หกที่ปรึกษานายกฯ "พวกผมไม่ต้องการอำนาจ"

โดย ชูวิทย์ มังกรพิศม์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

คนไทย…รอคอยผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อประชาชนมานานนับสิบปี คณะรัฐบาลในวันนี้ มีเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่ทุกวี่ทุกวัน วันละนับสิบนับร้อยเรื่อง จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมี "ที่ปรึกษา" คอยให้คำปรึกษาแนะนำ บทบาทที่ปรึกษาเมื่อวันก่อนที่เกือบจะมี "อำนาจ" สั่งการไปตามสิ่งที่ต้องประสงค์ได้ทันที แต่วันนี้ล่ะ… ที่ปรึกษาในยุคใหม่ "พวกเขาไม่ต้องการอำนาจ"

10 สิงหาคม 2531…พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นำคณะรัฐมนตรีชุดที่ 48 จาก 6 พรรคการเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายสัตย์ปฏิภาณในการเข้าบริหารทุนแห่งรัฐ

นับเป็นห้วงเวลาที่มีความหมายยิ่งยวด กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่ได้รอคอยมาเป็นเวลานานเกือบสิบปีที่หวังจะเห็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีผู้แทนราษฎร มีคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง

นับจากวันนั้นมาไม่นานนักเช่นกันที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องพยายามประสานประโยชน์ เพราะเป็น "รัฐบาลผสม" ที่ก่อตั้งขึ้นมาจากพรรคการเมืองหลายพรรค

15 สิงหาคม 2531 นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งที่ 79/2531 แต่งตั้งที่ปรึกษาจำนวน 9 คนมีวรรณ ชันซื่อ นักธุรกิจชื่อดังเป็นประธานที่ปรึกษา มีทีมงานประกอบด้วยสะอาด ปิยวรรณ ชุมพล ศิลปอาชา สุรพันธ์ ชินวัตร สมพัติ พานิชชีวะ ไพโรจน์ เครือรัตน์ ธรรมา ปิ่นสุกาญจน์ วีรวร สิทธิธรรม และปิยะ อังกินันท์

ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งที่ 81/2531 แต่งตั้ง "คณะที่ปรึกษานโยบาย" ของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยนักวิชาการที่มีความสามารถหลายคนอันประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย ดร. ชวนชัย อัชนันท์ และ ดร. บวรศักด์ อุวรรณโณ

มีหน้าที่ให้คำปรึกษาทาง "นโยบาย" เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการพัฒนา เสนอโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้มีอำนาจขอข้อมูลความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว

การแต่งตั้งที่ปรึกษาทั้งหกอาจมีความแตกต่างไม่มากนักในความรู้สึกของคนทั่วไปในระยะแรก แต่จากนั้นมาไม่นาน ข่าวคราวความขัดแย้งของคณะที่ปรึกษาชุดนี้กับพรรคร่วมรัฐบาลก็ปรากฏออกมาเรื่อย ๆ

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเห็นของรัฐมนตรีบางคนที่แตกต่างไปจากความเห็นของคณะที่ปรึกษา บางเรื่องควรเป็นหน้าที่หรือบทบาทของพรรคฝ่ายค้านมากกว่าที่เป็นท่าทีของคณะที่ปรึกษาด้วยซ้ำ

จนมีบางคนเปรียบเทียบเอาว่า "ทำเนียบ" เป็นที่อยู่ของรัฐบาล "บ้านพิษณุโลก" อันเป็นที่ทำงานของคณะที่ปรึกษานั้นเปรียบเสมือน "ฝ่ายค้าน" ที่แท้จริง ส่วนพรรคฝ่ายค้านน่าจะถูกเรียกว่าเป็น "ฝ่ายแค้น" มากกว่า

ความเป็นมาของคณะที่ปรึกษาทั้งหกจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าพวกเขาเป็นใคร? มาจากไหน? มีความสามารถมากน้อยเพียงใด? จนสามารถทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีผู้มีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ที่นอกจากจะเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายสมัย เป็นทูตทหารมาแล้วก็หลายประเทศ และสมัยหนึ่งยังเคยได้รับการยอมรับว่าเป็น "คลื่นลูกใหม่" ของการเมืองการปกครองของเมืองไทย ยอมรับในฝีมือและความคิดจนแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในปัจจุบัน

ความสำคัญและบทบาทของ "ที่ปรึกษา" นั้นมีมากนับแต่อดีตกาลมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย หรือบรรดาประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ ผู้มีอำนาจสูงสุด คือ พระมหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจอื่นทั้งทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และตุลาการ จะต้องมี "ที่ปรึกษา" เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นในรูปของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิตต่าง ๆ ซึ่งที่ปรึกษานี้ก็จะทำหน้าที่ไปตามเงื่อนไขทางสังคมขณะนั้น เช่น ถ้าสังคมเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ก้าวหน้า โหร หรือบรรดาปุโรหิตต่าง ๆ พวกนี้ก็จะอ้างว่าสามารถรู้เรื่องบางเรื่องที่แม้แต่ผู้มำอำนาจสูงสุดก็คาดไม่ถึงหรือไม่รู้

เพราะว่าอำนาจ…แม้จะมีไปถึงกระท่อมของยาจก หรือไปถึงบ้านของขุนทหารมือขวาที่ใหญ่โต แต่อำนาจก็มีขอบเขตจำกัดเสมอ

แล้ว "อำนาจ" ของ "ที่ปรึกษา" เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่อผู้ปกครองเกิดความไม่แน่ใจหรือฉงนสนเท่ห์ใจว่าศีลธรรมหรือความยุติธรรมที่ตนเองให้ไปถูกหรือผิดไม่ว่าผู้ปกครองนั้นจะมีอำนาจแค่ไหน ใช้การปกครองระบอบใด ก็ต้องแสวงหา "ความชอบธรรม"

"ความชอบธรรม" คือ ให้คนเชื่อว่าระบอบการปกครองในขณะนี้ถูกต้องแล้วดีแล้ว ไม่ต้องไปคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ซึ่งขั้นต่ำสุด "ที่ปรึกษา" ในอดีตเกิดจากคนที่มีอายุมาก เพราะการมีอายุมากหมายถึงการเรียนรู้มากในสังคม หรือในขั้นตอนของการพัฒนาสังคมไม่มีเทคโนโลยี ทำให้ไม่มีใครสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโลกได้โดยทางลัดหรือโดยจากหนังสือ

ที่ปรึกษาของไทยเราเริ่มมีจริง ๆ จัง ๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์…

เป็นที่ทราบกันดีว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นมาปกครองประเทศไทย หลังจากการโค่นล้มของกลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็นอำนาจที่ได้มาจาก "กำลัง" ก็ไม่ผิดนัก

แต่อำนาจที่ได้มาจากกำลังนั้น ยังคงไม่สามารถลดทอนอำนาจเก่าที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลากว่าสิบปีตั้งแต่ปี 2490 ของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้

เพราะฉะนั้นจอมพลสฤษดิ์ จำเป็นที่จะต้องมีกุนซือ มีที่ปรึกษาที่จะทำให้อำนาจใหม่ดูมีความชอบธรรมมากกว่าอำนาจเก่า ซึ่งในขณะนั้นในเบื้องแรกจอมพลสฤษดิ์ดูจะโชคดีที่สามารถชักชวนหลวงวิจิตรวาทการผู้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้กับรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้มาเป็นที่ปรึกษาให้ แต่เพื่อให้สามารถปกครองประเทศได้ต่อไป ทำให้เกิดแนวความคิดที่จะต้องเปลี่ยน "รูปแบบ" หรือ "เนื้อหา" บางประการ

ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากการขยายอิทธิพลทางความคิดเข้ามาในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ

เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นยุคของการฟื้นฟูยุโรป แต่เนื่องจากคนสหรัฐฯ เอง เป็นเชื้อสายของพวกยุโรปทำให้มีนักคิด นักวิชาการที่มีความสามารถอพยพตัวเองเข้าไปอยู่ในสหรัฐฯ จำนวนมาก

กอปรกับในช่วงปี 2492 จีนได้เปลี่ยนมาเป็นคอมมิวนิสต์ และรับเอาแนวความคิดของสหรัฐฯ เข้ามาไม่น้อย ทำให้ความคิดที่จะต้องมีคนที่มีปัญญาความคิดมาบริหารประเทศ ขยายมาทางประเทศไทยด้วย

"หลวงวิจิตรท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบศึกษา และที่สำคัญท่านเป็นคนชาตินิยมอย่างมาก ท่านไม่ได้ชาตินิยมอย่างเดียวแต่เป็นเอเชียนิยมอีกด้วย ในสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านก็เชียร์ญี่ปุ่นมากเลย หวังจะให้ไทยเป็นเอเชียใหม่เหมือนญี่ปุ่น" นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

หลวงวิจิตรวาทการเริ่มมองเห็นว่าในยุคใหม่ อำนาจใหม่จะอยู่ได้นั้น ก็โดยอำนาจที่ได้มาด้วยกำลังจะต้องบวกด้วยอำนาจทางปัญญา เพราะยุคนั้นเริ่มเป็นยุคสมัยของความคิดที่แผ่อิทธิพลมาจากสหรัฐฯ

หลังจากนั้นไม่นาน ยุทธการ "ดึงตัว" ควานหาคนที่มี "ปัญญา" และ "ความคิด" ของท่านก็เริ่มขึ้น

ท่านรู้ว่าตอนนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่งเพิ่งจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์มา ท่านก็เรียกตัว "อำนวย วีรวรรณ" ที่เพิ่งอายุได้เพียงสามสิบต้น ๆ มาเป็นที่ปรึกษา

ท่านทราบว่ามีเด็กจากอีสานจากอำเภอพนัสนิคมคนหนึ่ง เมื่อครั้งมาเรียนอยู่เทพศิรินทร์สอบชิงทุนได้ 4-5 ทุน เคยไปเรียนฝรั่งเศส เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านก็เรียกตัว "บุณย์ เจริญไชย" ซึ่งเป็นทูตให้กับกระทรวงการตางประเทศที่ประเทศอินเดียกลับมา

ท่านทราบว่า "สุนทร หงส์ลดารมย์" ก็เคยอยู่เทพศิรินทร์เหมือนกัน เป็นนักฟุตบอลและเรียนเก่งมาก ได้ทุนไปเรียนเมืองนอก กลับมาเป็นอาจารย์ได้พักหนึ่งแล้วออกมาเป็นทูตที่กัวลาลัมเปอร์ก็เรียกตัวมาช่วย

มีลูกคนจีนอีกคนหนึ่ง พ่อรวยมาก ส่งลูกไปเรียน ดร. อังดรัวส์จบมาแล้วไปอยู่สหรัฐฯ ชื่อ "ถนัด คอมันต์" ก็เรียกตัวมา

"ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ ตำแหน่งรัฐมนตรีจะมีน้อยกระทรวง รัฐมนตรีช่วยฯ แทบจะไม่มีเลย…เพราะมีพวกนี้อยู่แล้ว" คนเก่าแก่คนหนึ่งเล่า

"ส่วนผสม" ระหว่าง "อำนาจ" กับ "ปัญญา" ในยุคสมัยนั้น ทำหน้าที่ไปตามกลไกของมันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เนื่องจากความเด็ดขาดของการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งมาจากตัวรัฐมนตรีที่หลวงวิจิตรวาทการดึงตัวกลับมานี้เอง

"ข้าราชการในสมัยนั้นพอเห็นหน้าเห็นตัวก็รู้มือ รู้ว่าพวก รมต. ที่มานี่ตัวเองเคยสอบแพ้มาแล้ว และพวกนี้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนามา ไปก้าวหน้าทางราชการ ไปเป็นทูตเป็นชั้นพิเศษแล้วเขาดึงตัวกลับมา ข้าราชการยุคนั้นก็เลยสยบ" นักวิชาการคนเดิมเล่าให้ฟังเพื่อย้ำว่าจริง ๆ แล้ว พวกราชการเหล่านี้ปอดศักดิ์ศรีว่างั้นเถอะ!

หลังยุคจอมพลสฤษดิ์ แม้ว่าจะยังเป็นยุคสมัยของการพัฒนา แต่บทบาทที่แท้จริงที่เคยมีของที่ปรึกษาลดน้อยลง เนื่องจากผู้บริหารประเทศส่วนใหญ่มีความคิดเหมือนกันที่ว่า การสร้างชาติสร้างประเภทนั้นมี "สูตรสำเร็จ" อยู่แล้ว

ปัญหาของการบริหารอยู่ที่ว่าระบบการบริหารของไทยนั้น "ห่วย" ถ้าเราสามารถปรับ จับข้อเหวี่ยง ขันน็อต ขันสกรูให้ดี มีวิธีการจัดการการบริหารที่ดีก็จะไปรอดเอง

ทำให้เกิดยุคที่ตั้งสถาบันการศึกษาหรือการเร่งรัดการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ การเมืองการปกครองขึ้นอย่างจริงจัง โดยมีการเปิดคณะ "รัฐประศาสนศาสตร์" ขึ้นในธรรมศาสตร์และมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนผู้ฝักใฝ่หาความรู้เข้ามาเรียนกันมาก เป็นที่มาของที่ปรึกษายุคที่สอง

"ที่ปรึกษา" ในยุคที่สองที่มีพื้นฐานในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แต่มี "รายละเอียด" บางอย่างที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน

เมื่อการปกครองอำนาจรัฐฯ ไม่เป็นไปตามครรลองที่เคยเป็นจนต้องมีการแต่งตั้งบุคคลที่แม้จะถือได้ว่า "ใจซื่อ มือสะอาด" อย่างพลเอกเปรมเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์หรือยุคสมัยที่ผ่านมาของการเมืองการปกครองประเทศ ก็คือครั้งนี้พลเอกเปรมมิได้มี "กำลัง" ที่เข้มแข็ง และ "ขุมปัญญา" ที่มีพลังเช่นดังผู้นำในอดีต

นักวิชาการที่ติดตามประวัติศาสตร์การปกครองของไทยมาโดยตลอดท่านหนึ่งเล่าว่า ในช่วงเวลานั้นจำเป็นอยู่เองที่ผู้ใกล้ชิดพลเอกเปรมต้องชักชวนนักวิชาการที่มีหัวทันสมัย เช่น ดร. เขียน ธีรวิทย์ เสน่ห์ จามริก ไพจิตร เอื้อทวีกุล สมศักดิ์ ชูโต จิรายุ อิศรางกูรฯ เทคโนแครทบางคน รวมทั้งข้าราชการอีกหลายคนที่เริ่มเป็นผู้อำนวยการกอง เป็นรองอธิบดีเข้ามาเป็นที่ปรึกษา

"เพราะฉะนั้น ที่ปรึกษายุคนี้จึงเป็นยุคที่ใช้เครือข่ายทำงาน เช่น เวลาไพจิตรจะทำงาน เขาใช้เครือข่ายของนิพัทธ พุกกะณะสุต ใช้โอฬาร ไชยประวัติที่แบงก์ชาติ ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสด์ที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ใช้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายคนรวมกัน" นักวิชาการท่านเดิมเล่า

ซึ่งนั่นทำให้การโต้แย้งกับพรรคฝ่ายค้านมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะว่าบุคคลต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว เป็นคนคุมกลไกในการปฏิบัติการในระดับสูงที่ตนเองดูแลอยู่

เมื่อผ่านระยะเวลาที่นานเข้า ระบอบการปกครองกว่าแปดปีของพลเอกเปรม ทำให้ที่ปรึกษาซึ่งแต่เดิม-ไม่มีอำนาจ แต่เนื่องจากอิทธิพลของเทคโนแครทกับสภาพัฒน์ฯ ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทำให้พวกนี้เริ่มเป็นฝ่ายกำหนดกติกาว่าใครจะเล่นทางไหน

และด้วยเหตุผลที่สอดรับอีกประการหนึ่งว่า แผนโดยไม่มีการปฏิบัติเหมือนเป็นเศษกระดาษ ดังนั้นทำให้ที่ปรึกษาทั้งหลายในสมัยพลเอกเปรม โดยเฉพาะสภาพัฒน์ฯ ก็อยากจะแปรแผนให้เป็นนโยบาย แปรนโยบายไปสู่มาตรการเพื่อมีการปฏิบัติ

"มันมีความไม่สม่ำเสมอในหน่วยราชการ หน่วยราชการที่เป็นหน่วยอำนวยการมันมองเห็นเป็นภาพลวง จริง ๆ แล้วในระบบเทคโนแครท หรือฝ่ายสต๊าฟนั้นล้ำหน้าฝ่ายบริหารด้วยระเบียบ เพราะฉะนั้นหน่วยราชการมันเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพขึ้นแล้ว แต่ตัวเขาเองไม่ทราบ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดความพอใจกับทั้งนักธุรกิจและนักการเมืองเท่าใดนัก"

แต่ที่จุดนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในอันที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับบทบาทที่ปรึกษาให้ไปสู่ความเป็นจริงมากขึ้น ผู้บริหารประเทศในขณะนั้นกลับมองไม่เห็น

นั่นทำให้เกิดแนวความคิดที่ผิดพลาดอย่างมากของการมีที่ปรึกษายุคสมัยเปรม 1-5 ก็คือ ที่ปรึกษาเหล่านั้นบางส่วนเริ่มมีทัศนะและเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ถ้าจะให้ประเทศไปได้นั้น อย่าให้ ส.ส. หรือนักการเมืองมาวุ่นวายกับการบริหารประเทศให้มากนัก และพยายามสร้างความเป็น "สถาบัน" ให้กับระบอบ "กึ่ง" ประชาธิปไตยที่ตนเองกำหนดขึ้น

ดังนั้น เราจึงเห็นการกระทำหลายอย่าง เช่น การตั้ง ครม. เศรษฐกิจ ที่ไม่ได้ประกอบด้วยผู้แทนที่เป็นรัฐมนตรีเท่านั้นแต่ยังมีข้าราชการ มีที่ปรึกษานายกฯ เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นการกุมอำนาจที่อยู่ในมือของที่ปรึกษาและเทคโนแครทเสียส่วนใหญ่

มีคนจำนวนไม่น้อย ที่พยายามอธิบายถึง "ที่มา" ของที่ปรึกษาทั้งหกของพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหตุผลที่ว่า นายกฯ เชื่อมือพันศักดิ์ วิญญรัตน์มาตั้งแต่คราวเป็นที่ปรึกษาให้ครั้งที่ท่านยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ

บางคนบอกว่าไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกชายผู้ซึ่งมีความคิดในหลายด้านตรงข้ามกับพ่อ มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งมาเป็นเวลานานกับทั้งพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ด้วยความที่เป็นลูกผู้ดีมีสตางค์ด้วยกัน น่าจะสนิทสนมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ เป็นความจริงขึ้นและค่อนข้างราบรื่นเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

ซึ่งรวมไปถึงการเลือก "เพื่อน ๆ" อีกห้าคนเป็นทีมที่ปรึกษา

พันศักดิ์ และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ต่างก็เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษด้วยกัน

ชวนชัย สนิทกับพันศักดิ์มานาน เคยทำงานร่วมกันเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท ไอ.เอ็ม.ซี. ในตึกบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยของณรงค์ชัย อัครเศรณี ซึ่งณรงค์ชัยเองก็เขียนบทความลงใน "จัตุรัส" ยุคสองและสามของพันศักดิ์อยู่ไม่น้อย…ฯลฯ

บางคนอาจคิดเลยเถิดไปถึงว่า ที่ปรึกษาทั้งหกอาจมี "เงื่อนไข" พิเศษใด ๆ นอกเหนือไปจากขอความเป็นอิสระสำหรับทีมที่ปรึกษาที่จะคิดที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างเต็มที่

แต่เมื่อวิเคราะห์กันอย่างจริงจังแล้ว ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น!

ที่ปรึกษาด้านนโยบายทั้งหกคนนี้ เกิดจากข้อเท็จจริงหลายข้อที่เราต้องพูดถึงมากกว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อครั้งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งรัฐบาลเปรม 1 เมื่อประมาณกว่าแปดปีก่อนเลยแม้แต่น้อย

เป็นเพราะหัวหน้ารัฐบาลในระยะตั้งรัฐบาลใหม่ เห็นความสำคัญของการมีข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะต้องอาศัยคนที่ไว้ใจได้ มาให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ เพราะรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเป็น "รัฐบาลผสม" เป็น "สหพรรค"

ดังนั้นสิ่งที่ที่ปรึกษาทั้งหกทำอยู่มีสามอย่าง คือ-หาความจริงที่จะต้องเข้าใจได้อย่างรวดเร็วด้วย

จากนั้นดูว่ารัฐบาลคิดอย่างไร? พรรคการเมืองคิดอย่างไร? แล้วเอาทั้งสามอย่างนี้มาประนีประนอมหาลู่ทางที่ดีที่สุด

"นี่คือกำเนิดที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่ว่าเป็นการแอพโพรชจากใคร ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างใครกับใคร (หรืออาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ) แต่เป็นเพราะรัฐบาลชุดใหม่ต้องการข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ในระดับหนึ่ง "ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองท่านหนึ่งให้ความเห็นถึงที่มาของสต๊าฟที่ปรึกษาชุดนี้

ความสนใจในสายตาของคนทั่วไปก็มาอยู่ตรงที่ แล้วทำไมจึงต้องเป็นหกคนนี้? บางคนยังค่อนแคะอีกว่า นักวิชาการเทคโนแครทที่มีความสามารถในประเทศไทยมีตั้งมากมาย ทำไมต้องเป็นพวกนี้ ซึ่งหลาย ๆ คนอายุยังน้อยมาก ๆ อีกด้วย

ข้อสงสัยนี้จำเป็นต้องหันกลับไปมองดู "ที่ปรึกษา" ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยเปรม 1-เปรม 5 รวมกับที่ปรึกษาทางการเมืองอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นในสมัย "ชาติชาย 1" นี้อย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่ง

จะทำให้เราพบในเบื้องต้นเช่นเดียวกันว่า มีบุคคลที่เราเรียกว่าเป็นนักวิชาการเป็นเทคโนแครทที่มีความสามารถอย่างแท้จริงมากน้อยแค่ไหน เพียงไร มีใครบ้างที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เกษตร และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

คำตอบก็คงจะอยู่ในใจของเราท่านกันดีอยู่แล้ว!?!

นอกจากนี้ การเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น "ผู้รู้" หลายท่านกล่าวว่า ที่ปรึกษานั้นก็มี "ระดับ" ของที่ปรึกษาเหมือนกัน

"ที่ปรึกษาทางการเมือง" ก็ให้ตำแหน่งให้เงินเดือนเป็นผลตอบแทนไป ที่ปรึกษาที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองมาก่อนก็อาจให้ตำแหน่ง "ไม่มีเงินเดือนให้" แต่มีสิทธิพิเศษตามตำแหน่งนั้น ๆ แล้วแต่กรณี ที่ปรึกษาทางการเมืองประจำตำแหน่งรัฐมนตรีก็ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งให้ดังเช่นที่เราเห็นตัวอย่างมากมายจากรับบาลนี้และรัฐบาลที่ผ่านมา

แต่กับ "ที่ปรึกษา" ชุดนี้ กลับเป็นที่ปรึกษาที่ "ผู้จัดการ" พบว่า น่าจะเป็นชุดที่มี "ส่วนผสม" ต่าง ๆ ที่มีองค์ประกอบหลายอย่าง "ลงตัว" ที่จะใช้ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดในยุคสมัยปัจจุบันนี้ก็ว่าได้

โดยมองไปถึงวัตถุประสงค์ที่ว่า ที่ปรึกษาชุดนี้เกิดขึ้นจากการที่นายกฯ ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ "รวดเร็ว" และ "เชื่อถือ" ได้ก่อน

เริ่มจากประธาน "ที่ปรึกษา" พันศักดิ์ วิญญรัตน์เป็นคนแรก

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อายุ 43 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารอย่างหาตัวจับยาก เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายสมัย เป็นที่ปรึกษาเรื่องการดำเนินการทางการทูตระหว่างประเทศให้กับพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ และพันเอกถนัด คอมมันต์ เมื่อครั้งที่ทั้งสองคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ต่างยุคสมัยกัน

พันศักดิ์ จบชั้นมัธยมที่วชิราวุธ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล จบปริญญาตรีกฎหมายระหว่างประเทศจากลอนดอน เมื่อจบจากอังกฤษมาใหม่ ๆ เขาเข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่อ่านข่าวภาษาอังกฤษ

ทำอยู่ไม่นานเท่าใดนัก เขาก็มีโอกาสได้เป็นผู้บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ ให้กับภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เข้าทำงานในส่วนวิชาการ ธนาคารกรุงไทย แล้วจึงเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อยี่สิบปีก่อน โดยประจำที่บางกอกเวิลด์เป็นแห่งแรก

จากนั้นไม่นานเขาก็ทำหนังสือพิมพ์ของตนเองชื่อ "จัตุรัส" ซึ่งตำนานการต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานของเขากับ "จัตุรัส" พอที่จะสะท้อนตัวตนของพันศักดิ์ออกมาให้เห็นกันในบางส่วน

จัตุรัสเกิดจากความคิดของวรพุทธ์ ชัยนาม ที่ต้องการทำหนังสือวิเคราะห์ข่าวสำหรับปัญญาชน ผู้ร่วมเห็นด้วยกับความคิดนี้เป็นคนแรก และเอาจริงเอาจังอย่างที่สุดคือ พันศักดิ์

พันศักดิ์ วรพุทธ์ และเพื่อนอีกหลายคนในกระทรวงการต่างประเทศ เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ฯลฯ ต่างช่วยกันลงทุนเป็นจำนวนเงินไม่กี่หมื่นบาท ทำ "จัตุรัส" ขึ้นในเดือนสิงหาคม 2513

พันศักดิ์เป็นคนรักความจริง และยินดีที่จะพูดความจริงนั้นแก่คนทั้งหลาย เขาจึงไม่หวั่นเกรงที่จะพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน ความไม่เป็นประชาธิปไตยในสมัยช่วงรัฐบาลทหาร นโยบายต่างประเทศสมัยรัฐบาลทหารที่ผูกพันอยู่กับสหรัฐอเมริกามากเกินไป อีกทั้งเขายังเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่วิเคราะห์วิจารณ์การเอารัดเอาเปรียบในสังคมไทยได้อย่างถึงแก่น

"จัตุรัส" ในยุคที่สองเกิดขึ้นในช่วงปี 2518-2519 ด้วยความเชื่อของผู้ร่วมงานหลายคนที่ว่า ถ้าเราเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของตัวเอง เราจะไม่สามารถหาศักยภาพนั้นได้ จนกว่าเราจะหลุดพ้นจากการต่อล้อต่อเถียง ไล่ล่าฆ่ากันในสงครามอินโดจีน

"จัตุรัส" ในยุคนี้เป็นยุคที่พันศักดิ์เคยยอมรับว่าเป็นยุคที่ทำง่ายที่สุด เพราะประวัติศาสตร์ของโลกในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมาเกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ "จัตุรัส" เป็นเพียงผู้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาไว้ที่เดียวเพื่อนำเสนอแก่ผู้อ่านเท่านั้น

"จัตุรัส" ยุคที่สองปิดฉากไปพร้อมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พันศักดิ์ และเพื่อนฝูงที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาครอบจักรวาลที่ว่าเป็รพวก "หัวก้าวหน้า" เขาอยู่ในห้องกักเกือบเดือน ก่อนที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กเป็นเวลานาน

พันศักดิ์กล่าวไว้ใน "จัตุรัส" ฉบับครบรอบหนึ่งปี ของยุคที่สาม (สิงหาคม 2525) ว่า เขามีบทเรียนในการทำหนังสือมาแล้วสองยุค…ยุคแรก-เขาเรียนรู้ว่าการทำงานแบบแอคทิวิสต์ร้อนวิชานั้นไม่บังเกิดผล ส่วนยุคที่สอง-เขาเรียนรู้ว่าการสัมผัสความจริงมากเกินไปไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

"จัตุรัส" ในยุคที่สามจึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสรรค์สร้างหนังสือที่มองปัญหาบ้านเมืองอย่างรอบด้านและอย่างยาวไกล ด้วยเห็นว่าหลังฉากการต่อสู้ทางการเมืองที่สับสน คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สะสมมานาน ภาระหน้าที่ของคนเห็นปัยหาคือทำให้อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าใจกัน

"จัตุรัส" ในยุคที่สามมีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดทั้งในด้านตัวบุคคล และแนวความคิดในการนำเสนอ เช่น บทความส่วนใหญ่ของพันศักดิ์ในช่วงเวลานั้นพยายามที่จะนำเสนอถึงการที่สังคมไทยจะปฏิเสธบทบาทของนายทุนไม่ได้ จะปฏิเสธพลังทางเศรษฐกิจของนายทุนที่มีเชื้อสายจีนไม่ได้

พยายามพูดถึงความงุนงงของอำนาจรัฐ-เผด็จการที่เสื่อมถอยลงเองตามสภาพของมันหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แล้วมาเจอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่ ซึ่งนายทุนเหล่านี้พยายามที่จะแสดงบทบาทของตนเองให้เด่นชัดขึ้น

หลายคนที่ติดตาม "จัตุรัส" มาตลอดกล่าวว่านั่นเป็นเฉดใหม่ทางการนำเสนอความคิดของพันศักดิ์ เขาไม่เพียงแต่จะนำเสนอความคิดทางการเมืองเท่านั้น พันศักดิ์ยังรอบรู้ถึงวิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พูดถึงคอมพิวเตอร์ พูดถึงการเปิด แอล. ซี. ในการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่มีใครพูดถึงและเข้าใจ

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดของพันศักดิ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความแตกต่างที่ได้รับจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่ต้องมีการ "เจาะลึก" เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลบางอย่าง (ทำให้ความคิดเดิมที่มีอยู่บางอย่างบางประการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากครอบครัว จากพ่อที่เป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ว่าเคยมีบทบาทอย่างไรสังคมตอนนั้นเป็นอย่างไร

ซึ่งพันศักดิ์คงเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถ "นิยาม" ความหมายของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้ชัดเจนยิ่ง "เจอนัลลิสต์นอกจากจะต้องมีสายงานที่แน่ชัดแล้ว ต้องมีความเชื่อว่ามนุษย์ทั้งมวลนี้จะต้องมีคนหนึ่งที่พูดความจริง เมื่อคุณทำงานเจอนัลลิสต์มานาน ต้องเป็นคนที่มีความหวังอันบริสุทธิ์ว่า เป็นไปได้ที่มวลมนุษย์จะต้องมีคนหนึ่งที่พูดความจริง สำหรับไม่ถึงกับไม่เชื่อ…เป็นไปได้ แต่บางทีเราต้องบอกคนอ่านว่า ผมเขียนตามที่เข่าโกหก บางทีเราต้องค้นหาว่า ว็อท อิส อะ แฟ็คท์ บางครั้งมันคลุมเครือความจริงอยู่ที่ไหนไม่รู้" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่ง

"จัตุรัส" ยุคที่สามจบลงด้วยน้ำมือของเขาเองหลังจากที่เป็นหนี้เป็นสินกว่าห้าสิบล้านบาท และขาดเงินสนับสนุนที่ได้รับอยู่สม่ำเสมอก่อนหน้านั้นจากพ่อของเขา จากนั้นพันศักดิ์ก็ใช้ความสามารถของเขาเป็นประโยชน์กับองค์กรธุรกิจหลายแห่งก่อนที่จะเข้ามารับงานที่ปรึกษานายกฯ ในปัจจุบัน

สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้จากความเป็นพันศักดิ์ก็คือ เขามีเส้นสาย มีคอนเนคชั่นมากมายกับสื่อมวลชน ทั้งในและนอกประเทศ จากการสั่งสมมาเป็นเวลานานจากการเป็นเจอนัลลิสต์ของเขา โดยเฉพาะในช่วงที่ทำงานกับบางกอกเวิลด์

ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันที่มีกับ PACIFIC INSTITUTE สำนักข่าวสารอิสระของสหรัฐฯ นักข่าวที่มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วทั้งวงการ อาทิ W. BURCHETT และ MARCEL BALANG ชาวฝรั่งเศส และเพื่อนฝูงอีกมากมายเมื่อครั้งที่เขาทำ "จัตุรัส"

ซึ่งสายสัมพันธ์เหล่านี้เองที่ทำให้พันศักดิ์ได้เปรียบคนอื่น เขาสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วไม่แพ้องค์กรระหว่างประเทศใด ๆ ที่ต้องสื่อสารติดต่อเรื่องราวต่าง ๆ ความเป็นไปต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของโลก

"ความกว้างขวางของพันศักดิ์มีมากแค่ไหนดูได้จากตอนที่เขาถูกจับเข้าคุก หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในวอชิงตันบางฉบับยังลงเป็นข่าวหน้าหนึ่ง และไม่ใช่มีที่อเมริกันประเทศเดียว ญี่ปุ่น ฮ่องกง กระทั่งประเทศแถบอาฟริกายังมีข่าวของหมอนี่เลย" คนที่คุ้นเคยกับพันศักดิ์เล่าให้ฟัง

บวกกับความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ของเขายิ่งทำให้เขาดูจะเป็น INFORMATION TECHNOLOGIST ที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบันก็ว่าได้

นายกฯ ชาติชายเคยพูดว่าจะเปลี่ยนสนามรบในอินโดจีนให้เป็นสนามการค้า ที่ประกาศผ่านสื่อมวลชนทุกสาขานั้น ทำให้นายกฯ ต้องมีผู้สนับสนุนและให้ข้อมูล คำแนะนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สภาพการณ์ปัจจุบัน จนถึงแนวทางการวิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในจุดนี้คงไม่มีใครเหมาะสมมากไปกว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร

"ผมถือว่าความเป็นหม่อมราชวงศ์เป็นภาระที่ทำให้เราต้องช่วยประเทศมากขึ้น" เป็นคำสัมภาษณ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งของ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่ปรึกษานายกฯ ชุดนี้อีกคนหนึ่ง ที่พอจะทำให้เขาเห็นว่าเขามีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองมากน้อยเพียงใด

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ เป็นบุตรพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ กับหม่อมดุษฎี บริพัตร หลังจากจบชั้นประถมปีที่ 5 ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีอายุได้ 10 ขวบ ก็ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ

จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีใครเรียน นั่นคือวิชาปรัชญา-การเมืองและเศรษฐศาสตร์ (P.P.E.-PHILOSOPHY POLITICAL AND ECONOMICS) ซึ่งในเมืองไทยก็มี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่จบวิชานี้มาเหมือนกัน

จากนั้นเข้าเรียนต่อปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์-ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนจะกลับมาเมืองไทย

ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีความสามารถอย่างมากอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ซึ่งกล้าแสดงทัศนะต่อความเป็นไปของบ้านเมือง เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติขึ้นจากการชักชวนของ ดร. กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ด้วยความเชื่อที่ว่าปัญหาความมั่นคงของชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักการเมืองหรือนักการทหารเท่านั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ดังกล่าว ก็ผลักดันให้มีกิจกรรมต่าง ๆ สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นอภิปราย สัมมนา การพูดคุยถึงปัญหาการเมือง การปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างจริงจังยิ่ง เมื่อครั้งเหตุการณ์บ้านร่มเกล้าที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนั้นแล้ว ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ยังเป็นที่รู้จัก และเชื่อถือในฝีมืออย่างมากเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

"อาจารย์มีความสามารถเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาอินโดจีนเป็นเวลานาน คงบอกว่าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยไม่ได้ แต่เป็นอันดับหนึ่งของโลกเลยทีเดียว" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการฯ"

ที่ว่าเช่นนั้นก็เพราะว่า ในการประชุม WILLIAMSBURG ที่มีทั้งคนสำคัญอย่างไซรัส วานซ์ อดีต รมต. ต่างประเทศสหรัฐฯ อดีตนายกรัฐมนตรีเกาหลี ผู้นำระดับโลกคนอื่น ๆ อีกหลายคนนั้น ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ที่เพิ่งมีอายุไม่ถึงสี่สิบปีดีคนนี้ก็เป็นผู้ถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมอย่างสม่ำเสมอ

"เขายกย่องว่าเรื่องกัมพูชานี่ต้องฟังสุขุมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง ลอนดอน สถาบันยุทธศาสตร์ทั้งหลาย โคลัมเบีย ปรินสตัน เบิร์กเล่ย์ แม้แต่สถานทูตในหลายประเทศ ก็ต้องฟังว่านายนี่ว่าอย่างไร" อาจารย์ท่านเดิมกล่าวเสริม

นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า สุขุมพันธ์เป็นนักวิชาการที่นำเอาท่าทีที่ผ่านมาของผู้นำทางทหารของไทยมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทที่แสดงออกต่อปัญหากัมพูชาได้อย่างถึงแก่น

"ท่านแสดงความเห็นของท่านออกมากับเอกสารของสถาบันความมั่นคงนานาชาติที่ท่านเป็นผู้อำนวยการอยู่บ่อยครั้ง ท่านมองว่าปัญหากัมพูชาไม่เพียงแต่ถูกใช้เพื่อการขยายบทบาทของทหารในลักษณะกลุ่มเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมฐานอำนาจของทหารบางคนให้เหนือกว่าผู้อื่น ทำให้ผู้นำทหารเหล่านั้นมองว่าในฐานะของไทยแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่รีบร้อนที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งกัมพูชา และอันที่จริงกับบางคนเป็นการดีที่จะทำให้ปัญหานี้ยืดเยื้อด้วยซ้ำ"

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาสุขุมพันธ์เดินทางไปลาวหลายครั้ง ซึ่งก็คงไม่ได้นอกเหนือไปจากงานในฐานะที่ปรึกษาคนสำคัญที่จะดำเนินนโยบายระหว่างประเทศให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างที่ตนเองคาดหวัง

ที่ปรึกษาอีกสี่คนนั้นเราพอจะเรียกว่าเป็นคู่หู "อุตสาหกรรม" และ "กฎหมาย" ที่สำคัญที่สุดของนายกฯ ก็ว่าได้

ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี นักเรียนทุนโคลัมโบจากประเทศไทย จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากยูนิเวอร์ซิตี้ออฟเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา

มาเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ และเป็นคณบดีคณะนี้อยู่สองปี ก่อนเข้าทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันพัฒนาแห่งเอเชีย และแปซิฟิค สหประชาชาติ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจัดการอุตสาหกรรม เป็นผู้จัดการทั่วไป (ด้านพัฒนาธุรกิจ) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งทางราชการและเอกชนอีกมาก

ส่วน ดร. ชวนชัย อัชนันท์ อายุ 40 ปี เป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีและโททางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากอังกฤษ ปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา เป็นที่ปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับเอสแคป ที่ปรึกษาบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุด "ยูนิคอร์ด" เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายคน ร่วมงานค้นคว้าวิจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมกับณรงค์ชัยหลายเรื่องด้วยกัน

ณรงค์ชัยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนในประเทศที่มีความสามารถทางด้านอุตสาหกรรม เขาเคยเป็นผู้ร่วมสัมมนาในการประชุมสมัชชาวิชาการของรัฐบาล พิจารณาปัญหาและกระบวนการวางแผนของชาติ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมที่เขาจับอยู่

"ณรงค์ชัยมองว่าการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมาของประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากการกำหนดแนวความคิดของผู้ที่มีหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ดังนั้น อุตสาหกรรมในประเทศไทยจึงเป็นวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ทั้งในและนอกประเทศ และการกำหนดมาตรการโดยหน่วยงานเฉพาะกิจ ซึ่งกำหนดขึ้นตามจุดประสงค์ของหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นก็คือ มันไม่ใช่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่แท้จริง" นักอุตสาหกรรมท่านหนึ่งเล่า

ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากบทบาทของณรงค์ชัย ที่มีต่อการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ด้วยการแสดงความคิดเห็นการเข้าร่วมสัมมนาในฐานะนักวิชาการคนสำคัญ ตลอดเวลาสองสามปีที่ผ่านมา

ชวนชัยเป็นนักวิชาการอีกผู้หนึ่ง ที่เข้าร่วมการวางแผนศึกษาความเหมาะสมทางตลาดและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาพตะวันออก ร่วมวิเคราะห์การค้าและนโยบายการค้าของประเทศไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างถึงแก่น

ความคิดที่นำเสนอต่อสาธารณชนที่ได้รับการยอมรับอย่างมากของชวนชัย คือเขาเป็นสุดยอดฝีมือที่ศึกษาเรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (G.S.P. (GENERALIZED SYSTEM OF PREFERENCES)) ได้อย่างทะลุปรุโปร่งที่สุดคนหนึ่ง

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การนำเสนอปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจาก จี.เอส.พี. ที่ผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยวิ่งเต้นกันจนฝุ่นตลบ โดยการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนในประเทศเชื่อว่าหากสหรัฐฯ ยกเลิก จี.เอส.พี. ที่ให้กับประเทศไทยแล้ว การค้าของประเทศไทยจะต้องประสบความเสียหายอย่างหนัก

แต่ชวนชัยมองปัญหาที่ว่านี้อย่างละเอียดรอบคอบ เขาไม่ได้มองว่าเป็นผลมาจากสหรัฐฯ ทั้งหมด และยังชี้แนะไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะความรับรู้ที่แท้จริงของคนไทยกับเรื่อง จี.เอส.พี.

ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้รัฐฯ ให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ส่งออกชาวไทย เน้นถึงปัญหาที่ผู้ส่งออกไม่เข้าใจระบบ จี.เอส.พี. เป็นอย่างดี ปัญหาของการที่ผู้ให้สิทธิพิเศษเปลี่ยนแปลงข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติปกติของประเทศพัฒนาแล้ว ที่การออกกฎหมายใด ๆ ก็ตามจะเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

นั่นคือระดับหนึ่งแล้ว ชวนชัยกำลัง "พยายาม" บอกผู้ส่งออกชาวไทย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นที่ตั้ง

เพราะการให้ จี.เอส.พี. มีพื้นฐานที่สำคัญอยู่สองด้าน ด้านหนึ่ง ประเทศที่นำเข้านั้นจะได้รับผลประโยชน์อันเกิดจากการสร้างการค้า ทำให้ประเทศนั่น ๆ เพิ่มสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้บริโภคและออมทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตที่มีในประเทศ

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยประเทศด้อยพัฒนาในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไปด้วยในตัว แต่กับประเทศไทยแล้ว เราควรมอง "ตัวเอง" มากขึ้น มองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน พร้อมกับการปรับปรุงการติดตามข่าวสาร ศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมากกว่าที่เคยเป็นอยู่

นอกจากนั้น ณรงค์ชัย กับชวนชัยยังมีจุดเด่นประจำตัวอีกคนละอย่าง "ถ้าพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย ที่ต่างประเทศรู้จัก ไปร่วมสัมมนาบ่อย สำหรับประเทศในแถบอาเซียนแปซิฟิค หรือสหรัฐอเมริกาแล้ว ณรงค์ชัยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีสายสัมพันธ์กับต่างประเทศมากเป็นอันดับหนึ่ง…"

ส่วนชวนชัยการที่เขาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทการค้ามากมาย ทำให้เขาได้รับข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวดเร็ว บวกกับการเป็นลูกหลานของตระกูลธุรกิจที่มีชื่อของเมืองไทยตระกูลหนึ่ง ทำให้เขาใช้ประโยชน์นี้กับงานที่ปรึกษาได้มาก" นักวิชาการท่านหนึ่งวิเคราะห์

แต่ที่ปรึกษาชุดนี้คงไม่มีความสมบูรณ์อย่างที่สุด ถ้าหากขาดคู่หู "กฎหมาย" ที่เรากำลังจะกล่าวถึง

ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย อายุ 35 ปี จบปริญญาตรีและโทจากด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลชเชอร์ ปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เชี่ยวชาญกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ว่ากันว่ามีความสัมพันธ์กับคนระดับสูง (สูงมาก ๆ)

ส่วน ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อายุ 36 ปี ปริญญาตรีเกียรตินิยมจากนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปริญญาเอกกฎหมายมหาชนเกียรตินิยมดีมากจากมหาวิทยาลัยปารีส แม่นยำอย่างมากในด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายสาธารณะ

คงไม่ปฏิเสธว่า นโยบายแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้านั้น สิ่งสำคัญคือ การได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วแม่นยำ การดำเนินการด้านการทูตที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่มิอาจมองข้ามไปได้ก็คือความสำคัญของกฎหมายที่จะปรับใช้ หรือตราขึ้นใหม่เพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว

การปรับกฎหมายของไทย ให้เหมาะสมสามารถใช้ได้กับประเทศในกลุ่มอินโดจีน อาจยังเป็นภาพที่เห็นได้ไม่ชัดนักในเวลานี้ ขณะที่ยังมีปัญหากัมพูชาคาราคาซังเป็นที่ถกเถียงกันของหลายฝ่ายอยู่

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศไทยในห้วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมาคงเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความสำคัญของการศึกษาข้อจำกัด และปรับปรุงกฎหมายของไทยเราให้เหมาะสม เพื่อจะให้มีผลทางปฏิบัติได้ทันที และไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ทำให้เราไม่อาจละเลยที่ปรึกษาทั้งสองคนนี้ไปได้

สุรเกียรติ ได้เคยศึกษาปัญหาลิขสิทธิ์และนำเสนอความคิดของที่เป็นข้อคิดและทางออกของประเทศไทยในอีกด้านหนึ่ง

ซึ่งความคิดเหล่านี้แตกต่างไปจากความคิดของผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศในช่วงนั้นอยู่บ้าง เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ได้รับภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ หรือไม่

แต่บทความหรือการนำเสนอแนวความคิดที่สำคัญ ที่พอจะบอกถึง "ศักยภาพ" ทางความคิดของนักกฎหมายทั้งสองคนนี้อยู่ที่การศึกษาเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้พอจะทำให้หลายคน "ตาสว่าง" และเห็นพ้องต้องกับการศึกษาที่ทั้งสองคนได้ทำไว้ร่วมกัน

ซึ่งในระดับหนึ่งนั่นแสดงถึงความคิดที่แตกต่างจากนักวิชาการคนอื่น ๆ ที่เคยศึกษา หรือได้เคยศึกษาปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

"อาจารย์ทั้งสองท่านยอมรับว่ากฎหมายเท่าที่ผ่านมามักจะไม่วางอยู่บนข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ" นักวิชาการอีกท่านหนึ่งแสดงความเห็น

เพราะในอดีต นักกฎหมายมักจะอ้างว่าสิ่งที่นักเศรษฐศษสตร์ต้องการทำไม่ได้ในการร่างกฎหมาย เพราะขัดกับเทคนิคการร่างกฎหมาย หรือนักกฎหมายมักเคยชินกับกฎหมายบางฉบับที่เป็นแม่แบบ

นักเศรษฐศาสตร์ก็มีข้อถกเถียงไม่สามารถสรุปสิ่งที่ตนเองคิดมาเป็นแนวทางเดียวกันได้

อีกประการหนึ่งก็คือ การเมืองใช้กฎหมายเพื่อสนองความต้องการหรือนโยบายบางประการของนักการเมืองมาโดยตลอด

นอกจากนี้แล้ว ในงานศึกษากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศที่กล่าวมานั้น ทั้งสุรเกียรติและบวรศักดิ์ได้นำเสนอรูปลักษณะโครงสร้างและกลไกของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในช่วงห้าปีข้างหน้าที่ "ผู้จัดการ" พบว่าน่าสนใจอย่างมากไว้ด้วย

พวกเขามองว่าท่ามกลางบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่ต้องเต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างมากขึ้น ๆ ทุกขณะ กฎหมายไทยต้องมีทั้งความแน่นอนและยืดหยุ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการศึกษาของทั้งสองพบว่า สำหรับพ่อค้าหรือผู้ส่งออกแล้ว การยืดหยุ่นของการใช้กฎหมายเท่าที่ผ่านมา มีบ่อยครั้งที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าพนักงานเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดความเสี่ยง และบางครั้งเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

เขาได้นำเสนอให้โครงสร้างกฎหมายในอนาคต น่าจะได้มีการระบุว่าในสภาพการณ์ใด ข้อบังคับใดจะบังคับใช้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะการใด ข้อบังคับดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ทำให้เกิดสภาพการณ์นั้น ๆ ขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจะทราบโดยอัตโนมัติว่าจะเอาเกณฑ์อย่างไรมาใช้บังคับ (AUTOMATIC APPLICATION)

เพราะว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในกฎหมาย ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องที่ตัวผู้ประกอบการต้องเสี่ยงเอง แต่ไม่ได้เกิดจากความไม่แน่นอนของดุลยพินิจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

รวมทั้งยังนำเสนอความคิดเห็นอีกหลายด้าน เช่น การให้ประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตรากฎหมายมากขึ้น ต้องมีระบบข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกฎหมายต่างประเทศที่ดี เป็นระบบพร้อมมูลและทันต่อเหตุการณ์เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวในการศึกษาวิเคราะห์ วางนโยบายการต่อสู้ ตั้งรับ หรือเตรียมการล็อบบี้ที่มีประสิทธิภาพหากจำเป็น

แนวความคิดเหล่านี้นับเป็นแนวความคิดใหม่ ซึ่งแสดงถึงความลึกซึ้งของการมองและวิเคราะห์ปัญหา ความคิดที่ "เปิดกว้าง" อย่างมากทั้งสองคน ทำให้แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่ปรึกษาชุดนี้มีความสามารถจริง และจะไม่ยิ่งหย่อนกว่าชุดใด ๆ เท่าที่เคยมีมาในอดีต ปัจจุบันและอนาคตอีกด้วย

นักวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองท่านหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่าที่ปรึกษาทั้งหกมีความเหมือนและความแตกต่างจากที่ปรึกษาในยุคสมัยที่ผ่านมาหลายประการด้วยกัน

สิ่งที่ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนักในความรู้สึก และสายตาของคนที่ใกล้ชิดที่ปรึกษาทั้งหกมาโดยตลอด น่าจะอยู่ที่ความสามารถ เพราะที่ปรึกษาทั้งหกต่างมีความสามารถในการเรียนอยู่ในระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มีความฉลาดหลักแหลม มีไหวพริบ ปฏิภาณ มีความสามารถเฉพาะตัวสูงมากทุกคน

สิ่งที่ควรให้ความสนใจอย่างมาก และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเป็น "แคนดิเดท" ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นที่ปรึกษาคือเรื่อง "จุดยืน"

"ที่ปรึกษาชุดนี้ส่วนใหญ่มีจุดยืนคัดค้านกระแสหลักค่อนข้างชัดเจน เช่น คัดค้านกระแสหลักเรื่อง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ นโยบายต่างประเทศ ซึ่งชัดเจนกว่าชุดเก่า ๆ พวกเขามีความเห็นอย่างไร" นักวิเคราะห์คนเดิมกล่าว

อีกประการหนึ่งคือ ทีมที่ปรึกษานี้มีความสัมพันธ์กับคนในระบบราชการน้อยกว่าชุดเก่า ความสัมพันธ์ยังไม่สูงขึ้นไปถึงระดับผู้อำนวยการกองหรือเป็นรองอธิบดี ในส่วนนี้ทำให้มีอิสระในการทำงาน โดยไม่ถูกผูกมัดจากเงื่อนไขต่าง ๆ เต็มที่ ซึ่งการไม่มีความสัมพันธ์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหา โดยเฉพาะที่ปรึกษาบางคน เช่น พันศักดิ์ ณรงค์ชัย มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ซึ่งสามารถหาข้อมูลจากแหล่งเหล่านั้นสูงมาก

ความแตกต่างที่คนทั่วไปอาจเห็นไม่ชัดนักกับการทำงานของที่ปรึกษาทั้งหกของนายกฯ ชาติชายนี้ มีอย่างน้อยที่สุดสองประการ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น "มิติใหม่" ของการทำงานของคณะที่ปรึกษาก็ว่าได้ คือ…

ในสองสามเดือนที่ผ่านมา ใน "บ้านพิษณุโลก" ได้มีการนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 10 เครื่อง มาจัดตั้งระบบข้อมูลที่พันศักดิ์เคยพูดกับคนใกล้ชิดอยู่เสมอที่เขาเรียกมันว่า C.A.P. (CENTER OF ALTERNATIVE POLICY) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดความสำคัญของการใช้เครือข่าย (Networking) ของแต่ละบุคคลลง

ซึ่งรายงานข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันกล่าวว่ามีการออนไลน์ เข้าไปรับข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยไปบ้างแล้ว เป็นต้น

"ที่ว่าเป็นมิติใหม่คือ การใช้คอมพิวเตอร์ รวมทั้งเมื่อก่อนนี้ที่ปรึกษาชุดก่อน ๆ จะให้ความสำคัญจากข้อมูลที่มาจากสภาพัฒน์ฯ เพราะมีนักวิชาการ นักวิจัยอยู่เยอะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากต้องการให้สภาพัฒน์ฯ อยู่ในบทบาทที่อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น คราวนี้เรากำลังจะเห็นพวกเขา (ที่ปรึกษาทั้งหก) กำลัง "เล่น" กับแหล่งข้อมูลตัวใหม่ ซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่าแบงก์ชาติเต็มไปด้วยมันสมอง มีนักเรียนทุนเยอะ ความสมบูรณ์ของข้อมูลไม่ได้แตกต่างกันเลย" อดีตที่ปรึกษาชุดก่อนให้ข้อสังเกต

ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาชุดนี้ยังมีไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่หลายคนบอกว่าเขาเป็นที่ปรึกษา "คนที่เจ็ด" หรือที่ปรึกษาเงาและอาจละเลยความสำคัญของเขาไป แต่ไกรศักดิ์นี่แหละที่เป็นผู้ทำให้ข่าวสาร ข้อมูลที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศยี่สิบกว่าปี ย้ายจากที่นี่ไปที่โน่นไปประเทศโน้นทีประเทศนี้ที

ไกรศักดิ์จบไฮสคูลจากอเมริกันคอลเลจที่กรุงปารีส หลังจากนั้นครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี

ที่นี่เขาศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์จนจบจากมหาวิทยาลัยจอร์ชวอชิงตัน ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จนได้รับปริญญาโท (M.A.IN ORIENTAL AND AFRICAN STUDIES) และเป็น P.HD CANDIDATE ด้วย

คนใกล้ชิดกับไกรศักดิ์คนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เมื่อครั้งที่ติดตามพลตรีชาติชายไปอยู่อเมริกา หรืออังกฤษนั้น เขายังไม่มีความคิดที่เรียกว่า "หัวก้าวหน้า" แต่อย่างใด

สภาพของไกรศักดิ์ไม่ได้แตกต่างจากลูกผู้ดีมีสตางค์ทั้งหลาย คือเป็นเด็กที่เราเรียกกันว่า "สปอยล์" ถ้าเป็นผู้ชายก็ชอบเที่ยวเตร่เฮฮา ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องแต่งงานใหม่หลายครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของไกรศักดิ์มาจากภรรยาคนแรกที่เป็นชาวเกาหลี เป็นลูกสาวของนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงคนสำคัญของเกาหลี ที่สนใจปัญหาการเมืองอย่างมาก

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ไกรศักดิ์เรียนอยู่ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในยุโรปนั้นมีสิทธิเสรีภาพในการทำกิจกรรมการประท้วง การประชุมอย่างเต็มที่ ด้วยความเป็นหนุ่มคึกคะนองต้องการตามจีบสาวที่ตนเองหมายปอง ทั้ง ๆ ที่ไกรศักดิ์ไม่เคยสนใจเรื่องเหล่านี้ ก็พาตัวเองเข้าไปร่วมด้วย ด้วยความงุนงงว่าเราไปทำอะไร จากนั้นก็เริ่มสนใจการเมือง อ่านหนังสือคลาสสิกของสำนักมาร์กซิส

ไกรศักดิ์มีความรู้มาก ๆ อย่างเป็นระบบในปรัชญาลัทธิมาร์ก หลังจากที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นชาวอังกฤษ โอมัลคอล์ม คลาดเวลล์ ซึ่งสนใจปัญหากัมพูชาและตายในกัมพูชาเนื่องจากถูกยิง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งทางวิชาการที่หล่อหลอมไกรศักดิ์ให้สนใจมาร์กซิสมาก

"ไกรศักดิ์ทำ PH.D. DISSERTATION ด้วยทฤษฎีมาร์กซิส ภายใต้การให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิดจากศาสตราจารย์มัลคอล์ม คลาดเวลด์ แต่ไม่เสร็จเนื่องจากการตายของคลาดเวลด์

ความสนใจของไกรศักดิ์ ปรัชญาต่อลัทธิมาร์กลึกซึ้ง และยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ดูได้จากเมื่อครั้งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยามที่ออกจากป่าใหม่ ๆ ถึงกับบอกเพื่อนคนสนิทว่า อยากพบมาร์กซิสไทยคนหนึ่งที่ชื่อ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อยากรู้ว่าเป็นใคร?

นอกจากจะเป็นอาจารย์แล้ว ไกรศักดิ์ยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยมูลนิธิอารมย์ พงศ์พงัน ตำแหน่งที่ว่านี้ทำให้เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานโดยการจัดสัมมนาการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ เป็นผู้ที่ป้อนข้อมูลตัวเลขให้กับกรรมกร เพื่อที่จะใช้เป็นประโยชน์ในการต่อรองกับฝ่ายนายจ้าง นอกจากนี้ยังเป็นประธานของกลุ่มประสานงานเพื่อการพัฒนาของจังหวัดบุรีรัมย์ตั้งแต่ปี 2524

"ด้วยเหตุนี้จากทั้งสองสถานะ ทำให้ไกรศักดิ์รับข่าวสารมากเกือบทุกวัน และเป็นการรับข้อมูลข่าวสารจากประชาชนผู้เดือดร้อนด้วย" คนที่รู้จักไกรศักดิ์ดีให้ทรรศนะ

ข่าวสารที่ได้รับมานี้มี "นัยสำคัญ" คือ เมื่อนำไปรวมกับข้อมูลที่ได้มาจากภาครัฐหรือภาคเอกชนตามวิธีแรก (ใช้เทคโนโลยี, เครือข่ายต่าง ๆ) ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ได้มีหลายมิติ มากกว่าชุดเก่า ๆ ที่ได้จากเทคโนแครท นักวิชาการแต่ไม่เคยได้จากประชาชน

การสยบคลื่นประท้วงของแรงงานกรณี จี. เอส. สตีล เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์งานข้อมูลของที่ปรึกษาชุดนี้

ความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ที่ปรึกษาทั้งหกนี้ หากมองดูอย่างผิวเผินอาจคิดว่าพวกนี้ไม่มีคนที่จะสนับสนุนอย่างจริงจัง มีกำลังอำนาจ มีเครือข่ายที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เพียงพอ

แต่ผู้ที่ใกล้ชิดที่ปรึกษาทั้งหกเป็นอย่างดีบอกว่า ที่ปรึกษาชุดนี้มีพันธมิตร มีเพื่อนฝูงมากมายที่สามารถขอคำแนะนำ หรือสอบถามเรื่องราว ข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำและถูกต้องอย่างยิ่งด้วย

"เขาอาจจะไม่ไปมาหาสู่กัน แต่สามารถยกหูโทรศัพท์ถาม "เฮ้ย…เรื่องนี้เป็นยังไงกันวะ" แล้วพวกนี้จะเป็นพวกไม่แคร์ต่ออำนาจ มึงจะเอาหรือไม่ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ เรื่องของมึง พวกนี้มีอยู่เยอะ" คนใกล้ชิดที่ปรึกษาทั้งหกบอก

นั่นทำให้เราเห็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อ "เงื่อนไข" ของเวลาแตกต่างกัน องค์ประกอบที่กำหนดบางสิ่งบางอย่างสมัยเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราต้องหันมาดูความจริงกันมากขึ้น

และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องมี ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ ซึ่งเป็นคนที่สนใจเรื่องรัฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศมาตลอด แล้วก็มีตรรกถึงแม้จะไม่มีข้อมูลเท่าไหร่เพราะถูกกีดกัน ที่มีความคิดใหม่ ๆ ที่ว่าปัญหากัมพูชา เราจะแก้ไขอย่างไรดี ไม่ใช่เป็นเหมือนนักรัฐศาสตร์รุ่นเก่า ที่พูดแต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองควรมีวินัย แต่พูดอยู่ยี่สิบกว่าปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ต้องมีคนอย่าง ดร. สุรเกียรติ ที่ไปเรียนกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาของประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น หมดสมัยไปแล้วที่จะไปพูดเรื่องปัญหาลัทธิ ปัญหาคอมมิวนิสต์ ปัญหารัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีใครสนใจเพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

มีคนอย่างพันศักดิ์ เป็น INFORMATION TECHNOLOGIST รู้ว่าที่นั่นเกิดอะไร ที่นี่เป็นอย่างไร?

มีคนอย่าง ดร. บวรศักดิ์ ที่รู้เรื่องกฎหมายกับการพัฒนา กฎหมายปกครองไม่ใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่สามารถเชื่อมโยงได้ว่า ในระบบราชการไทยควรใช้กฎหมายแก้ไขอย่างไร? และกฎหมายควรจะแก้ไขอย่างไรให้ทันต่อการพัฒนาของสังคม

มีคนอย่าง ดร. ณรงค์ชัย ที่รู้เรื่องอุตสาหกรรมดี เพราะ ดร. ณรงค์ชัย มีผลงานวิจัยทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ

มีคนอย่าง ดร. ชวนชัย รู้เรื่อง จี.เอส.พี. อย่างดี รู้เรื่องการค้ากับญี่ปุ่นกับเกาหลีดี มีคอนเนคชันมากมาย เป็นที่ปรึกษาของบริษัทการค้าหลายแห่ง

"ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ลักษณะที่ปรึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย…ต้องหนุ่ม…เพราะความรู้ไม่ได้ขึ้นกับอายุอีกต่อไปแล้ว ถ้าคุณมีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งคุณติดต่อได้ทั่วโลก เด็กอายุ 18 สิบแปดอาจฉลาดกว่าคนอายุหกสิบ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่สั่งสมมา ถ้าไม่ยอมติดตามข่าวสารเหล่านี้มันก็จะสิ้นสภาพไปเป็นส่วนใหญ่" นักวิชาการท่านนั้นสรุป

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในห้วงระยะเวลากว่าแปดปีรัฐบาลที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนำเอาความเคยชินประการหนึ่งมาสู่กลุ่มคนบางกลุ่มของประเทศ ด้วยความรู้สึกที่ว่าประเทศไทย มีผู้มีความสามารถที่จะบริหารประเทศอย่างแท้จริงอยู่เพียงไม่กี่คน

และบ่อยครั้งที่เราได้ยินคำกล่าวถากถางซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสื่อมวลชนบ้าง นิสิตนักศึกษาบ้าง นักวิชาการต่าง ๆ ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น เมื่อประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมา ก็สามารถถอดถอนเสียเมื่อไหร่ก็ได้

เรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่อ "ทูน" ขึ้นมาได้ ก็จะ "ถีบ" ส่งกลับไปเมื่อไรก็ได้

ทั้ง ๆ ที่หลายฝ่ายพยายามพร่ำเพรียกเรียกร้องหา "ประชาธิปไตย" เต็มใบกันมานานแสนนานก็ตาม

รวมไปถึงปัญหาในอนาคตของทีมที่ปรึกษาทีมนี้ที่ดูจะระอุกรุ่นด้วยความขัดแย้งอยู่ไม่น้อย ความหนักหนาสาหัสที่มีประกายความขัดแย้งปรากฏชัดขึ้นในหลายเรื่องก็เกิดจากเรื่องที่ทีมที่ปรึกษาไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมรัฐบาล

ทีมที่ปรึกษาได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้าระหว่างประเทศ (ทีทีอาร์) รวมถึงคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

แต่พรรคร่วมรัฐบาล โดยมี พล.อ.อ. สิทธิเศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วย และปรึกษาหารือนายพงส์ สารสิน รองนายกฯ ให้ศึกษาเรื่องการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว และกลับขอตั้งคณะกรรมการนโยบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) แทน

เรื่องเกี่ยวกับนโยบายการค้ากับอินโดจีนที่นายกฯ พูดให้ได้ยินโดยทั่วกันว่า มีความพยายามที่จะเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่เกิดการแปลความหมายไปในทางที่แตกต่างกัน

โดยคณะที่ปรึกษาเห็นด้วยที่จะแยกการค้ากับการเมืองออกจากกัน แต่กระทรวงการต่างประเทศที่มีพลเอกสิทธิเป็นหัวเรือใหญ่ไม่เห็นด้วย แหล่งข่าวจากหลายกระแสกล่าวว่า พลเอกสิทธิเติบโตมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงไม่ต้องการร่วมมือร่วมค้ากับเวียดนามที่เป็นผู้ก่อการร้ายตัวใหญ่

แต่ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลที่มีพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มาจากการเลือกตั้งคนนี้เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ ก็ยังคงต้องประสานผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป

โดยตั้งอยู่บนจุดที่ว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาลขอมา หรือผลักดันให้เกิดการยอมรับหรืออนุมัตินั้นต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความเป็นอิสระในการทำงานของส่วนรวม อะไรที่ยอมกันได้ อะไรที่ให้กันได้ก็ให้กันไป

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ให้ผลประโยชน์ ให้เงิน ให้ตำแหน่ง ให้อะไรที่สามารถให้ได้ก็ให้ไป เพื่อทำอย่างที่มีคุณค่าต่อประชาชน คนในชาติมากกว่า

นับจากวินาทีที่พวกเขาทั้งหกรับหน้าที่ที่ปรึกษานายกฯ นั้นค่อนข้างจะหนักหน่วงไม่น้อย ที่ต้องแบกรับภาระการนำเสนอนโยบายการบริหารประเทศในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เพิ่งได้รับการ "ปลดปล่อยทางความคิด" หลังจากจมอยู่กับระบอบการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยมานานปี

อาจจะกล่าวได้ว่า การตัดสินใจเชิงนโยบายของนายกฯ ชาติชายในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ให้ความไว้วางใจ "ความเห็น" ที่ได้รับการนำเสนอจากคณะที่ปรึกษาอย่างมาก

เช่น การผ่านระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นระเบียบฉบับใหม่ที่จะปฏิวัติระบบราชการไทย (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับวันที่ 24-30 ตุลาคม 2531) ซึ่งก็เป็นผลมาจากการผลักดันของคณะที่ปรึกษาชุดนี้

ตัวอย่างเห็นได้ชัดของความมี "ประสิทธิภาพ" ของระเบียบดังกล่าวก็จากเรื่องการให้การบินไทยนำข้อมูลการขอตั้งระบบ "อบาคัส" ไปศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะเรื่องที่ส่งมาไม่ละเอียดพอและไม่ได้แตกต่างจากความเคยชินที่ข้าราชการไทยคิดว่าสามารถ "ตั้งแท่น" ให้ ครม. เซ็นอนุมัติเรื่องราวต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ

ทุกวันนี้ เราจะพบพันศักดิ์ วิญญรัตน์จะออกจากบ้านที่ซอยสุขุมวิท 101 หลังเจ็ดโมงเช้าไม่มากนัก แล้วตรงดิ่งไปยัง "บ้านพิษณุโลก"

เช่นเดียวกับไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชวนชัย อัชนันท์ และที่ปรึกษาคนอื่น ๆ ที่เมื่อเสร็จภารกิจจากงานประจำที่หลายคนเป็นอาจารย์สอนหนังสือบ้าง เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ บ้าง

พวกเขาจะขลุกอยู่ที่บ้าน "พิษณุโลก" และมีขั้นตอนการนำเสนอเรื่องขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยมีพันศักดิ์ที่เป็นประธานที่ปรึกษาคอยนำเสนอเรื่องต่าง ๆ กับนายกฯ โดยตรง ทำงานอย่างหนัก ไม่มีวันไหนที่จะกลับบ้านก่อนเที่ยงคืน บางวันถึงกับค้างที่บ้าน "พิษณุโลก" เลยก็มี

"นายกฯ ค่อนข้าง FAVOUR ทีมที่ปรึกษานี้มาก เพราะเขาทำงานจริง และที่สำคัญแน่ใจได้ว่าพวกนี้ปลอดจากผลประโยชน์จริง ๆ" คนใกล้ชิดกับคณะที่ปรึกษาบอก

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับคณะทำงานของที่ปรึกษาทั้งหกบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าขณะนี้พวกเขากำลังศึกษาเรื่องราวที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาให้ได้อีกหลายเรื่อง…

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ปัญหาอินโดจีนที่ให้ความสนใจมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นคณะที่ปรึกษา

สนใจปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมากมาย ว่าแท้ที่จริงแล้วประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการนี้อย่างไรบ้าง?

ยังมีเรื่อง "ประกันสังคม" อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันบ่อยมาก พยายามและอยากให้เป็นความจริงขึ้นมาให้ได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ได้ร่วมกันเปิดอภิปรายในหัวข้อ "รัฐไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุค?" ในการประชุมประจำปีของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่วังตะไคร้ จ. นครนายก

พวกเขาได้สรุปแนวทางที่น่าสนใจไว้หลายประการ เกี่ยวกับการปกครองของไทยในอนาคตว่า

"ประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่ยุคการเมือง การจัดการ สิ่งที่น่าเกิดขึ้นมีสองประการ คือ การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างรวดเร็วแต่ไม่รุนแรง สงคราม การปฏิวัติ รัฐประหาร จะมีน้อยลง ปัญหาต่าง ๆ จะแก้ไขได้ยาก เพราะมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลายตัว แต่แนวทางการแก้ไขจะไม่เป็นแบบถอนรากถอนโคน ฉับพลัน สิ่งที่ทำได้คือการจัดการการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง จัดการกับปัญหาให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด และให้เกิดผลดีมากที่สุด ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองภายใน เศรษฐกิจ และสังคม การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและวิทยาการของโลกมากขึ้น

อนาคตของไทยต่อไปจะอยู่ในมือนักวิชาการ ปัญญาชนเป็นผู้จัดการ การแก้ปัญหาแบบเต่าล้านปี ไม่มองอนาคต ไม่มองการณ์ไกล จัดการปัญหาแบบวันต่อวันหมดยุคแล้ว อย่างไรก็ตามจะให้นักวิชาการ ปัญญาชนแก้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่มีความคิดทางการเมืองด้วย ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการอย่างเดียวที่มักไม่มองอะไรรอบด้าน ต่อไปคนที่อายุน้อยกว่าสี่สิบจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น

สังคมต่อไปนี้ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือของการบริหาร ปัญหาอยู่ที่ว่าจะบริหารอำนาจอย่างไร ระบบความทันสมัยต่าง ๆ กับระบบราชการจะปรับตัวอย่างไร ระบบโทรคมนาคมที่รัฐลงทุนดำเนินการต่าง ๆ ไปนั้น จะเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่อย่างไร?"

ความเห็นเหล่านี้อย่างน้อยก็พอจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของพวกเขาได้หลายอย่าง

พวกเขาทั้งหมดมีความเชื่อมั่นในการบริหารสมัยใหม่ เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความเจริญก้าวหน้าใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศไทยนั้น จะมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เป็นไปตามแนวทางที่พวกเขาได้นำเสนอไว้ ไม่แตกต่างจากความเจริญเติบโตและก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายเลยแม้แต่น้อย

ความเห็นของพวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในระบบการบริหารของประเทศที่มีปัญหาต่าง ๆ มากมายซ่อนอยู่ โดยพยายามที่จะนำเสนอแนวทางใหม่ที่สามารถ "ยอมรับ" และ "เข้าใจ" ร่วมกันมีวิธีปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ที่จะให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของการบริหารงานทั้งในภาครัฐและเอกชน

และเมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ รัฐจะต้องใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นกับการทำงานของตนเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในสังคมให้ได้อย่างเต็มที่

แน่นอนที่สุดไม่ว่าใครจะมองคณะที่ปรึกษาทั้งหกนี้อย่างไร พวกเขาก็ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ ในแนวทางที่พวกเขาได้ปฏิบัติและดำเนินการอยู่มาโดยตลอดไม่เปลี่ยนแปลง แสดงถึงความมั่นคงต่อความคิดของตนเองอย่างแน่วแน่ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในสังคม "เงื่อนไข" ต่าง ๆ มากมาย เช่นปัจจุบัน

ทุกวันนี้พวกเขาทั้งเจ็ดยังคงคร่ำเคร่งกับการทำงานร่วมกับนักวิชาการที่เป็นข้าราชการประจำสามคน เลขาฯ อีกประมาณ 7 คน กับเครื่องคอมพิวเตอร์สิบกว่าตัว และสต๊าฟที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทอีกจำนวนหนึ่งอย่างหนัก" พวกนี้ไม่ต้องการอำนาจเป็นสิ่งตอบแทน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเน้น

ไม่แน่เหมือนกันนะที่ความก้าวหน้าวัฒนาถาวรที่ใครหลายคนใฝ่ฝันว่าจะเกิดขึ้นมาในชีวิตของตน จะเกิดขึ้นจากการผลักดันจากที่ปรึกษาทังหกนี้ก็เป็นได้

และคนที่จะนำเอาข้อมูล และความเห็นของที่ปรึกษาทั้ง 7 นี้ไปสู่คำสั่งทางนโยบาย ที่ก่อผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในยุคสมัยนี้ ก็เห็นจะอยู่ที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เท่านั้น!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.