ตลาดทีวีผลัดใบ เข้าสู่ยุค LED TV


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(4 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

LED TV เจเนอเรชั่นใหม่ของเทคโนโลยีทีวี ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาด หลังจาก LCD TV มีราคาตกลงเรื่อยๆ ล่าสุดซัมซุงส่ง LED TV 3 ซีรีส์รุกตลาดพรีเมียม ตั้งเป้ากินมาร์เกตแชร์ 80% ในฐานะผู้บุกเบิกตลาด คาดปริมาณความต้องการในปีแรกสูงถึง 62,000 เครื่อง

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในตลาดทีวีในเมืองไทยคือการเข้ามาของสินค้าราคาถูกทั้งของไทยและของจีน รวมถึงการเข้ามาบุกตลาดทีวีในระยะแรกของซัมซุง ซึ่งต่างใช้นโยบายราคาเป็นตัวนำการตลาด จนสามารถเป็นผู้นำตลาดทีวีเมืองไทยในแง่ของปริมาณได้สำเร็จ ทำให้โซนี่ต้องขยับตัวไปเล่นทีวีที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น โดย ซีอาร์ที ทีวี หรือเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์แบบหลอดภาพ แต่เดิมมีจอโค้งได้ถูกพัฒนาให้เป็นจอแบนโดยมีโซนี่เป็นผู้บุกเบิกตลาดโดยส่งจอเวก้าเข้ามาทำตลาด ในขณะที่ค่ายเกาหลีก็ไม่หยุดนิ่ง ส่งทีวีจอแบนเข้าสู่ตลาดเหมือนกัน ซัมซุงมีวีพลาโน ส่วนแอลจีก็มีแฟลตตรอน

เมื่อเทคโนโลยีถูกไล่ล่า โดยใช้สงครามราคานำ ยิ่งทำให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างเร่งพัฒนาตัวเองให้เหนือคู่แข่งขึ้นไป โปรเจกชั่นคือก้าวแรกของทีวีจอใหญ่ แม้จะยังคงใช้เทคโนโลยีหลอดภาพแบบซีอาร์ที ทีวีทั่วไป แต่ก็สร้างพฤติกรรมในการรับชมทีวีจอใหญ่ โดยยุคแรกโปรเจกชั่นทีวี มีราคาร่วมแสนบาท จากนั้นก็มีราคาตกลงมาเหลือไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งแพงกว่าซีอาร์ที ทีวีจอแบนขนาดใหญ่ไม่มากนัก จึงมีผู้บริโภคบางส่วนยอมควักกระเป๋าตังค์จ่ายเงินเพิ่มขึ้นแต่ได้ทีวีจอใหญ่สมใจ เนื่องจากซีอาร์ที ทีวีจอแบนขนาดใหญ่อย่างมากก็แค่ 32 นิ้ว ในขณะที่โปรเจกชั่นทีวีใหญ่กว่า 40 นิ้วขึ้นไป

ทว่าโปรเจกชั่นทีวี เต็มไปด้วยจุดด้อย ทั้งในเรื่องแสงสว่างหน้าจอที่น้อย ทำให้ไม่เหมาะในที่ที่มีแสงสว่างมากเพราะจะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด รวมถึงมุมมองที่แคบ คือไม่สามารถมองในมุมที่เฉียงมากๆ ได้ อีกทั้งมีน้ำหนักมาก ขนาดใหญ่ เคลื่อนย้ายลำบาก จึงมีการพัฒนาไปสู่พลาสม่าทีวี ขนาดหน้าจอ 40 นิ้วขึ้นไป ซึ่งเริ่มต้นด้วยราคาระดับแสนบาท โดยมี LCD TV รุกตลาดจอแบนบางที่ขนาดหน้าจอต่ำกว่า 37 นิ้ว ด้วยราคาระดับแสนบาทเช่นกัน แต่หากเทียบราคาต่อนิ้วแล้ว LCD TV จะมีราคาแพงกว่าพลาสม่าทีวีในช่วงแรก 2-3 เท่า ทำให้พลาสม่าทีวีได้รับความนิยมมากกว่า LCD TV ในช่วงแรก

ทั้งนี้ ทีวีทั้งสองประเภทมีความบางค่อนข้างมากเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมซึ่งต้องการเครื่องใช้ในบ้านที่สามารถประหยัดพื้นที่ได้ รวมถึงใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้านได้ จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคระดับบนที่กระเป๋าหนัก

แต่ด้วยกระแสความนิยมทีวีจอใหญ่แบน บางที่มาแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิต LCD TV หันมาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ทำให้ LCD TV ข้ามผ่านข้อจำกัดในการทำขนาดหน้าจอให้ใหญ่กว่า 40 นิ้วได้ พร้อมกับการพัฒนาความคมชัดของภาพเคลื่อนไหวให้เทียบเคียงพลาสม่าทีวี จนทำให้ LCD TV มีจุดเด่นเหนือพลาสม่าทีวี โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดพลังงานกว่าพลาสม่าทีวี ประกอบกับกระแสการทำการตลาดสีเขียวที่ส่งผลให้เทคโนโลยีที่กินไฟน้อยกว่าอย่าง LCD TV ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการพัฒนาสินค้าและผลิตออกมาในปริมาณที่มากจนเกิด Economy of Scale ส่งผลให้ทั้ง LCD TV และพลาสม่าทีวีมีระดับราคาต่ำกว่าแสนบาท ทว่าสงครามราคคก็รุกคืบเข้ามาส่งผลให้ราคาเทคโนโลยีทั้งสองตกลงมาอยู่ที่หลักหมื่นต้นๆ โดยพลาสม่า 40 นิ้วมีราคาอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท ส่วน LCD TV 32 นิ้วมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งบางครั้งก็ถูกนำมาทำราคาเหลือ 9,000 กว่าบาท ในช่องทางที่เป็นดิสเคานต์สโตร์ซึ่งแข่งขันรุนแรงในเรื่องราคา

ที่ผ่านมาผู้ผลิตทีวีหลายค่ายพยายามที่จะลดหรือยกเลิกทีวีจอเล็ก 14 นิ้ว แต่ทำไปทำมาก็กลับมาทำทีวีจอเล็กอีกครั้งเนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการอยู่ เช่นใช้เป็นทีวีเครื่องที่ 2 ในห้องนอน หรือห้องครัว ส่วนเครื่องใหญ่ก็จะตั้งในห้องนั่งเล่น ตลอดจนคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ ก็เป็นอีกตลาดที่ทำให้ทีวีจอเล็กยังคงมีความต้องการในตลาด แต่เนื่องจากมีราคาที่ค่อนข้างถูกจึงไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจเท่าที่ควร หลายๆ ค่ายจึงไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่ากับทีวีรุ่นใหญ่ที่มีราคาแพงกว่า หรือถ้าจะทำจอเล็ก ก็จะเน้นไปที่ LCD TV ที่มีขนาดต่ำกว่า 32 นิ้ว เช่น 19 นิ้ว 22 นิ้ว 26 นิ้ว ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่อยู่ในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ โดย LCD TV จอยิ่งเล็กก็ยิ่งราคาถูกลง ช่องว่างของเทคโนโลยีจึงห่างจาก ซีอาร์ที ทีวี ไม่มากนัก เป็นเหตุผลที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคในเมืองยอมจ่ายแพงเพื่อได้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีซีอาร์ที ทีวี ก็ถูกพัฒนาให้เป็นสลิมฟิตทีวี ทำให้บางกว่าซีอาร์ที ทีวีทั่วไป ในขณะที่ราคายังเท่าเดิม

ทว่า ราคาที่ตกต่ำลงไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจ ดังนั้นหลายๆ ค่ายจึงเริ่มหันมาพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น ระบบ Full HD ที่ให้ภาพคมชัดขึ้น ซึ่งช่วงแรกสามารถทำราคาได้มากเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับทีวีจอแบนบางทั่วไป แต่สุดท้ายราคาก็ตกลงมาจนมีความแตกต่างกันไม่กี่สิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีทีวีตัวใหม่คือ LED TV ที่รวมเอาจุดเด่นของ LCD TV และพลาสม่าทีวี เข้าด้วยกัน อีกทั้งยังประหยัดไฟกว่า LCD TV 40% ในขณะที่มีระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่หลักแสนบาท ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับตลาดทีวี ทั้งนี้หากเทียบราคา LED TV กับ LCD TV ที่เป็นไฮเอนด์หรือระดับ Full HD แล้ว LED TV จะมีราคาแพงกว่า 15% แต่ถ้าเทียบกับ LCD TV ธรรมดาแล้ว LED TV จะมีราคาแพงกว่า 2 เท่าตัว

ซัมซุง ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาด LED TV ในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยส่ง LED TV 3 ซีรีส์ ประกอบด้วย รุ่น B8000 เจาะตลาดพรีเมียม B7000 ชูฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อ และอินเทอร์เน็ตทีวี สุดท้ายรุ่น B6000 มีหน้าจอ 3 ขนาดคือ 40 นิ้ว 46 นิ้ว และ 50 นิ้ว มีราคาเริ่มต้นที่ 79,990 บาท สูงสุดคือ 174,990 บาท

ทั้งนี้ ซัมซุงได้เปลี่ยนกลยุทธ์จากการทำสงครามราคาในอดีตมาสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรุกสู่ตลาดพรีเมียม ด้วยการส่งนวัตกรรมและดีไซน์ใหม่ๆ สู่ตลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการทำ บอร์โดซ์ พลัส LCD TV ที่ทำให้ซัมซุงสามารถโค่นแชมป์เก่าอย่างโซนี่ ขึ้นมายืนเป็นผู้นำตลาด

นอกจากความสำเร็จด้านดีไซน์แล้ว ในปีที่ผ่านมาซัมซุงยังใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ฟังก์ชั่น 100 Hz Full HD ซึ่งมี 2 ขนาดคือ 52 นิ้ว ราคา 229,990 บาท และ 46 นิ้ว ราคา 159,990 บาท ทว่าสมรภูมิ Full HD TV ไม่ใช่น่านน้ำสีครามที่จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้มากนัก เพราะปัจจุบันหลายๆ แบรนด์ต่างมีการพัฒนา Full HD TV ดังนั้น ซัมซุงจึงนำเทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ตลาดเมืองไทย นั่นคือ LED TV

แม้หลายๆ ค่ายจะมีเทคโนโลยี LED TV หรือเทคโนโลยีที่เหนือขึ้นไปอย่าง OLED TV แต่ก็ยังไม่มีใครนำเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซัมซุงซึ่งพยายามสร้างภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในตลาดพรีเมียมจึงใช้โอกาสดังกล่าวในการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ตัดหน้าคู่แข่ง เหมือนเช่นที่เคยลอนช์เครื่องเล่นบลูเรย์ดิสก์ตัดหน้าโซนี่ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ซัมซุงได้ภาพลักษณ์ในเรื่องของการเป็นผู้นำนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมืองไทย

ซัมซุงสร้างความแตกต่างด้วยการบรรจุความบันเทิงไว้ใน LED TV ของซัมซุง ซึ่งประกอบด้วยแกลเลอรีภาพ รายการทำอาหาร รายการเด็ก และเกม ซึ่งลูกค้าสามารถดาวน์โหลดข้อมูลใส่ทีวีเพิ่มเติมได้ อีกทั้งยังรองรับการเป็นอินเทอร์เน็ตทีวีด้วย เพื่อเพิ่มอรรถรสความบันเทิงให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ซัมซุงยังชูเทคโนโลยี DLNA เพื่อให้อุปกรณ์ความบันเทิงต่างๆ สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ คอมพิวเตอร์ และแฟลตพาแนลของซัมซุง ก็สามารถใช้งานเชื่อมต่อกันได้

ทั้งนี้ การเข้ามาของ LED TV เป็นเพียงเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาคั่นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ OLED (Organic Light-Emitting Diode) ที่ใช้หลอด LED ขนาดเล็กเรียงรายอยู่ทั่วทุกพื้นที่บนแผ่นพาแนล ทำให้มีความสว่างคมชัด และยังสามารถดัดโค้งได้ จึงมีการพัฒนาเป็น e-Book ปัจจุบัน OLED ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาก การจะพัฒนาให้มีขนาดหน้าจอที่ใหญ่ จะทำให้ราคาของ OLED TV สูงจนเกินที่ผู้บริโภคจะจับต้องได้ จึงต้องใช้เวลาในการทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวมีระดับราคาที่จะขายได้จริง ดังนั้น จึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลอด LED มาวางรอบพาแนลทีวี กลายเป็น LED TV ซึ่งแตกต่างจาก LCD TV ตรงที่การใช้เทคโนโลยีแสงสว่าง LED TV ใช้หลอด LED ส่วน LCD TV จะใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งให้มีแสงสว่างที่น้อยกว่า มีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า และมีจุดมืดระหว่างหลอดฟลูออเรสเซนต์ ในขณะที่ LED TV นอกจากจะมีคุณสมบัติเหนือกว่า LCD TV แล้ว ยังรวมเอาจุดเด่นของพลาสม่าทีวีมาไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของเฉดสีมืด และความคมชัดของภาพเคลื่อนไหว หรือ Motion Picture

อย่างไรก็ดี แม้ LED TV จะรวบรวมเอาจุดเด่นของทั้ง LCD TV และพลาสม่าทีวีเข้าด้วยกัน แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้เทคโนโลยีทั้งสองตายไปจากตลาดในช่วงเวลาอันสั้นนี้ เพราะแต่ละเทคโนโลยีต่างมีจุดขายที่แตกต่างกัน โดยพลาสม่าทีวี จะถูกโปรโมตสำหรับการรับชมภาพยนตร์ ส่วน LCD TV ก็เป็นทางเลือกให้คนที่ต้องการทีวีจอแบน บาง เพราะ LCD TV มีระดับราคาถูกกว่า LED TV 2-3 เท่าตัว ในขณะที่ LED TV ในช่วงแรกจะเจาะไปที่กลุ่ม High Life Seeker ที่สนใจเทคโนโลยี ชอบทดลองเทคโนโลยีใหม่ โดยไม่สนใจว่าราคาจะสูงเพียงใด เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

ทั้งนี้ มีรายงานระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนอย่าง โซนี่ ชาร์ป Sumitomo Chemical และ Hitachi Zosen ในการพัฒนา OLED TV โดย องค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทน New Energy and Industrial Technology Development Organization หรือ NEDO ซึ่งเป็นสำนักงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์การทำวิจัยเทคโนโลยีใหม่ในประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ไว้ว่า บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นจะสามารถผลิตหน้าจอ OLED TV ขนาด 40 นิ้วได้หลังปี 2015 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้โซนี่ได้พัฒนา OLED TV ความบาง 3 มิลลิเมตร มีขนาดหน้าจอ 11 นิ้ว จำหน่ายในราคาสูงกว่าจอ LCD ทั่วไปถึง 10 เท่าตัว โดยโซนี่วางแผนผลิตหน้าจอ OLED ขนาด 20 นิ้ว อย่างเต็มรูปแบบในปีนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.