ใคร ๆ ก็ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่กำลังไหลบ่าออกมาปักหลักปักฐานนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง
ห้างสรรพสินค้าเหล่านั้นประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์แบบญี่ปุ่น
โซโก้และโตคิวก็น่าจะเป็นเช่นนั้นบ้างในเมืองไทย เพียงแต่…คนญี่ปุ่นลืมไปนิดเดียวว่า
"เมืองไทยนั้นมีข้อยกเว้นเสมอ"
กรุงเทพ 2531
ผลพวงจากการตื่นตัวโหมสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในช่วงทศวรรษ 80
เป็นต้นมา คือห้างสรรพสินค้าในช่วงทศวรรษและซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่เกือบ 50
แห่งทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการที่เพิ่งเปิดตัวและกำลังก่อสร้าง
เช่น เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์, รัชดาคอมเพล็กซ์ หรือโครงการที่กำลังจะขยับขยายต่อไปในอนาคต
เหตุที่ในช่วงทศวรรษ 80 โดยเฉพาะช่วงปี 2525 มีการเริ่มต้นก่อสร้างศูนย์การค้า
ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์สโตร์อย่างขนานใหญ่หลายโครงการ เนื่องมาจากการขยายอาณาเขตและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ
การเพิ่มและความหนาแน่นของประชากรประกอบกับฐานะและความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคก็นิยมเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดี
จากสถานที่ที่เหมาะสมและบริการน่าพอใจทั้งเรื่องที่จอดรถ บรรยากาศดี
การประสบความสำเร็จของห้างสรรพสินค้าเก่าก่อน ทำให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ในธุรกิจค้าปลีกมากมาย
ด้วยเงินลงทุนนับหมื่นล้าน มีผู้ประเมินว่า ในปี 2525 ที่มีการลงทุนหลายโครงการ
รวมแล้ว 20 โครงการต้องใช้เงินลงทุนรวมแล้วถึง 4 หมื่นล้านบาท!
ในปี 2531 นี้เองที่หัวข้อการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของห้างสรรพสินค้ากลายเป็นประเด็นที่นำมาถกเถียง
ขบคิดมากที่สุดเพราะจำนวนห้างสรรพสินค้าที่มากมายภายในเขตเมือง ๆ เดียว และโดยส่วนใหญ่ก็อยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกัน
เรียกว่าหลังคาแทบจะเกยกันเสียด้วยซ้ำ เช่น ทำเลราชประสงค์แห่งเดียวมีห้างสรรพสินค้าอยู่ถึง
4 แห่ง คือ ไทยไดมารู, โรบินสัน, โซโก้และแกลอรี่ ลาฟาแยต ถัดมาเพียงข้ามสะพานคลองแสนแสบก็มีห้างสรรพสินค้าอีก
6 แห่งคือซิตี้เซนเตอร์, พันธุ์ทิพย์พลาซ่า, พาต้า อินทรา, ใบหยกทาวเวอร์
และห้างเมโทร หรือถ้าไม่ข้ามสะพาน แต่เดินมาที่สี่แยกปทุมวัน ก็พบกับศูนย์การค้าสยาม
มาบุญครองเซ็นเตอร์ หรือบริเวณถนนรัชดาภิเษกที่นับวันห้างสรรพสินค้าจะรีบเร่งเข้าไปจับจองพื้นที่มากขึ้นเรื่อย
ๆ ตั้งแต่สยามจัสโก้, โรบินสัน
ความที่ห้างสรรพสินค้ากระจุกตัวอยู่บนทำเลทองไม่กี่แห่ง จึงกลายเป็นชนวนนำไปสู่สงครามแย่งชิงลูกค้าอย่างรุนแรง
โดยภาวะการแข่งขันที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นี่เอง กลยุทธ์ที่ห้างสรรพสินค้าคิดค้นขึ้นเพื่อความเหนือกว่าคู่ต่อสู้ก็คือ
หนึ่ง-กลยุทธ์ลด-แลก-แจก-แถม กลยุทธ์นี้กลายเป็นเซลส์โปรโมชั่นที่ใช้รุนแรงมากที่สุด
ทั้งที่ในแง่การตลาดแล้วควรจะเป็นอาวุธชิ้นสุดท้ายที่นาน ๆ จะนำมาใช้สักครั้ง
แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้พอเปิดห้างมาก็ลดราคากันเลย
กลยุทธ์ลดราคากลายเป็นเรื่องเคยชินไปเสียแล้วสำหรับผู้บริโภค เพราะลดกันทุกห้าง
ทุกวัน จากที่เคยลดกันแค่ 10-20% ทุกวันนี้ต้องลดกันดุเดือดกว่านั้น เช่น
ลดครึ่งวัน-ครึ่งราคาที่ห้างพาต้าทำเอาคนแห่กันไปมืดฟ้ามัวดิน หรือลดกันทั้งเดือนแบบเดอะมอลล์
แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลยุทธลดราคาก็เหมือนการล้างหน้าประแป้งให้ชวนมองเสียมากกว่า
เพราะในจำนวนสินค้านับหมื่นรายการ จะมีสินค้าไม่ถึง 1% ที่ลดราคา แต่จุดหมายที่แท้จริงคือ
การพยายามดึงคนเข้าห้างไว้ก่อนเพื่อที่ลูกค้าอาจจะซื้อสินค้าที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อแต่แรก
สิ่งที่พ่วงตามมาด้วยสำหรับกลยุทธ์ลดราคาก็คือ การแลกคูปอง เช่น เวลโกจัดแลกคูปองกัน
3 ตลบ, สะสมแสตมป์เช่นที่โรบินสันเคยฮือฮามาก ๆ, แถมของขวัญสารพัดชนิด โดยเฉพาะกระเป๋าชิปปิ้ง,
จัดรายการชิงโชค เช่น เซ็นทรัลทุ่มถึง 20 ล้านบาท ชิงรถเบนซ์ ทั้งนี้ความน่าตื่นตาตื่นใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับการโฆษณาทางโทรทัศน์
หนังสือพิมพ์ประกอบกันไป
สอง-แนวความคิดการสร้างห้างสรรพสินค้าแบบ "ONE STOP SHOPPING"
กำลังแพร่หลายในหมู่นักลงทุนใหม่ ๆ อย่างยิ่ง ซึ่งออกจะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยคือ
"มาที่เดียว ได้ทุกอย่าง" คือ ซื้อของดี ราคาถูก อากาศเย็นสบาย
มาได้ทั้งครอบครัว มีศูนย์อาหาร มีลิฟต์แก้ว สวนสัตว์ สวนน้ำ สวนสนุก
เนื่องจากในความรู้สึกของคนไทย รู้สึกว่าห้างสรรพสินค้าไม่ใช่สถานที่จับจ่ายซื้อของอย่างเดียว
แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัวในวันหยุดด้วย
สาม-เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดของห้างสรรพสินค้าในพื้นที่เดียวกัน และเพื่อแสวงหาลูกค้ากลุ่มใหม่
ห้างสรรพสินค้าจึงต้องขยายสาขาออกไปบริเวณชานเมืองมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปรรูปแบบที่ลดต้นทุนคือมินิมาร์ท
คอนเวอร์เนี่ยนสโตร์ ซึ่งมีการออกข่าวที่จะเปิดแบบปูพรมทั่วทั้งกรุงเทพฯ
เกือบทั้งปี โดยเฉพาะห้างเซ็นทรัลที่ลุยเปิดออกไปก่อน
ปีหน้า เพียงแค่พ้นปากซอยออกมา เราอาจเดินหลงอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือมินิมาร์ทไม่รู้ตัว!
ถึงกระนั้นไม่ว่าห้างสรรพสินค้าจะมีมากชื่อ หรือสาขาจะมีมากแห่ง กลยุทธ์ด้านการขายจะต้องขับเคี่ยวกันรุนแรงมากขึ้น
ก็ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่ดาหน้าเข้ามาเรื่อยโดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยังมีข่าวมาเป็นระยะ
ๆ
ทศวรรษ 80 ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ญี่ปุ่นรุกก้าวออกนอกประเทศไม่ขาดสาย
โดยเฉพาะทางแถบเอเชียที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นกระจายอยู่เกือบทุกประเทศที่มีฐานะหรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจค่อนข้างจะแจ่มใส
ในสิงคโปร์นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ไว้หลายแห่ง
ตั้งแต่ปี 2515 ที่ห้าง ISETAN เข้าไปบุกเบิกจนประสบความสำเร็จมากมาย ห้างไดมารูเปิดกิจการในปี
2526 และเยาฮันก็ไปเปิดซูเปอร์สโตร์จนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เรื่องมาจากความที่สิงคโปร์มีเมืองท่าปลอดภาษีและประชาชนมีระดับรายได้ค่อนข้างสูง
ทำให้กิจการด้านนี้ของชาวญี่ปุ่นประสบความสำเร็จด้วยดี ประมาณว่าห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ญี่ปุ่นที่มีอยู่
7 แห่งในสิงคโปร์มีส่วนแบ่งในตลาดราว 40%
ไต้หวันเป็นประเทศที่นักธุรกิจญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนอย่างมากในระยะหลังมานี้
เพราะรัฐบาลไต้หวันเพิ่งจะผ่อนปรนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการที่ต่างชาติจะเข้ามาประกอบธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมบริการ
และไต้หวันก็ยังเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในขั้นดีพอที่จะดึงดูดใจนักลงทุน
โซโก้เป็นห้างสรรพสินค้ารายแรกของญี่ปุ่นที่เข้าไปเปิดกิจการในไต้หวันเมื่อพฤศจิกายน
2530 ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง จนโซโก้เองคาดว่าจะสามารถดำเนินกิจการจุดคุ้มทุนได้
ภายในปี 2531 ทั้งที่แต่เดิมตั้งเป้าว่าจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี
จากโซโก้นี่เองที่ทำให้นักธุรกิจชาวไต้หวันกระตือรือร้นที่จะขอร่วมทุนเปิดกิจการห้างสรรพสินค้ากับนักธุรกิจญี่ปุ่นอีกหลายราย
เพราะเห็นว่าวิธีการและกลยุทธ์ในการจัดการตลาดและการบริหารแบบญี่ปุ่นสามารถดึงดูดใจลูกค้าชาวไต้หวันได้อย่างดีเยี่ยม
ในฮ่องกง ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ญี่ปุ่นเขาไปเปิดถึง 13 แห่ง โตคิวเปิดกิจการในฮาวาย
4 แห่งและสิงคโปร์อีก 1 แห่ง ไดมารูเตรียมเปิดกิจการในออสเตรเลียอีก 3 ปีข้างหน้าหลังจากที่เปิดกิจการแล้วในฮ่องกงและสิงคโปร์
เช่นเดียวกับเยาฮันที่เพิ่งเปิดที่มาเลเซียเมื่อปี 2530
ในประเทศไทย นอกเหนือจากไดมารูที่มาปักหลักตั้งแต่ปี 2507 ก็เพิ่งมีโซโก้
โตคิว และจัสโก้ที่มาเปิดกิจการรวดเดียวในช่วง 3 ปีที่แล้ว
เหตุที่นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นสนใจหันเหออกมาลงทุนด้านห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ในต่างประเทศมากขึ้นเป็นเพราะ
หนึ่ง-ราคาที่ดินและอาคารสิ่งก่อสร้างในญี่ปุ่นถีบตัวสูงลิ่ว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย
แม้แต่ในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ก็ยังมีต้นทุนการลงทุนที่ถูกกว่า
สอง-ญี่ปุ่นมรกฎหมายควบคุมบรรดาห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์สโตร์ยักษ์ใหญ่ต่าง
ๆ เปิดสาขาแห่งใหม่ในประเทศ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองบรรดาร้านค้าย่อยภายในประเทศ
รวมถึงมีกฎข้อบังคับเกี่ยวกับเวลาเปิดปิดของห้างในแต่ละวัน เช่น ห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นต้องปิดกิจการเพียงแค่เวลา
18.00 น. เท่านั้น
สาม-เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังขยายตัวเต็มที่และมีแนวโน้มที่พอจะเชื่อได้ว่ายังสดใสต่อไป
นักธุรกิจญี่ปุ่นจึงเชื่อว่า การลงทุนในช่วงนี้จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็ว
อีกทั้งประสบการณ์ในฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลาเพียง
5 ปี
สี่-ความแข็งแกร่งของเงินเยน ทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นมีอิทธิพลหรืออำนาจซื้อสูง
จึงสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ก็ยังมีผลพลอยได้ตามมาอีกเช่น การให้ห้างสรรพสินค้าสาขาเป็นตัวแทนจัดหาและซื้อสินค้าในท้องถิ่นกลับสู่ประเทศญี่ปุ่น
หรือเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแหล่ง ประกอบธุรกิจของชาวญี่ปุ่นที่ออกมานอกประเทศมากขึ้น
อีกทั้งเป็นการสร้างภาพพจน์แก่ชาวญี่ปุ่นเองว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้มีกิจการใหญ่โต
มีสาขาทุกที่ที่ชาวญี่ปุ่นก้าวไปถึง เพื่อสำแดงให้เห็นว่าอาณาจักรของชาวญี่ปุ่นต่างหาก
ที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน!
ไทยไดมารูกำลังกลายเป็นตำนานคลาสสิกของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทย เมื่อไทยไดมารูเปิดกิจการในปี
2507 ที่ศูนย์การค้าราชประสงค์และต่อมาในปี 2515 ย้ายข้ามฟากมาฝั่งตรงข้ามคือ
ราชดำริอาเขต และห้างแห่งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
หุ้นใหญ่ในไทยคือไดมารูคือ ไดมารูญี่ปุ่น มีหุ้นคนไทยรวมอยู่หลายกลุ่ม
หลายคน เช่น พันเอกจินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งของห้างด้วย
กลุ่มตระกูลสารสิน เจ้าของราชดำริอาเขต พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ที่เข้ามาในฐานะส่วนตัวเพราะเป็นเพื่อนกับพันเอกจินดา
เป็นต้น
ความสำเร็จของห้างไทยไดมารูอยู่ที่ หนึ่ง-ช่องว่างของตลาดที่อาจบอกได้ว่าในยุคนั้นไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน
สมัยนั้นมีเพียงห้างเซ็นทรัลเท่านั้นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน แต่เซ็นทรัลก็มีทำเลห่างไกลถึงวังบูรพาและสีลม
สอง-ผู้บริหารญี่ปุ่นได้นำความ "ทันสมัย" บรรจุไว้ในห้างด้วย
ในยุคนั้นไทยไดมารูเป็นห้างสรรพสินค้าที่หรูหรามีสินค้าแปลกใหม่ที่ถูกจัดอย่างเป็นระเบียบชวนซื้อ
หรือสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น มีบันไดเลื่อน ซึ่งเป็นของแปลกใหม่อย่างมากประกอบกับไทยไดมารูรวมอยู่ในราชดำริอาเขตซึ่งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ยุคแรก
มีร้านค้าอยู่ในอาคารเดียวกันกว่าร้อยล้าน ซึ่งทุกร้านตกแต่งอย่างสวยงาม
มีสำนักงาน ภัตตาคาร และความสะดวกสบายอย่างพร้อมมูล เช่น ลานจอดรถ ลิฟต์
และยังมีเครื่องปรับอากาศทั้งหลังอีกด้วย
สำหนับคน พ.ศ. นั้น สิ่งเหล่านี้คือความแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ มันเป็นวิวัฒนาการใหม่ของธุรกิจค้าปลีกที่คนไทยอยากสัมผัส
ด้วยเหตุนี้ไทยไดมารูจึงเป็นห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุคสมัยและประสบความสำเร็จอย่างสูง
แต่ห้างไทยไดมารูก็เติบโตอย่างช้า ๆ ไม่ก้าวร้าว เนื่องจากนับแต่ปี 2515
ไทยไดมารูเพิ่งลงทุนไปกว่า 25 ล้านบาทกับการสร้างฐานที่มั่น ณ ราชดำริอาเขต
และการเร่งขยายสาขายังไม่มีความจำเป็นในช่วงนั้น เพราะการแข่งขันยังมีไม่มาก
ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้นผันผวนตลอดเวลา เช่น กระแสแอนตี้สินค้าญี่ปุ่นที่ไทยไดมารูกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วง
ความสั่นคลอนทางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และวิกฤติการณ์น้ำมันในปี
2517
ไทยไดมารูเปิดสาขาสองที่พระโขนงในปี 2523 หลังจากที่สาขาราชประสงค์กำลังจะถูกรุมฟัดจากห้างสรรพสินค้าอื่น
ๆ ที่กำลังก่อสร้างประกบเป็นทิวแถว
แต่สาขาพระโขนงก็เกือบเป็นสุสานสำหรับไทยไดมารูเพราะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
หลายคนลงความเห็นว่าเป็นเพราะ หนึ่ง-ทำเล ไทยไดมารูตั้งอยู่ในมุมอับเกินไป
สอง-กำลังการซื้อของผู้คนแถบพระโขนงยังไม่มากพอ แม้แต่ทุกวันนี้ โรบินสันก็ยังลังเลที่จะลงเต็มตัว
ได้แต่ปักป้ายไว้เท่านั้น สาม-ไทยไดมารูถูกประกบตัดหน้าด้วยห้างอาเซียน เอดิสัน
และตลาดซื้อขายเสื้อผ้าราคาถูกขนาดใหญ่ สี่-ยุคสมัยและสถานการณ์ของไทยไดมารูพระโขนงและราชดำริต่างกัน
ในสายตาของผู้คน ไทยไดมารูพระโขนงไม่ได้เป็นห้าง "นำสมัย" อีกแล้ว
บทเรียนของไทยไดมารูในครั้งนี้ก็คือ เมื่อมีข่าวว่าไทยไดมารูจะเปิดสาขาใหม่ทั้งที่ถนนสีลมหรือรามคำแหง
ผู้บริหารของไทยไดมารูจะต้องออกมาปฏิเสธทุกครั้ง
ไทยไดมารูยังรักษาความคงเส้นคงวาที่จะไม่มีการเซลส์โปรโมชั่นอย่างรุนแรง
ไม่มีการลดราคาอย่างพร่ำเพรื่อ ยกเว้นเทศกาลที่พิเศษจริง ๆ เช่น ฉลองครบรอบ
24 ปี
"เพื่อรักษาภาพพจน์ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ" มาซามิชิ นากางาวา
กรรมการผู้จัดการไทยไดมารูว่าไว้เช่นนั้น
ปรากฏตามงบดุล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2531 ไทยไดมารูมีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท
มีสินทรัพย์ 283 ล้านบาท กำไรสะสม 534 ล้านบาท มีกำไรประจำงวดบัญชีเดียวกัน
9 ล้านบาท จากยอดขาย 924 ล้านบาท โดยเฉพาะสาขาพระโขนงเพิ่งทำกำไรให้เป็นปีแรกคือ
1 ล้าน 8 แสนบาท
ก็เพื่อรักษาภาพพจน์ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำนี่เอง ในสายตาคนไทย ไทยไดมารูจึงเป็นห้างสรรพสินค้าที่ดูยิ่งใหญ่แต่ปกคลุมด้วยความเงียบเสมอมา
สยามจัสโก้เข้ามาเปิดกิจการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2528 บนถนนรัชดาภิเษก
บนทำเลที่ใคร ๆ ก็บอกว่า "ไม่น่ารอด" เพราะถนนรัชดาภิเษกเพิ่งเปิดชุมชนยังไม่หนาแน่น
แต่สยามจัสโก้ก็รอดมาได้ และกลายเป็นผู้บุกเบิกทำเลทองที่ใคร ๆ ต่างหาที่ว่างลง
สยามจัสโก้เป็นธุรกิจซูเปอร์สโตร์หรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นการร่วมหุ้นระหว่างจัสโก้
ญี่ปุ่นกับกลุ่มตระกูลกิติพราภรณ์ เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์และสวนสนุกแดนเนรมิต
มีสมชาย กิติพราภรณ์เป็นประธานกรรมการ เป็นที่รู้กันว่าการบริหารอยู่ในมือชาวญี่ปุ่น
โดยเฉพาะยูตากะ ฟูรูตานิ
ในห้วงเวลา 3 ปีอาจระบุไม่ได้แน่ชัดว่าสยามจัสโก้จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
แต่สำหรับนักการตลาด สยามจัสโก้ได้เป็นแม่แบบสำหรับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตที่จะเปิดไล่หลังโดยเฉพาะในละแวกถนนรัชดาภิเษกไปแล้ว
เช่น กรณีโรบินสัน รัชดาภิเษกที่เน้นซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดบริการเฉพาะแผนกนี้ถึงเที่ยวงคืน
จุดเด่นของสยามจัสโก้อยู่ที่ว่า
หนึ่ง-ขายของราคาถูก โดยพื้นเพเดิมจัสโก้เป็นผู้ดำเนินการธุรกิจค้าปลีกที่
"แหกคอก" ในญี่ปุ่นอยู่แล้ว (โปรดอ่าน "บทเรียนด้านกลับของโซโก้
และโตคิว" คือพยายามขายสินค้าราคาถูกกว่าคนอื่น ใช้กลยุทธ์ราคาเป็นตัวนำ
ซึ่งกลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลอย่างมากสำหรับคนไทย อีกทั้งความเงินหนาจัสโก้จึงสามารถกว้านซื้อสินค้าได้เป็นจำนวนมาก
ราคาจึงถูกกว่าที่อื่น
สอง-จัสโก้ใช้วิธีขายมากเข้าว่าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารหมุนเวียนเปลี่ยนทุกวัน
เงินสดหมุนเวียนในแต่ละวันจึงสูงมาก ซึ่งในระยะนี้จะมีผลต่อการสะสมทุนและคืนทุนเร็ว
สาม-สยามจัสโก้พร้อมที่จะลงลุยแข่งกับห้างสรรพสินค้าไทยในด้านการโปรโมชั่น
เพราะตั้งแต่เปิดห้างมาสยามจัสโก้มีการจัดรายการชิงโชคมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท
จัดเดินแรลลี่ในเทศกาล "ตุลาเริงร่า" และยังมีการโฆษณาทางโทรทัศน์อยู่อย่างสม่ำเสมอ
สี่-ทำเลและการขยายสาขาเป็นเรื่องที่สยามจัสโก้พยายามเข้าไปบุกเบิกในที่ใหม่
ๆ อย่างมาก เมื่อไม่นานมานี้ สยามจัสโก้เพิ่งเปิดสาขาที่ 2 ที่เสนานิคม และประกาศว่าจะขยายสาขาให้ครบ
10 สาขาภายใน 5 ปี
อีกด้านหนึ่งมิได้หมายความว่า สยามจัสโก้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วจนต้องขยายสาขารองรับ
แต่มันเป็นนโยบายของการทำธุรกิจค้าปลีกแบบ CHAIN STORE ที่ต้องมีสาขามาก
แต่ละสาขาไม่ต้องลงทุนสูงมากนัก และเลือกทำเลที่มีแนวโน้มจะเติบโตในวันข้างหน้า
ไม่มีคู่แข่งที่ชัดเจน
ในอนาคต สยามจัสโก้ต่างหากที่น่ากลัวสำหรับธุรกิจค้าปลีกบ้านเรา!
โซโก้และโตคิวเปิดกิจการอย่างแท้จริงในช่วงกลางปี 2528 หลังจากที่เตรียมการมาเป็นเวลานาน
และรอคอยอาคารสิ่งก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย โซโก้และโตคิวเป็นกระแสหนึ่งของการลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีกญี่ปุ่น
ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความตื่นตัวด้านห้างสรรพสินค้าของไทยในช่วงปี 2525-2526
ที่มีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าใหม่ ๆ มากมาย
โซโก้ปักหลักที่อัมรินทร์พลาซ่า สี่แยกราชประสงค์ บนพื้นที่ประมาณ 10,000
ตารางเมตร หรือประมาณ 1 ใน 3 ของส่วนช้อปปิ้งอาเขต มีการออกข่าวว่าโซโก้ลงทุนสำหรับห้างแห่งนี้ถึง
500 ล้านบาท
โตคิวแฝงตัวอยู่ในมาบุญครองเซ็นเตอร์ สี่แยกปทุมวัน บนพื้นที่ประมาณ 12,000
ตารางเมตร
นอกเหนือจากระยะเวลาการเปิดดำเนินธุรกิจของห้างที่ใกล้เคียงกัน และความเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริงทั้งผู้ถือหุ้นและกรรมการของทั้งสองห้างนี้แล้ว
มีประเด็นอื่นที่พอจะเทียบเคียงทั้งสองห้างเข้าด้วยกันได้คือ
ในเอกสารแถลงการเปิดห้างโตคิวอ้างไว้ว่า
"จากการไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่าห้างของเราควรจะเป็นห้างแบบไหนสำหรับลูกค้า
เราก็ได้สรุปนโยบาย 3 ข้อดังนี้ หนึ่ง-เป็นห้างที่ให้ความเพลิดเพลินแก่ลูกค้า
สอง-เป็นห้างที่เสนอบริการที่ดี สาม-เป็นห้างที่เสนอข่าวสารแก่ลูกค้า
แนวความคิดนี้คล้ายคลึงกับแนวความคิดของโตชิเอะ ฟูรูอิชิ อดีตกรรมการผู้จัดการโซโก้ที่เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า
"การดึงดูดใจลูกค้าที่เกือบจะเหมือนกัน ยากที่จะดึงดูดลูกค้ามาจากแห่งอื่นได้
ดังนั้นผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าในสถานที่ที่เหมาะสม มีคุณภาพดีกว่าและมีบริการที่ดีกว่า"
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ทั้งสองห้างวางไว้คือ กลุ่มลูกค้าระดับสูง คือชนชั้นกลางและระดับสูงที่มีรายได้เกิน
10,000 บาทต่อเดือน และชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น
ลักษณะการจัดวางสินค้าก็คล้ายกันแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แบ่งเป็นชั้น 1
สินค้าแฟชั่นวัยรุ่น เสื้อผ้า-เครื่องประดับสตรี เครื่องสำอาง ชุดชั้นในสตรี
ชั้น 2 เสื้อผ้าสตรี บูติกสตรี เสื้อผ้าเด็ก เครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อน
ของเล่น
ชั้น 3 เสื้อผ้าและของใช้สำหรับสุภาพบุรุษ ชุดกีฬา เครื่องเขียน นาฬิกา
กล้องถ่ายรูป
ชั้น 4 ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องใช้ในครัว ฟาสต์ฟู้ด
ประเด็นที่คล้ายคลึงกันอีกเรื่องก็คือหลังจากดำเนินกิจการมาได้ 3 ปีตัวเลขภาวะการขาดทุนค่อนข้างจะสวยหรูเอาการอยู่
งบดุล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2530 โตคิวมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 432 ล้านบาท ขาดทุนสะสม
489 ล้านบาท ยอดขายในงวดบัญชีเดียวกันประมาณ 399 ล้านบาท ยังขาดทุนอยู่ 125
ล้านบาท
ส่วนโซโก้นั้น งบดุล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2531 มีสินทรัพย์รวม 635 ล้านบาท
ขาดทุนสะสม 246 ล้านบาท ยอดขายในงวดบัญชีเดียวกัน 594 ล้านบาท ขาดทุน 56
ล้านบาท
ตัวเลขขาดทุนสะสมสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจห้างสรรพสินค้าในช่วง 3 ปีแรกที่ค่อนข้างมากมายเช่นนี้
โดยเฉพาะโตคิวอาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับเจ้าของห้างไทยบางรายอาจจับไข้ล้มตึงไปแล้ว
ก็เช่นที่ สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการขายและโฆษณา
ห้างเซ็นทรัลเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า
"ห้างสรรพสินค้าของคนไทยค่อนข้างจะเสียเปรียบเกี่ยวกับเรื่องเงินทุน
อันนี้เราสู้เขาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์หรือเงินเยน เงินเขาก็ใหญ่กว่าเรา
เขาสามารถขาดทุนได้ในช่วงแรกเพราะมีบริษัทแม่ที่ใหญ่ ห้างสรรพสินค้าที่นี่เป็นเพียงบริษัทในเครือที่เขามีกิจการอยู่ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชนิด
จุดนี้เราสู้ไม่ได้จริง ๆ"
แต่ภาวะขาดทุนเช่นนี้ก็ไม่ได้ก่อให้ทางด้านญี่ปุ่นสบายใจนัก ประเด็นก็คือว่าลู่ทางธุรกิจห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทยไม่ค่อยจะแจ่มใสเหมือนดังเช่นที่ไต้หวัน
สิงคโปร์ ฮ่องกง อย่างน้อย ๆ ภายใน 5 ปีนี้ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นคงไม่สามารถหยุดภาวะขาดทุนได้อย่างแน่นอน
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะพลิกผันจากธุรกิจในประเทศอื่น ๆ มากทีเดียว
ครั้งหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงของโซโก้เอ่ยว่า เมืองไทยยังไม่พร้อมสำหรับห้างสรรพสินค้าชั้นนำจากญี่ปุ่น
เพราะสินค้ายังต้องขายในราคาต่ำ และกำไรต่อหน่วยก็ยังต่ำอีกด้วย สินค้าหลายชนิดในญี่ปุ่นให้กำไรถึง
40% แต่ในไทยจะได้กำไรเพียง 20%
ฮิเดโอะ ฟูกุชิม่า อดีตกรรมการผู้จัดการโตคิว เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในปีแรกของการดำเนินกิจการ
โตคิวตั้งเป้ายอดขายไว้ 600 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ายอดขายต่ำกว่าเป้าหมายมาก
จนปีที่สองต้องลดมาที่ 420 ล้านบาท (ซึ่งตามงบกำไรขาดทุนที่แจ้งระบุว่าขายได้
399 ล้านบาท) และปีที่สามก็ตั้งเป้าไว้ในระดับ 500 ล้านบาท และกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าก็ต้องปรับจากที่เคยตั้งไว้ว่าจะเป็นลูกค้าที่มีรายได้ประมาณ
4,000 บาทต่อเดือนและกลุ่มวัยรุ่น
ด้วยสถานการณ์ที่พลิกผันเหล่านี้ เมื่อปลายปี 2530 ทาง INDUSTRIAL BANK
OF JAPAN ได้ส่งทีมงานเข้ามาศึกษาวิเคราะห์ปัญหาห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในไทย
ผลการศึกษาครั้งนั้นสรุปว่าห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นมีปัญหา
หนึ่ง-ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะค่าจ้างบุคลากรระดับบริหาร
สอง-ทำเลและสถานที่ไม่เหมาะสม
สาม-สินค้าที่วางจำหน่ายยังไม่มากประเภท
ประการแรก กฎหมายที่ญี่ปุ่นให้ความคุ้มครองลูกจ้างชาวญี่ปุ่นที่ต้องเดินทางออกมาทำงานนอกประเทศตามคำสั่งของนายจ้าง
คือกำหนดอัตราเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงกว่าปกติหลายเท่า มีทั้งเงินเดือนสูง
มีคอนโดมิเนียม มีรถ และแต่ละตำแหน่งยังตั้งที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น เงินเดือนสูง
ๆ ตามมาอีก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านบริหารค่อนข้างสูง
"เรียกได้ว่า ถ้าในญี่ปุ่น เขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่มาเมืองไทยพวกเขาก็เป็นเศรษฐีเอาทีเดียว"
แหล่งข่าวในวงการห้างสรรพสินค้ากล่าว
เมื่อระดับบริหารได้รับค่าจ้างเงินเดือนสูง ระดับรอง ๆ ก็ได้รับเงินเดือนสูงไปด้วย
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะคนไทย
"ถ้าเป็นห้างไทยไม่ได้อย่างนี้หรอกคุณ พวกจิราธิวัฒน์ เจ้าของห้างเซ็นทรัลเองเขายังได้เงินเดือนไม่มาก
แล้วลูกน้องจะไปได้มากกว่าได้อย่างไร แต่ทุกคนของจิราธิวัฒน์แกมีเงินในกงสีใช้นะ"
อดีตพนักงานเซ็นทรัลเล่า
มาในระยะหลังมานี้ ผู้บริหารญี่ปุ่นเริ่มปรับอัตราเงินเดือนคนไทยใหม่ เช่นในตำแหน่งเดียวกัน
เงินเดือนเดิม 7,000 บาท แต่ถ้าเป็นคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งแทนเงินเดือนใหม่จะกลายเป็นเพียงประมาณ
3,000 กว่าบาท แต่แน่นอนระดับบริษัทชาวญี่ปุ่นย่อมไม่ลดตามลงมาด้วยแน่
ประการที่สอง ทำเลที่ตั้งของห้างซึ่งเป็นอุปสรรคนั้นที่เป็นปรากฏการณ์เห็นได้ชัดคือโตคิว
มาบุญครองเซ็นเตอร์อาจจะมีคนมาใช้บริการมาก แต่ก็ไม่ได้มากทุกชั้นทุกแผนก
มาบุญครองมีทั้งมุมสว่างและมุมอับ แล้วก็ให้โชคร้ายเมื่อโตคิวค่อนไปอยู่ทางมุมอับ
นักการตลาดหลายคนมองเช่นนี้
ถ้าเทียบผู้ใช้บริหารสะพานลอยข้ามถนน จะเห็นว่าด้านสยามสแควร์จะมีผู้ใช้บริการมากกว่าด้านสนามกีฬาที่เจาะทะลุเข้าโตคิวอย่างเทียบกันไม่ติด
และมาบุญครองด้านเหนือกับด้านใต้ค่อนข้างอับ ทำเลที่คนมาใช้บริการมากคือบริเวณกลางของอาคาร
"ระหว่างชั้นด้วยกันเองยังเห็นความแตกต่างเลย ชั้น 1 ขายสู้ชั้น 2-3
ไม่ได้ เพราะชั้น 1 มาบุญครองไม่มีอะไร คนน้อยส่วนใหญ่เขามาก็เดินไปชั้น
2 เลย" แหล่งข่าวกล่าว
กลุ่มลูกค้าของมาบุญครองเซ็นเตอร์ก็เป็นลูกค้าวัยรุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่
ไม่ใช่ลูกค้าระดับสูงตามที่โตคิววาดหวัง ภายหลังโตคิวจึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมายเสียใหม่
ในระยะหลังมาบุญครองกลับกลายเป็น "ตลาดนัดติดแอร์" เข้าไปทุกที
แถมยังมีห้างระดับเล็ก ๆ ขายแบบไทย ๆ เข้าตั้งประกบอีก เพียงชั่วข้ามประตูกั้น
บรรยากาศก็แทบพลิกฟ้าหน้าดิน สินค้าและราคาก็แตกต่าง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าโดยปริยาย
อีกทั้งอาคารส่วนสำนักงานและโรงแรมระดับเดอลุกซ์ ซึ่งน่าจะเป็นลูกค้าของโตคิวได้
ก็เลื่อนระยะเวลาเปิดออกไป จนผู้บริหารญี่ปุ่นเองก็คงปวดหัวไม่น้อย
การแก้ปัญหาสภาพภายในของมาบุญครองต้องคอยไปก่อน เพราะตอนนี้ศิริชัย บูลกุล
แกไม่ค่อยว่าง!
ประการที่สาม สินค้าที่เข้าไปวางจำหน่ายยังไม่มากประเภท นั่นก็คือว่า ประเภทของสินค้าในโตคิวยังไม่ได้แตกต่างไปจากห้างสรรพสินค้าไทยแห่งอื่นเลย
ที่เป็นดังนี้ เพราะจำนวนซัพพลายเออร์เมืองไทยมีไม่กี่เจ้า สินค้าอาจมีมากชนิดแต่ก็วางแทบทุกห้าง
ผิดกับห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นที่แต่ละห้างมีจุดเด่นด้านสินค้าแตกต่างกันเนื่องจากซัพพลายเออร์มากมาย
ไอโอชิ อาชินา กรรกมารผู้จัดการของห้างโตคิวกล่าวกับ FAR EASTER ECONOMIC
REVIEW ว่า ปัญหาประการหนึ่งที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นมีสินค้าไม่แตกต่างจากห้างอื่น
เพราะกำแพงภาษีที่ทำให้การเชื่อมโยงและส่งสินค้าจากบริษัทแม่มาเมืองไทยเป็นไปอย่างลำบาก
การสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่กว้างขวางอันจะเป็นข้อได้เปรียบห้างไทยจึงยังไม่ปรากฏ
ไม่เหมือนสิงคโปร์ที่มีเมืองท่าปลอดภาษี
ด้วยประการฉะนี้ ไม่ว่าจะเดินไปซื้อของที่ห้างใด ก็ย่อมซื้อสินค้าที่คล้ายคลึงโซโก้
โตคิว ได้ในราคาใกล้เคียงกัน หรือสินค้าที่แปลกออกไปก็ต้องมาจากญี่ปุ่นซึ่งราคาค่อนข้างแพง
นอกจากนี้ ทั้งโซโก้และโตคิวก็เกิดขึ้นคนละห้วงเวลากับไทยไดมารูที่ทำอะไรก็ดูล้ำสมัยไปหมด
แต่โซโก้และโตคิวอาจจะต้องคิดกันนานหน่อยสำหรับการคิดค้นของเล่นใหม่ ๆ ในปัจจุบัน
อีกทั้งการขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าก็ย่อมต่างจากซูเปอร์สโตร์ เช่น สยามจัสโก้
เพราะสินค้าในห้างย่อมต้องอาศัยเวลาที่นานกว่าในการขายอย่างแน่นอน เงินจึงจมนานกว่า
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ปัญหาใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังฉากทั้งหมดนั้นมีประเด็นใหญ่ใจความอยู่
2 ประการคือ
ประการแรก ระบบการจัดซื้อของญี่ปุ่น หัวใจของธุรกิจค้าปลีกคือ "สินค้า"
ตัวร้านหรือตัวห้างสรรพสินค้าเป็นเพียงหน้าฉาก และการนำสินค้ามาขายให้ได้สินค้ามีคุณภาพและต้นทุนต่ำอยู่ที่นโยบายการจัดซื้อเป็นสำคัญ
ผู้บริหารญี่ปุ่นจะกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อว่า ทางห้างจะจัดซื้อสินค้าในแต่ละเดือนเป็นเงินเท่าไร
ขึ้นอยู่กับยอดขายในแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยทั้งปี ถ้าเกินจากนี้ทางผู้บริหารญี่ปุ่นไม่ให้โดยเด็ดขาด
เช่น ถ้าแผนกนี้หรือสินค้าตัวนี้มียอดขายในเดือนหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 1 แสนบาท
การจัดซื้อสินค้าในงวดต่อไปก็ไม่เกิน 1 แสนบาท อำนาจของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนญี่ปุ่นจึงมีอยู่อย่างจำกัด การซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์โดยทั่วไปจะมีลักษณะปกติธรรมดา
ไม่มีพิเศษ
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่อยู่ห้างไทยก็จะเห็นความแตกต่าง
โดยเฉพาะห้างใหญ่ เช่นเซ็นทรัล ซึ่งมีสาขามาก มีอำนาจการต่อรองสูง คือผู้บริหารห้างจะให้อำนาจสิทธิขาดในการจัดซื้อแก่ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเหลือเฟือ
โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำ
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เช่น ซื้อมากแต่ขายได้น้อยก็เป็นความผิดพลาดที่ฝ่ายจัดซื้อจะต้องรับผิดชอบ
แต่มันก็เป็นความผิดพลาดที่เป็นตัวของตัวเอง และอยู่บนพื้นฐานต้องการซื้อสินค้าต้นทุนต่ำ
ทั้งนี้ไม่พูดถึงกรณี CREDIT LINE ที่ห้างไทยมักนานกว่าปกติ จนซัพพลายเออร์บางเจ้าอาจจะอึดอัด
ด้วยการไม่ให้อำนาจแก่ฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ทำให้ฝ่ายจัดซื้อไม่กล้าซื้อสินค้าจำนวนมาก
ๆ ซึ่งลักษณะนี้เองที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูง กำไรต่อหน่วยจึงต่ำ โดยเฉพาะแผนกซูเปอร์มาเก็ต
ซึ่งก็มีผลทำให้ห้างญี่ปุ่นไม่นิยมทำเซลล์โปรโมชั่น นั่นคือผลประการที่หนึ่ง
ผลประการที่สองคือ เพราะความที่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่นิยมการต่อรองกับซัพพลายเออร์
ทำให้ห้างญี่ปุ่นไม่นิยมเล่นเกมทางการตลาดร่วมกับซัพพลายเออร์ เช่น ตามปกติถ้าห้างซื้อ
100 โหลอาจจะได้แถม 5 โหล แต่ถ้าช่วงเทศกาล ซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 200 โหล อาจได้แถมเป็น
20 โหล ซึ่งกรณีอย่างนี้ห้างญี่ปุ่นจะไม่สนใจถ้าอยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่ตัวเองกำหนด
"ลักษณะแบบซื้อมากแถมมาก หรือลดมากแบบนี้ มันมีเรื่อย ๆ หลายโปรดักท์
แต่พอเอาเรื่องแบบนี้ไปเสนอห้างญี่ปุ่น พวกเขาไม่สนใจเลย" ซัพพลายเออร์เจ้าหนึ่งเล่า
เมื่อลักษณะการซื้อขายกับห้างญี่ปุ่นไม่ยืดหยุ่น ดังนั้นบรรดาเซลล์ของซัพพลายเออร์ต่าง
ๆ จึงติดต่อกับห้างญี่ปุ่นตามปกติเซลล์ระดับ SALES MANAGER มักจะไม่ไปติดต่อด้วยตนเองหรือไม่จำเป็นต้องไปเยี่ยมบ่อย
ๆ เพราะรู้ว่าดันทุรังไปก็ขายได้แค่นั้น ไม่มีการต่อรองเพื่อเพิ่มยอดสั่งซื้อ
"เมื่อก่อนยิ่งกว่านี้อีกคุณ ตอนเปิดห้างใหม่ ๆ เขาจะเลือกแต่ซัพพลายเออร์ที่เป็นญี่ปุ่นหรือที่ร่วมหุ้นกับญี่ปุ่นขายสินค้าญี่ปุ่น
ซัพพลายเออร์ไทยไม่มีสิทธิ์แหยมเลย เพราะพวกเขาไม่ค่อยไว้ใจในคุณภาพหรือเรื่องชาตินิยมก็ไม่รู้
หรือที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็คือสินค้าประเภทเดียวกันเคยสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ไทย
พอสั่งจากญี่ปุ่นได้ สินค้าไทยก็เลิกเข้าไปวางได้ เขาคงถือว่าบริการคนญี่ปุ่นมากกว่า"
ซัพพลายเออร์ผู้มีอดีตอันขมขื่นเล่า
สรุปก็คือว่า ด้วยกฎเกณฑ์ที่ตายตัวไม่ยืดหยุ่น, ซื้อสินค้าน้อย ทำให้ต้นทุนสูง,
มาตรฐานการเลือกเฟ้นสินค้าและซัพพลายเออร์ เหล่านี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระบวนลูกโซ่ตั้งแต่สินค้าไม่หลากหลาย
ราคาไม่ต่ำกว่าห้างไทยในประเภทสินค้าเดียวกันในเวลาเดียวกัน กระทบไปถึงแนวความคิดเรื่องเซลล์โปรโมชั่นที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยจะสนใจอยู่แล้วหรือถ้าทำไปบ่อย
ๆ ก็สู้ห้างไทยไม่ได้
ประการที่สอง MARKETING CONCEPT นักการตลาดที่ใกล้ชิดกับวงการห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นกล่าวว่า
ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารญี่ปุ่นคือเรื่อง MARKETING CONCEPT
ที่ค่อนข้างจะสวนทางกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย
"เขาไม่ได้มองว่า CONCEPT ของเขาผิดนะ แต่เขามองว่า MARKETING CONCEPT
ของห้างไทยมันผิด เขามองจากห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่ว่า ห้างสรรพสินค้าไม่ใช่ร้านเกรดต่ำ
ห้างที่ดีควรมีจุดเด่น มีความหรูหรา มีบริการที่ดี การจัดห้างสวยงาม ไม่มีการเซลล์โปรโมชั่นอย่างรุนแรง
เพราะคนญี่ปุ่นนิยมสินค้ามีคุณภาพ ราคาไม่เกี่ยง"
"แล้วห้างญี่ปุ่นเขาก็ไม่ได้จับฉ่ายแบบห้างไทยที่มีทุกอย่าง มีตั้งแต่เทคโนโลยีทันสมัย
ตั้งแต่ลิฟท์แก้ว มีสวนสัตว์ สวนน้ำยันของแบกะดิน ในญี่ปุ่นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็แยกไปเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตก็ต่างหาก
ไม่เกี่ยวกันโดยส่วนใหญ่"
แหล่งข่าวกล่าวว่า แรกเริ่มที่โซโก้ โตคิวจะเปิดนั้น ตั้งใจจะไม่เปิดแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตเสียด้วยซ้ำ
แต่ตอนหลังก็ลังเลและเปลี่ยนใจ แต่ก็ไปเปิดเอาชั้นบนสุดคือชั้น 4 ซึ่งผิดกับห้างไทยที่นิยมเปิดไว้ชั้นล่างสุด
และเป็นแผนกที่ทำรายได้มากที่สุด แต่สำหรับโตคิวทำเงินเป็นอันดับ 3
ถ้ามองจากจุดยืนของคนไทย ทั้งห้างเซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ก็ล้วนเป็นห้างที่หรูหราและอยู่ในระดับเกรดเอสำหรับคนไทย
แต่ทั้งสามห้างก็ใช้กลยุทธ์แบบไทย ๆ ครบเครื่องมีทั้งลดราคา มีการโหมโปรโมชั่นชิงโชคแต่ละครั้งเป็นสิบล้าน
มีซูเปอร์มาร์เก็ต ฟาสท์ฟู้ด มีสินค้าที่เหมือนกับห้างญี่ปุ่น แต่ทั้งสามห้างก็ยังเป็นห้างมีระดับสำหรับความรู้สึกของคนไทย
"ทางญี่ปุ่นเขาอาจจะบอกว่ามีเทคโนโลยี มีวิวัฒนาการ เทคนิคใหม่ ๆ
ในการขายปลีก แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น ทุกวันนี้เราก็อยู่ได้ เราก็อยู่แบบไทย
ๆ แบบนี้แหละ" อาจารย์ทางการตลาดให้ความเห็น
วินัย เสริมศิริมงคล เจ้าของห้างพาต้าเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า
"คนชอบมาว่าผมเป็นห้างไม่มีระดับ จักของรก ๆ ซึ่งนั่นแหละครับ เคล็ดลับของผม
ทางเดินในห้างของผมจะจัดไว้แคบ ๆ มีของเยอะ ๆ วางไว้ตลอดทาง คนไทยชอบเลือกชอบดูของแบบนี้
เขากล้าเดินเข้าไปดู ไม่เหงา ถ้าจัดทางเดินกว้างซิครับไม่กล้าเดิน เพราะถูกมองว่าจะต้องเดินเข้าไปซื้อ
ซึ่งไม่แน่เสมอไป คนเราบางทีก็เลิกซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ จัดห้างแบบห้างใหญ่เขาทำกัน
ผมไม่ทำหรอก"
"เรื่องเล็ก ๆ ที่มีมูลค่าไม่น้อยที่ผู้บริหารญี่ปุ่นต้องเรียนรู้อีกก็คือ
เรื่องสินค้าหาย แหล่งข่าวกล่าวว่า ของหายในแต่ละเดือนไม่ใช่น้อย ๆ บางทีเสื้อผ้าหายเป็นตั้ง
ๆ ขนาดขวดเหล้าต่างประเทศสูงเกือบ 1 เมตรที่เอาไว้โชว์ยังเคยหายมาแล้ว การเช็คสต็อกก็ยังหละหลวม
บางทีสินค้าหายไปก็ไปแก้ตัวเลขราคาสินค้า ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเท่ากับมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่แจ้งไว้แต่แรก
"เรื่องที่ดีมาก ๆ ของห้างญี่ปุ่นคือ จ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์ไม่เคยเบี้ยว
ตรงเวลาไม่ยืดเยื้อ" แหล่งข่าวกล่าว
ด้วยความเชื่อมั่นในแนวความคิดของห้างสรรพสินค้าแบบญี่ปุ่น และสไตล์การทำงานแบบญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นนัก
ทั้งเรื่องเวลาการทำงาน ความเข้าอกเข้าใจคนไทยและทัศนคติต่อคนไทย ทำให้หลายคนกล่าวว่า
ผู้บริหารญี่ปุ่นค่อนข้าง "ดื้อ"
เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ทั้งนั้น อาจจะขลุกขลักบ้างก็ตรงที่ผู้บริหารญี่ปุ่นมักจะเปลี่ยนบ่อยพอสมควร
ที่โตคิว เปลี่ยนกรรมการผู้จัดการปีละคน มีทั้งเกษียณและป่วย
"นโยบายการดำเนินงานจะเป็นอย่างไร คงเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เขาอาจจะเชื่อว่าในระยะยาว
เขาอาจจะถูก อาจจะดีขึ้นก็ได้ อีกอย่างเขาไม่ต้องห่วงว่าจะถูกทวงหนี้จากเจ้าหนี้แบบห้างไทย
ก็อย่างที่เราชอบบอกแหละว่า สายป่านเขายาว" แหล่งข่าวสรุป
รายได้ด้านหนึ่งที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นเริ่มทำกันเป็นล่ำเป็นสัน คือ
ส่งสินค้าไทยไปขายตามห้างที่ญี่ปุ่นและสาขาในประเทศอื่น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมาก
เช่น ผลไม้กระป๋อง อาหารทะเล เสื้อผ้า เซรามิก เฟอร์นิเจอร์
สยามจัสโก้ส่งออกในปีแรกของการเปิดทำการถึง 100 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ โซโก้นอกจากส่งสินค้าเพื่อขายตามสาขาต่าง ๆ แล้ว ก็ยังส่งเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งห้างสาขาแห่งอื่นด้วย
เรื่องที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่จนวันนี้ก็คือเรื่องการต่อต้านชาติเข้ามาทำการค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย
ซึ่งเหตุผลก็คือ ธุรกิจประเภทนี้คนไทยทำได้อยู่แล้วไม่ต้องพึ่งต่างชาติทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยี
และข้อได้เปรียบที่ทุกคนพูดกันมากก็คือเงินทุนที่ทุกวันนี้การลงทุนด้านห้างสรรพสินค้าจะต้องลงทุนกันสูงมาก
ซึ่งห้างต่างชาติย่อมได้เปรียบที่จะยอมขาดทุนตอนนี้เพื่อผลระยะยาว
สมาคมผู้ค้าปลีก ทั้งในสมัยสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และสมชาย สาโรวาท
พยายามผลักดันเรื่องนี้โดยยื่นบันทึกให้รัฐพิจารณาช่วยเหลือ แต่หลายคนก็มองว่า
ในระบบการค้าเสรีนิยมจะแข่งขันกันก็ต้องแข่งกันทางด้านการค้ามากกว่า
ระหว่างถกเถียงกันอยู่นี้ ห้างจากญี่ปุ่นก็ยาตราทัพเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ละห้างก็มีเหตุผลและความเชื่อมั่นต่างกันไป
เช่น ห้างเยาฮันที่จะเปิดที่รัชดาคอมเพล็กซ์ สี่แยก อ.ส.ม.ท.
เยาฮันเป็นซูปเปอร์สโตร์เช่นเดียวกับจัสโก้ และก็ยังมาตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันอีกด้วย
เยาฮันร่วมทุนกับกลุ่มยูนิเวสท์ที่มีพิชัย วาศนาส่ง เป็นหัวหอก และกลุ่มนี้เองก็เคยมีส่วนทำให้โรบินสัน
ราชดำริ ประสบความสำเร็จมาแล้ว
อีกเหตุผลที่เป็นความเชื่อของฝ่ายญี่ปุ่นคือ คำกล่าวของคาซูโอะ วาดะ ประธานกรรมการของเยาฮันเมื่อกลางปี
2531 ที่ว่า "จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ ห้างสรรพสินค้าสาขาของประเทศญี่ปุ่นมีอนาคตที่ไม่สดใสนัก
แต่เมื่อถึงเวลาที่เยาฮันเปิดกิจการ ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าปัจจุบัน
กำลังซื้อขยายขึ้นอีกมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ เยาฮันกำหนดตัวเองไว้ในฐานะศูนย์การค้าส่งรายใหญ่และจะมุ่งเป้าการค้าส่งออกเป็นหลักด้วย"
ความเชื่อนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของปรีชา เวชสุภาพร กรรมการผู้จัดการโรบินสันในเวลาไล่เลี่ยกันว่า
"นับจากนี้ไปอีก 5 ปี อาจเกิดปัญหากับห้างที่มีอยู่เพราะภาวะการแข่งขันที่สูงมาก
ซึ่งห้างต่างชาติจะได้เปรียบ"
เรื่องที่ถกเถียงยังต้องเถียงกันต่อไปและอนาคตของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นจะแจ่มใสหรือหดหู่อย่างไร
ทุกอย่างก็ต้องคอยดูกันต่อไป
แต่สำหรับโซโก้แล้วและโตคิว สองห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่น อาจเป็นบทเรียนที่ดีของการดำเนินโรกิจค้าปลีกแบบญี่ปุ่น
เขี้ยวเล็บที่ผู้บริหารญี่ปุ่นเชื่อมั่น เช่น ความหรูหรา บริการที่ดี สินค้าแปลกใหม่
จำต้องวางลงเมื่อพบกับกลยุทธ์การตลาดแบบไทย ๆ ที่เล่นกันทุกรูปแบบ
ถ้าหากห้างสรรพสินค้าทั้งสองแห่งผ่านพ้นสถานการณ์ "หืดขึ้นคอ"
นี้ไปได้ด้วยการเรียนรู้บทเรียน ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและซัพพลายเออร์แบบไทย
ๆ และด้วยเวลาที่ทอดนานออกไปจนห้างไทยอ่อนล้าเนื่องจากภาวะการต่อสู้ในปัจจุบัน
ถึงเวลานั้น ห้างสรรพสินค้าของไทยคงตกอยู่ในห้วงสถานการณ์ "จับไข้"
เสียยิ่งกว่าปัจจุบันก็ได้!