"ผู้จัดการ" มีโอกาสพบกับ ยูตากะ ฟูรูตานิ กรรมการผู้จัดการสยามจัสโก้
จำกัด ในการสัมมนา "การพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นกับพฤติกรรมธุรกิจของญี่ปุ่น"
ในวาระครบ 50 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ
17 พฤศจิกายน 2531
ยูตากะ ฟูรูตานิ ได้เสนอความเห็นและเบื้องหลังแนวคิดการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย
อีกทั้งแนวคิดการค้าปลีกแบบของจัสโก้ที่น่าสนใจหลายประเด็น
"ผู้จัดการ" ขออนุญาตนำบางประเด็นมาถ่ายทอดดังนี้
ตามที่คุณได้ทราบว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วได้เกิด "สยามจัสโก้" ขึ้นมาที่ถนนรัชดาภิเษก
ทำเลที่ไม่มีแหล่งทางการค้าอยู่เลย และผมเองก็ได้ฟังจากเพื่อนคนไทยและคนญี่ปุ่นว่า
คุณเปิดสัก 6 เดือน คุณก็ต้องปิด แต่ทุกอย่างก็ดำเนินมาถึงทุกวันนี้
ลักษณะของ CHAIN STORE นั้น เป็นลักษณะธุรกิจที่เราเข้าไปตั้งในทำเลที่ใดที่หนึ่ง
ไม่จำเป็นต้องเข้าไปตั้งในตำแหน่งแหล่งการค้าที่มีมาก่อน นั่นก็คือสยามจัสโก้ตั้งอยู่บนถนนเพียงสายเดียวและไม่มีสิ่งก่อสร้างอื่นใดเลย
ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนหนาแน่น
ตามที่คุณทราบว่าเมื่อ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โรบินสันเพิ่งไปเปิดกับสยามจัสโก้
ซึ่งก็มีคนไปพูดว่า ซัพพลายเออร์ก็คงจะถอนจากสยามจัสโก้ไปโรบินสันหรือไม่ก็เหลือเพียง
50% เพราะคนเข้าใจว่ารูปแบบระหว่างดีพาร์ทเม้นท์สโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ตจะแข่งขันกันหรือเหมือนกันความจริงแล้วไม่ใช่
การทำธุรกิจคือการแข่งขันหรือสงคราม แต่สงครามไม่ได้กำหนดที่ตำแหน่งของธุรกิจที่เข้ามาเท่านั้น
มันเป็นเพียงช่วงแรกเท่านั้นของการทำธุรกิจ แต่ผมจะบอกความจริงให้ทราบนะครับว่าโรบินสันเขาคงไม่สามารถแข่งกับเราได้
จนกระทั่งโรบินสันเองจะปรับกลยุทธ์เป็นว่าเขาจะเปลี่ยนเป็น DEPARTMENT CHAIN
STORE ซึ่งถ้าเขาเปลี่ยนเมื่อไรเขาจะสามารถแข่งกับสยามจัสโก้ได้ เพราะตอนนี้เราเป็น
SUPER MARKET CHAIN STORE
CHAIN STORE ในความหมายของผมคือ หนึ่ง-เมื่อเราพิจารณาถึงขอบเขตของการควบคุม
จากประสบการณ์ของผมคิดว่าผู้บริหาร 1 คนน่าจะสามารถควบคุมและบริหารสาขาได้ประมาณ
20 สาขาด้วยกัน ซึ่งถ้ามากกว่านั้นมันก็จะเป็นจุดเปลี่ยน (TURNING POINT)
ที่ไม่ใช่ CHAIN STORE แล้ว
ซึ่งถ้าผมนิยามความหมาย CHAIN STORE ตามนี้แล้วระบบฟาสต์ฟู้ดของที่นี่ก็น่าจะเป็นระบบ
CHAIN STORE ได้ แต่ในระบบการค้าปลีกอื่นผมไม่เห็นระบบอื่นเลยที่เป็นระบบ
CHAIN STORE
ถ้าผมประมาณกำลังของเซ็นทรัล เซ็นทรัลเองก็มีสาขา 7-8 สาขาเท่านั้น ผมเข้าใจว่าเขาคงยังไม่พัฒนาเป็น
CHAIN STORE แต่ถ้ามองในแง่บริษัทของผมนะครับ เราก็มองว่า เขาเองก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของเรานัก
ประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นในการบริหาร CHAIN STORE คือ
1. STANDARDIZATION ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
2. ต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้น
3. DECENTRALIXATION
ผมคิดว่าการบริหาร CHAIN STORE ต้องใช้ทั้งสามหลักการนี้ ผมอยากจะกล่าวว่า
การพัฒนาของธุรกิจค้าปลีกนี้ เราจะเห็นได้ว่าการพัฒนาลักษณะการบริหารแบบ
CHAIN STORE นี้เป็นการ MODERNIZATION นะครับ ให้ธุรกิจค้าปลีกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ทำไมเราต้องเปลี่ยนเป็นระบบ CHAIN STORE จุดดีคือ หนึ่ง เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอันเกิดจากการบริหารได้
คือถ้าเราสร้างห้างใหญ่โตมโหฬาร มียอดขายสูง แต่ในอนาคตข้างหน้า คุณไม่รู้หรอกว่า
มันมีความเสี่ยง ยอดขายอาจจะตกฮวบฮาบ
สอง-ในการบริหาร เราตระหนักถึงการ DECENTRALIZATION และ CENTRALIZATION
ที่เหมาะสม เพราะนั่นหมายถึงการลดต้นทุนได้อย่างมาก
สาม-เราสามารถทำ MASS MERCHANDISE คือซื้อเข้ามามาก ราคาถูก เมื่อขายออกไปมาก
ราคาก็จะต่ำ
ผมมีความเชื่อในเรื่อง MASS MERCHANDISE การค้าปลีกจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เพื่อสนองความต้องการแก่ผู้บริโภค
ดังนั้น เมื่อผมมีความคิดที่จะขายสินค้าถูกเช่นนี้ ผมจึงถูกเกลียดชังจากผู้ผลิตและผู้ส่งสินค้า
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมพยายามลดราคาสินค้าตัวหนึ่ง ผู้ส่งสินค้าคนหนึ่งเข้ามาพบผมทันที
ไม่ยอมให้ผมลดราคา ซึ่งผมอธิบายว่า ผมลดกำไรของผม แล้วมันผิดตรงไหน
ลักษณะเช่นนี้ผมก็เคยพบในญี่ปุ่นเมื่อ 25-30 ปีมาแล้ว ในตอนนั้นเป็นยุคสมัยของห้างสรรพสินค้ารุ่งเรือง
ร้านเล็กอย่างผม เมื่อลดราคาก็ถูกมองว่าเป็นร้านที่อยู่ในเกรดที่ต่ำที่สุด
สมัยเมื่อผมจบมหาวิทยาลัยและเข้ามาทำงานในห้างนี้ ผมก็ถูกหัวเราะเยาะ เขาหาว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยอย่างนายไม่น่ามาทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตเกรดต่ำอย่างนี้
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าการที่จะอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น แล้วก็สังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค
แล้วก็หาทางสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
นั่นแหละครับคือสิ่งสำคัญที่สุดและที่สำคัญอีกก็คือว่า สินค้าที่มีกำไรต่อหน่วยต่ำจะต้องขายให้ได้เร็ว
ซึ่งจะทำให้สินค้ามีความสดใหม่ทุกวัน ซึ่งผมหวังที่จะให้มันเป็นเช่นนั้น
ธุรกิจค้าปลีกไม่ใช่การแข่งขันที่พื้นที่การขาย แต่อยู่ที่การเข้าใจจิตวิทยาของผู้บริโภคมากกว่า
ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจะทำให้ลูกค้าสนใจในสินค้าโดยที่ผู้บริโภคเองไม่ได้ตั้งใจ
เราจะชักชวนให้เขาเดินไปในเส้นทางซื้อของได้อย่างสบายใจ โดยไม่รู้สึกว่าได้รับการบังคับและมีความพอใจต่างหาก