ถุงมือยาง เอดส์ธุรกิจตัวใหม่

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

"แฟชั่นเห่อการลงทุนถุงมือยางกำลังระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่นักลงทุนไทย เหมือนโรคเอดส์ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก เชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดการลงทุนนี้อยู่ที่การคืนทุนในเวลาอันสั้น และผลกำไรที่งดงาม แต่การผลิตที่ซับซ้อน และการขาดแคลนที่ชำนาญการเป็นอุปสรรคที่ส่งผลสะเทือนให้ธุรกิจนี้ไม่ง่ายอย่างที่หวัง

18 พฤศจิกายน 2531 โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า ห้องวิภาวดี บอลรูม บี แออัดเต็มไปด้วยผู้คนกว่า 200 คน ยืนหยัดฟังคำบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางอย่างใจจดใจจ่อ อารมณ์ความรู้สึกสนใจอย่างเต็มที่เช่นนี้ ไม่แตกต่างจากวันก่อนนี้ (17 พฤศจิกายน) ที่พวกเขาเหล่านั้นต่างได้มาร่วมกันฟังคำบรรยายเรื่องอุตสาหกรรมน้ำยางข้น

มันเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยอีกบทหนึ่ง ที่ธุรกิจไทยในทศวรรษที่ 80 เริ่มให้ความสนใจกับ "ผลิตภัณฑ์ยางพารา" ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก่อกำเนิดในธุรกิจไทยมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 หรือ 60 ปีก่อนหน้านี้แล้ว

ผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจเส้นเลือดใหญ่ของชาวภาคใต้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในภาคใต้ของไทยมาเป็นเวลานาน การนำยางพาราที่ชาวนาเกษตรกรภาคใต้ปลูกมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครพ และขายส่งออกไปยังโรงงานผู้ผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ทำรายได้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของมูลค่าสินค้าส่งออกสูงสุดของไทยมาตลอดหลายสิบปี

กลุ่มเต๊กบีห้าง กลุ่มคอแงะ และกลุ่มไทยแสง ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้าเก่าแก่ด้านยางพาราแถวภาคใต้มาเป็นเวลานาน และไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า 3 กลุ่มนี้เป็นผู้รู้เรื่องยางพาราและธุรกิจค้าด้านยางพาราดีที่สุด และทรงอิทธิพลที่สุดของไทย

ที่น่าฉงนสนเท่ห์มากก็คือ ในห้องวิภาวดีบอลลูม บี ที่มีการบรรยายในหัวข้อเรื่อง น้ำยางข้น และเทคโนโลยีการผลิตอุตสาหกรรมถุงมือยางวันที่ 17 และ 18 พฤศจิกายนนั้น มีปรากฏร่างคนของกลุ่มเต๊กบีห้างมานั่งฟังด้วยเพียง 1 คนเท่านั้น

ซึ่งนั่นหมายความว่าที่เหลือ 200 คนนั้นเป็นผู้สนใจที่คิดจะลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารานี้ ล้วนแต่หน้าใหม่ในวงการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเกือบทั้งสิ้น

"ผมสังเกตดูกว่า 50% เป็นผู้กำลังคิดจะลงทุนเท่านั้น เข้าใจว่าคงเข้ามาสังเกตการณ์ดูมากกว่า" ชิปปิ้งขนน้ำยางข้นและเคมีภัณฑ์ให้กับบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่เข้าร่วมฟังคำบรรยายในวันนั้นกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงผู้คนกว่า 200 คนที่แออัดกันมาฟังคำบรรยายในวันนั้น

จุดสังเกตนี้เมื่อตรวจสอบกลับมาที่รายชื่อผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นและถุงมือยางที่มีจำนวนมากมายอุตสาหกรรมละกว่า 100 ราย ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมเป็นนักลงทุนหน้าใหม่จากกรุงเทพฯ ทั้งนั้น

นักลงทุนชาวใต้กลับมีจำนวนน้อยมาก และผู้ที่คร่ำหวอดกับธุรกิจค้ายางมานานหลายสิบปี ก็มีแทบจะนับหัวได้!

"เวลานี้บีโอไอให้การส่งเสริมฯ ผลิตยางข้น 183 โรง เดินเครื่องผลิตจริง ๆ เพียง 20 โรง อุตสาหกรรมถุงมือยางส่งเสริมไป 106 รายผลิตได้จริง ๆ 12 ราย (ดูตารางผู้ลงทุน) โดยสรุปแล้วมีผู้ลงทุนจริง ๆ ในอุตสาหกรรมน้ำยางข้นและถุงมือยางเพียง 10% ของจำนวนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเท่านั้น" สุเทพ อรุณกูล ตัวแทนจำหน่ายเครื่องผลิตถุงมือยางยี่ห้อ "LAN NIEN" ให้ข้อมูลแก่ "ผู้จัดการ"

คนในแวดวงอุตสาหกรรมต่างยอมรับกันว่า ทั้งอุตสาหกรรมผลิตน้ำยางข้นที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตถุงมือยางและอุตสาหกรรมถุงมือยาง ต่างเป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างเพิ่งตื่นตัวให้ความสนใจลงทุนกันระยะ 1-2 ปีมานี้เอง โดยส่วนใหญ่รับอิทธิพลจากข่าวสาร "โรคเอดส์" ที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก แถว ๆ สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก

ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภท ดังกล่าว นักลงทุนเป็นชาวท้องถิ่นที่ลงทุนขนาดเล็ก ๆ

"บริษัทในกลุ่มคอแงะ บุกเบิกอุตสาหกรรมผลิตน้ำยางข้นเป็นรายแรกใช้เครื่องจักร 5 เครื่อง เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน" แหล่งข่าวขายเครื่องแยกน้ำออกจากน้ำยาง ALFA - LAVAL เล่าย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

กลุ่มคอแงะเป็นกลุ่มค้ายางเก่าแก่รายหนึ่งในภาคใต้ มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากยางพาราครบวงจรตั้งแต่สวนยางไปจนถึงทำเฟอร์นิเจอร์ที่นอนยี่ห้อ "แพนเท็กซ์"

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางบริษัทไทยรับเบอร์เป็นเจ้าแรกที่ลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจากไต้หวันเมื่อ 9 ปีก่อน ถุงมือยางที่บริษัทนี้ผลิตเป็นถุงมือยางที่ใช้ในครัวเรือน (HOUSEHOLD GLOVES) ป้อนตลาดในประเทศ

ทิ้งช่วงไป 7-8 ปี ที่การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหว!

ปลายปี 2529 ข่าวการระบาดของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ "เอดส์" เขย่าขวัญผู้คนในซีกโลกตะวันตกเกิดขึ้น

เพียงลัดนิ้วมือเดียว กระแสข่าวนี้ได้ลามปามเข้ามายังประเทศไทย!

ความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อปกป้องคุ้มกันการติดเชื้อโรคเอดส์พุ่งสูงลิ่วในซีกโลกตะวันตก

ปรากฏการณ์ "ความหวาดกลัว" ติดเชื้อนี้กระตุ้นให้นักลงทุนไทยสนใจลงทุนในธุรกิจผลิตสินค้าป้องกันการติดเชื้อนี้กันอย่างบ้าคลั่ง! เพราะเล็งเห็นแสงสว่างกำไรลอยอยู่เบื้องหน้า

เมื่อ "กรุงเทพฯ" นครหลวงของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผูกขาดข่าวสารที่รวดเร็วจากทุกมุมโลก นักลงทุนที่อยู่ในเมืองศูนย์กลางแห่งนี้ จึงฉับไวต่อข่าวที่เกิดขึ้น ประกอบกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองของการแสวงหาโอกาสทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยธรรมชาติ

จุดนี้เมื่อนำไปเชื่อมโยงกับข้อสังเกตเบื้องต้นที่ว่า ทำไมนักลงทุนจากกรุงเทพฯ จึงเป็นกลุ่มที่ขอส่งเสริมจากบีโอไอในการผลิตน้ำยางข้นและถุงมือยางมากที่สุดได้แจ่มชัดในคำตอบที่มีว่า "เป็นเพราะนักลงทุนจากกรุงเทพฯ สันทัดในการตัดสินใจลงทุนธุรกิจประเภทฉาบฉวย คืนทุนเร็ว ด้วยอยู่ใกล้แหล่งข่าวสาร"

ต้นปี 2530 กลุ่มนักลงทุนจากกรุงเทพฯ โครงการผลิตถุงมือยางและน้ำยางข้นกันอย่างคึกคัก พร้อม ๆ กับข่าวเปิดการส่งเสริมจากบีโอไอ

"นักลงทุนจากกรุงเทพฯ ขอส่งเสริมผลิตน้ำยางข้นกันมากเหลือเกิน จุดสำคัญผมว่าอยู่ที่ผลจากจิตวิทยาในตลาดที่นักลงทุนจากกรุงเทพฯ จับได้ว่า หนึ่ง - ผลตอบแทนจากการลงทุนสั้นและเร็วมากภายใน 1 ปี เท่านั้น สอง - ระดับราคาน้ำยางข้นเริ่มไต่จากตันละ 700-800 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 1,000 กว่าเหรียญ มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก และสาม - ตลาดผู้ผลิตถุงยางอนามัยและถุงมือยางในประเทศมีความต้องการวัตถุดิบน้ำยางข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผล 3 ข้อนนี้ก็ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้นักลงทุนต่างเฮโลกันลงทุน" บริษัทผู้ขายเครื่องจักร ALFA - LAVAL ให้ข้อสังเกต

ฝ่ายวิชาการธนาคารกสิกรไทยได้ให้ตัวเลขความต้องการใช้น้ำยางข้น ซึ่งตรงกับข้อสังเกตข้างต้นอย่างมาก กล่าวคือ ความต้องการใช้น้ำยางข้นได้พุ่งสูงขึ้นจาก 715 ตันในปี 2528 เป็นประมาณ 10,000 ตันในปี 2530 หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว

ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตได้เติบโตจาก 1,200 ตันในปี 2528 เป็น 13,500 ตันในปี 2530 หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวเป็นต้น!

เมื่อสภาพตลาดน้ำยางข้นอยู่ในสถานะที่เรียกว่า ผลิตได้เท่าไรก็ขายหมด แถมราคาดีด้วย วัฏจักรพฤติกรรมการลงทุนแบบใยแมงมุมที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเกษตรก็เกิดขึ้น นักลงทุนพากันแห่แหนลงทุนกันอย่างบ้าคลั่ง โดยแรงจูงใจจากราคาและโรคระบาดจากเอดส์

"ผู้จัดการ" สืบค้นตัวเลขที่แน่นอนที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว ณ 15 พฤศจิกายนปีนี้มีจำนวน 183 ราย เฉพาะวันที่ 26 กันยายน เพียงวันเดียวอนุมัติส่งเสริม 60 ราย

แต่จากการตรวจสอบตัวเลขจำนวนรายที่ดำเนินการผลิตจริง ๆ เพียง 20 รายเท่านั้น มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 0.18 ล้านตัน

ถ้าหากทุกรายสามารถดำเนินการผลิตจริง จะมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 1.34 ล้านตัน ซึ่งจะมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบคือน้ำยางสด ซึ่งผลิตได้เพียงปีละ 1 ล้านตันเท่านั้น

"น้ำยางสดบางส่วนต่างนำไปผลิตยางแผ่น ยางเครพ ยางแท่ง ถ้าราคาน้ำยางข้นดี ชาวสวนยางก็จะผลิตน้ำยางสดเพื่อป้อนโรงงานน้ำยางข้น ถ้าราคาเกิดตกขึ้นมาก็ไม่ผลิต ไปผลิตยางแท่งหรือแผ่นที่ราคาดีกว่า มันเป็นไปตามกลไกตลาดที่ควบคุมไม่ได ้" วินัย ทาวัน วิศวกรเคมีจากบริษัท LATEX PRODUCTS กล่าวถึงปัญหานี้ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

จุดนี้ เสรี เสรีวัฒโนภาส ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจแบงก์กสิกรไทย ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่ออุตสาหกรรมน้ำยางข้นประมาณ 60% ได้กล่าวความเห็นเชิงสนับสนุนข้อสังเกตข้างต้นเพิ่มเติมว่า

"มันเป็นปัญหาทางจิตวิทยาด้วยที่ชาวสวนยางมีความรู้สึกว่าถ้าหันมาผลิตน้ำยางสด เพื่อป้อนโรงงานน้ำยางข้นอาจทำให้อำนาจต่อรองราคาผลิตเสียเปรียบเจ้าของโรงงาน เนื่องจากอาจถูกโกงน้ำหนักและคุณภาพน้ำยางได้ มันไม่เหมือนการผลิตยางแผ่นที่เห็นน้ำหนักกันชัดเจน ดังนั้นปัญหาทางจิตวิทยานี้มันเกี่ยวโยงกับทัศนคติในการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของชาวสวนยางที่ค่อนข้างจะแก้ไขได้ยากในเวลาอันรวดเร็ว"

ถึงตรงนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วบีโอไอให้การส่งเสริมไปได้ยังไงถึงเกือบ 200 ราย? ทั้ง ๆ ที่บีโอไอก็รู้อยู่ว่าที่ให้การส่งเสริมไปแล้วลงทุนผลิตได้ไม่ถึง 20% จากจำนวนที่ขออนุมัติมา!!!

การที่บีโอไอแก้ลำด้วยการวางกฎเกณฑ์ให้ผู้ขอส่งเสริมต้อวางเงินค้ำประกันโครงการ 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กันยายนเป็นต้นมานั้นก็รู้อยู่ว่าไม่เป็นผล แต่ก็ยังส่งเสริมกันต่อไปอีก ขณะที่มาเลเซียเวลานี้ ส่งเสริมกันไปแล้วเกือบ 200 รายเท่ากับไทย แต่เปิดได้จริงเพียง 65 ราย ทางบีโอไอมาเลเซียก็ปิดส่งเสริมไปแล้ว "คุณรู้ไหม เวลานี้พวกผีที่ขอส่งเสริมกันมาเกือบ 50 ราย เขาวิ่งเร่ขายใบอนุมัติส่งเสริมโครงการกันแล้ว ราคาใบละตั้งแต่ 1 ล้านบาทจนถึง 3 ล้านบาท" แหล่งข่าววงการชิปปิ้งน้ำยางข้นกล่าว"

สภาพการลงทุนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำยางข้น ก็เหมือนกับอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง

บีโอไอให้การส่งเสริมนักลงทุนที่เสนอโครงการผลิตถุงมือยางไปแล้วประมาณ 106 ราย ที่ผลิตได้จริง ๆ ประมาณ 12 ราย ในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ราย กำลังผลิตรวมประมาณ 1,000-2,000 ล้านคู่ต่อปี ซึ่งกว่าร้อยละ 50 เป็นถุงมือยางประเภทใช้หนเดียวแล้วทิ้งที่เรียกว่า EXAMINATION GLOVES

อมร อัศวานันท์ ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่ออุตสาหกรรม แบงก์ไทยพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลแก่ "ผู้จัดการ" ว่าปริมาณการผลิตจำนวนดังกล่าว ประมาณร้อยละ 90 อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ 3 ราย คือ บริษัท แอนเซลล์ (ประเทศไทย) บริษัท เมดิคัลโกรฟ และบริษัทเจนนี่รับเบอร์

อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะถูกต้อง เพราะเมื่อ "ผู้จัดการ" สืบค้นกับแหล่งข่าวในแบงก์กสิกรไทยซึ่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อแก่อุตสาหกรรมนี้มากที่สุด รวมถึงแหล่งข่าวในบริษัทยูนิโกรฟปรากฏว่าบริษัทผู้มีส่วนแบ่งตลาดในการผลิตถุงมือยางเกือบร้อยละ 90 อยู่ในมือผู้ผลิต 5 รายคือ บริษัท แอนเซล บริษัทเจนนี่รับเบอร์ บริษัท โอเรียนท์รับเบอร์ บริษัทดอกเตอร์บู และบริษัทยูนิโกรฟ

ไม่ว่าข้อมูลในแง่นี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญคือข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย และในระยะปัจจุบันว่ามีแนวโน้มที่ผู้ผลิตรายใหม่จะแทรกตัวเข้ามาได้ไม่ง่ายนัก

ตัวเลขความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกทั้ง 4 ประเภทคือ ใช้ในครัวเรือน ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ทางการแพทย์ และใช้หนเดียวแล้วทิ้งเหมือนกระดาษทิชชู เป็นเรื่องที่บอกชัดเจนได้ยาก วินัย ทาวัน จากบริษัทยูนิโกรฟผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รายหนึ่งได้ให้ข้อมูลประมาณการว่าตกอยู่ราว ๆ 20-25 พันล้านชิ้น หรือ 10-12 พันล้านคู่/ปี

ข้อมูลความต้องการในตลาดโลกเช่นนี้จะเท็จจริงแค่ไหน ตอบได้ยากแม้แต่หน่วยงานอย่างธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อนี้ไปและบีโอไอเองซึ่งเป็นผู้ให้การส่งเสริมการลงทุนก็ตอบไม่ได้

หน่วยงานทั้ง 2 ไม่ว่าจะเป็นธนาคารก็ดีหรือบีโอไอก็ดีสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ใช้บรรทัดฐาน JUDGE A FEELING ในการประเมินหรือวินิจฉัยขนาดของตลาด!

"ขนาดของตลาด เราตอบไม่ได้เพราะไม่รู้จริง ๆ แนวโน้มตลาดก็เช่นกันเราไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่และแค่ไหน? แต่เราก็ประเมินเอาจากทิศทางของข่าวที่เราได้รับว่ามันน่าจะสูงขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในสหรัฐฯ เริ่มวางกฎเกณฑ์ให้พนักงานต้องมีถุงมือยางกันคนละ 2 คู่เป็นอย่างน้อยในเวลาปฏิบัติหน้าที่…มีตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ว่าหน่วยงานปราบปรามของตำรวจในรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ออกกฎให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสวมถุงมือยางเวลาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นหรือจับกุมคนร้าย หลังจากที่มีนายตำรวจผู้หนึ่งติดเชื้อโรคเอดส์ที่สันนิษฐานว่าเกิดจากไปสัมผัสกับบาดแผลคนร้าย" เสรี เสรีวัฒโนภาส จากแบงก์กสิกรไทยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ตรงนี้ถ้าว่าไปแล้วมันน่ากลัวมาก! เพราะการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้โดยที่ไม่รู้ตัวเลขขนาดของตลาดที่แท้จริงเป็นความเสี่ยงอย่างมาก

แบงเกอร์รายหนึ่งได้ประเมินคร่าว ๆ ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เวลานี้มีการปล่อยสินเชื่อสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมนี้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท!

กระนั้นก็ตามแม้ว่า สถาบันการเงินบางแห่งที่ปล่อยสินเชื่อแก่อุตสาหกรรมนี้ จะยืนยันว่า การคุ้มทุนจากการลงทุนด้วยเครื่องจักรประมาณ 5-6 เครื่องจะใช้เวลาเร็วเพียง 2-3 ปี และ PROFITABILITY อยู่ในเกณฑ์สูงประมาณไม่ต่ำกว่า 30% (ดูตารางประมาณการกำไรขาดทุน) นอกจากนี้ผลตอบแทนด้านการชดเชยภาษีส่งออกอีก 6.89% ของมูลค่าส่งออก และการสนับสนุนด้านการเงินดอกเบี้ยต่ำจาก PACKING CREDIT 7% ก็เป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำที่นักลงทุนผลิตถุงมือยางได้รับกันอย่างเต็มที่อีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากกำไรจากการผลิต

"บริษัท แอนเซลล์ (ไทย) ยักษ์ใหญ่ถุงมือยาง ณ สิ้นปี 2530 มียอดคงค้างตั๋วส่งออกกับแบงก์ชาติ 255.9 ล้านบาท เทียบกับยอด flow การรับซื้อตั๋วส่งออกถุงมือยางของแบงก์ชาติ 557.7 ล้านบาท แสดงว่าแอนเซลล์มีส่วนแบ่งผลประโยชน์จาก PACKING CREDIT เกิน 50% ของทั้งหมด" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ซึ่งแสดงอย่างแจ่มชัดถึงตัวอย่างหนึ่งของผลประโยชน์จากการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

แต่ลึก ๆ ลงไปแล้วแบงเกอร์เองก็ดูจะไม่วางใจผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เท่าไรนัก

"ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ดูจะละเลยความสำคัญการบริหารเงินอย่างเข้มงวดเวลามาขอวงเงินจากเขาเพื่อขยายโครงการผลิต เราจะต้องมีเงื่อนไขให้เขาเพิ่มทุนด้วยเสมอ เพื่อให้ DEBT / EQUITY RATIOอยู่ในสัดส่วน 2.5:1" เสรีจากกสิกรไทยกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ"

พูดง่าย ๆ เวลานี้ แม้ผู้ผลิตถุงมือยางที่ลงทุนไปแล้ว ส่วนใหญ่จะดูลอยตัว แต่วงการแบงเกอร์เองก็ยังไม่สบายใจนัก ด้วยความลึกลับของตลาด

มีบริษัทอยู่รายหนึ่งชื่อดอกเตอร์ บู ผลิตถุงมือยางคุณภาพดีส่งไปสหรัฐฯ เพียงแค่กล่องบรรจุมีตราคำว่า BOXES ตกตัว E ไปตัวเดียวที่ข้างกล่องถูกตีคืนทันที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการนำถุงมือยางไปตรวจสอบคุณภาพเลย" แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความลึกลับของพฤติกรรมตลาด

นอกจากนี้ในเรื่องการผลิตก็ดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่วงการแบงก์ต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเชื่อกันว่าเป็นเหตุสำคัญที่ตอบข้อสงสัยในตัวเลขการผลิตจริงกับโครงการที่ขอส่งเสริมที่มีสัดส่วนแตกต่างราวฟ้ากับดิน

ณรงค์ ศรีสอ้าน ผู้บุกเบิกสินเชื่ออุตสาหกรรมเกษตรให้กับแบงก์กสิกรไทย และเป็นคนแรกที่อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทแอนเซลล์ ยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์ยางของโลก ลงทุนขยายการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ (น้ำยางข้น) และการควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานความต้องการของตลาด เป็นประเด็นปัญหาการผลิตที่ถือว่าเป็นหัวใจความสำเร็จหรือล้มเหลวของการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

และบรรทัดฐานนี้เองที่แบงก์กสิกรไทยใช้เป็นหลักในการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่ออุตสาหกรรมถุงมือยาง!

คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ก็เพราะว่าวัตถุดิบคือน้ำยางข้น มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการป้อนตลาด ส่วนหนึ่งที่ผลิตได้มีการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน และมาเลเซีย เนื่องจากราคาดีกว่า

"3 เดือนก่อนหน้านี้ ราคาน้ำยางข้นชั้นดีตกตันละ 2,200 เหรียญสหรัฐฯ พอมาในเวลานี้ตกเหลือตันละ 1,200 เหรียญ ขณะที่ในมาเลเซียราคาตกตันละ 1,400 เหรียญ โรงงานยอมผลิตป้อนตลาดต่างประเทศ 40% อีก 60% ใช้ในโรงงานผลิตถุงมือยางของผมเอง ถ้าคุณไม่มีฐานโรงงานผลิตน้ำยางข้นเอง เสี่ยงมากที่คุณจะตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางเพราะอาจเจอปัญหาไม่มีน้ำยางข้นส่งมอบได้เพียงพอ" วินัย ทาวัน วิศวกรเคมีจากบริษัทยูนิโกรฟกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เฉลียว สุวรรณกิติ จากบริษัทธนสถาปนา ได้กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เพื่อตอกย้ำความสำคัญในประเด็นนี้ว่า "มีนักลงทุนรายหนึ่งมาหาผมเพื่อชวนให้ธนสถาปนาร่วมลงทุนผลิตถุงมือยาง ผมถามว่ามีฐานการผลิตน้ำยางข้นไหม? มีนักเคมีที่รู้การผสมน้ำยางไหม? ตลาด - ลูกค้าที่พร้อมจะรับซื้อมีบ้างไหม? ทุกอย่างที่ผมได้คำตอบคือไม่มีอะไรเลย เขามีแต่ความคิดว่าธุรกิจนี้ผลตอบแทนมันดี น่าลงทุน แต่ผมบอกเขากลับไปว่า คุณอ่านรายงานการศึกษาเรื่องนี้ที่ผมจ้างให้อาจารย์บุษบาจากจุฬาฯ ทำดูก่อน คุณเชื่อไหมหลังจากนั้นเขาติดต่อกลับมาที่ผมและพูดว่า ขอบคุณที่ให้ข้อมูลกับเขาอย่างรอบคอบ ไม่อย่างนั้นเขาอาจต้องพังทลายไปกับโครงการนี้แน่ ๆ"

การผลิตถุงมือยางดูภายนอกอาจจะง่ายแต่กระบวนการผลิตซับซ้อนมาก ความรู้ความชำนาญของนักเคมีที่ผสมน้ำยางต้องมือถึง และเป็นไปอย่างต่อเนื่องจริง ๆ (ดูแผนภูมิประกอบ) ขณะที่ในปัจจุบันนักเคมีที่มีคุณสมบัติเป็น RUBBER TECHNOLOGIST ก็ขาดแคลนเอามาก ๆ

ตลาดต้องการปีละ 80 คน แต่มหาวิทยาลัยผลิตได้ 10 กว่าคน! "เวลานี้คุณเชื่อไหม นักเคมีถูกจองตัวทันทีที่อยู่ปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย พอเขารู้ว่าจบส่งเครื่องบินมารับให้ไปอยู่โรงงานที่ปักษ์ใต้ก็ยังมี ราคาค่าตัวตกเดือนละ 10,000 บาทขึ้นไป และยิ่งถ้าหากว่ามีประสบการณ์เคยทำงานมาก่อน ค่าตัวยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก 5-6 เท่าตัว" สุเทพ อรุณกูล นักชิปปิ้งจากบริษัท LIN CORPORATION เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

RUBBER TECHNOLOGIST ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในกระบวนการผลิตถุงมือยางเพราะต้นทุนการผลิตกว่า 50% อยู่ที่น้ำยางข้นและสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้ RUBBER TECHNOLOGIST ควบคุมส่วนผสมนี้ออกมาให้ได้คุณภาพอย่างแท้จริง

ถุงมือยางที่มีตามด (PINHOLE) และความเหนียวต่ำกว่า 90 นิวตั้น ซึ่งตลาดสหรัฐฯ ถือว่าคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หัวใจสำคัญก็อยู่ที่การผสมน้ำยางไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ตัวเครื่องจักร" ผู้รู้เล่า

ตรงนี้แหละคือหัวใจสำคัญที่สุดที่แบงก์ใช้เป็นหลักในการพิจารณาความเป็นไปได้โครงการพิจารณาสินเชื่อ!

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าพร้อมเรื่องการผลิต ก็โดดลงมาลงทุนได้เลย แต่ถ้าไม่พร้อมอย่าเข้ามาเด็ดขาด จะพากันลงเหวตายกันหมด!

นี่เป็นคำเตือนจากนายแบงก์…ที่ฝาก "ผู้จัดการ" มาบอกต่อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.