|
วิถีธนาคารลูกครึ่งยุคใหม่
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ไทยธนาคารและธนาคารทหารไทย จะได้ชื่อว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นคนไทย ทว่าการครอบครองหุ้นส่วนใหญ่โดยต่างชาติ ทำให้ยุทธศาสตร์และวัฒนธรรมใหม่กำลังจะเริ่มต้น
ไทยธนาคาร และธนาคารทหารไทย มีความคล้ายคลึงกันตรงที่มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ไทยธนาคารมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 42.1271% ในขณะที่ธนาคารทหารไทย มีกระทรวงการคลังถือหุ้นจำนวน 33.18%
ทิศทางการดำเนินธุรกิจภายใต้การดูแลจากภาครัฐ ทำให้การตัดสินใจอาจจะไม่รวดเร็ว เฉกเช่นธนาคารพาณิชย์ที่มีเอกชนดูแลเต็มตัว
ปี 2552 เป็นปีที่ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ดำเนินธุรกิจครบรอบ 10 ปีหลังจากที่ธนาคารเกิด จากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน 14 แห่งคือธนาคารสหธนาคาร (UB) และ บริษัทเงินทุน 12 แห่ง รวมเข้ากับ บงล. กรุงไทยธนกิจ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการควบรวมกิจการ 14 สิงหาคม 2541 หลังจากประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540
แต่ด้วยความหลากหลายของผู้บริหารและพนักงานที่มาจากองค์กรหลายแห่ง ทำให้ระบบการทำงานยังไม่เป็นหนึ่งเดียวในช่วงแรก แต่พีรศิลป์ ศุภผลศิริ ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยธนาคาร ในช่วงนั้นบอกว่านโยบายได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ธนาคารจะเน้นโครงสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรม การทำงาน ต้องมีคนที่ทำงาน มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เห็นแก่พวกพ้อง ตรงไปตรงมา
เกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยธนาคารมีรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2549 เริ่มประสบภาวะขาดทุน จำนวน 4,423 ล้านบาท และปี 2550 ขาดทุน 6,928 ล้านบาท และล่าสุดปี 2551 ขาดทุน 1,989 ล้านบาท
การขาดทุนต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ CDO (Collateralised Debt Obligation) เมื่อปี 2548 แต่ได้ขาย ตราสารหนี้ดังกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ในมูลค่ารวม 2,579 ล้านบาท
ด้านธนาคารทหารไทยเริ่มประสบภาวะขาดทุนเช่นเดียวกันในปี 2549 จำนวน 12,292 ล้านบาท และขาดทุนมากที่สุดในปี 2550 จำนวน 43,676 ล้านบาท
และในสถานการณ์วิกฤติการเงิน ที่เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2550 รวมถึงปัญหาซัพไพร์มในการปล่อยสินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพของสหรัฐอเมริกา เริ่มโผล่ให้เห็นมากขึ้นในปี 2551 ทำให้สถาบันการเงินอย่างเลห์แมน บราเธอร์ส ถึงขั้นล้มละลาย และผลพวงของปัญหาได้ลามไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งยุโรปและเอเชีย
แม้ว่าสถาบันการเงินบางแห่งจะอยู่ในภาวะเสื่อมถอย แต่สถาบันการเงินบางส่วนยังแข็งแรง มีกำลังเพียงพอที่จะไล่ล่าซื้อธุรกิจที่อยู่ในภาวะอ่อนแอทั่วโลก จึงทำให้ไทยธนาคารและธนาคารทหารไทย เป็นสถาบันการเงินที่ต่างชาติจับตามองในช่วงนั้น
กลุ่มไอเอ็นจี สถาบันการเงินจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เริ่มเข้ามาเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 2550 เป็นปีที่ธนาคารทหารไทยเริ่มประสบภาวะขาดทุน หลังจากที่การเจรจาประสบความสำเร็จ ทำให้กลุ่มไอเอ็นจีกลายเป็นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 26.41% กระทรวงการคลังถือหุ้นเป็นลำดับที่สอง จำนวน 22.56%
ส่วนกลุ่ม CIMB ผู้ให้บริการทางการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย สนใจเข้าไปซื้อหุ้นในไทยธนาคารและเริ่มเจรจาอย่างเข้มข้นกับกองทุนฟื้นฟูฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อกลางปีที่ผ่านมาและกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้กับกลุ่ม CIMB จำนวน 42.1271% เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่ม CIMB ได้กวาดซื้อหุ้นที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 93.15% จนทำให้มีอำนาจในการบริหารงานเบ็ดเสร็จ หลังจากที่ใช้งบประมาณซื้อหุ้นราว 6 พันล้านบาท
กลุ่ม CIMB เป็นสถาบันการเงินที่ค่อนข้างหน้าใหม่สำหรับนักธุรกิจและคนไทย ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีบริษัทหลักทรัพย์ CIMB-GK ให้บริการอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ตาม
กลุ่ม CIMB เป็นธนาคารที่ให้บริการการเงินครบวงจร (Universal Bank) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บริการสินเชื่อรายย่อย บริการวาณิชธนกิจ การจัดการสินทรัพย์ ประกันภัย ประกันชีวิต และบริการการเงินในรูปแบบธนาคารอิสลาม
การเข้าถือหุ้นหลักในไทยธนาคาร เป็นเป้าหมายหนึ่งที่กลุ่ม CIMB ต้องการขยายเครือข่ายบริการทางด้านการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมือนดังเช่นที่เข้าไปลงทุนในประเทศสิงคโปร์ ประเทศอินโดนีเซีย และล่าสุดคือประเทศไทย
การเข้ามาของกลุ่ม CIMB ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของไทยธนาคาร หลังจากที่สถาบันการเงิน 14 แห่งได้ควบรวมกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2541 จนกลายเป็นธนาคารไทยธนาคาร
กลุ่ม CIMB เริ่มแผนปรับปรุงโครงสร้างภายในองค์กร พร้อมกับรีแบรนด์ธนาคารใหม่ทั้งหมด รวมถึงแผนธุรกิจที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ของไทยธนาคาร ที่คาดหมายกันไว้ว่าจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้
"กระบวนการปรับเปลี่ยนไทยธนาคารจะรวมไปถึงการรีแบรนด์ทั้งหมดของไทยธนาคาร โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในภาษาไทย และ CIMB THAI BANK PUBLIC COMPANY LIMITED ในภาษาอังกฤษ โดยจะมีการเปิดตัวแบรนด์และ Corporate Identity ใหม่ของธนาคารในไตรมาสที่ 2" ดาโต๊ะ ศรีนาเซียร์ ราซัค ประธานบริหารกลุ่ม CIMB กล่าวในวันแถลงข่าวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
หลังจากที่สรุปการถือหุ้นของกลุ่ม CIMB แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 กลุ่มนี้ได้ส่งผู้บริหารเข้ามาวิเคราะห์ธุรกิจราว 15-20 คน ใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนไทยธนาคาร (BankThai's Transformation Program) ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการทำงาน การ cross selling การเพิ่มผลิตภัณฑ์ การพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับเครือข่ายของธนาคาร รวมไปถึงเพิ่มทุนจำนวน 5 พันล้านบาท ซึ่งใช้เวลาราว 3-4 เดือน
ก่อนที่แผนธุรกิจจะถูกปรับเปลี่ยนใหม่เร็วๆ นี้ กลุ่ม CIMB แต่งตั้งให้สุภัค ศิวะรักษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
ดาโต๊ะ ศรีนาเซียร์ ราซัค บอกว่า เขาเชื่อในประสบการณ์ของสุภัคที่จะเข้ามาช่วยบริหารไทยธนาคารให้เติบโตและแข็งแรง เพราะเป็นนักบริหารที่อยู่กับธุรกิจการเงินมานานและมีประสบการณ์เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทยมา 5 ปี
บรรยากาศในงานแถลงข่าวแนะนำสุภัคเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีทีมผู้บริหารของไทยธนาคาร และกลุ่ม CIMB จำนวน 15 คนเข้าร่วมด้วย แต่เป็นผู้บริหารที่ไม่อยู่ในโครงสร้างใหม่
แผนการพลิกฟื้นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน 1 ทศวรรษของไทยธนาคาร พนักงานกว่า 3 พันคนจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานใหม่ของกลุ่ม CIMB ให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คนที่เรียนรู้และปรับให้เข้ากับแผนธุรกิจใหม่ได้ก็สามารถอยู่ได้ต่อไป
ดาโต๊ะ ศรีนาเซียร์ ราซัค บอกว่าวัฒนธรรมในการทำงานของกลุ่ม CIMB เป็นองค์กรสถาบันการเงินมืออาชีพ พนักงานทุกคนต้องทำงานหนัก เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ พนักงานของไทยธนาคารก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการปรับตัว เพราะปัจจุบันพนักงานมีเงินเดือนสูง ฉะนั้นพนักงานจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร
บุคลิกที่จริงจังของดาโต๊ะ ศรีนาเซียร์ ราซัค จะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของไทยธนาคารเป็นไปอย่างเข้มข้น ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่มีแผนลดจำนวนพนักงานก็ตาม แต่ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน กลุ่ม CIMB ที่มีพนักงานทั้งสิ้น 36,000 คนใน 9 ประเทศ เริ่มนำโครงการที่เรียกว่า re-juvenation program โครงการรับอาสาสมัครเพื่อให้พนักงานหยุดทำงานตั้งแต่ 1-6 เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือน สิ่งที่ผู้บริหารสื่อสารเกี่ยวกับโครงการนี้ เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสไปพักผ่อน เปรียบเสมือนไปชาร์จแบตเตอรี่ หลังจากนั้นสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อีก ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าวเป็นการลดต้นทุนธุรกิจได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และอีกเหตุผลหนึ่งให้พนักงานพักผ่อนอย่างเต็มที่เพื่อกลับมาทำงานใหม่ด้วยความกระฉับกระเฉง
โครงการนี้ได้เสนอให้กับไทยธนาคารเช่นเดียวกัน แต่สุภัคปฏิเสธที่จะรับโครงการดังกล่าว พร้อมกับให้เหตุผลว่า ไทยธนาคารอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกิจการ จึงจำเป็นต้องพึ่งพากำลังคนที่มีอยู่ในปัจจุบัน
แม้ว่าไทยธนาคารจะปฏิเสธโครงการไปแล้วก็ตาม แต่ในส่วนของธนาคารสาขาจำนวน 147 แห่งทั่วประเทศ กำลังจะมีการปรับปรุงโดยยึดพื้นฐานโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในอนาคต สาขาที่มีโอกาสสร้างรายได้ก็จะคงอยู่ต่อไป และสร้างสาขาใหม่เพิ่มขึ้น แต่สาขาที่ไม่สามารถสร้างรายได้ตามเป้าหมาย มีโอกาสถูกยุบ ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสและความท้าทายให้กับผู้จัดการสาขา
ส่วนบริษัทในเครือไทยธนาคารมีทั้งหมด 6 แห่ง คือ 1.บริษัทหลักทรัพย์บีที จำกัด 2.บริษัทบีทีประกันภัย จำกัด 3.บริษัทบีทีที่ปรึกษาธุรกิจ 4.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบีที จำกัด 5.บริษัทบีที ลิสซิ่ง จำกัด และ 6.บริษัทบีที เวิลด์ลิส จำกัด
กลุ่ม CIMB มีนโยบายที่จะนำบริษัทหลักทรัพย์บีทีและบริษัทหลักทรัพย์ CIMB-GK รวมเป็นบริษัทเดียวกัน เพราะปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์บีทีดูแลลูกค้ารายย่อย ส่วน CIMB-GK ดูแลลูกค้าองค์กร
สำหรับธนาคารทหารไทยได้มีการปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่ พร้อมกับเปิดตัวผู้บริหารอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้บริหารใหม่ทั้งหมด 6 คน ธนาคารเรียกว่า "ทัพหน้า"
แม่ทัพทั้ง 6 คน เป็นผู้บริหารที่มาจากสถาบันการเงินภายนอกทั้งหมดและเริ่มเข้ามาทำงานปลายปี 2551 ที่ผ่านมา และบางคนเพิ่งเข้ามาร่วมงานได้เพียง 2 วัน ก่อนงานแถลงข่าว ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน
บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารก็มาจากสถาบันการเงินภายนอก เขามาจากธนาคารกสิกรไทยและเริ่มงานกับธนาคารทหารไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 หรือเริ่มงาน 9 เดือนที่ผ่านมา
ผู้บริหารทั้ง 6 คน มาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) 2 คน และมาจากกลุ่มไอเอ็นจี 3 คน
ผู้บริหารทั้ง 6 คน ประกอบด้วย ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจขนาดใหญ่ อายุ 39 ปี เริ่มงานปลายปี 2551
ผู้บริหาร 2 คนที่มาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คือสยาม ประสิทธิศิริกุล อายุ 39 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เริ่มงาน 1 ธันวาคม และถนอมศักดิ์ โชติกประกาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน อายุ 46 ปี เริ่มงานเดือนมีนาคม
ส่วนผู้บริหารจากกลุ่มไอเอ็นจี 3 คน คือมิฮาล ซูเร็ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย อายุ 38 ปี เริ่มงานเดือนมีนาคม 2552 มีประสบการณ์ทำงานอยู่ประเทศโปแลนด์ บาร์ท เฮลเลแมนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารความเสี่ยง อายุ 53 ปี เริ่มงานพฤษภาคม 2551 มีประสบการณ์ทำงานที่เนเธอร์แลนด์และอินเดีย ส่วนไซมอน แอนดรูวส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ อายุ 44 ปี เริ่มงานเมษายน มีประสบการณ์ทำงานที่อังกฤษและออสเตรเลีย
บุญทักษ์บอกว่า ผู้บริหารเหล่านี้มีหน้าที่แปลงวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงและสร้างมาตรฐานให้เป็นระดับสากล ในขณะเดียวกันก็สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
ทีมผู้บริหารใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมงานกับธนาคารทหารไทยมาก่อน เปรียบเสมือนการสร้างแนวคิดใหม่ วัฒนธรรมใหม่ให้กับธนาคารทหารไทย โดยมีเป้าหมายเป็นธนาคารไทยชั้นนำ ให้บริการมาตรฐานสากล
สิ่งที่ธนาคารกำลังพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้กับธนาคารทหารไทย คือเป็นธนาคารไทยที่เข้าใจความต้องการของคนไทย บริหารงาน ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า และธนาคารแบบไทยๆ แม้ว่าผู้ถือหุ้นจะเป็นต่างชาติก็ตาม
แผนธุรกิจของธนาคารทหารไทยไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่มีแนวคิดให้บริการในรูปแบบธนาคารครบวงจร หรือ universal bank ที่มีบริษัทลูกให้บริการที่หลากหลาย อาทิ กองทุน หุ้น ประกันภัย ประกันชีวิต ซึ่งแนวทางให้บริการในรูปแบบที่เรียกว่า cross sale เน้น ให้บริษัทในเครือร่วมมือกันมากขึ้น ทั้งระดับนโยบาย การขาย และการตลาด กลุ่มลูกค้าก็ยังเป็นกลุ่มเดียวกัน คือลูกค้าองค์กรรายใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย
จะแตกต่างจากธนาคารอื่นๆ ใน ส่วนของการเน้นรับเงินฝากเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มร้อยละ 14 ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันมีฐานเงินฝากร้อยละ 7 และในปีนี้ได้คาดการณ์ว่าจะต้องมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจจากลูกค้ารายย่อยร้อยละ 40 และจากค่าธรรมเนียมร้อยละ 35
การปรับระบบการทำงานเริ่มมีการปรับเปลี่ยนหลายด้าน อย่างเช่นธุรกิจสินเชื่อเอสเอ็มอีถูกแยกออกจากบริการสินเชื่อทั่วไปที่อยู่ในสาขา แยกทีมงานชัดเจน เพราะบริการและการดูแลลูกค้ามีความแตกต่างกัน ส่วนธุรกิจสินเชื่อกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมโรงงาน ธนาคารจะดูแลแทน เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลใกล้ชิด ในขณะที่กลุ่มธุรกิจระบบเช่าซื้อ ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าธนาคารจะบริหารเองหรือมอบหมายให้บริษัทอื่นๆ เป็นผู้ดูแล
โลโกของธนาคารทหารไทยยังใช้คำว่า TMB เช่นเดิม และใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของธนาคาร แต่จะเปลี่ยนโทนของสีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสาขาเริ่มทยอยเปลี่ยนป้ายหน้าธนาคารจากทั้งหมด ที่มี 473 สาขา
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธนาคารทหารไทย แม้ว่าจะเริ่มต้นขึ้นแล้วก็ตาม แต่ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรที่จะสื่อสารให้ทั้งลูกค้าได้เข้าใจ และยิ่งกว่านั้นการสื่อสารภายในองค์กรที่มีพนักงานร่วมกว่า 5 พันคน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้พนักงานสามารถเข้าใจบทบาทและหน้าที่ เพื่อนำพาธนาคารให้ไปสู่ระดับสากล
แม้ว่าไซมอน แอนดรูวส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ จะบอกว่าไม่มีการแบ่งแยกวัฒนธรรมการทำงานระหว่างกลุ่มไอเอ็นจีหรือธนาคารทหารไทย แต่สิ่งที่ต้องทำ คือการเปลี่ยนแปลงความคิดของพนักงาน รวมทั้งผู้บริหารให้เข้าใจเป้าหมายเดียวกัน
ธนาคารทหารไทยที่มีทรัพย์สินเป็นอันดับที่ 6 มูลค่า 601,985 ล้านบาท และไทยธนาคารที่มีทรัพย์สินเป็นอันดับที่ 11 มูลค่า 212,376 ล้านบาท กำลังหลอมรวมกระบวนทัศน์ ทั้งผู้บริหารและพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
วิถีธนาคารไทยภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารงานของต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่ จะเปลี่ยนโฉมหน้าการให้บริการการเงินไทยอย่างไร ยังตอบไม่ได้ชัดเจนเท่าใดนักในขณะนี้ เพราะการแข่งขันของยักษ์ใหญ่เพิ่งจะเริ่มต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|