SSIถอดใจเป้ารายได้ไม่โต


ASTVผู้จัดการรายวัน(4 พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

สหวิริยาสตีลฯตั้งเป้าปีรายได้เสมอตัวเท่าปีที่แล้ว 2.69 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มการผลิตและขายอีก 50% สาเหตุเนื่องจากราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนฯปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 470 เหรียญสหรัฐ/ตัน มั่นใจราคาไม่ต่ำกว่านี้หลังจีนลดการส่งออกลง ส่วนโครงการโรงถลุงเหล็กเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด อ้างรัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายส่งเสริมอย่างชัดเจน

นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)(SSI) เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ารายได้ใกล้เคียงปี 2551 ที่มีรายได้รวม 2.69 หมื่นล้านบาท แต่ปริมาณการผลิตและขายเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 1.02 ล้านตันเป็น 1.5 ล้านตัน/ปี เป็นผลจากราคาขายเหล็กแผ่นรีดร้อนฯในปีนี้จะอ่อนตัวลงจากปีก่อน ล่าสุดอยู่ที่ 470 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าปลายปีที่แล้วที่ราคาตันละ 540 เหรียญสหรัฐ

แม้ว่าราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในขณะนี้จะปรับตัวลดลง แต่ราคาวัตถุดิบกลับลดลงในอัตราส่วนที่สูงกว่าราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนทำให้ค่าการรีดเหล็ก(มาร์จิน)ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 125 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ประกอบการอยู่ได้โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 7 % ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานบริษัทฯจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 นี้ หลังจากบริษัทได้ตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าสินค้าคงเหลือจากปีที่แล้วไว้ที่ 5.4 พันล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าฯเพิ่มอีก 800 ล้านบาท สืบเนื่องจากราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนฯในไตรมาสแรกปรับตัวลงอีก

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนจะปรับลดลงกว่านี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดของจีนได้ประกาศราคาเหล็กรีดร้อนฯงวดเดือนมิ.ย.เอาไว้ที่ตันละ 482 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าราคาที่บริษัทตั้งสำรองไว้

นอกจากนี้ จีนในฐานะผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลกได้ลดปริมาณการส่งออกเหล็กจากเดิม 5 ล้านตันเหลือเพียง 1.5-1.6 ล้านตัน/เดือน หรือลดลงประมาณ 70% เนื่องจากต้นทุนการผลิตของจีนสูงกว่าราคาตลาดโลกทำให้ไม่สามารถส่งออกมาแข่งขันได้ ทำให้ปริมาณเหล็กที่จะป้อนออกสู่ตลาดโลกในปีนี้ลดลง 40 ล้านตัน รวมทั้งราคาแร่เหล็กในปีนี้ส่อแววปรับลดลงจากปีก่อนลง 40 %ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกคาดว่ามีข้อสรุปในเร็วๆนี้ เดิมราคาแร่เหล็กในตลาดจรปีที่แล้วอยู่ที่ 180 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปัจจุบันราคาแร่เหล็กในตลาดจรอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/ตัน

นายวิน กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กโดยรวมของประเทศปีนี้จะปรับลดลงจากปีก่อน 21%จาก 12 ล้านตันมาอยู่ที่ระดับ 10 ล้านตันต่อปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการเมืองก็ตาม แต่บริษัทฯเชื่อมั่นว่าจะเพิ่มปริมาณการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนมากกว่าปีก่อน 50%มาอยู่ที่ 1.5 ล้านตัน เนื่องจากธุรกิจยานยนต์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 1/2552 ที่ผู้ผลิตต้องหยุดผลิตเพื่อเร่งระบายรถยนต์ในสต็อกลง ทำให้การใช้เหล็กลดลงมาก แต่เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาผลิตดีขึ้นในเดือนพ.ค.นี้ ทั้งปียอดการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 9.5 แสนคันลดลงจากปีก่อนที่ผลิตอยู่ 1.4 ล้านคัน ซึ่งบริษัทฯมองว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ที่ระดับนี้ยังสูงกว่าปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ยุคทองของอุตสาหกรรมเหล็ก

นอกจากนี้ บริษัทฯตั้งเป้าหมายเพิ่มการส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 10%จากปีก่อนที่ส่งออกเพียง 3-4%เท่านั้น โดยตลาดส่งออกหลักคือตะวันออกกลาง และจีน สำหรับราคาส่งออกพบว่าเหล็กบางเกรดยังมีราคาส่งออกดีอยู่ โดยบริษัทฯไม่มีแผนการส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนฯไปตลาดสหรัฐฯอีก หลังหยุดทำตลาดมาเป็นเวลา 2ปี

นายวิน กล่าวถึงแผนการลงทุนในปีนี้ว่า บริษัทฯได้ชะลอโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการขยายเครื่องจักร แต่ยังคงลงทุนโครงการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงานรวมทั้งการวิจัยและพัฒนา(R&D) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนปีนี้ประมาณ 100 กว่าล้านบาท

ส่วนโครงการโรงถลุงเหล็กกำลังผลิต 5 ล้านตัน มูลค่าเงินลงทุนรวม 9 หมื่นล้านบาทของเครือสหวิริยานั้น คงต้องชะลอออกไปก่อน หลังจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนโรงถลุงเหล็กให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งๆที่ไทยต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเหล็กแต่ละปีหลายแสนล้านบาทก็ตาม โดยยอมรับว่าปัญหาการเมืองในประเทศมีผลกระทบต่อโครงการโรงถลุงมาก เนื่องจากโครงการนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่เกือบแสน ล้านบาท จำเป็นต้องอาศัยรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งผลักดันให้เกิดโครงการขนาด
ใหญ่นี้ เช่นเดียวกับการผลักดันการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ หากให้เอกชนเป็นผู้ผลักดันโครงการนี้คงเกิดขึ้นได้ยากหากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุน

“หากการเมืองไทยยังเป็นแบบนี้ คงมีความเสี่ยงสูงที่จะถลำไปแล้วเสียหาย สู้หยุดโครงการไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนที่เวียดนามเพิ่มเติมด้วย “


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.