ช่อง 11 ผู้กำเนิดท่ามกลางเสือสิงห์

โดย สุดจิตร์ ไชยตระกูลชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

"ช่อง 11 เข้าสู่ยุทธจักรทีวีด้วยการสร้างความแตกต่างกับช่องอื่น ๆ เน้นด้านการศึกษา สารคดี และไม่มีโฆษณา ท่ามกลางภาวะการแข่งขันอันดุเดือดเช่นนี้ ช่อง 11 อยู่ในจุดที่เสียเปรียบด้วยนโยบายรายการ ที่เสริมสร้างนโยบายของรัฐสู่ประชาชน มากกว่าการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ชะตากรรมช่อง 11 และผู้ลงทุนคงไม่รอดพ้นจากความเจ็บปวดในที่สุด…"

วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่สี่เสือวงการทีวีเมืองไทยได้ฤกษ์ต้อนรับน้องใหม่อย่างเป็นทางการหลังจากจด ๆ จ้อง ๆ อยู่นานนับปี

การอุบัติของช่อง 11 สู่ยุทธจักรทีวีในห้วงเวลาของการแข่งขันระหว่างพี่เอื้อยทั้งสี่ที่ดุเดือดและรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบทศวรรษ

เจ้ายุทธจักรอย่างช่อง 7 กำลังถูกท้าทายหลังจากนั่งแป้นจอมราชันย์มานานหลายปี จากความได้เปรียบในด้านเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศ

ช่อง 7 อาศัยห้วงเวลาแห่งการเป็นผู้นำด้านเครือข่ายเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำกระทั่งทิ้งห่างอันดับสองแทบไม่เห็นฝุ่น เนื่องจากช่อง 5 ถึงแม้จะมีเครือข่ายใกล้เคียงกันกอปรกับอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยก็ไม่อาจตามทันช่อง 7 ทันท่วงที เพราะทั้งสองช่องแม้จะเป็นของกองทัพบกทั้งคู่ ทว่าช่อง 7 นั้นบริหารโดยเอกชนย่อมไม่อาจเปรียบเทียบกับช่อง 5 ซึ่งยังคงผูกติดกับระบบราชการโดยเฉพาะราชการทหาร

จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า ทำไม? ช่อง 5 จึงก้าวตามช่องอื่นได้เชื่องช้าเสียนี่กระไร คนในวงการเปรียบเปรยว่าช่อง 5 ทำตัวประหนึ่ง "พม่าแห่งวงการทีวี" เนื่องจากได้เปรียบในด้านทรัพยากร แต่ไม่ยอมนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์" จริง ๆ ปัญหาของช่อง 5 อยู่ที่ตัวคน" คนในวงการว่า

ส่วนช่อง 3 และช่อง 9 ของ อ.ส.ม.ท. ซึ่งได้รับฉายาว่า "ไดนามิค ดูโอ" ก็กำลังขยายเครือข่ายอย่างขะมักเขม้นโดยมีช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์เป็นหัวหอกทะลวงสู่ภูมิภาคตามสัญญาเกาะหลังติด ๆ โดยช่อง 9 ที่ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงแรงและเงิน

อีกไม่นานความได้เปรียบด้านเครือข่ายของทีวีแต่ละช่องก็จะหมดไป ช่อง 7 คงจะเหลือเพียงความเป็นผู้มาก่อนเท่านั้น และก็คงเป็นผู้ตระหนักกับคำว่า "การรักษาแชมน์นั้นยากกว่าการเป็นแชมป์หลายเท่านัก"

ใช่แต่การแข่งขันจะโฟกัสไปที่การขยายเครือข่ายซึ่งถือเป็นฮาร์ดแวร์เท่านั้น การแข่งขันกันด้านรายการก็ระอุไม่แพ้กัน "แต่ผมว่าไม่มีอะไรดีขึ้นมาสักเท่าไร?" สมเกียรติ อ่อนวิมลวิจารณ์

แนวโน้มการแข่งขันดูเหมือนว่าจะเน้นหนักไปที่การให้สิ่งจูงใจในรูปรางวัลเพื่อครอบครองส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ช่อง 3 ริเริ่มเป็นรายการแรกด้วยรายการ "ดูดีดีมีรางวัล" เรียกคนดูในช่วงหลังข่าว

"การแข่งขันจะระอุดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขนมเค้กก้อนเท่าเดิมแต่คนตัดมีอาวุธที่แหลมคมมากขึ้น" คนในวงการวิพากษ์

ก็ในเมื่อขนมเค้กก้อนเท่าเดิม คนตัดเดิม ๆ ต่างฝ่ายต่างแสวงหาศาสตราวุธที่ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความคมของอาวุธ

สี่พี่เอื้อยก็แทบจะฆ่ากันอยู่แล้ว สถานการณ์ช่วงนี้ถ้าใครคิดจะเข้าสู่วงการนี้เป็นรายใหม่จะต้องเผชิญการแข่งขันชนิดที่เรียกว่า "เชือดคอหอย"

สถานการณ์ช่วงนี้แหละที่ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์เข้าร่วมสังฆกรรมในวังวนการแข่งขันของมีเดียที่ทรงอิทธิพลและมีบทบาทมากที่สุดในปัจจุบันและอนาคต

ช่อง 11 มีดีอะไรหรือจึงหาญเข้าสู่ธุรกิจมีเดียนี้!

หากมองสถานการณ์การแข่งขันของสื่อทีวีในช่องนี้แล้วบอกว่าจะมีทีวีช่องใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์จะเข้าร่วมสังฆกรรมเป็น "เสือที่ห้าวงการทีวี" ผู้คนอาจจินตภาพไปว่าการแข่งขันคงจะเข้มข้นประดุจหลังกำลังภายในประเภทเลือดท่วมอะไรทำนองนั้น

ผิดถนัดเพราะการกำเนิดช่อง 11 แทบไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนอะไรให้กับวงการทีวีแม้สักกระผีกริ้น

การจะทำความเข้าใจสภาพปัจจุบันของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ต้องหวนกลับไปดูเส้นทางในอดีตตั้งแต่การกำเนิดกระทั่งเข้าสู่วงการในปัจจุบัน

ช่อง 11 นั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับโครงการขยายบริการวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศของกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2528

เหตุผลสำคัญสำหรับการสร้างสถานีช่อง 11 นี้สืบเนื่องมาจากการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เมื่อปี 2520

ผลสะเทือนจากการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์มีความหมายยิ่งใหญ่มากสำหรับกรมประชาสัมพันธ์ เพราะทำให้กรมประชาสัมพันธ์ขาดสถานีโทรทัศน์หลัก ซึ่งเป็นแม่ข่ายในส่วนกลางที่จะเชื่อมโยงรายการโทรทัศน์ไปสู่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในส่วนภูมิภาคซึ่งครอบคลุมปริมณฑลเกือบทั้งประเทศ

ที่สำคัญก็คือหลังจากการยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์แล้วได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาบริหารช่อง 9

กลายเป็นว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติขาดเครื่องไม้เครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ก็ต้องกระเสือกกระสน เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานทีโทรทัศน์ของตนเอง "คือเขาต้องมีไว้เผื่อเวลาฉุกเฉินเกิดอะไรขึ้นจะได้มีเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์เพราะช่อง 9 ก็กลายเป็น อ.ส.ม.ท. แล้ว ขณะที่เขาเป็นหน่วยงานระดับชาติก็ต้องพยายามมีให้จงได้" บริสุทธิ์ บูรณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่อง 3 เผยความนัย

กระบวนการกระเสือกกระสนกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ก็หลังจากที่บริษัทไทยโทรทัศน์ถูกยุบเลิกไปกว่า 8 ปี

ถึงคณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบในการก่อสร้างช่อง 11 แล้วก็ตามที แต่ให้ใช้งบประมาณกรมประชาสัมพันธ์เองที่มีอยู่ 8 ล้านบาท

งบประมาณแค่นี้มันจิ๊บจ๊อยมาก!

การดำเนินงานในช่วงแรก ๆ จึงมีปัญหาด้านข้อจำกัดด้านเทคนิค เสาอากาศมีความสูงเพียง 50 เมตร เครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์มีกำลังส่งเพียง 10 กิโลวัตต์ "กำลังส่งขนาดนี้เพียงพอที่จะแพร่ภาพในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น" ช่างคนหนึ่งให้ความเห็น

ถึงจุดนี้แหละที่ญี่ปุ่นเข้ามาในฐานะนักบุญผู้ไม่อาจปฏิเสธคำร้องขอจากประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทยได้จึงยื่นมือเข้ามา ตามคำร้องขอของกรมประชาสัมพันธ์

กรมประชาสัมพันธ์ได้ทำโครงการขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นโดยผ่านกรมวิเทศสหการ โดยได้ติดต่อประสานงานกับไจก้า สถานทูตญี่ปุ่นและกระทรวงการต่างประเทศ

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2527 นั่นแสดงว่ากรมประชาสัมพันธ์ได้เตรียมการไว้เนิ่นนานพอสมควรแล้วสำหรับการตั้งสถานีโทรทัศน์ก่อนเสนอความเห็นชอบจาก ครม. และจากจุดนี้เองแสดงว่ากรมประชาสัมพันธ์เองก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการก่อสร้างสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ของตนเองด้วย

อย่างไรก็ตามโครงการขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะในยุคนั้น ร.ต.ท. ชาญ มนูธรรม เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลรับผิดชอบกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยความขยันขันแข็งและเอาการเอางานของเขา ในที่สุดวันที่ 23 ธันวาคม 2529 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบและอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นเงิน 330 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือในการจัดตั้งช่อง 11

และแล้วทีวีเมืองไทยซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นผู้ซึ่งถูกขนานนามว่า "ภัยเหลือง"

ญี่ปุ่นนั้นการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นนักบุญแต่หากมองลึกลงไปแล้ว การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ก็ต้องใช้บริษัทญี่ปุ่นดำเนินการทุกประการนั่นเอง ในกรณีนี้บริษัท SATOW ARCHITECT AND ENGINEERING และบริษัท ALL JAPAN RADIO AND TELEVISION SERVICE เป็นบริษัทที่ปรึกษา

ส่วนบริษัท KANEMATSU-GOSHU และบริษัท SHIMIZU CONSTRUCTION รับหน้าที่ในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์

ดูการลงนามการเปิดซองราคาการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2530 ก็ยังต้องเปิดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น!

เรียกว่าช่อง 11 เมด อิน เจแปน ทั้งดุ้นคงจะไม่ผิดนัก "เป็นระบบที่ล้ำหน้ามาก ๆ เพราะเป็นระบบเดียวกับเอ็นเอชเคซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของญี่ปุ่นซื่อถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง" คนช่อง 11 กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

แต่คนช่อง 11 จะทราบบ้างไหมว่าสถานีโทรทัศน์แห่งชาติต้องตกเป็นทาสทางด้านเทคโนโลยีอันรวมไปถึง การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอนาคตอันยาวนานตราบชั่วลูกชั่วหลานนั้นก็ยังคงต้องอาศัยญี่ปุ่นอยู่นั่นเอง

คนที่หลงไหลได้ปลื้มกับญี่ปุ่นที่คิดว่าเขาจะบริจาคเงินให้ฟรีเพราะเป็นผู้ใจบุญก็น่าจะตระหนักเสียใหม่ว่า "ของฟรีนั้นไม่มีในโลก" โดยเฉพาะที่จะได้ของฟรีจากญี่ปุ่นนั้นขอให้ตระหนักเสียใหม่

การเริ่มต้นของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นสถานีวิทยุแห่งชาติตั้งแต่การกำเนิดก็มีปัญหาแล้วทั้งปัญหาด้านการเงินแต่เป็นปัญหาที่น่าหนักอกหนักใจสำหรับช่อง 11 อย่างมาก ๆ คือปัญหาด้านรายได้

รายได้ของช่อง 11 มาจากที่ใดบ้าง?

ช่อง 11 ถือว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติของกรมประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนนโยบายของรัฐ ดังนั้นรายการต่าง ๆ ของช่อง 11 จึงให้ความสำคัญกับรายการด้านการศึกษาและความรู้มาเป็นอันดับหนึ่ง "โดยให้เวลาเท่าที่สถาบันการศึกษาต้องการ" เอกสารของช่อง 11 เองระบุไว้อย่างนั้น

ส่วนเวลาที่เหลือจากรายการเพื่อการศึกษาและรายการเพื่อความรู้ให้เป็นเวลาของรายการการประชาสัมพันธ์และความมั่นคงของรัฐและสารคดีต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

เวลาที่เหลือจากข้างต้นจึงเป็นรายการเพื่อความบันเทิงแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10

เรียกว่าช่อง 11 อุทิศเวลาเพื่อการศึกษาความรู้และสารคดี เพื่อการประชาสัมพันธ์และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งก็คือเป็นเครื่องมือในการโฆษณาของรัฐบาลนั่นเอง ทั้งหมดคิดเป็น 90% ของเวลารายการของสถานี

สำหรับรายการบันเทิงนั้นคิดเป็น 10% ของเวลาทั้งหมด ที่สำคัญก็คือช่อง 11 ไม่มีโฆษณา…คุณพระช่วย!! ในสภาวะการแข่งขันรุนแรงถึงขนาดใครพลาดเป็นโดนเชือดนั้น เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การแย่งโฆษณาสินค้าอันหมายถึงรายได้ที่จะมาบำรุงสถานีและสร้างเสริมบุคลากรนั้น ช่อง 11 ไม่ต้องแต่ประการใด

รายการบันเทิงมี 10% ก็เรียกว่าน้อยกว่าน้อยแล้ว แถมยังไม่มีโฆษณาอีกต่างหาก แล้วช่อง 11 เอารายได้มาจากไหน?

คำตอบอันน่าสลดใจก็คือรายได้ของช่อง 11 ส่วนใหญ่ได้มาจากค่าเช่าเวลาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากสามสถาบันคือ รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นลูกค้าใหญ่ของช่อง 11

ลูกค้าทั้งสามของช่อง 11 คงไม่มีโอกาสไปแข่งขันกับสี่เสือวงการทีวีแล้ว น่าเสียดายที่นโยบายสำคัญของอภิลาศ โอสถานนท์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนปัจจุบัน ที่เคยกล่าวก่อนที่ช่อง 11 จะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการว่า "เมื่อเปิดแล้วจะต้องแข่งขันกับช่องอื่น ๆ ให้ได้"

ทว่าดูเหมือนว่าการดำเนินงานตลอดจนนโยบายหลักของคณะรัฐมนตรีดูจะสวนทางกับคำกล่าวของอภิลาศ โอสถานนท์อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

ช่อง 11 นั้นถ้าเปรียบเสมือนสินค้าก็มีปัญหาด้านการผลิตแล้ว กว่าจะสร้างโรงงานของตนเองได้ก็เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น เนื่องจากทุนจำกัดต้องภิกขาจารจากคนภายนอก หลังจากนั้นก็มีปัญหาด้านการเงินอีกเพราะสืบเนื่องมาจากนโยบายของบริษัทที่ไม่ต้องการทำกำไรอันผิดหลักของการแข่งขันในระบบของทุนนิยมเสรี

ในเมื่อไม่มีรายได้ก็หมายความว่าขาดปัจจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ไม่อาจต่อกรกับ "พี่เอื้อย" ในยุทธจักรได้

"อาจเป็นกลลวงด้านกลยุทธ์ของช่อง 11 ก็ได้ที่ไม่ต้องการจะต่อสู้กับผู้ครองตลาดเจ้าเก่า จึงเบี่ยงเบนกลยุทธ์ทำทีเป็นว่าไม่สนใจการแข่งขัน" นักการตลาดผู้คร่ำหวอดวงการท่านหนึ่งให้ความเห็น

ความเห็นนี้อาจเป็นได้ถ้า หนึ่ง-ไม่มีความพยามยามที่จะหาทางให้ช่อง 11 ในส่วนกลางมีโฆษณาให้ได้ สอง-ไม่มีช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นการแพร่ภาพเพื่อการแสวงหากำไร

มีความพยายามอยู่หลายครั้งหลายหนที่จะผลักดันให้ช่อง 11 มีโฆษณาให้ได้ ทั้งจากคนช่อง 11 เอง และจากเอกชนที่มุ่งหวังผลทางธุรกิจเพราะถ้ามีโฆษณาได้โอกาสที่จะเข้ามาทำการค้าก็มีมากขึ้น

ช่อง 11 ทุกวันนี้อาศัยรายได้จากกรมประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์เองก็มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากสถานีในท้องถิ่น ถ้าจะเอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาส่วนกลางก็จะไม่ยุติธรรมนัก ดังนั้นถ้ารัฐเล็งเห็นความจำเป็นของการผลิตรายการก็ต้องอนุมัติให้มีโฆษณาหรือไม่ก็ต้องมีงบพิเศษให้" คนช่อง 11 กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

แต่ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่านี้ ก็มีอันต้องเป็นหมันไปหลังจากที่สุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าไม่ให้มีโฆษณา

ช่อง 11 จะล้มเหลวตั้งแต่ช่วงตั้งไข่แล้วกระนั้นหรือ "หากดูรายการต่าง ๆ แล้วเป็นไปได้ที่จะไม่ประสบความสำเร็จ" คนในวงการพูดอย่างไม่อ้อมค้อม

รายการของช่อง 11 นั้นปริมณฑลส่วนใหญ่จะถูกครอบครองด้วยรายการจากสถาบันการศึกษาทั้งสาม ที่เหลือก็เป็นสารคดีและรายการ เพื่อการประชาสัมพันธ์ และเพื่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรายการที่ว่านี้มีมาร์เก็ตแชร์ถึง 90% ที่เหลือ 10% เป็นรายการบันเทิงดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แทบจะไม่มีรายการใดที่เรียกได้ว่าน่าสนใจเลย รายการบันเทิงส่วนใหญ่ก็เป็นรายการที่ทางบริษัทนิวส์เน็ตเวอร์คป้อนให้

ว่าที่จริงแล้วสารคดีหรือรายการบันเทิงก็มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ ชีวประวัติของราชาร็อคแอนด์โรล์ เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งเมื่อครั้งที่ออกสู่สายตาผู้ชมก็สร้างความฮือฮาได้พอสมควร

แต่นั่นก็เป็นผู้ชมบางส่วนและเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้นที่จะมีรายการดี ๆ "เราไม่มีงบประมาณพิเศษเพื่อมาผลิตรายการเลย ส่วนใหญ่เราก็ยืมเขามาบ้าง ขอมาบ้างและแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศบ้าง ซึ่งนับวันรายการที่มีคุณภาพก็จะหมดไป" คนช่อง 11 กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงที่มาของรายการบันเทิง

วันดีคืนดีช่อง 11 ก็จะสร้างความฮือฮาขึ้นมาเสียทีหนึ่ง ดังเช่น บริษัทเบรน เน็ทเวอร์ค คิดจะให้ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนกนางงามจักรวาลที่หลาย ๆ คนกำลังคลั่งไคล้สัมภาษณ์สดข้ามทวีป รายการนี้เรียกว่าเป็นที่สนอกสนใจแก่ประชาชนทั่วไปมาก ๆ เพราะเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาได้ถูกจังหวะ

แต่ช่องอื่นก็สนใจโครงการนี้ของเบรนเน็ทเวอร์คเช่นกัน ก็เลยกลายเป็นว่าโครงการนี้ทุกช่องขอเข้าร่วมสังฆกรรมด้วย คงจะจำกันได้ที่ "หน้าแตก" กันไปเมื่อหลาย ๆ เดือนก่อน

อีกรายการก็คือการถ่ายทอดสดการชกชิงแชมป์เปี้ยนโลกคู่หนึ่ง ที่เริ่มถ่ายทอดเวลาตีหนึ่งแต่หลังจากที่นำเทปเก่ามวยคู่เลียวนาร์ดกับแฮกเลอร์แล้ว หลังจากนั้นก็กลายเป็นบทสนทนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องมวยสากลสามคนก็มานั่งบรรเลงความรู้ผิดบ้างถูกบ้างตามแต่จะปล่อยกันออกมา และสุดท้ายก็หน้าแตกกันไปตาม ๆ กัน เนื่องจากถ่ายทอดสดไม่ได้อันเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นที่สถานีต้นทาง

คนในวงการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากปัญหาค่าใช้จ่ายมากกว่าที่ทำให้การถ่ายทอดไม่ราบรื่น

มีอีกหลายกรณีที่ช่อง 11 พยายามสร้างความฮือฮาเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชมหลายครั้งหลายหนที่มีการซื้อหน้าหนังสือพิมพ์เต็มหน้านำเสนอรายการ (ที่คิดว่า) ดี

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่านั่นเป็นผลงานของช่อง 11 ในการแย่งมาร์เก็ตแชร์อย่างเงียบ ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นผลงานของบริษัทเอกชนสองแห่ง ที่ประมูลเวลาช่วงรายการและช่วงโฆษณาระหว่างการเสนอข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคต่างหาก

ช่วงเวลาก่อนที่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์จะได้ฤกษ์แพร่ภาพอย่างเป็นทางการนั้น มีเหตุการณ์ที่มีความหมายอย่างมาก ๆ ต่ออนาคตวงการทีวีเมืองไทยและต่อกรมประชาสัมพันธ์

บริษัทวัฒนาไนชซึ่งเป็นผู้เช่าเวลาสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคหมดสัญญากับกรมประชาสัมพันธ์ในปลายเดือนมีนาคม 2531 ที่ผ่านมานี้ อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการแพร่ภาพอย่างเป็นทางการของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์

การหมดสัญญาลงของวัฒนาไนชอันเป็นบริษัทในเครือช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์ ซึ่งอาศัยเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมไปเกือบทั้งประเทศเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนในส่วนภูมิภาค

ถึงเครือข่ายในส่วนภูมิภาคของกรมประชาสัมพันธ์จะมิได้มีความสำคัญสำหรับช่อง 3 เฉกเช่นอดีต เพราะในปี 2533 เครือข่ายของช่อง 3 เองก็จะมีรัศมีแพร่ภาพทั้งประเทศแล้ว แต่บริษัทวัฒนาไนชและวัฒนาไนชโปรโมชั่นซึ่งเป็นบริษัทในเครือของวัฒนาไนช ก็ยังกระโดดเข้าร่วมประมูลด้วย

การประมูลเพื่อชิงเป็นผู้เช่าเหมาเวลาช่อง 11 จึงสนุกสนานมาก ๆ

ผลปรากฏว่าบริษัทนิวส์เน็ตเวอร์คม้านอกสายตาเป็นผู้กำชัยในการประมูลครั้งนี้ไปได้ ด้วยราคาค่าเช่าเวลาเดือนละ 4.5 ล้านบาท หากคิดเป็นปีก็จะตกปีละ 54 ล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากนักถ้าได้เวลาของช่อง 7 หรือช่อง 5 ในราคาเท่านี้ แต่สำหรับสถานีโทรทัศน์ในส่วนภูมิภาคแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยกับการบริหารเวลาสัปดาห์ละ 45 ชั่วโมง

นิวส์เน็ตเวอร์ตเป็นใครมาจากไหนหรือจึงกล้ากระโดดเข้าจับงานระดับช้างในครั้งนี้?

นิวส์เน็ตเวอร์คเพิ่งจะถือกำเนิดในยุทธจักรทีวีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2530 มานี้เอง แต่ความเป็นมากว่าจะเข้ามาเช่าเหมาเวลานั้นค่อนข้างจะสนุกสนาน

เริ่มมาจากกลุ่มนักหนังสือพิมพ์กลุ่มต้องการพัฒนารายการข่าวให้น่าสนใจทั้งรูปแบบและเนื้อหา จึงเกิดความคิดที่จะเข้าไปบริหารข่าวให้สถานีโทรทัศน์ แต่ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล จากบริษัทแปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น ก็มาทำให้รูปธรรมชัดเจนก่อนจนเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก ๆ ในปัจจุบัน

จน ดร. สมเกียรติ และทีมงานแปซิฟิคกลายเป็นผู้ริเริ่ม และผู้นำด้านการข่าวทีวีเป็นเสียฉิบ

กระทั่งปี 2530 ช่อง 5 ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนเช่าเวลาโฆษณาช่วงรายการข่าวสองทุ่มได้ โดยมีบริษัทวโรดมโดดเข้าไปเสี่ยงตายกับระบบราชการทหารในสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

บริษัทวโรดมนั้นถึงจะมีทุนหนาแต่เมื่อเผชิญกับสภาพระบบราชการในธุรกิจที่ต้องอาศัยความคล่องตัวอย่างมาก ๆ ผลปรากฏว่าวโรดมขาดทุนต่อเนื่องทำให้จำต้องถอนตัวไปในที่สุด "นัยว่าผู้บริหารช่อง 5 ใจแคบเรื่องนโยบายข่าว" ผู้รู้ให้ข้อสังเกต จึงทำให้บริษัทเทเลเพรสแทรกตัวเข้าเป็นผู้เสี่ยงตายรายใหม่

เทเลเพรสได้ก่อตั้งบริษัทหนึ่งชื่อว่านิวส์เน็ตเวอร์คเพื่อเป็นนายหน้าซื้อเวลาช่วงโฆษณาในรายการข่าวของช่อง 5 แทนวโรดมที่ต้องถอนตัวกลับไปอย่างสะบักสะบอม

นิวส์เน็ตเวอร์คได้มีการเซ็นสัญญากับทางช่อง 5 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ที่ผ่านมา!

ตามสัญญาแล้วนิวส์เน็ตเวอร์คเป็นผู้ขายเวลาในช่วงโฆษณาเท่านั้นไม่ต้องทำข่าวป้อนให้กับทางช่อง 5 ซึ่งมีทีมข่าวทำของตนเองอยู่แล้ว

แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นที่รู้กันในวงการและในหมู่ผู้ดูโทรทัศน์ทั่วไปว่ารายการข่าว 5 นั้นล้าหลังกว่าใครทั้งหมด เนื่องจากช่อง 5 นั้นมีทีมข่าวน้อยมากและไม่ค่อยมีฝีมือเนื่องจากค่าตอบแทนต่ำ เมื่อพัฒนาฝีมือจนถึงระดับหนึ่งแล้วก็มักอำลาไปแห่งใหม่ซึ่งมีค่าตอบแทนที่ดีกว่าอยู่เสมอ ดังนั้นทีมข่าวช่อง 5 ที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงค่อนข้างจะด้อยกว่ามาตรฐานโดยทั่วไป ประกอบกับมีจำนวนน้อยและยังต้องคอยทำข่าวทหารซึ่งค่อนข้างจะไม่เป็นที่สนใจต่อผู้ชม

ฉะนั้นเน็ตเวอร์คจึงต้องป้อนข่าวให้ทางช่อง 5 เป็นประจำและสม่ำเสมอทุกวัน "มันก็เหมือนกับเป็นการพัฒนาสินค้านั่นแหละเพราะถ้าให้ช่อง 5 ทำคนเดียวจะกลายเป็นว่าสินค้าไม่มีคุณภาพ เมื่อสินค้าไม่มีคุณภาพก็ขายโฆษณาไม่ได้ ก็ต้องขาดทุนคือพูดง่าย ๆ เขาทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ" คนในวงการวิเคราะห์

นิวส์เน็ตเวอร์คก็จ้างเทเลเพลสนั่นแหละเป็นผู้ป้อนข่าวให้กับนิวส์เน็ตเวอร์เพื่อไปช่วยช่อง 5

ในช่วงแรกของการก่อตั้งนิวส์เน็ตเวอร์คนั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่สองคนคืออลงกรณ์ พลบุตร และพัฒนา ภวภูตานนท์ ซึ่งต่อมาในภายหลังกุลศิริ ศรีมาก และอภิชัย ศักดิ์ชลาธร เข้ามาเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการนิวส์เน็ตเวอร์คตามลำดับ ดำรง พุฒตาล ก็เข้ามาในช่วงนี้เช่นกัน แต่ก็เข้ามาในเวลาไม่นานนักก็ถอนตัวออกไป

พร้อม ๆ กับการเข้ามาของกุลศิริและอภิชัย ก็ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 20 ล้านบาท กลายเป็น 30 ล้านบาท

อภิชัย ศักดิ์ชลาธร มาจากวงการก่อสร้างและที่ดิน เห็นช่องทางในการทำมาหากินกับวงการโทรทัศน์จึงกระโดดเข้ามาเป็น "RISK TAKER" เต็มตัว

การทุ่มสุดตัวของอภิชัย ศักดิ์ชลาธรกับนิวส์เน็ตเวอร์คในครั้งนี้มีความหมายยิ่งใหญ่มากเพราะ ไม่เพียงหมายถึงการที่นักลงทุนธรรมดาจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุดอุตสาหกรรมหนึ่งในปัจจุบันเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการเป็นผู้บุกเบิกการบริหารรายการ และบริหารเวลามากที่สุดเท่าที่บริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งที่ไม่ใช่ตระกูลมาลีนนท์ซึ่งมีประสบการณ์ที่สะสมมานานเกือบสองทศวรรษและไม่ใช่ตระกูลกรรณสูตรมีอยู่กับช่อง 7 มานานแสนนาน

แต่เป็นเรื่องนักธุรกิจที่อยู่นอกวงการ ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับวงการนี้มาก่อน แต่เห็นช่องทางว่าน่าจะมีกำไรจึงโดดเข้ามาร่วมเล่น

ถ้างานนี้ประสบความสำเร็จเงินทองก็จะไหลมาเทมาเพราะว่ากันไปแล้วนิวส์เน็ตเวอร์เป็นบริษัทเอกชนเพียงบริษัทเดียวที่เป็นผู้บริหารรายการเจ้าเดียวเท่านั้น จากจำนวนเวลาที่ออกอากาศในแต่ละสัปดาห์ 75 ชั่วโมง นิวส์เน็ตเวอร์คต้องบริหารเวลาถึง 45 ชั่วโมง มากกว่าครึ่งซึ่งยังไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน

สำหรับผู้ที่คิดอยากจะโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้น่าจะศึกษาติดตามยุทธวิธีและความเคลื่อนไหวของนิวส์เน็ตเวอร์ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้

นิวส์เน็ตเวอร์คนั้นค่อนข้างจะไม่มีการเตรียมการที่ดีเท่าไรนักเกี่ยวกับรายการที่จะออกอากาศ นับจากวันที่ประมูลได้

รายการส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศหรือไม่ก็เป็นการซื้อรายการหรือละครเก่ามาจากบริษัทต่าง ๆ หรือทีวีช่องต่าง ๆ ที่ผ่านการออกอากาศในส่วนกลางไปแล้ว แต่ยังไม่ได้แพร่ภาพในส่วนภูมิภาค

ถ้าพูดถึงด้านรายการแล้วนิวส์เน็ตเวอร์คน่าจะได้คะแนนต่ำในเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาพอสมควร

นับจากวันที่นิวส์เน็ตเวอร์คเป็นผู้ชนะการประมูล ข่าวคราวจากนิวส์เน็ตเวอร์คก็ออกมาถี่ยิบประดุจปืนกล

เริ่มตั้งแต่แผน CHANNEL SEGMENTATION ต้องการทำให้ช่อง 11 ส่วนภูมิภาคกลายเป็นช่องที่เน้นด้านกีฬาเพื่อจูงใจบรรดาแฟนกีฬาทั้งหลายให้หันมาสนใจช่องนี้เป็นพิเศษ อันเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับผู้มาใหม่ที่ต้องพยายามแสวงหาตลาดส่วนที่ยังไม่มีใครเข้ามาครอบครองโดยวิธีการรบแบบกองโจร

แต่การมุ่งเน้นด้านการกีฬานี้ไม่สู้จะประสบความสำเร็จมากนัก เพราะช่องอื่น ๆ ต่างก็หันมาทางด้านนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 หรือช่อง 7 เจ้ายุทธจักรด้านกีฬาอยู่แล้ว ถึงกับเกิดกรณีพิพาทเรื่องแย่งลิขสิทธิ์กันเรื่องการถ่ายทอดสดจนกลายเป็นข่าวคราวอยู่พักใหญ่

รายการถ่ายทอดสดรายการกีฬาดี ๆ เช่น การชกชิงแชมป์มวยคู่ดัง ๆ หรือการถ่ายทอดสดฟุตบอลคู่เด็ด ๆ ก็ถูกสองยักษ์ใหญ่กว้านไปหมด กระทั่งกีฬายอดนิยมอย่างเทนนิสก็ยังถูกช่อง 9 ตัดหน้าไป

งานนี้เลยกลายเป็นว่านิวส์เน็ตเวอร์คเอาจุดอ่อนของตนเองไปปะทะจุดแข็งของคู่แข่ง! เหตุการณ์ประเภทหน้าแตกในเรื่องการถ่ายทอดสดกีฬานี้ทำให้นิวส์เน็ตเวอร์คเสียรังวัดไปมาก กระทั่งกลายเป็นตำนานเรื่องการถ่ายทอดกีฬาที่เล่าขานกันไม่รู้จบ

แต่นิวส์เน็ตเวอร์คก็ยังไม่ละความพยายาม เมื่อคราวที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโซลเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาก่อนการแข่งขันนิวส์เน็ตเวอร์คเป็นบริษัทแรกที่จับมือกับช่อง 11 ส่งทีมข่าวไปเรื่องโอลิมปิกประเภทเจาะลึกเป็นเจ้าแรก

ช่วงแรกนั้นค่อนข้างดีมาก แต่เมื่อทุกช่องต่างก็ส่งทีมงานของตัวไปแล้วนิวส์เน็ตเวอร์คก็ไม่ได้เหนือกว่าช่องอื่น ๆ เท่าไรนัก

อย่างไรก็ตามถ้ากล่าวถึงด้านความพยายามแล้วก็ต้องยกเครดิตให้กับนิวส์เน็ตเวอร์ค!

วันนี้นิวส์เน็ตเวอร์คยังเพิ่งก้าวเดินมาได้เพียงไม่กี่ก้าวยังถือว่าเป็นช่วงตั้งไข่เท่านั้น แต่ก็มีแนวโน้มว่างานนี้นิวส์เน็ตเวอร์คเอาจริงแน่ เพราะล่าสุดก็กู้เงินมาอีก 30 ล้านบาท "มีข่าวว่าจะผลิตรายการเอง และจะตั้งสตูดิโอของตนเอง เรียกว่างานนี้ทุ่มสุดตัว" คนในวงการว่า

นอกจากข่าวเรื่องจะขยายงานแล้ว รายงานข่าวที่ออกมาจากนิวส์เน็ตเวอร์คนั้นยังออกมาในทำนองว่านิวส์เน็ตเวอร์คขายโฆษณาได้มากแล้ว และมีหลาย ๆ บริษัทเสนอตัวเข้ามาจัดทำรายการให้ หรือเมื่อตอนเริ่มเปิดดำเนินการใหม่ ๆ มีข่าวจากว่าจะมีบริษัทจากอเมริกาและญี่ปุ่นเสนอตัวเข้ามาสร้างโรงถ่ายทำในเมืองไทยเพื่อแลกกับการผลิตรายการป้อนให้

มันเป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะต่อเนื่องของผู้ริเริ่มเข้าอุตสาหกรรมนี้

คนในวงการตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าสู่วงการของในครั้งนี้เกือบจะเรียกว่าไม่ได้รับการต่อต้านจากบรรดาพี่เอื้อยทั้ง 4 อย่างเป็นทางการเลย เพราะหนึ่ง-สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาค (บางครั้งจะเรียกสั้น ๆ ว่าช่อง 11 ในส่วนภูมิภาค) ซึ่งเป็นผู้ประมูลเวลาได้นั้นไม่มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการที่สำคัญก็คือการขาดรายการดี ๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขัน สอง-ผู้บริหารยังเป็นมือใหม่ยังไม่มีความชำนาญเพียงพอที่จะสร้างความได้เปรียบหรือจุดเด่นซึ่งเป็นผลให้โฆษณาหลั่งไหลเข้ามาได้ สาม-เนื่องจากเป็นมือใหม่ ทีมงานที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างใหม่ โดยเฉพาะทีมงานด้านการตลาดและการขายเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง เมื่อไปขายโฆษณาเพราะเอเยนซี่เมืองไทยบางแห่งยังอาศัยความสนิทสนมส่วนตัวเป็นปัจจัยหนึ่งในการสั่งซื้อสื่อ "คุณลองเปรียบเทียบดูถ้ามีทีวีสองช่องมาเสนอขายคุณภาพเท่าเทียมกัน คุณก็ต้องเลือกคนที่รู้จักกันไว้ก่อน" คนในวงการเอเยนซี่ให้ความเห็น

มิพักต้องพูดถึงคุณภาพรายการของสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน ยังห่างชั้นคู่แข่งขันหลายช่วงตัว

ทางรอดของที่จะไม่ต้องเป็นไปตามคำทำนายของสมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ว่าจะไปไม่รอดเกินปี 2532 นั้นก็คือ การเร่งพัฒนาคุณภาพให้เร็วที่สุด "ที่สำคัญต้องเอาใจคนชนบทให้มาก ๆ ไว้ เพราะเขาสามารถมีโฆษณาได้ก็แต่เฉพาะในส่วนภูมิภาคเท่านั้น" แหล่งข่าวที่ตามเรื่องนี้มานานให้ความเห็น

ช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคในตอนนี้ก็เปรียบเสมือนพรรคพลังธรรมเมื่อครั้งส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนไม่ผิด

การเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคพลังธรรมส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. โดยที่หัวหน้าพรรคไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยก็เหมือนกับมังกรขาดหัวทำให้จำนวนสมาชิกที่ได้มานั้นค่อนข้างน้อย สถานีวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ก็เช่นกัน

ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์สร้างความสับสนให้คนดูอย่างมาก ๆ มีคนเป็นจำนวนมากไม่ทราบว่าช่อง 11 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคแพร่ภาพไม่เหมือนกัน และอีกเป็นจำนวนมากคิดว่าบริษัทเอกชนทั้งสองเช่าเวลาในช่อง 11 ส่วนกลางด้วย ซึ่งไม่มีโฆษณาอาจจะทำให้ทั้งสองบริษัทนี้ถึงแก่การอวสานโดยเร็วก็เป็นได้ แม้กระทั่ง สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการแปซิฟิคอินเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น ผู้อยู่ในแวดวงทีวีมามาโดยตลอดในช่วงหลายปีมานี้ ยังเข้าใจคลาดเคลื่อน

"ผมไม่เคยดูผังรายการของช่อง 11 ด้วยซ้ำ" เขากล่าวกับ "ผู้จัดการฯ" นั่นเป็นสัญญาณแสดงว่าคนในวงการค่อนข้างจะละเลยช่อง 11 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ทว่านี่คือโอกาสทองของนิวส์เน็ตเวอร์คแล้วในการแสวงหามาร์เก็ตแชร์อย่างเงียบ ๆ โดยอาศัยการถูกละเลยจากบรรดาเจ้ายุทธจักรทั้งหลาย

"เขาต้องใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรเพราะเนื่องจากเพิ่งเข้าสู่ตลาดไม่นาน ทุนรอนก็น้อย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็มากเนื่องจากเพิ่งริเริ่มวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงต้องซื้อหา บุคลากรก็เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งยังต้องเสียเวลาการฝึกอีกนานกว่าจะลงตัว"

ซื้อเวลาและสายป่าน" คนในวงการสรุปสำหรับอนาคตนิวส์เน็ตเวอร์ค

จากนี้ไปนิวส์เน็ตเวอร์คคงต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะเวลาของนิวส์เน็ตเวอร์คมีเพียง 3 ปีเท่านั้น (ตามสัญญา) และเวลาที่นิวส์เน็ตเวอร์คซื้อไปนั้น หมายถึงเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องทุ่มเทไปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ยังบกพร่องอยู่ในหลายจุดอันเนื่องจากเป็นมือใหม่

งานของนิวส์เน็ตเวอร์คเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายและจะต้องจารึกชื่อ อภิชัย ศักดิ์ชลาธร และทีมงานลงในประวัติศาสตร์ของวงการทีวีถ้าเขาทำให้ช่อง 11 ในส่วนภูมิภาคขึ้นได้อันหมายถึงผลกำไรที่จะตามมา

และอีกสามปีเขาก็ต้องประสบกับปัญหาใหญ่หลวงไม่ว่าเขาจะประสบควาสำเร็จกับช่อง 11 หรือไม่ก็ตาม เพราะหนึ่ง-ถ้าประสบความสำเร็จ เขาก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งขันอีกมากที่พยายามเสนอตัวเข้าประมูลเวลาของสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ เพราะธุรกิจนี้หอมหวนมาก ใครมีฝีมือแล้วบอกได้เลยว่า "รวยเร็ว" สอง-ถ้าประสบความล้มเหลวเขาก็จะกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์บทหนึ่งให้ชนรุ่นหลังที่อาจหาญเข้าสู่วงการนี้ต่อไปศึกษา แต่สำหรับนิวส์เน็ตเวอร์คแล้วมันเป็นบทเรียนที่มีราคาแพงอย่างมาก ๆ

จังหวะก้าวของนิวส์เน็ตเวอร์คต้องก้าวดี ๆ เสียแล้ว งานนี้พลาดไม่ได้ เพราะมันหมายถึงเงินและหน้าตาของเขา อภิชัย ศักดิ์ชลาธาร และกุลศิริ ศรีมาก

การทำธุรกิจกับช่อง 11 ไม่ได้มีเพียงบริษัท นิวส์เน็ตเวอร์คเพียงเจ้าเดียว มีอีกเจ้าหนึ่ง ชื่อ เบรนเน็ตเวอร์ค ที่เป็นผู้ได้รับการประมูลสัมปทานเวลาโฆษณาช่วงข่าวภาคดึก ที่แพร่ภาพในส่วนภูมิภาค

เบรนเน็ตเวอร์ค มีฉลวย เรืองชาญเป็นหัวเรือใหญ่!

ฉลวย เรืองชาญ ชอบงานข่าว เพราะเขาผูกพันกับมันมาก จะเรียกว่ามันซึมเข้าไปในร่างก็คงไม่ผิด ทั้ง ๆ ที่เขาเรียนเพาะช่าง

ก็ที่เพาะช่างนี่แหละที่เขาได้เข้าไปสัมผัสกับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

งานที่เขาทำระหว่างอยู่เพาะช่างคือละครวิทยุ

หลังจากละครวิทยุแล้วเขาก็ไปจัดรายการวิทยุ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชักจะหลงกลิ่นอายของสื่อตัวนี้เสียแล้ว

หลังจากที่พอมีเงินมีทองกับเขาจึงข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนด้านสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน

สำเร็จการศึกษาแล้วก็อยู่อเมริกาเสีย 6 ปี และอยู่อังกฤษอีก 13 ปี หลังจากนั้นประจำอยู่บีบีซี ลอนดอน

ไปอยู่กับคุณหญิงพรทิพย์ได้พักใหญ่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของสยามกลการมิวสิคฟาวเดชั่น หลังจากกลับจากอังกฤษได้สองสามเดือน

จากนั้นจึงกลายเป็นนกน้อยที่โผกลับรังเดิมโดยเป็นผู้ประกาศข่าวให้ช่อง 5 ครั้งนั้นแหละที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

เขามาโด่งดังอีกครั้งก็เมื่อตอนที่มีปัญหากับสมเกียรติ อ่อนวิมล เพราะเขาย้ายจากช่อง 5 ไปเป็นลูกจ้างของแปซิฟิคฯ คงคิดว่าจะรุ่งกว่าที่ช่อง 5 กระมัง

ผลปรากฏว่าไม่รุ่งแต่ดังเพราะเป็นข่าวฟ้องร้องอดีตนายจ้างเป็นคดีถึงโรงถึงศาล

นั่นดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉลวยรู้จักคำว่า "ลูกจ้าง"

เพราะหลังจากนั้นเขาก็เป็นเถ้าแก่เองแล้วแต่เป็นหุ้นส่วน โดยมีสมาน ไกรคุ้มเป็นฐานเงินทุนใหญ่

สมาน ไกรคุ้ม ซึ่งสวมบทบาทนายทุนใหญ่คนนี้ เป็นคนโคราชบ้านเดียวกับฉลวย แต่ก่อนทำธุรกิจหลายอย่าง เป็นต้นว่า ธุรกิจก่อสร้าง ส่งออกอาหาร กระเป๋า เสื้อผ้า จัดหาวัสดุก่อสร้างให้รัฐบาล และยังมีซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 แห่งในต่างประเทศ

สมานตกปากรับคำเชิญชวนของฉลวยให้มาเสี่ยงลงทุนขายเวลาโฆษณาในช่วงข่าวช่อง 11 กลายเป็นที่มาของเบรนเน็ตเวอร์คที่สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการทีวีอย่างมาก ๆ เมื่อครั้งเป็นผู้ชนะการประมูลเป็นผู้เช่าเหมาเวลาในรายการข่าวภาคค่ำของกรมประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาคเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เบรนเน็ตเวอร์คเสนอให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นเงินถึง 32.4 ล้านบาท และเสนออีกเป็นจำนวนเงิน 45.2 ล้านบาท ตลอดสามปีของช่วงระยะการดำเนินงาน คุณพระช่วย! อะไรจะขนดนั้น

นอกจากจะให้ผลประโยชน์เป็นรูปตัวเงินแล้วยังสนับสนุนเป็นวัตถุต่าง ๆ อีกมาก ไม่ว่ากล้องถ่ายโทรทัศน์ ซีซีดี 2 ตัว ชุดตัดต่อ 1 ตัว รถยนต์ 1300 ซีซีจำนวน 3 คัน ฯลฯ อีกมากมาย

นอกจากนั้นก็จะจัดทีมข่าวเคลื่อนที่เร็วในกรณีที่ทีมข่าวกรมประชาสัมพันธ์ติดงาน และยังเสนอตัวที่จะผลิตรายการในช่วงคั่นระหว่างข่าวในการแพร่ภาพในส่วนกลางวันอีกด้วย

เรียกว่างานนี้ฉลวยทุ่มสุดตัวราวกับว่าจะไปประมูลเวลาโฆษณาช่วงยอดนิยมอย่างนั้น!

ทำไมเขาต้องทุ่มขนาดนั้น "ผมยอมรับว่าเสี่ยง" เขายอมรับ "ชะตากรรมของเราฝากไว้กับความสามารถของทีมข่าวช่อง 11" เขากล่าวถึงปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จของเขา

กรณีของฉลวยกับเบรนเน็ตเวอร์คดูจะน่าสนุกกว่านิวส์เน็ตเวอร์ค เพราะฉลวยไม่ใช่คนหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมนี้ดังเช่นอภิชัย เขาอยู่ในวงการนี้มานาน นานกว่าสมเกียรติด้วย แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าอาจเป็นเพราะจังหวะและโอกาสไม่เอื้ออย่างสมเกียรติก็ได้

การเป็น ENTREPRENEUR ครั้งนี้เขาจะพลาดไม่ได้ เพราะมันหมายถึงหน้าตาและเงินมหาศาลของนายทุนที่คาดว่ายังมีนักการเมืองในโคราชหนุนหลังอยู่อีกด้วย

ช่วงเวลาหลังจากการประมูลเวลาได้แล้วก็คือการออกข่าวอย่างกระชั้นชิด ในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับเกือบทุกอาทิตย์

ตั้งแต่เรื่องการประกาศยืนยันว่าจะเซ็นสัญญากับทางกรมประชาสัมพันธ์แน่ ๆ หลังจากประมูลเวลาได้แล้ว

เขาต้องรีบออกมาให้ข่าวเพราะระยะนั้นมีข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขามากเหลือเกินข่าวที่ทำให้เขายิ้มไม่ออกก็คือ ข่าวที่เขาแกล้งทะเลาะกับสมเกียรติ เพื่อที่จะให้เบรนเน็ตเวอร์คที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ไปยึดหัวหาดที่ช่อง 11 คงทำนองว่าเป็นช่องสำรองเผื่อว่าทาง อ.ส.ม.ท. บอกเลิกสัญญากับทางแปซิฟิค แปซิฟิคจะได้มีที่ไป เพราะมีข่าวลือว่าเบรนเนตเวอร์คเป็นบริษัทในเครือของแปซิฟิค และหลายคนยังกระแซะว่าเมื่อไรฉลวยจะกลับไปอ่านข่าวกับสมเกียรติ

ข่าวอัปมงคลที่เกิดก่อนหน้านั้นก็มีมาเป็นระลอกคลื่น ตั้งแต่เรื่องที่เบรนเน็ตเวอร์คจะถอนตัวจากการเป็นคู่สัญญากับทางกรมประชาสัมพันธ์หรือมีข่าวลือว่ามีบริษัทอื่นไปเหมาเวลาจากเบรนเน็ตเวอร์คอีกต่อหนึ่งแล้ว

ข่าวคราวประเภทนี้จะมีออกมาเป็นระยะ ๆ ทำให้ฉลวยต้องกลายเป็นโฆษกของเบรนเน็ตเวอร์คไปโดยปริยาย

การดำเนินของเบรนเน็ตเวอร์คค่อนข้างจะเป็นมวยมากกว่านิวส์เน็ตเวอร์ค การเสนอออกข่าวเป็นไปในลักษณะเชิงรุกอันแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ

หลังจากเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการได้เพียงเดือนเดียวเขาก็ส่งทีมงานออกไปสำรวจคนดูในต่างจังหวัดเหมือนกับเป็นการวิจัยตลาด

ขณะที่เขากำลังขะมักเขม้นกับการแย่งมาร์เก็ตแชร์ในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากที่สุด กลับปรากฏว่าพนักงานหลายคนในบริษัทของเขาเองบางคนไม่เคยเปิดดูรายการข่าวของช่อง 11 ด้วย

ข่าวระดับลึกรายงานว่าเขากำลังบักโกรกเพราะขายโฆษณาได้ไม่เข้าเป้า แต่ข่าวที่เขาให้ในนามเบรนเน็ตเวอร์คนั้นดูประหนึ่งเขากำลังขายโฆษณาดีอย่างเทน้ำเทท่า เพราะเขาได้ปรับราคาค่าโฆษณาขึ้นเป็นสามหมื่นจากราคา 27,000 บาท ราคาขนาดนี้แพงกว่าราคาของช่อง 5 (ช่วงข่าวหลังลดแล้ว) ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมในปริมณฑลพอ ๆ กัน นั่นแสดงว่าเขามั่นใจในผลิตภัณฑ์ของตนเอง

เบรนเน็ตเวอร์คนั้นค่อนข้างจะรับภาระหนักน้อยกว่านิวส์เน็ตเวอร์ค เพราะเป็นผู้ประมูลเวลาโฆษณาในช่วงข่าวเท่านั้น นอกจากนั้นยังไม่ต้องผลิตรายการเองอีกด้วย แต่ผลเสียเกิดขึ้นในแง่ที่ว่าเขาไม่มีโอกาสไปยุ่งเกี่ยวกับด้านการผลิตเพียงทำหน้าที่ด้านการตลาดคือหาโฆษณาเท่านั้น กล่าวได้ว่าชะตากรรมของเขาฝากอยู่กับความสามารถของบุคลากรช่อง 11 จริง ๆ

นั่นเป็นข้อที่อันตรายสำหรับเบรนเน็ตเวอร์คเป็นอย่างยิ่ง เพราะเบรนเน็ตเวอร์คเข้าทำธุรกิจกับช่อง 11 ในส่วนของการโฆษณาช่วงรายการข่าวนั่นหมายความว่าคุณภาพของข่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายต่อลูกค้า

เผอิญโปรดักส์ตัวนี้ต่างมีให้เลือกมากมายและเป็นตัวที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากที่สุดในตลาดอีกด้วย

ดูเหมือนว่าเมื่อเทียบคุณภาพข่าวกันแล้วช่อง 11 ดูจะได้เปรียบช่อง 5 เพียงช่องเดียวเท่านั้น ซึ่งยังผูกติดกับทหารอย่างเหนียวแน่น ฉะนั้นมาร์เก็ตแชร์ที่จะสามารถช่วงชิงมาก็คงจะได้มาจากข่าวช่อง 5 เท่านั้น ซึ่งเป็นเนื้อชิ้นเล็กมาก ๆ

แน่นอนว่าเขาย่อมไม่พอใจกับขนมเค้กก้อนเล็กมาก ๆ อย่างนี้

เขาจึงต้องเริ่มแผนการที่จะช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์มาให้ได้ เพื่อลดการขาดทุนให้มากที่สุด

วิธีแรกเขาต้องดึงให้คนมาสนใจดูช่อง 11 เสียก่อน ยุทธวิธีแรกที่เขานำมาใช้ก็คือการสัมภาษณ์สดข้ามทวีปนางงามจักรวาลชาวไทยมาให้ประชาชนชาวไทยซึ่งกำลังคลั่งไคล้หนูปุ๋ยมาให้ชมกันถึงบ้าน

วิธีนี้สร้างความดังให้กับฉลวยในฐานะเป็นผู้ริเริ่มแต่ไม่ได้สร้างความดังให้กับช่อง 11 เพราะในที่สุดช่องอื่น ๆ ก็เข้ามาร่วมความคิดของฉลวยด้วย

และผลที่สุดรายการนั้นก็เป็นรายการที่สื่อมวลชนโดนด่ามากที่สุด และเป็นวันที่ประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นสื่อมวลชนก็จะด่าสื่อมวลชนด้วยกันเอง ฉลวยเองก็ถูกด่าด้วยในฐานะเป็นผู้ริเริ่มการจัดงาน

แต่ก็ต้องยกเครดิตให้เขาในฐานะผู้ริเริ่ม

ฉลวยในวันนี้เขาต้องทำงานหนัก เขาต้องบุกเบิกริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ตั้งแต่เรื่องการติดต่อนำข่าวบีบีซีมาออกในช่วงเช้าในฐานะผู้คุ้นเคยกับบีบีซีมาก่อน เพราะคลุกอยู่ด้วยนานถึง 16 ปี

เพราะความคิดริเริ่มของเขานี่เอง ก็ทำให้เขาเสียรังวัดเป็นอันมากเมื่อประโคมข่าวเรื่องการถ่ายทอดสดการเลือกตั้งไปแอลเอเสียใหญ่โตทั้ง ๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์ยังไม่อนุมัติ

ที่เขาทำเป็นชิ้นเป็นอันแล้วดูจะประสบความสำเร็จก์คือการที่เขาไปทาบทามลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์ เพื่อนร่วมงานเก่าสมัยอยู่แปซิฟิคซึ่งประสบชะตากรรมเดียวกันคือไม่ถูกกับสมเกียรติ และออกมา

ลดาวัลล์ น่าจะเป็นตัวดูดคนได้ในความคิดของเขา ซึ่งก็สอดคล้องกับทางกรมประชาสัมพันธ์ ลดาวัลลิ์ จึงได้มาปรากฏหน้าจออีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการนำลดาวัลลิ์มาอ่านข่าวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ช่อง 11 ได้ปรับปรุงรายการข่าวของตนเองจากที่เริ่มจากศูนย์ ขณะนี้ได้ไต่เพดานจนแซงหน้าช่อง 5 ไปหลายขุมแล้ว

ช่อง 11 นั้นมีข้อได้เปรียบหลายประการ มีนักข่าวประจำอยู่เกือบทั้งประเทศ ด้านข่าวต่างจังหวัดจึงไม่เป็นรองใคร อีกทั้งข่าวต่างประเทศก็ได้มาไม่เหมือนกับอีกสี่ช่อง จึงเป็นการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาของคนดูผู้ไม่นิยมความจำเจ

ข้อโชคดีอย่างหนึ่งคือคนคุมนโยบายและผู้อำนวยการเป็นคนรุ่นใหม่ที่มองการณ์ไกล ทำให้ด้านงานข่าวรุดหน้าแซงช่อง 5 ในด้านคุณภาพไปอย่างรวดเร็ว

คนที่ปลาบปลื้มอย่างเงียบ ๆ ก็คือฉลวย

ฉลวยว่าไปแล้วเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ (คือข่าวช่อง 11) แต่ละครั้ง

มีหลายครั้งที่เขาประสบความสำเร็จ แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่เขาล้มเหลว

หลังจากที่เขาออกข่าวจนจะกลายเป็นฉลวยรายวันอยู่แล้ว วันนี้เขาถูกสั่งให้เก็บตัว

ภารกิจของเขาจะต้องหนักขึ้นเป็นทับทวีแน่ ๆ เปรียบเทียบระหว่าง การเข้าสู่อุตสาหกรรมของนิวส์เน็ตเวอร์คและเบรนเน็ตเวอร์คแล้วแตกต่างกันมาก

นิวส์เน็ตเวอร์คนั้นเข้าสู่อุตสาหกรรมโดยไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก ต่างกับเบรนเน็ตเวอร์คที่เข้ามาก็สร้างความฮือฮาด้วยการทุ่มเงินมหาศาลสู่อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และเป็นการเข้าสู่ในจุดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากที่สุด้วย นั่นคือ "ข่าว"

ฉลวยและเบรนเน็ตเวอร์คจึงเสมือนหนึ่งประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เขาไม่ใช่คนใหม่ของวงการเหมือนนิวส์ฯ ซึ่งมีอภิชัยบัญชาการอยู่

การหวนคืนสู่วงการหลังจากหลบเลียแผลใจอยู่พักใหญ่จากกรณีพิพาทกับสมเกียรติ ทำให้หลาย ๆ คนหวั่นใจอย่างน้อยที่สุดก็สมเกียรติ อ่อนวิมล

"ผมคิดว่าในปี 2532 เขาคงต้องเหนื่อยอย่างมาก ๆ ว่าจะไปรอดหรือไม่ ขนาดของผมบางวันยังขายได้ไม่หมด" เขาบอกถึงเวลาขายโฆษณา

นั่นแสดงว่าการเข้ายุทธจักรครั้งนี้มีคนจับตาดูเขาอยู่มาก เพราะอย่างน้อยที่เขามีกึ๋นมากพอที่จะแย่งขนมเค้กชิ้นนี้ ดังนั้นข่าวลือต่าง ๆ และหลาย ๆ สิ่งหลายอย่างค่อย ๆ ประดังไปหาเขาเสมือนหนึ่งเป็นขวากหนามสกัดกั้นมิให้เขาเดินอย่างสะดวกสบาย

หนทางข้างหน้าของเขา อุปสรรคมากมายเหลือเกิน ไหนจะต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ไหนจะต้องฟาดฟันกับคู่แข่งที่อยู่ในวงการเดียวกัน ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะแย่งมาร์เก็ตแชร์ไปได้มากสักเท่าไร

หนทางของเขาคงจะไม่ราบรื่นเหมือนดังนิวส์เน็ตเวอร์คที่ต่อสู้กับตนเองเท่านั้น

ปี 2532 ก็จะรู้ว่าเบรนจะอยู่หรือไป?

ช่อง 11 บริษัท นิวส์เน็ตเวอร์ค เบรนเน็ตเวอร์ค ทั้ง 3 กำลังต่อสู้กับชะตากรรมในสงครามมีเดีย เส้นทางสู่เป้าหมายนโยบายดูจะแตกต่างกัน ที่เข้ากันไม่ได้เลยระหว่างกำไร-ขาดทุน กับสื่อมวลชนของรัฐ ที่ในที่สุดแล้วชะตากรรมของทั้งสาม คือช่อง 11 นิวส์เน็ตเวอร์คและเบรนเน็ทเวอร์คก็ยังคงผูกพันร่วมกัน

หากช่อง 11 ไปไม่รอดก็ยากที่นิวส์เน็ตเวอร์คและเบรนเน็ตเวอร์คจะไปรอด ทว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ช่อง 11 ที่เป็นของกรมประชาสัมพันธ์จะล้ม เพราะมันเป็นของรัฐบาล แต่โอกาสที่สองบริษัทผู้อาสาร่วมเสี่ยงกับช่อง 11 เป็นเรื่องที่น่าห่วง

ทั้งเบรนเน็ตเวอร์คและนิวส์เน็ตเวอร์คจึงต้องพยายามประคับประคองช่อง 11 ให้เป็นสถานียอดนิยมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะนั่นหมายความถึงยอดโฆษณาและผลกำไรที่จะตามมา

ช่อง 11 นั้นเข้าสู่ยุทธจักรทีวีด้วยการสร้างความแตกต่างกับช่องอื่น ๆ เหมือนกับทฤษฎีทุกประการ เพียงแต่เป็นความแตกต่างที่คนดูไม่ค่อยสนใจ เพราะช่อง 11 ไปเน้นรายการศึกษาและสารคดีซึ่งถือเป็นยาดำของวงการทีวี ที่คนดูชอบคือรายการบันเทิง

งบประมาณก็ขาดแคลนอันเกี่ยวพันไปถึงรายการคุณภาพที่จะผลิตขึ้นเพื่อเรียกคนดูอีกด้วย

ภารกิจด้านการสนับสนุนด้านรายการหรือสร้างจุดสนใจให้กับคนดูซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเรียกโฆษณาให้กับทั้งเบรนและนิวส์ ซึ่งถึงแม้ช่อง 11 ในส่วนกลางจะไม่มีโฆษณา แต่ถ้ารายการดีมาก ๆ โดยเฉพาะรายการข่าว เบรนเน็ตเวอร์คก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง

อนาคตของช่อง 11 ในวันนี้ยังค่อนข้างจะมืดมน ถึงจะมีเบรนเน็ตเวอร์คและนิวส์เน็ตเวอร์ช่วยประคับประคองในบางส่วนก็ตามที หากช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ยังคงดำรงสถานภาพนี้อยู่ต่อไป

การเป็นองค์การที่ไม่ต้องการผลกำไร น่าจะเป็นองค์กรที่ต้องการสร้างกุศลและมีคนบริจาคเหมือนดังมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง แต่ไม่ใช่กับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ

ความอยู่รอดของช่อง 11 วินาทีนี้คงจะฝากไว้กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะปล่อยให้มีโฆษณาหรือไม่ ถ้ายังไม่ตลอดกาล "ผู้จัดการฯ" บอกได้เพียงว่า "รอวันตาย" เท่านั้น

ถ้าช่อง 11 ยังรอวันตายอย่างทุกวันนี้ ก็หมายถึงภาษีอากรของประชาชนจะต้องถูกทุ่มลงไปอย่างเปล่าประโยชน์

ทำไม? จึงไม่อนุมัติให้มีโฆษณา

หรือจะปล่อยให้ช่อง 11 ค่อย ๆ ตายไปพร้อม ๆ กับภาษีอากรของประชาชน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.