ดนตรีในรัฐเสรีนิยม

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ดนตรีในรัฐเสรีนิยมจะขึ้นอยู่กับกลุ่มคนในรัฐ เกิดการต่อต้านวัฒนธรรมใหญ่ของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยทางดนตรี เกิดวัฒนธรรมดนตรีในลักษณะการเมืองอัตลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ เพศสถานะ ดนตรีในรัฐเสรีนิยมเป็นไปในลักษณะการต่อต้านกระแสหลักและยืนยันตนเองในรัฐ โดยเริ่มศึกษากันตั้งแต่ราวทศวรรษ 70 เป็นต้นมา นักวิชาการกลุ่มแรกๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้คือสำนักเบอร์มิงแฮม ที่เริ่มมองวัฒนธรรมดนตรีในแง่ของการต่อต้าน โดยมองบนฐานวัฒนธรรมย่อยของวัยรุ่นชนชั้นแรงงาน ซึ่งเกิดในสังคมอังกฤษที่มีวัฒนธรรมชนชั้นแรงงานเข้มแข็ง

คนพวกนี้มองวัฒนธรรมฮิปปี้ ที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางในอเมริกาในทศวรรษ 60 อันเป็นวัฒนธรรมกระแสต้าน ที่เชื่อมโยงกับดนตรีร็อกอย่างระแวดระวังในแง่ที่ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้มีลักษณะชนชั้นกลางอยู่ การศึกษาแนวนี้ทำให้ไปเชื่อมโยงกับดนตรีพังค์ เรฟ ฮิพฮอพ หรือเร็กเก้ เป็นภาพวัฒนธรรมดนตรีที่ต่อต้านอุดมการณ์กระแสหลัก

เช่น พังค์ต่อต้านวิถีการผลิตดนตรีแบบทุนนิยม ต่อต้านการเล่นดนตรีที่ต้องเล่นยากๆ ต่อต้านการบริโภคสิ่งที่ผลิตจากบรรษัทใหญ่ ต่อต้านรัฐ ต่อต้านฝ่ายขวา ต่อต้านฝ่ายซ้าย ต่อต้านคติในการใช้ขีวิตแบบปล่อยเนื้อปล่อยตัว ความหลากหลายของการต่อต้านเกิดจากความซับซ้อนของวัฒนธรรม พังค์เอง ที่แตกย่อยเป็นหลายกลุ่มที่ต่างกัน และมุมมองนักวิชาการที่ตีความ

ความไม่สนใจวัฒนธรรมย่อยทางดนตรีบางแนว เช่น เฮฟวี่เมททัลในวงวิชาการ ทำให้มองว่าวัฒนธรรมย่อยทางดนตรีไม่มีพลังในทางการเมืองและการต่อต้านอุดมการณ์กระแสหลัก อาจจะเป็นเพราะดนตรีเฮฟวี่เมททัลไม่มีความเชื่อมโยงกับชนชั้นแรงงานและการต่อต้าน แต่ความจริงแล้ววัฒนธรรมเฮฟวี่เมททัลได้รับความนิยมอย่างมหาศาลในทศวรรษ 80 อาจจะนิยมมากกว่าดนตรีพังค์ในโลกแองโกลอเมริกันด้วยซ้ำ จนพัฒนามาเป็นวัฒนธรรมย่อยที่มีสมาชิกมหาศาลมาถึงปัจจุบัน

การเมืองในดนตรีในรัฐเสรีถูกมองประเด็นอื่นด้วย และเชื่อมโยงกับเพลงเต้นรำในคลับต่างๆ ในอังกฤษ การเมืองในดนตรีชาติพันธุ์ เช่น การศึกษาดนตรีของคนดำในอเมริกา ดนตรีในแอฟริกา ดนตรีเอเชียน ที่มีระบบสุนทรียะทางเสียงต่างจากแนวดนตรีคลาสสิกแบบยุโรปที่มีแบบแผนจริงจัง จนเกิดการถอดถอนอคติของสุนทรียะแบบคนขาว โดยเฉพาะดนตรีแอฟริกันอเมริกัน เช่น ดนตรีแจ๊ซ

ภาพการศึกษาดนตรีกับการเมืองในรัฐเสรีนิยมดูเหมือนปราศจากรัฐ แต่รัฐก็ควบคุมดนตรีเช่นเดียวกับรัฐเผด็จการ แต่มีระดับน้อยกว่าและเป็นแบบอ้อมๆ เช่น องค์กร Parent Music Resource Center ในสหรัฐอเมริกา ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมร่วมมือกับรัฐในการเซ็นเซอร์ดนตรีบางประเภท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.