ควงเจริญ อีเลคโทรนิคส์เป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่เพิ่งเข้าเป็นบริษัทรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา แต่กระนั้นราคาหุ้นของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้ไม่เล็กตามขนาดบริษัทเลย
กลับมีราคาพุ่งขึ้นดีวันดีคืน ทำกำไรให้นายหน้าค้าหุ้นและนักเก็งกำไรระยะสั้นไปแล้วตาม
ๆ กัน หลายคนแฮปปี้กับการโตวันโตคืนของราคาหุ้น แต่ก็ยังมีหลายคนที่เริ่มรู้สึกว่าราคาชักจะสูงเกินไป
บางคนกล่าวว่ามีโบรกเกอร์คอยปั่นราคา อีกบางคนก็ว่ามีอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง
แต่ถ้าหันมาดูปัจจัยพื้นฐานกันบ้างแล้วอาจเกิดความเห็นขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็นเพราะอุตสาหกรรมนี้ไปโลด
เมื่อบัญชา องค์โฆษิต กรรมการผู้จัดการบริษัทควงเจริญอีเลคโทรนิคส์ จำกัด
(เคซีอี) ตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนรับอนุญาตในตลาดหลักทรัพย์นั้น จุดมุ่งหมายที่เป็นการส่วนตัวก็เพื่อที่จะลดแรงกดดันจากการที่บริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้มากพอที่จะนำมาแบ่งปันแก่ผู้ถือหุ้นได้
แม้ว่าสำหรับตัวเขานั้นไม่ปรารถนาที่จะขายหุ้นบริษัทเลยก็ตาม
แต่การจดทะเบียนเป็นบริษัทรับอนุญาตและเอาหุ้นออกขายแก่บุคคลภายนอกก็ไม่ได้สร้างความผิดหวังแก่เขาแต่อย่างใด
ทั้งนี้เพราะราคาหุ้นพุ่งขึ้นดีวันดีคืน และอยู่ในแนวโน้มขึ้นตลอดมาตั้งแต่เริ่มเปิดการซื้อขายวันแรกเมื่อ
30 สิงหาคม 2531
หุ้นควงเจริญที่นำออกขายในครั้งนี้มีรวม 1 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ
10 บาทคิดเป็น 25% ของปริมาณหุ้นทั้งหมดและบริษัทมีทุนจดทะเบียนรวม 40 ล้านบาท
บริษัทที่เป็นลีด อันเดอร์ไรเตอร์หุ้นควงเจริญคือบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง
จำกัด ร่วมกับบริษัทผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายอื่น ๆ อีก 10 บริษัทคือ
บงล. ภัทรธนกิจ, บงล. จีเอฟ, บงล. ศรีมิตร, บงล. นครหลวงเครดิต, บงล. นครหลวง,
บงล. พัฒนสิน, บล. เฟิสท์ แปซิฟิค เอเชีย, บงล. นวธนกิจ, บงล. ไอทีเอฟ และ
บงล. ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ โดยรับซื้อในราคาหุ้นละ 43 บาทซึ่งในเวลาต่อมาบัญชากล่าวว่ามัน
"ถูกเอามาก ๆ ทีเดียว"
แม้ว่าจะถูกขนาดนั้น แต่มันก็ทำให้ผู้ถือหุ้นเก่าทั้งหลายได้กำไรจากส่วนต่างของราคาไปแล้วเหนาะ
ๆ หุ้นละ 33 บาท ซึ่งก็นับว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาลดแรงกดดันให้บัญชาได้มากทีเดียว
เขากล่าวเปิดใจกับ "ผู้จัดการ" ว่า "พวกเขา (ผู้ถือหุ้น)
ไม่เคยว่าเรื่องไม่ทำกำไรใน 3-4 ปีหรอก แต่มันก็มีแรงกดดันที่มองไม่เห็นที่พยายามดันให้เราหาทางทำกำไรให้เร็วที่สุด
แต่ 4 ปีมันก็ไม่ได้เร็วนัก ฉะนั้นเมื่อเราเข้าตลาดแล้วเขาจะไปขายเอา CAPITAL
GAIN บางส่วนได้…เราก็เลยพยายามเข้าตลาดเพื่อให้เขาได้ผ่อนคลายลง และก็เท่ากับลดแรงกดดันกับเราส่วนหนึ่งด้วย
สำหรับการเข้าตลาดนั้นบัญชากล่าวว่า "จริง ๆ แล้วเป็นการร่วมมือกันหลายส่วนคือเราเป็นลูกค้าธนาคารกสิกรไทย
และเขาแนะนำเราเพราะเห็นว่าเราเติบโตไปเรื่อย ๆ และทุกครั้งเราต้องเพิ่มทุน
เพราะทุนเราไม่พอสักทีเนื่องจากการลงทุนของบริษัทพวกนี้สูง การที่จะรอเอากำไรมาลงทุนนั้นไม่ทันกัน
ทางกสิกรไทยก็เลยแนะนำเรื่องตลาดและเอกธำรงก็เดินเรื่องให้"
เมื่อหุ้นควงเจริญเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เพียงสัปดาห์แรก ปริมาณการซื้อขายหุ้นพุ่งลิ่วขึ้นถึง
2,012,000 หุ้นคิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 107,601,350.-บาท ด้วยราคาปิดที่
62 บาท ซึ่งก็เท่ากับทำกำไรให้บริษัทจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายไปแล้วหุ้นละเกือบ
20 บาทในช่วงต้น
หลังจากนั้นหุ้นควงเจริญก็กลายเป็นสินค้าราคาดี ซื้อขายคล่องเรื่อยมา เหตุผลนอกเหนือจากการเป็นหุ้นใหม่ราคาถูกแล้ว
ยังเนื่องมาจากจังหวะเวลาในการนำหุ้นเข้าตลาดด้วย ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นในช่วงนั้นเป็นประเภท
"ภาวะกระทิง" (BULL MARKET)"
กราฟราคาหุ้นควงเจริญค่อย ๆ ขยับสูงขึ้นในเดือนแรก แต่ในเดือนที่ 2 และ
3 กลับพุ่งพรวดพราดติดจรวด จนกลายเป็นหลักทรัพย์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากติดอันดับอยู่หลายสัปดาห์
และแม้จะมีการปรับราคาลงมาครั้งหนึ่งแล้วในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน แต่ราคากลับไต่ขึ้นไปใหม่อีก
จนปัจจุบัน (18/11/31) อยู่ที่ระดับราคา 102 บาท (โปรดดูกราฟดัชนีราคาหุ้นควงเจริญ
2)
อย่างไรก็ดี นักลงทุนประเภทเก็งกำไรระยะสั้น (SPECULATOR) บางคนมีความเห็นว่าระดับราคา
ณ ปัจจุบันชักจะสูงเกินไปแล้ว เขากล่าวว่า "ราคานี้ไม่แน่ว่าจะเหมาะสมหรือเปล่า…ใครมีหุ้นควงเจริญควรจะขายทิ้งให้หมด
พอเหลือ 25 บาทค่อยมาซื้อกันใหม่"
ทั้งนี้นักเก็งกำไรผู้นั้นก็ได้ขายหุ้นควงเจริญที่มีอยู่ และโกยกำไรไปได้รอบหนึ่งแล้ว
ในช่วงที่หุ้นราคาตกและเริ่มแกว่งหลังจากขึ้นป้ายเอ็กซ์เอเมื่อ 4 พฤศจิกายน
เขามีความเห็นว่าหุ้นตัวนี้มีความเสี่ยงสูงมากเกินไปเพราะหลังจากที่ราคาตกแล้วก็เริ่มไต่ขึ้นใหม่อีก
ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามที่จะหนุนเรือพยุงราคาไว้ ไม่เช่นนั้นราคาจะต้องลดลงแล้ว
แม้ว่านักเก็งกำไรเหล่านี้จะหันเหออกจากหุ้นควงเจริญ แต่ราคาหุ้นก็ยังไม่ลดลงอีก
พวกเขาจึงย่อมปักใจเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาว่ามีการหนุนราคา อย่างไรก็ดี
ธรรมชาติของนักเก็งกำไรเหล่านี้คือพวกเขาไม่นิยมถือหุ้นตัวหนึ่ง ๆ ไว้นานเกินควร
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการพยุงราคา และจะว่าไปแล้วผู้ซื้อหุ้นประเภทนี้เป็นกลุ่มที่รู้จักกิจการของบริษัทที่พวกเขาซื้อ/ถือหุ้นไว้น้อยมาก
หรือแทบจะไม่มีความรู้เอาเสียเลยเพราะสิ่งที่พวกเขาสนใจคือเรื่องความผันผวนของราคาเท่านั้น
ทางด้านชาญ ศรีวิกรม์ ผู้จัดการฝ่ายประกันการจำหน่ายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง
ซึ่งเป็นผู้ประสานงานการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นควงเจริญให้ความเห็นว่าราคาหุ้นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นราคา
"ตามความเป็นจริง" ส่วนมูลเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น "ควงขึ้น"
ในช่วงก่อนหน้านี้เป็นเพราะตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 (นำส่งตลาดหลักทรัพย์เมื่อ
26/10/31) ดีกว่าที่มีการคาดหมายกันไว้มาก (โปรดดูตารางงบกำไรขาดทุน ณ วันที่
30 กันยายน 2531)
แต่จริง ๆ แล้ว โปรดสังเกตว่าราคาหุ้นเพิ่มสูงจนถึงจุดสูงสุดที่ราคาหุ้นละ
122 บาท เมื่อ 21 ตุลาคม ก่อนหน้าที่จะมีการนำส่งผลการประกอบการในไตรมาสที่
3 ดังนั้นการที่ราคาหุ้นสูงมากจึงไม่ได้มาจากสาเหตุเรื่องผลประกอบการดี แต่มาจากประเด็นอื่น
ๆ มากกว่า
ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเรื่อยมา หุ้นควงเจริญจัดเป็นหุ้นเด่นเอามาก ๆ ในตลาดหลักทรัพย์พร้อม
ๆ กับที่มีข่าวลือว่า "ควงเจริญฯ อินไซเดอร์" แต่นั่นก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาเท่ากับข่าวเรื่องการเพิ่มทุนที่เป็นสาเหตุหลักให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุด
บัญชาเล่าทบทวนให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าเมื่อราคาหุ้นพุ่งสูงมากในช่วงดังกล่าว
ตลาดหลักทรัพย์ได้ขอให้บริษัทส่งข้อมูลชี้แจงจนในที่สุดทั้ง ๆ ที่ไม่มีความคิดว่าจะเพิ่มทุนในเวลานั้น
เขาก็จำต้องประกาศเพิ่มทุนอีก 20 ล้านบาทจากทุนจดทะเบียนเดิม 40 ล้านบาทเป็น
60 ล้านบาท
เขากล่าวว่าสภาพของควงเจริญในช่วงนั้นก็คล้ายคลึงกับสงขลาแคนนิ่งในปัจจุบัน
(21/11/31) ที่ถูกมองว่าต้องเพิ่มทุน "ข่าวลือมันมาก ผมนั่งดูอยู่นี่เห็นหุ้นมันขึ้นไป
ๆ ผมก็สงสาร ถ้าผมไม่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง นักลงทุนผมต้องเฮิร์ทแน่ ๆ แรงกดดันมันสูง
จนผมต้องตัดสินใจเพิ่ม พอตอนนี้ก็ไม่มีอะไร ข่าวลือก็หายหมด"
แต่แล้วเมื่อมีการประกาศเพิ่มทุนและนำส่งงบการเงินในไตรมาสที่ 3 (26/10/31)
ราคาหุ้นควงเจริญกลับลดต่ำลงติดต่อกันถึง 2 สัปดาห์ ปริมาณการซื้อขายจากเดิมสัปดาห์ละล้านกว่าหุ้น
ลดลงเหลือเจ็ดแสนกว่าหุ้น ราคาปิด ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน เหลือ 91 บาท
การที่ราคาหุ้นลดลงดังกล่าวน่าจะเป็นการปรับตัวเข้าสู่ราคา "ตามความเป็นจริง"
ซึ่งชาญกล่าวว่า "หากสังเกตให้ดีที่จริงราคาไม่ลง มันขึ้นต่างหาก"
(โปรดดูกราฟดัชนีราคาหุ้นควงเจริญ 1 เปรียบเทียบกับ 2 ซึ่งจะเห็นว่าหลังจากการประกาศเพิ่มทุนและประกาศสิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นใหม่ในอัตรา
2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ในราคาหุ้นละ 25 บาทแล้วดัชนีราคาเริ่มไต่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง)
ชาญกล่าวเป็นเชิงทำนายต่อไปว่าหากบริษัทสามารถรักษาอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากการมีอัตรารายได้เพิ่มขึ้นนั้น
(โปรดดูตารางแสดงผลประกอบการตั้งแต่ 2527-2531 และตารางประมาณการงบกำไรขาดทุนตั้งแต่
2531-2535) แนวโน้มเช่นนี้ก็ช่วยสนับสนุนราคาที่เป็นอยู่ในเวลานี้ได้
การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นควงเจริญในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงหลายประการ
กล่าวคือ แรงซื้อและขายหุ้นในช่วงเข้าตลาด 2 เดือนแรกเป็นฝีมือของโบรกเกอร์และนักเก็งกำไร
มากกว่าที่จะเป็นนักลงทุน (INVESTOR) ทั้งนี้ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหววูบวาบนั้นจะเป็นผลดีแก่คนกลุ่มนี้มากที่สุด
หลังจากนั้นเมื่อหุ้น มีการปรับราคาประกอบกับนักเก็งกำไรถอยหนีออกไปแล้ว
ทีนี้กลุ่มผู้ที่จะลงทุนกับหุ้นตัวนี้ต่อไปก็เห็นจะมีแต่นักลงทุนที่แท้จริงเท่านั้น
รวมไปถึงโบรกเกอร์และกองทุนต่างประเทศด้วย เพราะคนเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานมากกว่าการเคลื่อนไหวของราคาอย่างวูบวาบ
คนกลุ่มหลังนี้เองจำเป็นที่จะต้องรู้ข้อมูลการประกอบการของบริษัทมากกว่าผู้ใด
แต่ในความเป็นจริงก็คือไม่มีใครรู้จักบริษัทควงเจริญอีเลคโทรนิคส์ดียิ่งไปกว่าผู้ประกอบการและผู้ถือหุ้นเดิม
เป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะรับเข้าไปช้อนซื้อหุ้นเดิมของตนกลับมาหลังจากที่พวกนักเก็งกำไรถอยห่างออกไป
บัญชากล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ" หลายครั้งว่า "เราทำงานนี่เรารู้
จริง ๆ แล้วราคาหุ้นควรจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่พรวดพราดอย่างนี้โดยอาศัยข่าวลือ
แต่ถ้าว่ากันตามหลักแล้วก็ถือไว้เถิด ไม่เสียหายหรอกเรายังมีเวลาเหลืออีกมากมาย"
ส่วนข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ด้วยก็คือในหมู่นักเล่นหุ้นทุกประเภท
ไม่มีใครมีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมของบริษัทอย่างแท้จริง แทบจะไม่มีใครเลยด้วยซ้ำที่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของบริษัทควงเจริญอีเลคโทรนิคส์มาก่อน
แต่นับจากนี้ไป พวกนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นที่จะต้องสนใจติดตามอุตสาหกรรมผลิตพีซีบีของควงเจริญอย่างจริงจัง
ต้องรับรู้เรื่องตลาดและลูกค้าของควงเจริญ หรือนัยหนึ่งคือให้ความสนใจในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทควงเจริญอย่างเต็มที่เสียแล้ว
หากคิดจะเล่นหุ้นที่มีอนาคตดีตัวนี้
เมื่อบริษัทควงเจริญอีเลคโทรนิคส์ปรากฏชื่ออยู่ในกระดานซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์นั้น
หลายคนคงจะแปลกใจด้วยความที่ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของบริษัทมาก่อนเลย
หนำซ้ำชื่อ "ควงเจริญ" ก็ดูว่าจะมีเค้ามาจากชื่อเฉพาะชื่อใดชื่อหนึ่งเป็นแน่
แต่เจ้าของยังจะนำมาจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเสียอีก
บัญชา องค์โฆษิต กรรมการผู้จัดการวัย 37 ปี ทายาทของนายควง องค์โฆษิต เจ้าของห้างหุ้นส่วนควงเจริญ
จำกัด กล่าวถึงที่มาของชื่อบริษัทว่ามาจากชื่อบิดาของเขา และชื่อห้างร้านของบิดานั่นเอง
เขาให้เหตุผลที่ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อบริษัททั้งที่รู้สึกเหมือนกันว่าไม่เหมาะสมว่า
"เราก็คนจีนด้วยกันยี่ห้อก็คือยี่ห้อ เจ๊งไม่ได้…แต่ในไอเดียตอนนี้ก็คิดอยากจะเปลี่ยนเหมือนกัน
จริง ๆ แล้วตอนนี้มันเป็นพับลิค คัมปานี ไม่ใช่ลักษณะส่วนตัวอีกแล้ว"
ควงเจริญอีเลคโทรนิคส์ตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 โดยความคิดของบัญชาซึ่งมีพื้นการศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เลยคือจบด้านกราฟฟิก
ดีไซน์จากอังกฤษ เขาเริ่มต้นงานเป็นอาร์ตไดเรคเตอร์ระยะหนึ่งก่อนที่จะมารับกิจการห้างหุ้นส่วนของบิดา
ซึ่งทำเครื่องประดับด้วยเงินส่งออกต่างประเทศ
หลังจากทำได้ประมาณ 3-4 ปีเขาก็เห็นว่ามีคนทำธุรกิจตามแบบเขาอีกเป็นจำนวนมาก
เขาเริ่มรู้สึกว่าธุรกิจที่ทำกลายเป็นของง่าย ๆ ที่มีคนทำเลียนแบบตามได้เยอะแยะ
เขาจึง "คิดอยากจะทำอะไรที่มันยาก ไม่ไปกระเทือนอะไรกับสังคมและภาวะแวดล้อม
เมื่อเราทำขึ้นมาก็ไม่มีใครว่าผมก็เลยทำพีซี บอร์ด"
แต่จริง ๆ แล้วเขาเริ่มจากธุรกิจการสั่งชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เข้ามาประกอบขายก่อนโดยอาศัยพื้นการสังคมกับคนในอังกฤษ
เขาสั่งชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์จากบริษัทซินแคลร์เข้ามาประกอบ และจากจุดนี้เองที่ทำให้เขามองเห็นว่าชิ้นส่วนพื้นฐานที่สำคัญที่สุดซึ่งยังไม่มีการผลิตในเมืองไทย
เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เขากล่าวถึงเหตุจูงใจให้ผลิตพีซีบีว่า "ที่เปิดโรงงานตอนแรกเพราะอยากทำ
อยากพิสูจน์อะไรบางอย่าง อาจเป็นเพราะเราหนุ่มก็เป็นได้ มันต้องพิสูจน์ว่าทำได้หรือไม่ได้
จริง ๆ แล้วตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่เป็นส่วนที่พิสูจน์ว่าเราทำได้หรือไม่ได้
แต่งานจริง ๆ ต่างหากที่เป็นตัวพิสูจน์"
เมื่อไม่มีโรงงานผลิตในเมืองไทย บัญชาจึงเดินทางไปดูโรงงานที่สิงคโปร์และไต้หวันอันเป็นแหล่งผลิตฝีมือระดับโลก
เขาตัดสินใจทำหลังจากนั่งศึกษาธุรกิจนี้นาน 9 เดือน รวมทั้งนั่งลองผิดลองถูกอยู่อีกนานกว่าจะผลิตเพื่อส่งออกไปขายต่อยังต่างประเทศได้ในปี
2527
พีซีบีหรือชื่อเต็มคือ PRINTED CIRCUIT BOARD ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่าแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าหรือแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์
คือวงจรไฟฟ้าย่อส่วนอยู่บนแผ่นขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแผ่นฉนวนที่มีแผ่นทองแดง
(COPPER CLAD LAMINATE) เคลือบอยู่ด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ใช้เป็นส่วนประกอบขั้นพื้นฐานในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง
ๆ
แผ่นบอร์ดนี้มีหลายประเภทแบ่งตามลักษณะเทคโนโลยี ประสิทธิภาพ และขั้นตอนการผลิตได้แก่
ชนิดที่วงจรไฟฟ้าเพียงด้านเดียว ชนิดที่มีวงจรไฟฟ้าสองด้าน และชนิดที่มีวงจรไฟฟ้ามากกว่าสองด้าน
ซึ่งเป็นวิวัฒนาการล่าสุด และมีขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตที่ยุ่งยากซับซ้อนมากที่สุดด้วย
ควงเจริญฯ ดำเนินการผลิต พีซีบีชนิดที่มีวงจรไฟฟ้า สองด้านรวม 95% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
ที่เหลือจะเป็นการผลิตชนิดที่มีวงจรไฟฟ้ามากกว่าสองด้าน โดยมีกำลังการผลิตเดือนละ
30,000 ตารางฟุตในปัจจุบัน และกำลังเร่งขยายเป็นเดือนละ 40,000 ตารางฟุต
การผลิตพีซีบีของควงเจริญฯ เป็นการผลิตตามปริมาณออร์เดอร์ที่ได้รับในแต่ละเดือน
โดยมีตลาดสำคัญอยู่ในสหรัฐฯ และยุโรป และมูลค่าของตลาดพีซีบีในทั่วโลกนั้นคิดเป็น
3-5% ของมูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์อิเลกทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่าใหญ่โตมโหฬาร
บทบรรณาธิการของวารสาร PC FAB ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 1988 ออกในเยอรมนีตะวันตก
รายงานว่าตลาดพีซีบีทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 26 ล้านดอยซ์มาร์ก (364 พันล้านบาท)
โดยมีผู้ผลิตทั่วโลกรวม 7,000 ราย ซึ่งประมาณ 5,000 ราย จะเป็นโรงงานผลิตแผ่นวงจรไฟฟ้าแบบด้านเดียว
ผู้ผลิตใหญ่ที่สุดคือสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3 ของทั่วโลก อันดับสองคือญี่ปุ่น
มีส่วนแบ่งตลาดในทั่วโลก 28% ส่วนเยอรมนีตะวันตกเป็นผู้ผลิตใหญ่สุดเป็นอันดับ
3
PC FAB รายงานด้วยว่าปริมาณความต้องการพีซีบีในตลาดยุโรปมีสูงมากในช่วง
2-3 ปีข้างหน้า และทางที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลนได้วิธีหนึ่งคือการนำเข้า
วิธีแก้ปัญหานี้ตรงกับเป้าหมายการตลาดของบัญชา ทั้งนี้ทั้งนั้น ยุโรปได้กลายเป็นตลาดสำคัญของควงเจริญฯ
โดยมีลูกค้าในอังกฤษถึง 80% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดของบริษัท และกว่าที่จะได้ลูกค้าเหล่านี้มาเขาต้องผ่านการท้าทาย
และความยากลำบากอย่างมาก
บัญชาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าเขาชอบทำงานที่ยาก ๆ ท้าทายความสามารถ
อย่างเช่นการสร้างบริษัทอิเล็กทรอนิกส์และการสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในทั่วโลก
"ผมบอกตรง ๆ เลยว่าเราออกไปอาละวาดในตลาดโลก ข้างนอกนี้เราไม่เคยสู้แพ้ใคร
คือเราชนะมาตลอด เรายังไม่เคยแพ้คู่ต่อสู้ของเราในตลาดต่างประเทศ"
ชัยชนะของเราคือคุณภาพของพีซีบีที่ผลิตขึ้นได้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากสถาบันและบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงในวงการอิเล็กทรอนิกส์ของโลก
ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานมาตรฐานสินค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (UNDERWRITERS LABORTORIES
OF USA) บริษัทบริติช เทเลคอม ซึ่งเป็นผู้ควบคุมวงการโทรคมนาคมของอังกฤษ
บริษัทไอบีเอ็ม บริษัทแอ้ปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ บริษัทฮิวเลตต์ แพ็คการ์ต บริษัทอิริคสัน
บริษัทฟิลิปส์ บริษัทซีเมนส์ บริษัทนอร์ทเทิร์น เทเลคอม บริษัทเพลสซี่ เป็นต้น
ชื่อเสียงที่สั่งสมไว้เหล่านี้ใช้เป็นใบเบิกทางที่ดีเยี่ยมในทางการตลาด
บัญชาเล่าว่าเขาต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ APPROVE หรือการยอมรับจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กล่าวชื่อมา
ดังนั้นไม่ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญ กำไรไม่คุ้มกับต้นทุนสักเพียงใด ควงเจริญก็ต้องทำตามสเปก
(SPECS) ของบริษัทเหล่านั้นเพื่อเอา APPROVE มาให้ได้
ตัวอย่างเช่นกรณีบริติช เทเลคอม ซึ่งเขาเพิ่งได้ APPROVE มาสักปีหรือสองปีนั้น
ตอนที่จะเข้าไปประมูล เขาได้ขอให้บริษัทหลายแห่งเขียนจดหมายอ้างอิง (REFERENCES)
เข้าไป ซึ่งมีทั้งไอบีเอ็ม, แอ้ปเปิ้ล, นอร์ทเทิร์น เทเลคอม, คอมแพ็ค, เอสทีซี
เป็นต้น บัญชากล่าวว่า "ถ้าสมมุติว่าเราไม่แน่จริง เขาก็ไม่ทำจดหมายให้เรา
เพราะเท่ากับต้องเอาชื่อชื่อเสียงของเขามาพัวพันด้วยถึงขนาดนั้นบริติช เทเลคอมยังให้เราไปนั่งรอตั้งสองปีกว่าจะบอก
APPROVE"
การได้รับ APPROVE จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ของโลก นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับควงเจริญในการที่จะเจาะตลาดพีซีบีซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะมีกลุ่มลูกค้าชนิดที่ว่า
"ของใครของมัน" ทีเดียว และการได้รับการยอมรับจากบริติช เทเลคอม
ก็ทำให้ควงเจริญได้ลูกค้าจากอังกฤษตามมาอีกเป็นจำนวนมาก
การก้าวออกมาสู่ระดับตลาดโลกเช่นนี้ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าบัญชาต้องสร้างควงเจริญให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่
เขากล่าวเปรียบเทียบอย่างมีจุดหมายว่าหากจะเอาควงเจริญไปเทียบกับ HADCO CORP.
ซึ่งมีโรงงานรวม 6 แห่งในสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตพีซีบีที่จัดเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก
ยอดขายสุทธิใน 9 เดือนแรกของปีนี้สิ้นสุด 30 กรกฎาคม 31 เพิ่มขึ้นเป็น 108.1
ล้านดอลลาร์หรือเพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมียอดขายสุทธิเพียง
88.4 ล้านดอลลาร์
ส่วนควงเจริญนั้นใน 9 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้จากการขายสุทธิ 89.9 ล้านบาท
และคาดว่าทั้งปีจะมีรายได้จากการขายสุทธิ 132 ล้านบาท หรือห่างกันประมาณ
20 เท่า!
ความห่างไกลกันลิบลับชนิดที่ไม่อาจเอามาเทียบเคียงกันได้กลับเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของบัญชา
เขากล่าวว่า "แฮดโคนี่จริง ๆ แล้วสร้างมายังไม่ถึง 20 ปีเลยโตได้ขนาดนั้น
เรานี่ในแง่ของคนไทย เราถือว่าควงเจริญโตเร็วนะ แต่ในความรู้สึกของผมผมว่าโตช้า
เพราะ 20 ปีนี่เราต้องโตให้ได้เท่าแฮดโคให้ได้ และเรายังเหลืออยู่อีกตั้ง
20 เท่า"
เป้าหมายของบัญชาก็คือการสร้างควงเจริญให้เป็นบริษัทระดับกลางของโลกหรืออักนัยหนึ่งก็คือตจะต้องทะยานขึ้นสู่ยอดขายที่เกิน
25 ล้านดอลลาร์ แต่เขาก็ไม่ได้กำหนดช่วงว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปีไหน เพราะตลาดอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
"เราเพิ่งแค่ 5 ปีเท่านั้นเอง เรายังไม่ถึงจุดสุดยอดหรอก อีกไกลกว่าเราจะถึง
แต่เราคงมองไกลถึง 10-15 ปีไม่ได้ เพราะเรายังดูไม่ออกเลยว่ามันจะเป็นอย่างไร"
อย่างไรก็ดี ก่อนที่ควงเจริญจะมุ่งสู่การก้าวเป็นบริษัทระดับกลางของโลกนั้น
ก็เป็นบริษัทที่ขาดทุนยุ่บยั่บมาก่อน เพิงจะฟื้นตัวได้ก็ในปี 2530 นี่เองโดยสามารถทำกำไรสุทธิได้
9,839,000 บาท และในปี 2531 ก็เพิ่มพูนกำไรได้มากขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกทำได้
8,536,000 บาท ส่วนงวด 9 เดือนหลังของปีทำกำไรสุทธิได้ 17,645,719 บาท นับว่าเป็นการพุ่งพรวดพราดพอกับราคาหุ้นควงเจริญในตลาดหลักทรัพย์ทีเดียว
ในช่วง 3-4 ปีแรกที่บริษัทประสบกับภาวะขาดทุนนั้น สาเหตุหลักมาจากการที่ต้องนำเงินไปจมกับเครื่องจักร
ซึ่งตัวหนึ่ง ๆ มีมูลค่าเป็นเลขเจ็ดหลักขึ้นไป ประกอบกับเมื่อผลิตพีซีบีออกมาได้แล้ว
ส่วนมากต้องทิ้งมากกว่าที่จะขายได้ ทั้งนี้เพราะยังไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ
บัญชากล่าวว่าควงเจริญใช้ LEARNING CURVE ที่ยาวมาก นอกจากนี้ในแง่ของโครงสร้างต้นทุนการผลิตนั้น
ควงเจริญต้องนำเข้าวัตถุดิบหลายอย่างจากต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 80-95 ของวัตถุดิบทั้งหมด
โดยเฉพาะแผ่นฉนวนเคลือบทองแดง (LAMINATE) และ DRILL BIT น้ำยาเคมีบางอย่างเช่น
SOLDER MASK INK, PLATING CHEMICAL, ETCHING SOLUTION เป็นต้น รวมทั้งเครื่องจักรอีกหลายตัว
ปี 2528 เป็นปีที่บริษัทประสบกับการขาดทุนมากปีหนึ่ง สาเหตุประการหนึ่งเนื่องมาจากการยกเลิกคำสั่งซื้อของไอบีเอ็มซึ่งมีปริมาณ
60-80% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของบริษัท พีซีบีที่ไอบีเอ็มสั่งทำมีชื่อว่า
พีซีเน็ท เป็น NETWORK สำหรับ IBM PC และเป็นพีซีบีที่ทำยากราคาแพงแต่มีคุณสมบัติดีเยี่ยม
ไอบีเอ็มมองว่าพี่ซีเน็ทไม่ค่อยเหมาะสมกับเทคนิคที่ใช้ในปัจจุบัน ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงและดีเกินไปกว่าที่จะเอามาใช้ก็เลยสั่งยกเลิกคำสั่งซื้อ
ไอบีเอ็มไม่เดือดร้อนกับเรื่องนี้สักเท่าใด ทั้งนี้เพราะมูลค่าการสั่งซื้ออุปกรณ์เล็ก
ๆ เพื่อใช้ประกอบในผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้านั้นเทียบเคียงไม่ได้กับมูลค่าสินค้านั้น
ๆ
แต่สำหรับควงเจริญ 60-80% ของปริมาณการผลิตทำให้บัญชา "ถึงกับยืนเซ่อเลย"
เขาต้องวิ่งไปหาใบสั่งซื้อมาเติมให้เต็มภายในช่วงเวลา 2 เดือนเท่านั้น เขากล่าวว่าในการสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้ไม่ได้มีการทำสัญญากัน
และโดยปกติคำสั่งซื้อ 3 เดือนจะยกเลิกไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการสั่งซื้อ 6 เดือนจะยกเลิกได้
และหากผู้ผลิตดำเนินการผลิตไปแล้วก็สามารถเรียกร้องค่าปรับได้ตามปริมาณที่อยู่เรียกว่าค่า
CANCELLATION CHARGE
ประสบการณ์อันชอกช้ำใจทำให้บัญชาต้องพลิกแพลงกลยุทธ์การตลาดใหม่ ปัจจุบันเขาไม่ต้องเที่ยววิ่งหาใบสั่งซื้ออีกต่อไป
เพราะชื่อเสียงของพีซีบีที่ติดยี่ห้อเคซีอี (ควงเจริญอีเล็กโทรนิคส์) ได้รับการยอมรับจากบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์
ๆ และบริษัทโทรคมนาคมทั่วโลก เขาเพียงแต่นั่งรอใบสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น
นอกจากนี้เขายังจัดสรรปริมาณการผลิตสำหรับใบสั่งซื้อหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 20%
ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของบริษัท และจะไม่รับใบสั่งซื้อจำนวนมาก ๆ อีกต่อไป
"ตั้งแต่นั้นมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ผมเลยไม่ทำให้ไอบีเอ็มเลย และถ้าไอบีเอ็มเข้ามาสงสัยไล่ออกจากโรงงานด้วย
กลัว กลัวที่สุดแล้ว แต่เราก็ได้ APPROVE มานะแล้วเราก็ภูมิใจมากว่าเราได้
APPROVE แต่เราก็บอกว่าเราไม่เอาเพราะว่ามันไม่ไหว ธุรกิจอย่างนี้เราไม่เล่นด้วยหรอก
3 วันดี 4 วันร้ายนี่" เขาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดที่มีกับ
IBM
การรับลูกค้าเฉลี่ยหลาย ๆ รายยังให้ประโยชน์ในแง่การต่อรองราคาสินค้าด้วย
และนั่นก็เป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของกำไรของบริษัท ทั้งนี้ก็เพราะหากมีปริมาณการสั่งซื้อน้อย
สินค้าก็ต้องราคาสูง แต่หากปริมาณมาก ๆ ราคาก็จะถูกลง หรือลูกค้ารายใหญ่อย่างสแตนดาร์ด
เทเลโฟน เคเบิล (เอสทีซี) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือโทรคมนาคมของอังกฤษ
ปกติแล้วปีหนึ่ง ๆ จะมีการตกลงราคาเพียงครั้งเดียว แต่จะมีการขอขึ้นราคาเป็นปี
ๆ ได้ เช่น ปีนี้ขึ้น 1% ปีหน้าขึ้น 3% เป็นต้น
สำหรับในเรื่องต้นทุนนั้น ควงเจริญมีข้อได้เปรียบประการหนึ่งนั่นคือเรื่องค่าจ้างแรงงาน
ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีก็ไม่เป็นรองใคร โดยมีแผนกอาร์แอนด์ดีเล็ก
ๆ เพื่อทำการทดลองวิจัยก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง
บัญชาเลือกตั้งโรงงานของเขาในเขตส่งออก นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้าของเขา
100% ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเท่านั้น แต่เป็นเพราะมูลเหตุในเรื่องอาร์แอนด์ดีด้วย
พีซีบีที่ผลิตจากควงเจริญในแต่ละแบบนั้นต้องผ่านการลองผิดลองถูกจากแผนกอาร์แอนด์ดีก่อนทุกแบบด้วยเหตุนี้จึงมีการสั่งวัตถุดิบและน้ำยาเคมีต่าง
ๆ มาทำการทดลองเพื่อหาตัวที่ดีที่สุด บัญชาให้ความเห็นว่า "หากเราไม่ได้อยู่ในเขตส่งออก
เรามีหวังตาย กว่าจะเคลียร์ของออก กว่าจะอะไรต่ออะไร แต่เมื่อเราอยู่ในเขตส่งออกเขาไม่ได้คุมในลักษณะของบัญชี
เขาคุมแต่ว่านำเข้ามาและห้ามนำออก มันก็ง่ายสะดวก เราสั่งตัวโน้นตัวนี้มาทดลองได้เรื่อย
ๆ"
ทัศนะนี้เป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ผลิตอื่น ๆ ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ทั้งนี้เพราะการที่จะก้าวตามให้ทันการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในวงการอิเล็กทรอนิกส์นั้นต้องอาศัยการวิจัยทดลองช่วยเป็นอย่างมาก
"หากเราไปอยู่ในเขตที่ไม่ใช่ส่งออก ผมยังนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไร
มีอยู่วิธีหนึ่งคือทุกอย่างนำเข้ามาจ่ายภาษีเลยแล้วทดลอง เราสามารถไปได้เร็วมากโดยเฉพาะเทคโนโลยีนี่เราเร็วเท่ากับต่างประเทศเลย"
ตลอดช่วงเกือบ 6 ปีของควงเจริญ แม้จะล้มลุกคลุกคลานในระยะแรก แต่ก็เริ่มเห็นอนาคตที่สดใสเรืองรองรออยู่เบื้องหน้าแล้ว
โดยเฉพาะสำหรับตระกูลองค์โฆษิตซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ การตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
100% เพราะได้ทั้งการลดแรงกดดันที่มีต่อผู้บริหาร อีกทั้งผู้ถือหุ้นเดิมก็ได้รับส่วนแบ่งจากการนำหุ้นเดิมออกขายเป็นจำนวนมากโขอยู่
จากสภาพที่บริษัทประสบภาวะขาดทุนและไม่มีผลกำไรมาแบ่งสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมนับแต่แรกตั้ง
นอกจากนี้บริษัทยังสามารถเรียกระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้โดยใช้วิธีออกหุ้นใหม่เพื่อเพิ่มทุนดังที่บัญชาได้ประกาศเพิ่มทุนเมื่อ
26 ตุลาคม แทนที่เขาจะนำผลกำไรที่ได้รับในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2531 มาเป็นทุน
เขาก็ประกาศนำผลกำไรนั้นมาจ่ายเป็นเงินปันผลแทน นั่นก็ทำให้เขาได้ทั้งการเพิ่มทุน
(โดยไม่ต้องชักเนื้อ) แถมยังได้เงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่เขาถืออยู่ กับทั้งยังสามารถทำให้ภาพพจน์ของบริษัทดีขึ้นด้วย
ควงเจริญยังมีขีดความสามารถที่จะเติบโตได้อีกมากเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานดังที่กล่าวมาแม้ในระยะเริ่มแรกหุ้นควงเจริญจะหลีกไม่พ้นจากสภาพการเป็น
"หุ้นเก็งกำไร" เหมือนกับหุ้นหลาย ๆ ตัว ซึ่งผู้รู้ต่างกล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่าราคาหุ้นที่เป็นอยู่ในตลาดช่วงแรกไม่ได้สะท้อนการประกอบการของบริษัทแต่อย่างใด
แต่ในเวลาต่อมา บัญชาซึ่งก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความเห็นดังกล่าวและเป็นผู้ที่รู้ดีเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับขีดความสามารถเติบโตของบริษัทได้กล่าวว่า
"ถ้าจะถามว่าตอนนี้ราคาหุ้นรีเฟลกซ์ตัวบริษัทจริงไหม ผมคิดว่าไม่จริงหรอก
ราคาหุ้นไม่ทันเพอร์ฟอร์แมนซ์ของตัวบริษัท เพราะบริษัทเติบโตเร็วกว่าเยอะ"
สาเหตุที่ทำให้บัญชากล่าวออกมาเช่นนั้นเพราะตัวเลขกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ประกาศออกมาชี้ชัดว่าอัตราการเติบโตของบริษัทพุ่งพรวดขึ้นเพียงใด
ตัวเลขการประกอบการในช่วง 9 เดือนยังมีผลให้ต้องเปลี่ยนแปลงประมาณการงบกำไรขาดทุนในช่วง
2531-2535 ใหม่หมดจากเดิมที่เคยจัดทำไว้ในหนังสือข้อสนเทศการเสนอขายหุ้นเมื่อกรกฎาคม
2531
หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าสำหรับบริษัทที่มีลักษณะการครอบครองถือหุ้นและการบริหารในแบบกึ่งครอบครัวเช่นนี้
การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเสนอขายหุ้นไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิพาทขัดแย้งในครอบครัวหรือ?
เป็นไปได้หากบริษัทนั้นยิ่งใหญ่มากกว่านี้แหละเป็นของครอบครัว 100% แต่สำหรับควงเจริญ
แม้จะมีที่มาจากนายควง องค์โฆษิต ตกทอดมาถึงภรรยาและลูก ๆ เมื่อกลายเป็นควงเจริญอิเลคโทรนิคส์กลับกลายเป็นการร่วมหุ้นระหว่างตระกูลองค์โฆษิตบางส่วนกับเพื่อนพ้อง
ซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทำให้หลายคนแปลกใจคือกลุ่มแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช
มูลเหตุที่กลุ่มแพทย์จากสมิติเวชเข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วยหลายคนเพราะแต่เดิมบริษัทแพทย์สุขุมวิทได้ถือหุ้นไว้
1,500 หุ้นสมัยที่ยังมีจำนวนหุ้นเพียง 30,000 หุ้นราคาหุ้นละ 1,000 บาท ต่อมาเมื่อมีการเพิ่มทุนและเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นและผู้ถือหุ้น
บริษัทจึงโอนให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทคือบรรดาแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวชนั่นเอง
ส่วนการที่บริษัทแพทย์สุขุมวิทเข้าไปถือหุ้นก็สืบเนื่องจากตระกูลองค์โฆษิตมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เป็นแพทย์คือแพทย์หญิงจันทิมา
องค์โฆษิต ซึ่งเป็นพี่สาวของบัญชา และร่วมเป็นกรรมการของบริษัทด้วย
บัญชากล่าวปรารภถึงผู้ถือหุ้นเหล่านี้กับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีเหตุผลมาก
"ตอนแรกเขาไม่เข้าใจกันเลย แต่เขามีความเชื่อมั่น ฟังเหตุและผล เขาเชื่อและตอนนี้ผมคิดว่าไม่มีใครเสียใจที่มาหุ้นกับเรา
เป็นการตัดสินใจที่ถูก ถูกมากด้วยซ้ำ เพราะเขาตัดสินใจและเชื่อว่ามันเป็นไปได้"
ก็นับว่าบัญชาโชคดีที่ได้ผู้ร่วมถือหุ้นประเภทนี้ และโชคดีอีกหลายอย่างทั้งในเรื่องของการตลาด
และการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทุกอย่างดูเฮงไปหมดจนเขาเองก็กล่าวว่า
"ผมกล้ายืนยันได้เลยว่าเดี๋ยวนี้กรรมการผมจะไม่ขายสักหุ้นเลย เขาไม่เคยสนใจที่จะขายด้วยซ้ำ
ถ้าสนใจก็คือจะซื้อไม่ใช่ขาย เพราะทุกคนเขาก็รู้กันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในแง่เข้าตลาดหลักทรัพย์นี่พวกเขาก็ไม่มีอะไรคัดค้าน
พวกเขาก็ซื้อหุ้นกลับได้"
ความปลอดโปร่งใจและหนทางการเติบโตที่ราบรื่นของควงเจริญอีเลคโทรนิคส์ ควรจะเป็นบำเหน็จการต่อสู้ฝ่าฟันอย่างยากลำบากตลอดช่วง
6 ปีที่ผ่านมาของบัญชา ส่วนตลาดหลักทรัพย์ก็น่าจะภูมิใจที่มีบริษัทจดทะเบียนซึ่งมีคุณภาพและมีอนาคตดีเพิ่มขึ้นอีก
1 บริษัทอันเป็นการช่วยให้นักเล่นหุ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้มีโอกาสลงทุนกับอุตสาหกรรมใหม่
ๆ
แม้ควงเจริญจะได้ชื่อว่าเป็นหุ้นเก็งกำไรอยู่ในช่วงจังหวะเวลาหนึ่ง แต่ไม่แน่ว่าต่อ
ๆ ไปหุ้นเก็งกำไรที่หวือหวาตัวนี้อาจจะค่อย ๆ กลายเป็นหุ้นลงทุนระยะยาวไปก็เป็นได้