|
GMS in Law...ความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงที่จัดการได้?
โดย
รับขวัญ ชลดำรงกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงสงกรานต์ที่ควรเป็นช่วงเวลาของความชุ่มฉ่ำของการสาดน้ำใส่กันตามประเพณีไทย สำหรับปีนี้กลับกลายเป็นสงกรานต์เดือดที่ร้อนไปทั่วทั้งประเทศและยังส่งผลโดยตรงกระทบออกไปนอกประเทศอีกด้วย จากผลสะท้อนจากการยกเลิกการประชุมระดับภูมิภาคและคู่เจรจา หรือ ASEAN Plus 3 and Plus 6 ที่จัดขึ้นในบริเวณพัทยา
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน ภาคเอกชนจำนวนมากแสดงความเป็นห่วงและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับผลกระทบในการลงทุนจากต่างประเทศ ความเสี่ยง และความไม่สงบทางการเมืองมีผลกระทบเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมมาก ทั้งนี้เพราะความเสี่ยงทางด้านการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องมีการประเมินในการลงทุนในประเทศใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใด ตั้งแต่การดำเนินกิจการขนาดย่อมไปจนถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนในสาธารณูปโภค
ในฉบับนี้ดิฉันจึงขอถือโอกาสนำเสนอการพิจารณาความเสี่ยงทางด้านการเมือง และแนวทางในการจัดการแก้ไข ปัญหาความเสี่ยงดังกล่าวในเบื้องต้น โดยจะนำเสนอให้ครอบคลุมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ทั้งหมด เพื่อให้นักลงทุนต่างๆ ได้พิจารณาประกอบโดยมุ่งเน้นที่จะนำเสนอให้เห็นว่า ในความเสี่ยงนั้นหากจัดการได้ ย่อมนำไปสู่โอกาสได้เช่นกัน ตามหลักการ High Risk High Return
ปัจจัยประกอบการพิจารณาความ เสี่ยงทางด้านการเมือง
ในมุมมองการประเมินของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นมีปัจจัยในหลายด้าน ดังนี้
* ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบการปกครองของแต่ละประเทศ
เนื่องจากการดำเนินการทั้งหมดภายในประเทศย่อมต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบการปกครอง ย่อมเป็นปัจจัยหลักที่ต้องพิจารณา ทั้งในแง่ของระบอบการปกครอง จำนวนพรรคการเมือง สถานการณ์การเมือง และความสงบเรียบร้อยในการดำเนินการปกครองประเทศนั้นๆ นอกจากมุมของการพิจารณาความมั่นคงของระบอบการปกครองภายในประเทศแล้ว ปัจจัยการเมืองภายนอกประเทศ ได้แก่ ความสัมพันธ์ของประเทศดังกล่าวกับประเทศอื่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน
* ความสามารถในการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
ในมุมมองของนักวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว ความเสี่ยงทางด้านการเมืองไม่ได้จำกัดการพิจารณาและประเมินอยู่เพียงด้านของระบอบการปกครองเพียงประการเดียว ด้วยเป็นที่แน่นอนว่าการเมืองและเศรษฐกิจนั้นเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น และส่งผลกระทบถึงกันและกันเสมอ เพราะความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ของประเทศย่อมนำไปสู่นโยบายทางด้านการเมืองของผู้นำแต่ละประเทศเช่นกัน โดยพิจารณาจากความมั่นคงของสถาบันการเงินในประเทศ การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ที่ผ่านมา
* ความพร้อมและความครบถ้วนของระบอบกฎหมายในแต่ละประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศนั้น ถือเป็นกุญแจที่สำคัญที่สุดที่นักลงทุนทุกคนจะใช้เพื่อเปิดเข้าสู่การลงทุนในแต่ละประเทศ ถือเป็นเกราะกำบังของนักลงทุนในการลงทุนแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้นความพร้อมและความครบถ้วนของระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ต้องพิจารณาในด้านความเสี่ยงทางด้าน เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยสะท้อนนโยบายทางด้านการเมืองของแต่ละประเทศต่อการลงทุนต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
การประเมินความเสี่ยงทางด้านการ เมืองของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
จากการพิจารณาผลการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศต่างๆ ใน GMS จากการประเมินโดยสถาบัน Multilateral Investment Gua-rantee Agency: MIGA อันเป็นหน่วยงานสากลที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบของ World Bank เพื่อช่วยให้คำปรึกษาและจัดหาหลักประกันที่เหมาะสมเพื่อรองรับความเสี่ยงทางด้านการเมืองโดยเฉพาะและจากหน่วยงานประเมิน Office National Du Ducroire: ONDD ซึ่งดำเนินการจัดลำดับความเสี่ยงทางด้านการเมืองของแต่ละประเทศตามแนวทางของ Organization for Economic Co-operation and Development: OECD แล้ว แต่ละประเทศในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ประเทศจีนตอนใต้ ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศเวียดนามและประเทศไทยแล้ว ได้มีการจัดลำดับความเสี่ยงของแต่ละประเทศ โดยได้มีการพิจารณาและปรับฐานข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 20091 ดังนี้
สำหรับประเทศกัมพูชานั้นจากการประเมินในแง่ของการลงทุนในด้านของการทำธุรกิจส่งออกนั้น ความเสี่ยงทางด้านการเมืองนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้าง สูงทั้งในแง่ของการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวตั้งแต่ 1-2 ปีขึ้นไปถึงระดับ 6 ซึ่งค่อนข้างสูง
ในแง่ของการลงทุนโดยตรงในการเข้าทำโครงการภายในประเทศนั้น สำหรับความเสี่ยงในด้านการเมืองจากการเกิดสงคราม หรือความเสี่ยงในด้านการยึดคืนทรัพย์สินของโครงการนั้นอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ ที่ระดับ 3 ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบการปกครองของประเทศกัมพูชานั้น กุมอำนาจโดยรัฐบาลของฮุนเซ็นมาเป็นระยะเวลายาว นาน และข้ามผ่านช่วงระยะเวลาความขัดแย้งภายในประเทศไปแล้ว แต่ความเสี่ยงในด้านของการโอนผลประโยชน์หรือผลกำไรที่ได้จากการดำเนินโครงการกลับประเทศนั้นยังมีค่อนข้างสูง
สำหรับการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศจีนนั้นชัดเจน ว่า อยู่ในระดับที่ต่ำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการทำธุรกิจในแง่ของการส่งออกไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา หรือเป็น การเข้าไปลงทุนโดยตรงในประเทศจีน อยู่ระหว่างระดับ 1-2 เท่านั้น ทั้งนี้จะเห็น ได้จากนโยบายที่ชัดเจนของประเทศจีนที่ต้องการเปิดประเทศและต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศในทุกวิถีทางและความก้าวหน้าที่จะเข้าเป็นพี่ใหญ่ในเวทีเศรษฐกิจของประเทศจีน แต่ทั้งนี้ในแง่ของความเสี่ยงในด้านของการยึดคืนทรัพย์สินของกิจการกลับเป็นของรัฐนั้น ยังมีค่อนข้างสูงพอสมควร เนื่องจากรูปแบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนนั้นยังคงเป็นไปในรูปแบบของทุนนิยมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐในบางส่วน ความเสี่ยงในส่วนดังกล่าวจึงยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็อยู่เพียงระดับปานกลางเท่านั้น
ในส่วนของมณฑลส่วนใต้ของประเทศจีน คือบริเวณแคว้นยูนนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนั้น ก็ได้รับการส่งเสริมตามนโยบายของประเทศจีนค่อนข้างมาก ให้เป็นประตูทางเข้าสู่การลงทุนอื่นๆ ในประเทศจีนต่อไปเช่นกัน
สำหรับการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศลาวนั้น ในส่วนของการลงทุนในด้านของธุรกิจทางด้านการส่งออกนั้นยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทั้งในส่วนของการลงทุนระยะสั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะกลางระยะยาว ซึ่งสูงถึงระดับ 7 แต่สำหรับการลงทุน โดยตรงภายในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ในแง่ของความเสี่ยงทางด้านสงครามและ การยึดทรัพย์สินของกิจการโครงการเป็นของรัฐนั้นอยู่ในระดับปานกลางระหว่างระดับ 3-4 แต่สำหรับการโอนผลการดำเนินการกลับคืนสู่ประเทศของตนนั้นก็มีความเสี่ยงสูงถึงระดับสูงสุด คือ 7 เช่นกัน
สำหรับการประเมินดังกล่าวนี้อาจเป็นผลมาจากการที่ประเทศลาวปิดประเทศมาค่อนข้างนาน ประเทศดังกล่าวยังต้องพัฒนาอีกมาก เพื่อให้ระบอบ ของกฎหมายนั้นมีความแน่นอนและเป็นระบบมากขึ้น จึงยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมากในสายตาผู้ประเมิน
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา กฎหมายให้กับโครงการที่ลงทุนในประเทศ ลาวจำนวนมาก ความเสี่ยงดังกล่าวรัฐบาลลาวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อกำจัดความเสี่ยงที่มี ซึ่งมีนโยบายชัดเจนในการเปิดประเทศ และพัฒนาระบบกฎหมายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และให้ความคุ้มครองสิทธิให้แก่นักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ นักลงทุนต้องอาศัยทำความเข้าใจอันดีกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ให้มาก
สำหรับการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศพม่านั้น การประเมินจัดระดับในภาพรวมทั้งหมดนั้นอยู่ในขั้นระดับที่ค่อนข้างสูงทั้งหมดในระดับ 6-7 ทั้งหมด ในทุกแง่มุมของการลงทุนไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนธุรกิจส่งออก หรือการเข้าดำเนินโครงการโดย ตรงภายในประเทศพม่า ทั้งนี้เนื่องจากระบอบการปกครองของประเทศพม่านั้น ยังมีความไม่แน่นอน และความไม่สงบอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งอยู่ในการเฝ้าระวังของนานาประเทศอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะประเด็นการใช้อำนาจเผด็จการ ทหาร และการต่อต้านของอองซานซูจี ประกอบกับปัจจุบันนโยบายของประเทศ พม่านั้นยังค่อนข้างปิด ไม่ได้มีนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่ชัดเจนเท่าใดนัก
สำหรับการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศเวียดนามนั้นเห็นว่ามีแนวโน้มที่ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะนี้ โดยภาพรวมแล้วอยู่ในระดับปานกลางเกือบทั้งหมด คืออยู่ระหว่างระดับ 2-5 ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และเป็นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ประกอบกับนโยบาย การเปิดประเทศ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเมืองของเวียดนามมีเสถียรภาพมาก เนื่องจากมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเพียงพรรค การเมืองเดียว ผูกขาดการชี้นำ นอกจากนี้กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศในประเทศเวียดนามนั้นก็เป็นระบบค่อนข้างมาก
สำหรับการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงของการประเมินดังกล่าวนั้น ประเทศไทยมีความเสี่ยงในด้านการเมืองอยู่ในระดับที่ดีมาก คืออยู่เพียงระหว่างระดับ 1-4 เท่านั้น ซึ่งแน่นอนย่อม สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาในประเทศได้อย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม หลังจาก เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แน่นอนว่าความเสี่ยง ในด้านการเมืองของประเทศไทยย่อมต้องมีการปรับระดับกันอีกครั้ง
PRI วิธีการแก้ไขความเสี่ยงทางด้าน การเมือง
ความเสี่ยงทางด้านการเมืองนั้น แม้เป็นความเสี่ยงที่หนักหนาและเป็นภัยที่อาจนำไปสู่การคุกคามต่อเศรษฐกิจของ แต่ละประเทศได้ ความเสี่ยงดังกล่าวนั้นสามารถแก้ไขได้ โดยอาจดำเนินการโดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนิน โครงการดังกล่าวในประเทศนั้นๆ อย่างละเอียดและติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุนและรัฐบาลของแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของการแก้ไขความเสี่ยงดังกล่าวอีกวิธีหนึ่ง โดยการใช้เครื่องมือทางด้านการประกันภัยจากหน่วยงานหรือสถาบันนานาชาติต่างๆ ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Political Risk Insurance (PRI) ที่มีบริการให้แก่นักลงทุน ซึ่งครอบ คลุมความเสี่ยงในหลายแง่มุมและสามารถ นำไปใช้ได้สำหรับรูปแบบธุรกิจที่แตกต่าง กัน
หน่วยงานหนึ่งที่มีการเสนอบริการ PRI นี้ ในลักษณะสากล คือ MIGA ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งของ World bank หรือในประเทศไทยเอง สำหรับนักลงทุนจากประเทศไทย ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เองก็มีนโยบายที่ชัดเจนในการเสนอ บริการ PRI ให้กับนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
รูปแบบการให้บริการ PRI โดยทั่วไป
จากการศึกษารูปแบบการให้บริการ PRI โดยทั่วไปนั้น มีกรมธรรม์ประกันสำหรับความเสี่ยงทางด้านการ เมือง แบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ
-ความเสี่ยงจากข้อจำกัดในการโอนผลกำไรหรือผลจากการประกอบการกลับประเทศ (Transfer Restriction Risk) ประกันนักลงทุนจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอันเกิดจากผลการประกอบการเพื่อส่งเงินดังกล่าวกลับสู่ประเทศ host country ได้
-ความเสี่ยงจากการยึดทรัพย์สินในกิจการเป็นของรัฐ (Expropriation Risk) ประกันนักลงทุนจากการกระทำของรัฐบาล ที่จะลิดรอนหรือยึดคืนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิเหนือทรัพย์สินในโครงการ ยกเว้นการยึดคืนโดยใช้มาตรการสุจริตและไม่เลือกปฏิบัติ
-ความเสี่ยงจากสงครามและความขัดแย้งภายใน (War and civil disturbance Risk) ประกันความเสียหายที่เกิดจากการประกาศสงครามหรือความขัดแย้งภายใน รวมถึงการก่อกบฏ การก่อการร้าย
-ความเสี่ยงจากการละเมิดสัญญาของรัฐบาล (Breach of Contract Risk) ประกันความเสี่ยงจากความสูญเสียที่รัฐบาลละเมิดหรือยกเลิกสัญญากับนักลงทุน โดยนักลงทุนต้องทำการยื่นเรื่องเพื่อระงับข้อพิพาทตามกระบวนการที่กำหนดไว้ และจะได้รับค่าเสียหายจากคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
เงื่อนไขและข้อตกลงในการเข้าทำสัญญาประกัน PRI
นักลงทุนประเทศไทยสามารถดำเนินการเข้าทำสัญญาประกันภัย PRI กับบริษัทหรือหน่วยงานสากลต่างๆ ที่เสนอบริการ PRI ได้โดยตรง สำหรับการประเมินส่วนของเงื่อนไขและข้อตกลงของการดำเนินการสำหรับแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของค่าเบี้ยประกันนั้น ขึ้นอยู่กับการคำนวณความเสี่ยงจากทั้งความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศที่จะเข้าลงทุนและความเสี่ยงของแต่ละโครงการเองประกอบกัน ส่วนของระยะเวลานั้น โดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 15-20 ปี และนักลงทุนสามารถเลือกรูปแบบกรมธรรม์เป็นประเภทรวมหลายประเภทเข้าด้วยกันได้
ต้นทุนในการเข้าทำ PRI...ปัจจัยที่ต้องพิจารณา
แม้ว่าการประกันด้วยบริการ PRI จะสามารถแก้ไขความเสี่ยงทางด้านการเมืองให้แก่นักลงทุนได้ระดับหนึ่ง แต่บริการดังกล่าวนั้นเป็นการก่อต้นทุนให้แก่การลงทุนในโครงการเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว เป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญมาก อาจมากกว่าต้นทุนในด้านอื่นๆ หลายเท่า และอาจนำไปสู่ความไม่คุ้มค่า หรือขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการโครงการต่างๆ ของนักลงทุนได้ จึงต้องมีการพิจารณาประเมินความเสี่ยงของแต่ละประเทศให้ชัดเจนและพิจารณา Cost-Benefit Analysis อย่างครบถ้วนก่อน
การทำความเข้าใจศึกษาความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศนั้นๆในทางลึกที่ชัดเจนกับการทำความเข้าใจกับระบบและกระบวนการของหน่วยงานรัฐบาล การปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศก็เป็นสิ่งจำเป็นและจะเป็นวิธีการที่สามารถจะทำได้เช่นกัน ในการลดและขจัดปัญหาความเสี่ยงทางด้านการเมืองได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน
กล่าวโดยสรุป ความเสี่ยงทางด้านการเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนในโครงการต่างๆ ต้องพิจารณาก่อนการตัดสินใจลงทุนในประเทศต่างๆ ซึ่งสำหรับการลงทุนในประเทศกลุ่ม GMS นั้น ถือว่ามีความแตกต่างและหลากหลายของระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
สำหรับการขจัดหรือบรรเทาความเสี่ยงทางด้านการเมืองนั้น แม้ปัจจุบันสถาบันนานาชาติ และบริษัทประกันภัยต่างๆ จะนำเสนอบริการ PRI ให้แก่นักลงทุนจำนวนมากแล้ว แต่การตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์ทางด้านการประกันต่างๆ นั้นเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับโครงการขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ความเข้าใจในระบอบการปกครองของแต่ละประเทศ รวมถึงการประเมินความเหมาะสมและความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน ย่อมเป็นวิธีการที่นักลงทุนทุกคนต้องทำประกอบไปด้วย จึงจะสามารถแก้ไขบรรเทาความเสี่ยงทางด้านการเมือง ได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับประเทศไทยนั้นเนื่องจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ อาจนำไปสู่การลดระดับของความน่าเชื่อถือทางด้านการเมือง และเพิ่มระดับความ เสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศไทยให้สูงขึ้น ซึ่งย่อมนำไปสู่ภัยคุกคามแก่เศรษฐกิจของประเทศไทยอีกส่วนหนึ่งด้วย
แม้นักลงทุนต่างประเทศจะมีวิธีการในการแก้ไขหรือจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้บางส่วน แต่สำหรับผลกระทบร้ายแรงที่เกิดกับประเทศไทย ภัยและความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถจัดการได้ง่ายเหมือนกับนักลงทุน ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสามัคคีกัน เพื่อความอยู่รอดของประเทศต่อไป
หมายเหตุ: 1www.pri-center.com
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|