จีเอฟพีทีลุ้นรายได้คงที่ 1.1หมื่นล้าน เหตุศก.ทรุดฉุดราคาเนื้อไก่แปรรูปตก


ASTVผู้จัดการรายวัน(6 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

จีเอฟพีทีชี้รายได้รวมปีนี้ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปีก่อนที่ 1.1หมื่นล้านบาท แม้ว่าปริมาณการผลิตอาหารสัตว์และเนื้อไก่แปรรูปจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และราคาส่งออกลด ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลงไม่มาก เหตุรัฐประกันราคาอุ้มช่วยเกษตรกร ระบุไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ส่งผลดีต่อการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปในระยะยาว

นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯคาดว่าจะมีรายได้ต่ำกว่าเล็กน้อยหรือใกล้เคียงปี 2551 ที่มีรายได้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตเนื้อไก่แปรรูปและอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายเนื้อไก่แปรรูปเพื่อส่งออกต่ำกว่าปีก่อนนโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3-4/2551 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ผู้นำเข้ามีการหยุดการสั่งซื้อเนื้อไก่แปรรูปทันที ทำให้บริษัทฯต้องปรับลดราคาลงมา แต่ก็โชคดีที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงทำให้รายได้ลดลงไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาวะตลาดส่งออกเนื้อไก่แปรรูปเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (ไข้หวัดหมู) น่าจะส่งผลดีในระยะยาวทำให้การส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไทยเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันราคาส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปตลาดญี่ปุ่นอยู่ที่ 4,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน สำหรับราคาส่งออกไปตลาดอียูอยู่ที่ 2,500-4,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน เชื่อว่าราคาเนื้อไก่แปรรูปจะไม่ต่ำกว่านี้ เนื่องจากญี่ปุ่นยังวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าไก่ปรุงสุกจากจีนหลังเกิดปัญหาเมลามีน ทำให้มีการหันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับอียู

“ ปีนี้รายได้น่าจะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรขั้นต้นไม่สูงเท่ากับปีที่แล้ว แต่มั่นใจว่าปีนี้กำไรแน่นอน แม้ว่าจะรับรู้ค่าใช้จ่ายจากค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานแห่งใหม่ของกรุงไทยอาหารสัตว์ที่เริ่มผลิตเดินเครื่องจักรในปีนี้ โดยค่าเสื่อมราคาดังกล่าวจะบันทึกรับรู้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ”

นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสส่งออกไก่สดแช่แข็งไปตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น หากประเทศผู้นำเข้ายอมรับการเลี้ยงไก่ของไทยที่เป็นระบบการเลี้ยงแบบคอมพาร์ทเม้นท์ ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบปิด แม้ว่าไข้หวัดนกจะไม่สามารถขจัดได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไทยเผชิญปัญหาไข้หวัดนก ผู้ประกอบการไทยได้หันมาลงทุนและปรับปรุงเทคโนโลยีจากการส่งออกไก่สดแช่แข็งมาเป็นการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปแทน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จึงมองผู้ส่งออกไทยก็น่าจะให้ความสำคัญในตลาดนี้มากกว่าการส่งออกไก่สดแช่แข็ง

นพ.อนันต์ กล่าวว่า ในปีนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลงจากปีก่อนไม่มาก แม้ว่าราคาพลังงานจะปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากรัฐบาลมีการประกันราคาข้าวโพดไว้ที่กก.ละ 8.50 บาท ขณะที่ราคาข้าวโพดในตลาดโลกอยู่ที่ 6-7 บาท/กก. ส่วนกากถัวเหลืองที่ผลิตในประเทศก็มีการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 80%ของต้นทุนผลิตอาหารสัตว์

ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนร่วมกับบริษัท นิชิเร ประเทศญี่ปุ่นในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือบริษัท จีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย )หรือ GFN เพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปและไก่สดแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นว่า บริษัทฯเตรียมก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2553 ทำให้ช่วยขยายตลาดและเพิ่มปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น

“ขณะนี้บริษัทฯมีการขยายตลาดส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปตลาดอียูมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีช่องทางขยายไปยังลูกค้าใหม่ ทำให้ไทยส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกไปตลาดอียูเพิ่มสูงขึ้นกว่าโควตาที่ได้รับ 1.6 แสนตัน/ปี”

ในปีนี้ปริมาณการผลิตไก่เนื้อของไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงเล็กน้อยจากปี 2551 โดยคาดว่าปริมาณการเลี้ยงไก่เนื้อจะมีประมาณ 920 ล้านตัว คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.36 ล้านตัน หรือลดลง 0.44% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยและต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น

ปีนี้การส่งออกเนื้อไก่ของไทยอยู่ที่ 362,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 44,326 ล้านบาท ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา 11.56 % ตลาดส่งออกสำคัญที่สุดยังคงเป็นตลาดญี่ปุ่น และอียู โดยปริมาณการส่งออกไปตลาดหลักดังกล่าวปีนี้จะลดลง 2.86% และ 8.05% ตามลำดับ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.