|
'ดอนเมือง'แข่งเดือด นกแอร์ VS วัน-ทู-โก
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(4 พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ความพยายามปรับโฉมการตลาดให้มีบริการคิดแบบนอกกรอบออกมาอย่างต่อเนื่องของสายการบินนกแอร์นั้นโดยช่วงที่ผ่านมาการจัดโปรโมชั่น 'ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม' เมื่อซื้อตั๋วเครื่องบินในทุกเส้นทางบินภายในประเทศราคาประหยัด แต่มีเงื่อนไขคือต้องเข้าไปที่เว็บไซด์ของนกแอร์เท่านั้นได้สร้างแรงกระตุ้นให้มีคนเข้าไปใช้บริการของสายการบินนกแอร์เป็นจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้ผลประกอบการของ นกแอร์ ในขณะนี้นั้น ตั้งแต่ปลายปี 2551 ที่ผ่านมานั้น พบว่า นกแอร์ มีผลประกอบการที่มีกำไรมาตลอด โดยในช่วงต้นปี 2552 สายการบินนกแอร์มีกำไรแล้วประมาณ 40 ล้านบาท
ขณะเดียวกันการเปิดให้บริการที่สนามบินดอนเมืองซึ่งปัจจุบัน มีเพียงสองสายการบินเท่านั้นคือ นกแอร์ และ วันทูโก..สิ่งหนึ่งที่กำลังจะตามมาคือกลยุทธ์การแข่งขันของทั้งสองสายการบินที่จะมีออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อช่วงชิงผู้โดยสารที่เดินทางภายในประเทศให้เข้าไปใช้บริการ
สอดคล้องกับที่ พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ เตรียมแผนที่จะกระตุ้นยอดผู้โดยสารอีกครั้ง หลังจากผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว โดยจะมีการจัดทำโปรโมชั่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้ยอดผู้โดยสารกลับมาเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ประมาณ 1 ล้านคนทีเดียว
'ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง และได้เข้าสู่ช่วงโลว์ซี่ซั่น นกแอร์จึงมีแผนที่ต้องออกโปรโมชั่นใหม่ แต่จะไม่ใช้วิธีการลดค่าโดยสารลง' พาที กล่าวยืนยัน
นั่นจึงเป็นที่มาของแคมเปญการต่อยอดทางธุรกิจ เอไอเอส พลัส ภายใต้ชื่อ 'ไปไหนไปด้วย เอไอเอส ช่วยออกให้' เพื่อมอบสิทธิพิเศษอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเอไอเอสที่จองเที่ยวบินท่องเที่ยวในประเทศได้ล่วงหน้าในราคาเริ่มต้นที่ 1,299 บาท(รวมค่าธรรมเนียมทุกอย่าง) ในเส้นทางการบินไปจังหวัดเชียงใหม่, อุดรธานี, ภูเก็ต, หาดใหญ่, นครศรีธรรมราช และตรัง
จำนวนลูกค้าเอไอเอสที่มีอยู่ทั่วประเทศหลายล้านคนกลายเป็นตลาดกลุ่มเป้าหมายที่สายการบินนกแอร์เลือกที่จะให้ประโยชน์จากค่ายโทรศัพท์มือถือแห่งนี้ ขณะเดียวกันข้อความที่ถูกส่งไปยังกลุ่มลูกค้าเอไอเอสทั่วประเทศก็เป็นการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงส่งผลให้สายการบินนกแอร์น่าจะมียอดจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับพีบีแอร์ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารทั้งสองกลุ่ม โดยผู้โดยสารพีบีแอร์ สามารถสำรองที่นั่งและชำระค่าบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์ของนกแอร์และทาง Call center 1318 หรือชำระเป็นเงินสดง่ายๆ ผ่านทาง เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ของ 7-eleven ทุกสาขาทั่วประเทศสำหรับผู้ถือบัตร ATM ของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคาร กรุงเทพ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกสิกรไทย สามารถเลือกชำระที่ตู้ ATM ของบัตรที่ถือได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสามารถชำระผ่านเคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารของทั้งสองสายการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยาน ดอนเมือง ภายใต้การร่วมมือในครั้งนี้ เป็น การเพิ่มเส้นทางภายในประเทศให้กับผู้โดยสารนกแอร์ สู่ 6 จุดหมายของพี่บีแอร์ ได้แก่ ลำปาง น่าน สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์
เช่นเดียวกับ วัน-ทู-โก สายการบินราคาประหยัดของไทย ที่ขณะนี้มีการวางกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในยุควิกฤติเศรษฐกิจ โดยการกำหนดแผนธุรกิจเพียงระยะสั้น พยายามรักษามาตรฐานการบริการ ขยายฐานลูกค้าของสายการบินด้วยการเปิดบินในเส้นทางที่คาดว่าจะประสบผลสำเร็จ
ล่าสุด ได้เปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี- กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 และ กรุงเทพฯ-ตรัง-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2552
การตัดสินใจเปิดบินเส้นทางบินใหม่นี้ถือเป็นการลงทุนในช่วงจังหวะวิกฤติเศรษฐกิจ นับเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เชื่อมั่นว่าแต่ละจังหวัดที่วัน-ทู-โกเปิดบินนั้นเป็นเมืองท่องเที่ยวและธุรกิจที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันมีการศึกษาถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและข้อมูลจากทางหอการค้าจังหวัด จึงเชื่อได้ว่าในการเปิดเส้นทางบินใหม่เหล่านี้จะไม่ทุ่มลงทุนที่มากเกินกำลัง และจะพยายามรักษามาตรฐานการบริการฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้ดีที่สุดนั่นเอง
สอดคล้องกับที่ อุดม ตันติประสงค์ชัย กล่าวยอมรับว่าในช่วง 4 เดือนของปีที่ผ่านมาที่วัน-ทู-โกจำเป็นต้องหยุดบิน ถือเป็นช่วงที่สายการบินต้องฝ่าวิกฤติให้ได้ และนับเป็นความโชคดีในช่วงที่หยุดบริการ เพราะขณะนั้นมีปัญหาที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจการบิน คือ ปัญหาราคาน้ำมันแพง ทางสายการบินจึงประหยัดรายจ่ายไปได้ และขณะเดียวกันทางวัน-ทู-โกได้มีการระดมทุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้น เพื่อนพ้อง เพื่อมาพัฒนาธุรกิจ ทำให้สายการบินมีทุนสำรอง มีความเข้มแข็งทางการเงิน โดยไม่มีหนี้กับทางธนาคาร และยังได้ใช้เวลานั้นพัฒนามาตรฐาน จนได้รับมาตรฐาน ISO 9000
ปัจจุบันวัน-ทู-โกเน้นแผนระยะสั้นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ด้วยการลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ การลดรายจ่ายในการดำเนินการบริหารจัดการเครื่องบิน โดยนำเครื่องมาให้บริการหมุนเวียนเพียง 2 ลำ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 10 ลำ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย คืนเครื่องบินขนส่งสินค้าหรือแอร์คาร์โก 2 ลำ ที่ได้เช่ามาจากอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคธุรกิจการขนส่ง การผลิตต่างลดลง ทำให้ธุรกิจแอร์คาร์โกในตลาดโลกหายไป 20-30% เพื่อลดรายจ่าย เพราะหากไม่คืนจะทำให้วัน-ทู-โกเสียค่าเช่ากว่า 1-2 ล้านบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้ของวัน-ทู-โกปีที่ผ่านมาก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ตัวเลขได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไรยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของธุรกิจในกลุ่ม จากทั้งธุรกิจของโอเรียนท์ไทย สายการบินที่ให้บริการเช่าเหมาลำ และวัน-ทู-โกที่ให้บริการบินภายในประเทศ ซึ่งสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 50% เท่ากัน
ขณะที่ในปีนี้คาดว่าธุรกิจของโอเรียนท์ไทยน่าจะลดลง เนื่องจากตลาดท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะตลาดจีนซึ่งถือเป็นตลาดศักยภาพที่วัน-ทู-โก เปิดให้บริการนั่นเอง
แม้สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยจะตัดสินใจย้ายไปให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมด แต่ การเปิดใช้สนามบินดอนเมืองต่อไปจึงน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับวัน-ทู-โกและนกแอร์
แม้ภาครัฐจะมีนโยบายให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินเดี่ยวหรือซิงเกิล แอร์พอร์ต และจะปรับเปลี่ยนสนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์กลางการบินของเอเชีย หรืออื่นๆ นั้น แนวคิดนี้ก็มีมาตั้งแต่การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในครั้งแรก แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีการเริ่มต้น และยังมีนโยบายให้ย้ายสายการบินที่มีเที่ยวบินในประเทศมาดอนเมืองอีก
หากมีคำสั่งให้สองสายการบินที่เหลืออยู่ย้ายกลับไปสุวรรณภูมิอีกครั้ง โดยไม่รู้ว่าที่ผ่านมาให้ย้ายไปดอนเมืองเพราะอะไร แถมยังหาคำตอบไม่ได้อีก ดังนั้นการมีสนามบิน 2 แ ห่งในเมืองหลวงรองรับผู้โดยสารรวมกันทั้งปี 90 ล้านคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะที่ผ่านมา สนามบินชั้นนำของต่างประเทศ อาทิ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีกว่า 5 สนามบิน รองรับผู้โดยสารถึง 80 ล้านคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|