การควบคุมดนตรีในรัฐเผด็จการ

โดย วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

คิวบา ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 มีนโยบายหวาดระแวงดนตรีแจ๊ซอยู่จนถึงปลายทศวรรษ 70

รัสเซีย ปี 1928 ประกาศว่าใครก็ตามที่นำเข้าหรือเล่นดนตรีแจ๊ซของอเมริกา จะถูกปรับ 100 รูเบิล และติดคุก 6 เดือน

สมัยนาซีเรืองอำนาจในยุโรปตะวันออก มีข้อห้ามวงดนตรีเต้นรำ (dance orchestra) เช่น ห้ามเล่นเพลงในคีย์ไมเนอร์ ห้ามเล่นจังหวะบลูส์ ห้ามเล่นจังหวะยก ห้ามโซโลกลอง ห้ามดีดดับเบิลเบส ห้ามร้องด้นสดแบบฟังไม่ได้ศัพท์ (scal singing) ห้ามเล่นแซกโซโฟน ระบอบสตาลินทำให้เกิดการห้ามเล่นดนตรีแจ๊ซ จนกลายเป็นวัฒนธรรมดนตรีใต้ดินไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักดนตรีแจ๊ซในบางประเทศใช้ช่องโหว่ของฝ่ายบริหารเอาเงินของรัฐมาใช้ผ่านทางสหภาพนักดนตรี

เชคโกสโลวะเกีย ช่วงต้นทศวรรษ 70 ปฏิเสธดนตรีร็อก เนื้อร้อง ชื่อวง ที่เป็นภาษาอังกฤษ และนักดนตรีผมยาว นักดนตรีจำนนต่อรัฐด้วยการตัดผมให้สั้น และร้องเพลงป๊อปสไตล์ยุโรปแบบวง Abba ดนตรีร็อกกลายเป็นดนตรีใต้ดินที่ต้องแอบเล่น เพื่อหลบหนีการรังควานของตำรวจ

โปแลนด์ หลังกฎอัยการศึกในปี 1981 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ละคร และวรรณกรรมอย่างเข้มงวด ดนตรีร็อกกลับได้รับการอนุญาตให้เล่นได้ เพราะเชื่อว่าไม่ส่งผลต่อการเมือง หากกลับเป็นช่องทางให้คนปลดปล่อยความตึงเครียดในรัฐ ด้วยการร้องเพลงด่ารัฐได้ ขณะที่วงดนตรีเปลือยกายโชว์อวัยวะเพศกลางฝูงชนนับหมื่นนั้นรัฐกลับทนไม่ได้ สะท้อนว่าความอนาจารเป็นสิ่งที่สั่นสะเทือนอำนาจรัฐได้มากกว่าข้อความท้าทายการเมือง

ฮังการี ปลายทศวรรษ 70 ไม่ห้ามเล่นดนตรีร็อก แต่ผูกขาดธุรกิจการบันทึกเสียงในประเทศผ่าน Hungarian Record Company ทำให้ถูกควบคุมโดยปริยาย และดนตรีร็อกจากต่างประเทศถูกแบนโดยสิ้นเชิง รัฐยังเก็บภาษีดนตรีที่เห็นว่าไม่มีประโยชน์อย่างแจ๊ซและร็อก ในอัตราที่สูงกว่าดนตรีอื่นๆ 30%

เวียดนาม เมื่อวัฒนธรรมร็อกในเวียดนามใต้ที่เฟื่องฟูไล่เลี่ยกับในอเมริกาได้ยุติโดยสิ้นเชิงในช่วงรวมประเทศปี 1975 ทำให้เกิดตลาดมืดเทปเพลงร็อก ขณะที่การทรงเจ้าและดนตรีพิธีกรรมก็ถูกห้าม แต่ชาวบ้านยังปฏิบัติอย่างลับๆ โดยเฉพาะแถบชนบท ด้วยการลดขนาดวงและความดังของเสียงลง

รัฐเริ่มเห็นศักยภาพในการใช้ดนตรีร็อกช่วงปลายทศวรรษ 70 เป็นต้นมา ดนตรีร็อกและดนตรีแบบอื่นๆ มีลักษณะของความเป็นชาติเวียดนาม ศิลปินร็อกที่ได้รับการยอมรับจากทางการคนแรกๆ สร้างบทเพลงด้วยสเกลท้องถิ่น และเริ่มเปิดรับดนตรีร็อกในทศวรรษ 80 ตามประเทศในยุโรปตะวันออก และสหภาพโซเวียต รูปแบบดนตรีร็อกค่อยๆ หลากหลายขึ้น

จีน ควบคุมดนตรีภายใต้การปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงสูงสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม มีงานดนตรีเพียง 8 ชิ้น ที่รัฐอนุญาตให้ศึกษาในระดับประถมจนถึงการแสดง ได้แก่ อุปรากร 5 ชิ้น บัลเลต์ 2 ชิ้น และเดี่ยวเปียโน 1 ชิ้น สภาวะนี้ดำรงอยู่ 10 ปี จนเหมาเจ๋อตุงตาย และแก๊ง 4 คน ถูกจับได้เมื่อปี 1976

เขมร ปราบปรามดนตรีสมัยนิยมในช่วงเขมรแดง เป็นส่วนหนึ่งของการสังหารหมู่ นักดนตรีสมัยนิยมในเขมรตาย 9 ใน 10 คน ที่เหลือรอดก็ลี้ภัยไปต่างแดนเกือบหมด ทำให้วัฒนธรรมดนตรีสมัยนิยมของเขมรขาดช่วงไปกว่า 20 ปี กว่าที่จะตั้งตัวขึ้นมาได้อีกครั้งในทศวรรษ 90

อิหร่าน ในช่วงปฏิวัติ สิ่งที่จัดว่าเป็น "ดนตรี" ถูกระงับภายใต้แนวคิดศาสนาอิสลาม ภายหลังการปฏิวัติแล้วดนตรีที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกได้ถูกกวาดล้าง หลังการตายของโคไมนีในปี 1989 นโยบายทางดนตรีเปิดเสรีมากขึ้น ในทศวรรษ 90 ดนตรีเริ่มหลากหลายขึ้น แต่ยังคุมเข้ม การสอนดนตรีต้องได้รับใบรับรองจากรัฐ งานดนตรีต้องผ่านการอนุมัติ ซึ่งมีหน่วยงานคอยแยกแยะแนวดนตรี

แอฟริกาใต้ช่วงทศวรรษ 50 รัฐเข้าแทรกแซงอย่างเข้มข้นมาก นักดนตรีแอฟริกาใต้จึงอ้างว่าเนื้อเพลงนั้นเป็นการรายงานข่าว หรือสะท้อนภาพที่เกิดขึ้น ก็ผ่านการเซ็นเซอร์ไปได้ และด้วยการร่วมมือกับนักธุรกิจดนตรีที่สนับสนุนการท้าทายการเมืองในทศวรรษ 70 และ 80 การควบคุมผ่อนคลายลง โดยรัฐยังควบคุมเครือข่ายวิทยุกระจายเสียง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.