงดูดใจลูกค้า และทำให้สินค้าเข้าถึงตัวลูกค้าได้

- กำหนดราคาให้เหมาะสมโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ

- ประเมินขนาดของตลาด แนวโน้มการขยายตัวของตลาดให้แม่นยำ แล้วจึงกำหนดส่วนแบ่งการตลาดที่คาดหวังเอาไว้

แผนการขาย

ผลสำเร็จของการขายโดยมากมักต่อเนื่องมาจากแผนการตลาดนั่นเอง แต่กระนั้นการเขียนใบสั่งซื้อสินค้าก็ยังไม่ใช่ของตายที่ควรวางใจ ควรมีแผนงานเฉพาะที่จะบุกเบิกการขาย อบรมพนักงานขาย จัดหน่วยการขาย แนะนำสินค้า และส่งเสริมการขาย เพื่อช่วยสนับสนุนอีกแรงหนึ่งด้วย

แผนการผลิต

แผนการผลิตโดยทั่วไปมักเน้นถึงความคล่องตัวในการผลิต โดยต้องตระหนักถึงขีดความสามารถในปัจจุบันและขีดความสามารถในอนาคต การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต ประเภทของสินค้าที่ผลิต ปริมาณสินค้าคงคลัง เวลาที่ใช้ในการผลิตคุณภาพและมาตรฐานของผลผลิต ตลอดจนการควบคุมดูแลการผลิต

แผนการผลิตและขีดความสามารถในอนาคต

เมื่อมีแผนการผลิตแล้วก็ควรคิดต่อเนื่องเตรียมเอาไว้ แต่กระนั้นที่จะกำหนดเรื่องนี้ให้ได้แน่นอนนั้นเป็นการยาก หัวใจสำคัญของแผนงานส่วนนี้สัมพันธ์โดยตรงกับผลผลิตและขั้นตอนในการผลิตก็จริง แต่ยังต้องรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น แนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะใช้ในบ้านเรือนในอนาคต แผนการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขั้นตอนในการติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตข้อกำหนดสำหรับระบบการผลิตและอาคารแบบใหม่ ตลอดจนการศึกษาเรื่องทำเลที่ตั้ง ตามปกติแล้วแผนงานด้านนี้มักย่อยออกเป็นโครงการต่าง ๆ อาศัยการวิเคราะห์แจกแจงขีดความสามารถทางการผลิตในปัจจุบัน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดขีดความสามารถในอนาคตได้อย่างสร้างสรรค์

แผนบริหารทรัพยากรบุคคล

ส่วนหนึ่งของแผนงานด้านนี้อาจเริ่มต้นโดยการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของบุคลากรทุกระดับในบริษัทเสียให้ถี่ถ้วน แล้วจึงค่อยกำหนดมาตรฐานตามที่ต้องการขึ้น ควรกำหนดไว้ในแผนนี้ด้วยว่าจะพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรที่มีอยู่เดิมอย่างไรและจะเลือกเฟ้นบุคลากรใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติมอย่างไร

อีกส่วนหนึ่งของแผนงานนี้ก็คือ รวบรวมปัญหาด้านเศรษฐกิจและเทคนิควิธีการที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากร เพื่อใช้ในการปรับแนวทางและท่าทีที่จะใช้บริหารบุคลากรทั้งหลายในบริษัทต่อไป

แผนการจัดองค์กร

แผนงานส่วนนี้ได้อาศัยแผนบริหารทรัพยากรบุคคลมาใช้เป็นประโยชน์ด้วยอย่างมาก แต่ก็ยังมีอีกบางส่วนที่ต้องเก็บงำเป็นความลับโดยเฉพาะ

การวางแผนการจัดองค์กร ต้องตั้งต้นด้วยคำถามหลากหลายเสียก่อน อาทิเช่น ความสำเร็จของกิจการนี้คืออะไร? จะหล่อหลอมบุคลากรแต่ละคนให้กลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร? จะจัดสรรภาระความรับผิดชอบให้แต่ละคนอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายของงานที่วางไว้? จะชักจูงให้แต่ละคนเห็นคุณค่าของงานที่ตนรับผิดชอบอยู่ได้อย่างไร เพื่อให้ทุกคนเกิดกำลังใจในการทำงาน? รูปแบบการบริหารควรเป็นเช่นไร? ควรสร้างแรงจูงใจ การสื่อสาร และความเป็นเอกภาพ ซึ่งจะสามารถทำให้บุคลากรทั้งปวงทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดีได้อย่างไร? ทั้งนี้ก็เพื่อบรรลุถึงซึ่งเป้าหมายของทางบริษัทเป็นสำคัญ

การจัดงบประมาณ

งบประมาณประจำปีกำหนดได้หลายรูปแบบ อาจใช้ปฏิทินเป็นหลักหรือใช้ช่วงระยะ 12 เดือนใด ๆ ก็ได้ตามแต่จะสะดวกสำหรับกิจการแต่ละประเภท ส่วนงบประมาณอุดหนุนอาจกำหนดช่วงเวลาไว้นานกว่านั้นได้ และหากเป็นงบประมาณเฉพาะกาลก็อาจกำหนดเวลาประมาณ 3 เดือน อาจมีงบประมาณหลักที่จะใช้แยกย่อยมาจากแผนการดำเนินงานด้วยก็ได้ สำหรับงบประมาณส่วนที่เป็นตัวเงินสดนั้นจัดว่าสำคัญเป็นพิเศษ

ผู้จัดการแต่ละฝ่ายควรเอาใจใส่ต่อการจัดงบประมาณไม่น้อยกว่าที่เอาใจใส่การบริหารงานทีเดียว โดยทำการประเมินผลและติดตามงานแต่ละส่วนอย่างใกล้ชิด

แผนการเงิน

แผนการเงินนั้นสัมพันธ์และได้รับผลกระทบมาจากการดำเนินงานและลู่ทางของกิจการนั้น ๆ โดยตระหนักถึงความเป็นจริงของสภาพตลาดการเงินและการตัดสินใจของผู้บริหารหรือตัวเจ้าของกิจการเอง การกำหนดแผนการเงินอาจกระทำเพียงในระยะสั้นชั่วปีต่อปีก็ได้ หรืออาจคาดหมายตระเตรียมไว้ในระยะยาวก็ได้เช่นกัน เป้าหมายของแผนการเงินก็คือวางแนวทางในการจัดสรรเงินให้แน่ชัดนั่นเอง ในขณะที่การจัดงบประมาณเน้นเรื่องประมาณการกำไรขาดทุนในระยะสั้น ๆ แผนการเงินจะเน้นที่ตัวเลขบัญชีงบดุลในอนาคต (ซึ่งก็ได้มาจากตัวเลขกำไรขาดทุนนั้นเอง)

แผนควบคุมงาน

ส่วนหนึ่งของระบบควบคุมงานก็คือการจัดงบประมาณ หัวใจสำคัญของระบบนี้ก็คือรายงานสรุปที่ระบุผลการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน นอกจากนี้ระบบควบคุมยังครอบคลุมไปถึงการดูแลสินค้าคงคลัง การวางโครงสร้างราคา สถิติการสั่งซื้อสินค้า ความคล่องตัวในการผลิต การควบคุมคุณภาพในการผลิต เหล่านี้เป็นอาทิ แผนควบคุมงานโดยทั่วไปมักใช้รูปแบบการจัดการโดยอาศัยวัตถุประสงค์เป็นหลักในการควบคุม

(คัดย่อจากบทความของ ฟิลิป เอช. เทิร์สตัน ในฮาร์วาร์ด บิสสิเนสรีวิว)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.