|
ดนตรีกับการเมือง
โดย
วิมล อังสุนันทวิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เสียงดนตรีไอริชที่มีต้นกำเนิดมาจากแผ่นดินไอร์แลนด์ทางตอนเหนือของเกาะอังกฤษ แพร่สู่ชาวโลกให้ได้รับรู้ถึงตัวตนและความคับแค้นในยุคอาณานิคมที่ถูกอังกฤษเข้ารุกราน
คนไทยได้มีโอกาสฟังดนตรีไอริชจากฝีมือนักดนตรีไอริชระดับโลกอย่างมิค โมโลนี และเพื่อนที่ร่วมแสดงบนเวทีการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 8 หัวข้อ "ผู้คน ดนตรี ชีวิต" ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยนำเสนอประเด็นมองวัฒนธรรมผ่านการศึกษาดนตรี ขณะที่กระแสการเมืองไทยกำลังเข้มข้น ดนตรีกับการเมืองจึงถูกหยิบยกมาเจาะลึกให้เห็นแก่นแท้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ อันสะท้อนภาพความเคลื่อน ไหวของโลกใหม่ได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
มิคสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและอีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นชาวไอริชที่อพยพออกจากไอร์แลนด์ ปี 1973 เนื่องจากภาวะสงครามระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์ ช่วงนั้นเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็โกรธแค้นชาวอังกฤษไม่ต่างจากเพื่อนร่วมชาติคนอื่น ทว่าเขาเลือกใช้ดนตรีสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจและตัวตนของชาวไอริช ให้ชาวโลกรับรู้ถึงความคับแค้นของชาวไอริชที่ถูกกดขี่ แนวเพลงของเขาและเพื่อนๆ ร่วมวง เลือกที่จะเดินตามแนวทางมหาตมะ คานธี หรือมาติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ เพื่อยืนยันสิทธิมนุษยชนแบบอารยะขัดขืน มากกว่าปลุกเร้าให้คนจับปืนขึ้นสู้ผู้รุกราน
เสน่ห์ของดนตรีไอริชโดยทั่วไปได้สะท้อนถึงสำนึกและสัมผัสของความเป็นชุมชนไอริชว่าเรียบง่ายไม่มีอีโก้ ไม่เหมือนป๊อปมิวสิกที่เป็นปัจเจกเน้นตัวเองให้โดดเด่น เวลาที่เล่นดนตรีจึงสะท้อนและตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ ลึกซึ้ง งดงาม ซึ่งทำให้เขาและเพื่อน รวมไปถึงคนฟังรู้สึกใกล้ชิดกัน
นอกจากนี้ดนตรีไอริชยังเป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีมิติทางด้านสังคมและการเมืองสูงมาก ชาวไอริชใช้ดนตรีระบายความรู้สึกอัดอั้น แค้นเคือง และปลุกเร้าการต่อสู้ เพื่อขับไล่กองทัพอังกฤษที่บุกเข้ายึดครอง ต่อมาชาวไอริชอพยพไปบุกเบิกชีวิตใหม่ในอเมริกา ก็ใช้ดนตรีและการเต้นรำพื้นเมืองเป็นสื่อยึดโยงและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไอริชท่ามกลางกลุ่มชนที่หลากหลาย จนทำให้ดนตรีไอริชเข้าไปมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านอเมริกัน (folk music)
ต่อมาบทเพลงสไตล์นี้ของบ๊อบ ดีแลน และโจแอน เบซ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาหนุ่มสาวทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1960s เพื่อต่อต้านสงคราม ส่วนในประเทศไทย "ดนตรีโฟล์ก" กลายเป็นตัวแทนที่ทรงพลังทางการเมืองนับแต่นั้นเป็นต้นมา และเป็นที่มาของการเกิดแนวดนตรีในป่าหรือดนตรีเพื่อชีวิตที่มีเนื้อหาการต่อสู้ทางการเมืองในเวลาต่อมา
เพลงไอริชนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 60 เป็นต้นมา สะท้อนบริบททางสังคมอันหลากหลาย การแสดงความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ สิ่งเหล่านี้ได้รับการสืบทอดอย่างเข้มแข็งขณะที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เนื้อเพลงสะท้อนภาพการเคลื่อนไหว และจุดยืนในช่วงเวลาต่างๆ ของนักสากลนิยม (internationalism) นักชาตินิยม (nationalism) นิกายทางศาสนา และกระบวนการสันติภาพ
มิคได้รวบรวมประวัติศาสตร์เพลงไอริชตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นอุดมการณ์ชาตินิยม (national ideology) และ "อุดมการณ์นานาชาตินิยม" (internationalist ideology) ซึ่งปรากฏอยู่ในช่วงหลังของประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เป็นช่วง peace หรือ civilize movement ของชาวไอริช
แต่ในที่สุดแล้วดนตรีไอริชก็เป็นเพียงดนตรีชายขอบในอเมริกา และได้แตกตัวออกไปเป็นแนวดนตรีเฉพาะที่มีผลผลิตเป็นไอริชมิวสิก ไอริชแดนซ์ และไอริชผับ ที่สร้างชุมชนคนร่วมเสพสุนทรียะในแนวเพลงที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึก ไม่ต่างจากแนวเพลงเพื่อชีวิตในไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายความว่านับจากศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยาเริ่มมองสังคมผ่านการศึกษาวัฒนธรรมดนตรี จนเกิดเป็นสาขาดนตรีวิทยาชาติพันธุ์ (ethnomusicology) และมานุษยวิทยาการดนตรี (anthropology of music) ซึ่งเกิดขึ้นมาคู่ขนานกับการศึกษาภาษาศาสตร์สมัยใหม่ ภาษาพื้นถิ่น คติชนวิทยา และการศึกษาวัฒนธรรมในบริบท แนวคิดชาตินิยม ประชาธิปไตย และจักรวรรดินิยมแบบใหม่ ดนตรีเริ่มเป็นการเมืองเมื่อมองเห็นชีวิตในดนตรี
ขณะที่สังคมปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ (post-modernism) หรือหลังอาณานิคม (post-colonialism) และอยู่ในภาวะไร้ถิ่นฐาน (deterritorialization) ความสัมพันธ์ทางการเมืองจึงเป็นการครอบงำและต่อต้านที่แยบยล โดยมีสื่อและวัตถุทางวัฒนธรรมต่างๆ เป็นพื้นที่ทางการเมือง
ภาวะเช่นนี้จึงเกิดความเป็นการเมืองของดนตรีขึ้น นอกเหนือจากการเมืองของดนตรีในมิติต่างๆ ทั้งมิติทางชนชั้น ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ เพศสถานะ ถิ่นฐาน และการ เมืองระหว่างรุ่น ดนตรีกลายเป็นภาษาสำคัญของการเมือง
การศึกษาดนตรีเพื่อทำความเข้าใจชีวิตทางการเมือง เป็นกลวิธีในการสร้างสรรค์ทางสังคมในโลกยุคปัจจุบัน เป็นการเชื่อมพรมแดนของการสื่อสารระหว่างสุนทรียศาสตร์ให้เข้าหาสังคมศาสตร์และขยายขอบเขตทางสังคมศาสตร์ด้วยการศึกษาสังคม วัฒนธรรมและการเมือง ในฐานะ ที่เป็นการแสดงสดและสุนทรียรสเชิงมานุษยวิทยา
อธิป จิตตฤกษ์ นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่ามุมมอง "ดนตรีเป็นอันตรายต่อสังคม" เป็นมุมมองที่เก่าแก่กว่าการมองว่า "ดนตรีเป็นภาษาสากล"
เพลโต (Plato) เคยกล่าวไว้ว่าดนตรีเป็นสื่อการศึกษาที่มีพลังที่สุด เพราะดนตรีมีศักยภาพที่จะเข้าไปสู่จิตวิญญาณภายในเหนือสิ่งอื่น ดังนั้นดนตรีที่มีชุดตัวโน้ตหรือ mode ที่ถูกต้องเหมาะสม จะต้องถูกเก็บเอาไว้ในอุดมรัฐ เพราะมันมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนระเบียบสังคมการเมือง ในทางกลับกัน ดนตรีเป็นสิ่งต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง ดนตรีที่มีชุดของเสียงบางชุดประกอบอยู่สามารถสร้างความวุ่นวายให้สังคมการเมืองได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงต้องถูกขับออกไปจากอุดมรัฐ
ขณะที่ขงจื๊อเชื่อว่าดนตรีที่ไหลเวียนอยู่ในรัฐ มีความสัมพันธ์กับสภาวะทางศีลธรรมของคนในรัฐ ความเชื่อดังกล่าวมีนัยว่าดนตรีที่เสื่อมทรามในรัฐ มีความเชื่อมโยงกับศีลธรรมที่เสื่อมทรามของผู้คนในรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่ว่าดนตรีต้องถูกควบคุมโดยรัฐ เพื่อศีลธรรมของคนในรัฐ และสะท้อนในคติเกี่ยวกับคุณค่าทางจริยธรรมที่แฝงอยู่ในตัวโน้ตของวัฒนธรรมดนตรีจีน
การควบคุมดนตรีในรัฐต่างๆ มีกระแสเข้มข้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเวลาศตวรรษที่ 20 ซึ่งหากมองวัฒนธรรมดนตรี ตามลักษณะความเคลื่อนไหวทางสังคมจะแบ่งออกได้ 3 ลักษณะ คือ ดนตรีในรัฐ เผด็จการ ดนตรีในรัฐเสรีนิยม และดนตรี ในยุคโลกาภิวัตน์
การควบคุมดนตรีในรัฐเผด็จการไม่ว่าจะเป็นรัฐแบบฟาสซิสต์ รัฐสังคมนิยม หรือรัฐอิสลาม จะเน้นการควบคุมครอบงำและยับยั้งดนตรีบางประเภท เมื่อวัฒนธรรม ดนตรีต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้านคือเสพดนตรีต้องห้ามในรูปแบบดนตรีใต้ดิน หรือเกิดการเผชิญหน้าที่ทำให้คนเสพคนเล่นต้องติดคุก หรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งปรากฏการณ์ นี้เกิดได้แม้แต่ในโลกเสรีนิยม รัฐเผด็จการแต่ละรัฐมีลักษณะควบคุมครอบงำที่แตกต่างทั้งรูปแบบและความเข้มข้น
ดนตรีที่ล่อแหลมต่ออุดมการณ์ของรัฐเผด็จการ จะถูกควบคุมและปราบปรามเป็นพิเศษ ดนตรีที่มีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมคนดำในสหรัฐอเมริกา เช่นดนตรีแจ๊ซ เป็นสิ่งที่รัฐเผด็จการจำนวนมากหวาดกลัวและปฏิเสธ ในช่วงทศวรรษ 20 และ 30 แจ๊ซถูกแบนในรัฐเผด็จการทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายป่าเถื่อนทำลายอารยธรรมและเป็นเครื่องมือครอบงำทางวัฒนธรรมของอเมริกา
ในช่วงทศวรรษ 70 รัฐเผด็จการหลายประเทศที่หวาดกลัวเกลียดชังวัฒนธรรมและดนตรีจากอเมริกา ได้ออกนโยบายต่อต้านดนตรีร็อก การดำรงอยู่ของ ดนตรีร็อกในยุโรปตะวันออก กลายเป็นการ กบฏและต่อต้านรัฐ บางคนเชื่อว่าดนตรีร็อกเป็นแรงขับเคลื่อนอันหนึ่งที่ทำให้โลกคอมมิวนิสต์ล่มสลาย
ในช่วงทศวรรษ 80 รัฐสังคมนิยม หลายแห่งเปิดรับดนตรีร็อก และนำดนตรีร็อกไปสนับสนุนรัฐ ช่วงใกล้สิ้นสุดสงคราม เย็น รัฐเผด็จการผ่อนคลายนโยบายควบคุม ดนตรีจนใกล้เคียงโลกเสรีนิยม นักดนตรีมีอิสระมากขึ้น แต่นักดนตรีหลายท้องที่ซึมซับเอาสุนทรียะแบบที่รัฐต้องการเข้าไปเต็มที่ พวกเขาแสดงออกในแบบที่รัฐเคยควบคุม ทั้งที่มีเสรีภาพแล้วก็ตาม
เมื่อรัฐสังคมนิยมล่มสลาย ดนตรีมีความหลากหลายมากขึ้น แต่กลับเกิดกรณีเช่นพังค์ในเยอรมนีตะวันออกที่ไม่เคยร้องเพลงเกี่ยวกับการว่างงาน ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของพังค์ในรัฐเสรีนิยม เพราะรัฐสังคมนิยมมีการจ้างงานเต็มที่มาโดยตลอด การล่มสลายของเยอรมนีตะวันออก ทำให้เกิดการตกงาน ในที่สุดพวกพังค์เยอรมนีตะวันออก ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับการว่างงานได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|