|
“บ้านคาร์บอนต่ำ” สิ่งง่ายๆ ที่ทำได้ยากในยุคบริโภคนิยม
โดย
ธารี กาเมือง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบัน "โลกร้อน" กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ใครๆ ก็นิยมนำมาใช้เป็น "ธีมหลัก" ในการทำกิจกรรมประชา สัมพันธ์เพื่อเพิ่ม "ภาพลักษณ์ที่ดี" สังเกตจากหลายๆ บริษัทที่จัดกิจกรรมช่วยลดโลกร้อน อาทิ การนำพนักงานไปปลูกต้นไม้ตามสถานที่ต่างๆ หรือการทุ่มทุนจัดคอนเสิร์ตสร้างกระแสให้ผู้คนในสังคมหันมาใส่ใจลดโลกร้อน จนบางครั้ง "โลกร้อน" ก็กลายเป็นข้ออ้างให้บางหน่วยงานนำไปอธิบายให้ลูกค้าฟังว่า ที่ต้องจ่ายเงินแพงขึ้นก็เพราะภาวะโลกร้อน!
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้คนในยุคย่อโลกมาไว้ในมือนี่แหละ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มความเข้มข้นของกลุ่มก๊าซ ที่เราเรียกรวมกันว่ากลุ่มก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่า "กลุ่มก๊าซ" เพราะประกอบด้วยก๊าซมากกว่า 1 ชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดในบรรยากาศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ส่งผลให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.74 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก
แม้ว่าอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในความรู้สึกของเราคือไม่ถึง 1 องศาเซลเซียส แต่ผลที่เกิดขึ้นกับโลกกลับมีมากมายเกินกว่าจะคาดคิด ที่เห็นจริงเป็นที่ประจักษ์แล้ว เช่น การละลายอย่างรวดเร็วของ Larsen Ice Shelf ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่มีความหนาถึง 700 ฟุต และยาวประมาณ 25 ไมล์ อยู่ที่ในทวีปแอนตาร์กติกา การเกิดไฟป่าที่บ่อยครั้งและรุนแรงปรากฏในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะโลกร้อนกลับทำให้บางพื้นที่แห้งแล้งหนัก เนื่องจากฝนไม่ตกในพื้นที่นั้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไปตกหนักจนเป็นน้ำท่วมในพื้นที่อื่น ตัวอย่างเช่นแถบแอฟริกา ทะเลสาบ Chad Lake เคยเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 4 ประเทศ แต่ปัจจุบันกลับแห้งเหือดไปหมด นี่คือผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่น่าตกใจ
ล่าสุด คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ "ไอพีซีซี" (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้แสดงความเป็นห่วงว่าหากว่าอุณหภูมิทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 1.5-2.5 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มากถึง 30% จะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ประชาชนในทวีปแอฟริการาว 75-250 ล้านคน จะต้องเผชิญกับการขาดน้ำภายในปี ค.ศ.2020 และไม่เกินปีเดียวกันนี้พื้นที่การเกษตรในแอฟริกาที่ต้องอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูก ผลผลิตจะลดลงถึง 50% ส่วนประเทศในเขตหนาวก็จะไม่มีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอีกต่อไป ส่งผลให้หลายๆ ประเทศที่อาศัยแหล่งน้ำจากธารน้ำแข็งละลายมีปริมาณน้ำลดลง ดังนั้น กลุ่มคนยากจนจึงเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน และไม่น่าจะมีทวีปไหนสามารถรอดพ้นจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าอุณหภูมิในทวีปนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ตาม ฉะนั้น ปัญหานี้จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระดับโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบมากขึ้นด้วย
ประเทศไทยของเราได้เล็งเห็นความสำคัญของการหยุดยั้งสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงได้ร่วมลงนามในพิธีสารเกียวโต ซึ่งแม้ไทยจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกบังคับให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็นับว่ามีความก้าวหน้าในการดำเนินการรณรงค์ในการปลุกกระแสเรื่องนี้จนกลายเป็นประเด็นฮิตติดลมบน แต่ปัจจุบันแม้ว่าหลายหน่วยงานจะมีการรณรงค์ให้ร่วมกันลดโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ นานา แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง เรายังนำถุงพลาสติกใส่ของกลับบ้าน แม้จะมีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้ากันอย่างแพร่หลาย เรายังเปิดไฟ ใช้น้ำกันอย่างไม่ยี่หระ เพราะรัฐบาลช่วยจ่าย เรายังกินอาหารเหลือมากมายในจาน เพียงเพราะเรายังมีเงินในกระเป๋าพอที่จะจ่าย...อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ต่างๆ เหล่านี้ก็ยังดีกว่าที่เราจะเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลย เพราะยังพอที่จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ฉุกคิด และหันกลับมาทำตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนตัวผู้เขียนเองในฐานะเป็นนักสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งต้องขอบคุณภาวะโลกร้อน ที่เป็น "โอกาส" ทำให้คนไทยหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอีกครั้งหนึ่ง...
วันนี้ผู้เขียนอยากจะแนะนำหนทางที่เราช่วยกันลดโลกร้อน โดยเริ่มต้นทำที่บ้านของเราเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปปลูกต้นไม้ในสถานที่ไกลๆ หรือไปร่วมชมคอนเสิร์ตปลุกใจที่มีการใช้ไฟฟ้ากันอย่างมหาศาล เพียงแต่เรามาช่วยกันทำบ้านของเราให้เป็น "บ้านคาร์บอนต่ำ" หรือบ้านที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากกิจกรรมของคนในบ้านให้น้อยที่สุด โดยมีหลักการง่ายๆ แต่อาจจะทำยากสักหน่อยเพราะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินเสียใหม่ นั่นคือการมุ่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านและสมาชิกในบ้านของเราให้ได้ใน 4 ประเด็น ดังนี้
"บ้านแห่งต้นไม้... เป็นบ้านไร้มลพิษ... เป็นบ้านพิชิตพลังงาน และเป็นบ้านที่มีการบริโภคอย่างพอเพียง"
บ้านแห่งต้นไม้ ว่ากันว่าต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง สามารถช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงได้ถึง 8 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี การปลูกต้นไม้ในบ้านจึงไม่เพียงช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้คนในบ้านได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพราะสัตว์อื่นๆ เช่น นก แมลงจะเข้ามาให้เราสัมผัสได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ร่มเงาแก่ตัวอาคารเป็นการลดอุณหภูมิภายในบ้าน และลดเสียงรบกวนจากข้างๆ บ้านลงได้อีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบางบ้านที่พอจะมีพื้นดินเหลืออยู่บ้าง ก็มักปูราดพื้นด้วยคอนกรีตหรือกระเบื้องไปเสียแทบทั้งหมด จนไม่มีที่พอที่จะปลูกไม้ยืนต้นใหญ่ๆ ได้ ดังนั้นบ้านใดที่ยังพอมีดินเหลืออยู่ ก็น่าจะลองปลูกต้นไม้เสริมลงไป แม้จะไม่สามารถลงไม้ใหญ่ได้ ก็ลองปรับใช้ไม้พุ่มไทยๆ เรา เช่น กรรณิการ์ แก้ว เข็ม โมก พุดซ้อน นมแมว ประยงค์ หรือไม้เลื้อย เช่น รสสุคนธ์ ชมนาด พวงชมพู พวงประดิษฐ์ พวงแสด อรพิม ฯลฯ แต่หากจะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ก็เลือกไม้ที่จะสามารถผลิดอกออกผลมาเป็นอาหารให้เรากินได้ด้วย เช่น โสน แค กระถิน ชะอม ก็ยิ่งได้ประโยชน์เข้าไปใหญ่
บ้านไร้มลพิษ บ้านเรือนแต่ละหลังคือแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งสิ้น มลพิษที่สำคัญจากบ้าน ได้แก่ ขยะ และน้ำเสีย ซึ่งจริงๆ แล้ว หากเพียงแต่เราและสมาชิกในบ้านใช้เพียงหลัก 2R คือ Reduce คือ ลดการบริโภค และ Reuse คือนำบางสิ่งมาใช้ซ้ำ ก็เท่ากับการลดมลพิษที่เกิดจากบ้านของเราได้ แต่หากบ้านไหนจะแอดวานซ์ไปจนถึงการ Recycle เช่น การนำขยะอินทรีย์จำพวกอาหาร ผลไม้ พืชผัก ไปหมักแปรรูปเป็นปุ๋ยหมุนเวียนกลับมาใส่ต้นไม้ หรือการแยกขวดแก้ว พลาสติก กระดาษ เอาไว้ขายแก่ซาเล้งเพื่อนำไปเข้าโรงงานแปรรูป ก็จะเป็นการช่วยลดภาระการเก็บขนของเทศบาล และยืดอายุของหลุมฝังกลบขยะไม่ให้เต็มไวจนท้องถิ่นต้องวิ่งโร่หาเงินซื้อที่ดินทิ้งขยะใหม่ก่อนเวลาอันควร ที่สำคัญคือ ขยะที่กองสะสมที่หลุมขยะลดลงได้มากเท่าใด เท่ากับเป็น การช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนอันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการหมักหมมของขยะมิให้ล่องลอยขึ้นสู่บรรยากาศไปได้มากเท่านั้น
บ้านพิชิตพลังงาน เมื่อวิถีการดำรงชีวิตของเราไม่สามารถหมุนกลับไปอยู่แบบไม่ใช้ไฟฟ้าและน้ำมันได้ดังอดีต แต่หากเราพยายามใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดในบ้าน จะเป็นตัวช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก เพราะกระบวนการผลิตไฟฟ้าของประเทศเรามีการใช้น้ำมันและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการรสร้างความร้อนในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ดังนั้น การเป็นบ้านพิชิตพลังงาน จึงเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในบ้านให้ใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พ่อแม่จึงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการเป็นต้นแบบช่วยสร้างนิสัยการประหยัดพลังงานแก่ลูก เช่น การแสดงให้ลูกๆ เห็นว่าเราไม่เคยเปิดไฟทิ้งไว้ และต้องคอยเตือนลูกให้ทำเช่นเดียวกันด้วย หรือคนในครอบครัวอาจต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันในการลดชั่วโมงในการดูทีวี เล่นอินเทอร์เน็ต หรือเปิดเครื่องปรับอากาศ แล้วใช้เวลาที่มีเพิ่มมากขึ้นนี้มาทำกิจกรรมร่วมกัน การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไส้ไปเป็นหลอดตะเกียบ การเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของพ่อแม่ได้แล้ว ยังได้คืนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวและยังช่วยชะลอหรือหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ได้สักระยะหนึ่ง...ด้วย
บ้านที่มีการบริโภคอย่างพอเพียง ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าคำว่าอยู่อย่างพอเพียง ไม่ใช่การกลับไปเป็นเกษตรกร แล้วทำนา ปลูกผักหญ้าเลี้ยงตนเอง แต่การอยู่หรือการบริโภคอย่างพอเพียงในความหมายนี้ คือการบริโภคอย่างมีสติ คือคิดก่อนซื้อ ซื้ออย่างเหมาะสมกับฐานะ ซื้อโดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุด และเลือกซื้อสินค้าที่ก่อมลพิษระหว่างการผลิตและหลังการใช้น้อยที่สุด ประเด็นนี้ส่วนตัวผู้เขียนเองเห็นว่าสำคัญมาก เพราะปัจจุบันเรากำลังถูกครอบงำให้บริโภคแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ แม่บ้านหลายท่านตัดสินใจซื้อของมากักตุน เพียงเพราะลดราคา จะสังเกตว่าตู้เย็นบางบ้านเต็มไปด้วยของอัดแน่น โดยไม่ถูกนำมากินมาใช้เป็นเวลานาน จนกลายเป็นของเสียคาตู้เย็นอยู่ก็มาก ของบางอย่างซื้อมาโดยหวังว่าจะมีกำลังผ่อนส่ง แต่ท้ายที่สุดต้องถูกยึดไป เพราะซื้อแพงเกินฐานะ หรือของบางอย่างซื้อเพราะถูกล่อใจด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ยิ่งเราบริโภคมากเกินความจำเป็นเท่าไร ก็เหมือนกับเร่งกำลังการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายให้ใช้ทรัพยากรและปล่อยมลพิษสู่โลกของเรามากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากเราซื้อด้วยเหตุผลอันควร สมฐานะ และเลือกซื้อสินค้าประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือสินค้าที่ได้รับตราฉลากเขียว จึงเป็นการช่วยลดโลกร้อนทางอ้อมที่เกิดผลมากที่สุด และเป็นที่น่าดีใจว่าประเทศไทยของเรากำลังจะมีการดำเนินการติด "ฉลากคาร์บอน" ให้แก่สินค้าต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าบนพื้นฐานของการผลิตที่คำนึงถึงการปล่อยปริมาณคาร์บอนออกสู่โลกในระดับต่างๆ ฉลากคาร์บอนนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5 ฉลากคาร์บอนเบอร์ 1 จะมีพื้นฉลากสีแดง เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด ที่ 10% ฉลากเบอร์ 2 สีส้ม ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 20% ฉลากเบอร์ 3 สีเหลือง ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 30% ฉลากเบอร์ 4 สีน้ำเงิน ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 40% และฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 มีพื้นสีเขียว เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดคือ 50% หากประเทศไทยเราทำเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีฉลากคาร์บอนออกใช้
การเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มที่บ้านของเรา ทั้ง 4 อย่างข้างต้น ฟังดูแล้วน่าจะทำได้ง่าย แต่หลายๆ บ้านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสมาชิกในบ้านได้ เพียงเพราะการไม่สามารถชนะใจตัวเอง หรืออาจใช้วิธีการอันไม่เป็นกัลยาณมิตร เช่น การบังคับ การดุด่าว่ากล่าว ฯลฯ แต่หากสมาชิกทุกคนในบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมกำหนดข้อตกลง ร่วมปฏิบัติ และร่วมติดตามผลที่ได้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมฝังลงเป็นจิตสำนึกที่ดีให้แก่สมาชิกในบ้านทุกคน ลองคิดเล่นๆ ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จากบ้านหลังหนึ่ง ไปสู่บ้านหลายๆ หลัง จนขยายออกไปทั้งชุมชน ทั้งเมือง และทั้งประเทศ เมืองไทยของเราคงเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประเทศใหญ่ๆ ในโลกได้อายบ้าง เพราะถึงแม้คนในชาติจะต่างขั้วเป็นเหลืองหรือแดง แต่ทุกหัวใจก็แฝงไว้ด้วยความรักโลก รักสิ่งแวดล้อม และได้พิสูจน์ให้เห็นจากการจัดการบ้านตัวเองให้เป็นบ้านคาร์บอนต่ำ มิใช่รักแต่เพียงลมปาก หรือตามแฟชั่น ดังที่หลายๆ ประเทศกำลังกระทำอยู่...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|