ระบบรถไฟฟ้าเป็นโครงการหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนที่นครใหญ่ ๆ ของโลกต่างให้บริการรับใช้คนในเมืองหลวงกันมานมนานแล้ว
ในบ้านเราเองเวลานี้ก็หยิบเอาโครงการนี้มาใช้บ้างทั้ง ๆ ที่โดยสภาพความเป็นจริงของปัญหาการจราจรควรจะเกิดขึ้นมานานก่อนหน้านี้แล้ว
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เตรียมวางแผนจัดสร้างระบบรถไฟฟ้ามานานแล้วตั้งแต่ปี
2524 โดยให้บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากเยอรมัน DORCH CONSORTIUM มาออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้
ถ้าเป็นประเทศอื่น โครงการนี้ก็คงดำเนินการจัดสร้างไปตั้งนานแล้ว
แต่นี่เป็นประเทศไทย ก็มักจะมีเหตุของความล่าช้าอยู่เสมอ
สาเหตุความล่าช้า จุดใหญ่คงไม่ใช่เพราะอ้างว่าโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่สอดคล้องกับสภาพการจราจร
และภูมิศาสตร์ตั้งบ้านเรือนของกรุงเทพ ดังที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว ความเป็นจริงของมันอยู่ที่วัฒนธรรมการบริหารของราชการไทยที่ยังฝังแน่นกับการลูบหน้าปะจมูกของผู้หลักผู้ใหญ่บางคน
ซึ่งมีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจ
เมื่อทุกอย่างพอจะตกลงกันได้ โครงการนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นจริง ๆ จัง ๆ เสียที
หลังจากรอคอยกันมานานเกือบ 7 ปี!
กลุ่มนักลงทุนที่เข้าประมูลโครงการนี้มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม AEC กลุ่ม LAVALIN
และกลุ่ม FRANCO-JAPANESE
ว่ากันว่าผู้เข้าประมูลทั้ง 3 กลุ่ม วิ่งกันฝุ่นตลบทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้น
เพื่อโน้วน้าวให้กรรมการของการทางพิเศษให้คะแนนความน่าเชื่อถือแก่กลุ่มตน
โครงการนี้มีมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเส้นทางการให้บริการ
2 เส้นทาง คือเส้นทางแรก สายพระโขนง หัวลำโพงและบางซื่อ ความยาว 24 กม. เส้นที่
2 สายสาธร-ลาดพร้าว ความยาว 12 กม.
ปัจจุบันความคืบหน้าของโครงการนี้อยู่ในช่วงการพิจารณาประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินที่กลุ่มทั้ง
3 เสนอมา
กลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกรรมการการทางพิเศษฯ ในการพิจารณาว่ากลุ่มใดจะได้งานประมูลโครงการนี้ไปก็คือ
กลุ่ม THAI AMERICAN TRANSIT ซึ่งเป็นที่ปรึกษาที่การทางพิเศษว่าจ้างมาตามข้อตกลงเงินช่วยเหลือเกือบ
100 ล้านบาทจากรัฐบาลสหรัฐฯ
กลุ่มที่ปรึกษากลุ่มนี้ประกอบด้วยธนาคารแห่งอเมริกา บริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษา
พาร์สันบิกเกอร์ฮอฟ บริษัท ทีดีซีไอ และบริษัทเอซีซีไทย ซึ่งว่ากันว่ามีความสนิทชิดเชื้อกันอย่างมากกับสินธุ
พูนศิริวงศ์ วิศวกรที่ปรึกษาชื่อดังของไทย
กลุ่มบริษัท THAI-AM นี้เป็นตัวตั้งตัวตีอย่างออกหน้าคือ บริษัท เดลู คาร์เตอร์
ที่ผู้ว่าการทางฯ จรัล บูรพรัตน์ เคยทำงานอยู่ด้วยสมัยที่อยู่ที่อเมริกาหลายปีก่อน
โครงการที่มีมูลค่า 40,000 ล้านบาท ใคร ๆ ก็รู้ว่า ต้องมีการวิ่งเต้นกันฝุ่นตลบ
กลุ่ม AEC หรือ เอเชีย-ยูโร อาศัยวอลเตอร์ ไมเยอร์จากบริษัทเบอลี่-ยุคเกอร์เป็นหัวหอกเพราะรู้ว่างานนี้
ไมเยอร์เหมาะสมที่สุดจากขุมข่ายของไมเยอร์ที่รู้จักมักคุ้นอย่างดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายหน่วยงานของรัฐ
ส่วนทางด้านกลุ่มลาวาลินก็ใช่ย่อย การเข้าหาบริษัทการค้าอย่างเอสซีทีในเครือปูนใหญ่
ที่มีเส้นสายโยงใยดุจใยแมงมุมในหน่วยงานรัฐ ก็ยิ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักความได้เปรียบเสียเปรียบในงาน
NETWORKING ให้ดูสมดุลยิ่งขึ้น
สำหรับฐานกำลังหนุนด้านการเงิน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการจับงานประมูลครั้งนี้
ความจริงจุดเริ่มต้นของงานนี้ กลุ่มลาวารินอาศัยบริษัททางการเงิน มอร์แกน
กรีนเฟล เป็นตัวหลักในการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ และให้บริษัทเอสซีทีในเครือปูนใหญ่เป็นตัวประสานงานกับกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ
"ตอนแรกทั้งแบงก์ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และกรุงเทพ ได้ตกลงในหลักการร่วมกันว่าจะเป็น
CO-LEADER ในการเป็นฐานกำลังการเงินหนุนกลุ่มลาวาริน" แหล่งข่าวเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังถึงเรื่องราวก่อนที่จะมีข่าวการแตกตัวออกไปของแบงก์ไทยพาณิชย์
ที่หันไปหนุนกลุ่ม AEC แทน
ส่วนกลุ่ม AEC ใช้บริษัทการเงินวอดล์เล่ย์ เป็นหัวหอกในต่างประเทศอาศัยเครือข่ายของธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้
เป็นตัววิ่งประสานงานหากลุ่มการเงินมาสนับสนุน
จุดแตกตัวของไทยพาณิชย์ออกจากกลุ่มแบงก์ที่หนุนกลุ่มลาวาริน ว่าไปแล้วมีเหตุที่มาเล็กน้อยมาก
แต่ซ่อนเร้นความหมายที่ดูใหญ่เอามาก ๆ ทีเดียว มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่ดูแคลนกันไม่ได้!
เมื่อทางเอสซีทีแจ้งให้ลาวารินทราบว่าแบงก์ไทยชั้นนำ 3 แห่ง คือ ไทยพาณิชย์
กสิกรไทย และกรุงเทพ ยินดีให้การสนับสนุนการเงินแก่โครงการ
จะเป็นเพราะลาวาลินบกพร่องในเรื่องการสื่อสารกับทางมอร์แกน กรีนเฟล ไม่ชัดเจนอย่างไรก็ไม่ทราบแน่ชัด
ปรากฏว่า ทางมอร์แกน กรีนเฟล รีบไปออกข่าวว่าทางกสิกรไทยเป็น LEADER ทางการเงินเพียงผู้เดียว
โดยมีไทยพาณิชย์และกรุงเทพเป็นตัวสนับสนุน
"เรื่องนี้พอข่าวออกไปรู้ถึง ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยพาณิชย์
ซึ่งเป็นตัวหลักของแบงก์ในโครงการนี้ก็ไม่พอใจ เพราะถือว่าข่าวนี้ไม่เป็นไปตามข้อตกลงในหลักการที่จะเป็น
CO-LEADER ร่วมกัน" แหล่งข่าวกล่าว
ทางบริษัทวอดด์เล่ย์ เมื่อรู้ว่าไทยพาณิชย์ไม่พอใจก็เข้ามาจีบทันที เรื่องก็กลายมาเป็นว่าไทยพาณิชย์ไม่เป็นพันธมิตรทางการเงินกับกลุ่มวอดล์เล่ย์ที่หนุน
AEC ไปเสียฉิบ
มันเป็นเรื่องของหน้าตาหรือศักดิ์ศรีจริง ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดการแตกตัวของไทยพาณิชย์จากกลุ่มลาวาลิน