Eyewitness: American Economy in Collapse (No.6)


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณจะรู้สึกอย่างไร หากชีวิตในวัยเยาว์ของคุณต้องผ่านช่วงเวลาที่ลำบากยากแค้นในยุคหลังสงครามที่เศรษฐกิจตกต่ำถดถอยทั่วโลก ต่อมาชีวิตในวัยชรา กลับต้องนั่งมองลูกหลานเผชิญชะตากรรมชนิดที่เรียกว่า "เดจาวู (deja vu)"

ยุคเกรท ดีเพรสชั่น (The Great Depression) ที่เศรษฐกิจตกต่ำถดถอยทั่วโลก เริ่มต้นในปี ค.ศ.1929 สิ้นสุดช่วงทศวรรษ 30 บางประเทศใช้เวลายาวนาน ถึงต้นทศวรรษ 40 กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนสู่ปกติ ชาวอเมริกันในยุคปัจจุบัน จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อความอยู่รอดจากผู้มีประสบ การณ์... ต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ชาวอเมริกันที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวในยุคเกรท ดีเพรสชั่น โดยจอยส์ วอดเลอร์ จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์

เริ่มด้วยโทมัส มูน วัย 87 อดีตวิศวกรไฟฟ้า ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมืองฮันท์วิลล์ รัฐแอละบามา ที่ห่างจากเมืองนิว โฮปที่เขาใช้ชีวิตในวัยเยาว์เพียง 20 ไมล์ โทมัสเป็นหนึ่งใน 6 พี่น้อง เขาเติบโตในครอบครัวที่เช่าที่ดินทำกินและจ่ายค่าเช่าด้วยผลผลิตที่ได้ หรือที่เรียกว่า แชร์ครอป เปอร์ (sharecropper) เขาจำได้ว่าเขาเริ่มต้นทำงานในไร่ตั้งแต่อายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของเกรท ดีเพรสชั่น เขาได้ค่าแรงวันละ 50 เซ็นต์ ต่อมาพออายุครบได้ 17 ปี เขาเข้าร่วมกองทัพเรือและเข้าร่วมต่อสู้ในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2

เขาจำได้ถึงชีวิตในวัยเด็กว่า บ้านของเขามีเตาผิงในบ้านสำหรับสร้างความอบอุ่นในยามหนาว และเตาถ่านในครัวสำหรับหุงหาอาหาร และมีตะเกียงลาน 2 ดวง ในห้องนั่งเล่นที่มีเตาผิง มีเตียงนอนอยู่ 2 เตียง เมื่อถึงฤดูหนาว บรรดาไก่ที่เลี้ยงไว้จะพากันเข้ามาหลบอากาศที่หนาวเย็นในห้องใต้ดิน "ถ้าเราต้องการไก่ เราก็เปิดแผ่นไม้กระดานและจับไก่มาทำอาหาร และใช้ทุกส่วนของไก่ ไม่มีการโยนทิ้ง ตีนไก่ใช้ทำซุปแสนอร่อย กึ๋นไก่เป็นส่วนที่อร่อยที่สุด ขนไก่ขนห่านเราก็เอามาทำที่นอน ถ้าต้องการขนห่านก็ถอนขนจากห่านเป็นๆ จากนั้น 2-3 เดือนขนห่านก็จะงอกขึ้นมาใหม่"

เมื่อฤดูร้อนมาเยือน โทมัสนำอ่าง อาบน้ำที่จุน้ำได้ประมาณ 20 แกลลอนวางบนนั่งร้านเล็กๆ ใกล้ๆ กรงไก่และคลุมด้วยผ้ากระสอบรอบๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว ทุกเช้าเขาจะเติมน้ำในอ่าง และความร้อนจากพระอาทิตย์ทำให้น้ำอุ่น "พวกเราก็มีน้ำอุ่นอาบ พวกเราอาบน้ำอาทิตย์ละครั้ง"

ยามหิวก็เดินเข้าป่าที่มีผลไม้แบรี่นานาพันธุ์ ในฤดูหนาวจะมีผลพีคาน ผลวอลนัทให้เก็บ "อึ่งอ่าง พวกเรายังเคยกินมา แล้ว เป็นอะไรที่อร่อยมาก รวมทั้งกระรอก กระต่าย พวกเราก็เคยกิน" แต่เขาไม่แนะนำให้ลองตัวพอสซั่ม (Possum) เจ้าตัวที่คล้ายหนูตัวใหญ่แต่มีกระเป๋าหน้าท้อง เขาเล่าว่าปู่ของเขาเคยนำพอสซั่มมาทำอาหาร เมื่อเปิดเตาอบ เขาเห็นเจ้าพอสซั่ม ปากอ้าจ้องเขา และเมื่อเขาได้ลิ้มลองครั้งแรก ได้กลายเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

สำหรับแอนนี่ เพซซิลโล มูน วัย 87 ปี ภรรยาของโทมัส ผู้เติบโตในเมืองทางตะวันออกของแมนฮัตตันในครอบครัว ที่ย้ายถิ่นมาจากอิตาลี เธอมีพี่น้องทั้งหมด 12 คน แต่อยู่รอดเพียง 9 คน พ่อของเธอเป็นคนขับรถบรรทุกส่งผักผลไม้ในพื้นที่ที่มี มาเฟียคุม "ถ้าคุณไม่จ่ายเงินให้พวกมาเฟีย พวกเขาจะยิงคุณ ฉันเดาว่า พ่อฉันจ่าย" แอนนี่เล่าถึงบรรยากาศอันตึงเครียดในอดีต เมื่อวัย 13 ปี เธอต้องออกไปขายถุงตามท้องถนน จากนั้นต้องออกจากโรงเรียน มัธยม เพราะไม่มีเงินพอที่จะเรียนต่อ เธอเข้าทำงานได้ค่าจ้างวันละ 50 เซ็นต์ที่ร้าน Woolworth's

แอนนี่เล่าถึงบ้านของเธอที่เธอเติบโต ว่าเป็นบ้านที่ไม่น่าอยู่เท่าไร มี 3 ห้องนอน 1 ห้องครัว ไม่เคยมีห้องนั่งเล่น ไม่เคยมีรูปภาพแขวนบนผนัง "พี่สาวฉันนอนที่ปลายเตียง ฉันนอนที่หัวเตียง"

เพื่อประทังชีวิตเธอต้องเข้าไปขอตั๋วแลกอาหาร ซึ่งเป็นขนมปังและขนมเค้ก เก่าๆ เหม็นหืน จากแม่ชีในบ้านมาดอนนา ที่เป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์คาทอลิก เธอบอก ว่าพ่อของเธอไม่เคยรู้เรื่องนี้ สำหรับช่วงเวลาคริสต์มาส บางครั้งเธอและพี่น้องจะได้ผลไม้ที่มาจากลังที่แตก "พวกเราไม่เคย ได้รับของขวัญ"

"ถ้าไปที่บ้านมาดอนนา เขาจะพาพวกเราขึ้นรถบัส และมุ่งตรงไปที่ที่พวกเรา เรียกว่าบ้านคนรวย ฉันไม่คิดว่าจะเป็นบ้าน คน น่าจะเป็นคลับเฮาส์มากกว่า ในบ้านจะมีโต๊ะที่เต็มไปด้วยของเล่น เราจะหยิบได้โต๊ะละหนึ่งชิ้น และก่อนกลับ พวกเขาจะให้คูปองเราไปแลกรองเท้าใหม่ได้คนละ หนึ่งคู่ที่โรงงานเอนดิคอทท์ จอห์นสัน"

นอกจากนี้เธอยังเล่าการพบรักกับสามีของเธอ เมื่อครั้งที่พี่สาวของเธอชวนไปเล่นสเกตในคืนก่อนคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันที่เธอพบนายทหารเรือโทมัส ขณะนั้นเธออายุได้ 21 ปี" เขาไม่เคยเล่นสเกตมาก่อน เขาหกล้ม ล้อทับนิ้วตัวเอง เขาบอกเขากำลังอยู่ในห้วงแห่งความรัก เขาเลยไม่รู้สึกเจ็บ"

ส่วนเมอร์ลิน เนลสัน วัย 87 ปีแห่งนิวยอร์ก เป็นอีกคนที่เคยผ่านความยากแค้นมาแล้ว เมอร์ลินเติบโตในเมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อเขาเป็นชาวไร่จากนอร์ทดาโคตา ย้ายมาทำงาน ด้านอสังหาริมทรัพย์ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี ค.ศ.1933 ระหว่างเศรษฐกิจถดถอย เมอร์ลินอายุได้ 11 ปี ธุรกิจภาคอสังหาฯล้มครืน พ่อของเขาต้องแลกเปลี่ยนที่ดินและบ้านในซานเบอร์นาดิโนกับบ้านหลังเก่าๆ และที่ดินอีกเล็กน้อยในเมืองซาเลม รัฐโอเรกอน เพื่อเริ่มต้นฟาร์มเลี้ยงไก่

ช่วงเวลาฉลองคริสต์มาสของครอบครัวเนลสัน พ่อของเขาจะขับรถเชฟโรเลตรุ่นปี 1930 ลงเขาไปตัดต้นสนมาหนึ่งต้น โหลดขึ้นหลังคารถ จากนั้นก็เก็บดอกไม้ ใบไม้ ลูกสน ที่หล่นร่วงตามทาง เพื่อประดับต้นคริสต์มาส นอกจากนั้นยังมีข้าวโพดคั่วที่ร้อยเป็นเส้นยาว ประดับร่วม กับผลไม้ต่างๆ เมื่อฤดูร้อนมาถึง พวกเขาจะช่วยกันซ่อมแซมบ้านหลังนี้ ทุกอย่างต้องทำกันเอง เริ่มจากยกตัวบ้านขึ้นเพื่อจะสร้างห้องใต้ดินด้านล่าง พวกเขามีเพื่อนบ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ "คนสมัยก่อนสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แทบจะไม่ต้องใช้เงินเลย" ในอดีตทุกอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

พ่อของเมอร์ลินมีความคิดเลี้ยงไก่พันธุ์โรดไอแลนด์เรด โดยสร้างเล้าไก่ขนาด 200-300 ตัว เขาทำรังที่มีหลุมให้ไก่ และติดป้ายไม้ไว้ด้านหน้าของรังไก่แต่ละตัว เมอร์ลินจะทำหน้าที่ตรวจตราว่าไก่ตัวไหนออกไข่หรือไม่ ถ้าออกไข่ เขาจะเขียนเครื่องหมายบวกไว้ที่ป้าย แต่ถ้าไม่ออกไข่ เขาจะเขียนเครื่องหมายลบไว้ จากนั้นรออีกสองสามวัน ตัวไหนที่ยังไม่ออกไข่ก็จะถูกนำไปขาย หรือไม่ก็กลายเป็นอาหารเย็น ของครอบครัวเนลสัน ซึ่งเขาเป็นผู้ลงมือ จัดการเอง "ไก่ตัวผู้ พวกเราจะไม่เก็บไว้ พวกเราขายหมด ฉันก็เอามาตัดหัว ถอนขน เอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย" ปัจจุบันเมอร์ลินเกษียณอายุจากตำแหน่งผู้บริหารของบริษัท ผลิตเครื่องสันทนาการอเมริกัน แมคชีน แอนด์ เฟาน์ดรี

เกลดี้ส์ โคล์ วัย 74 ปี แห่งเมืองโนโคมิส รัฐฟลอริดา เธอเกิดช่วงกลางของ เกรท ดีเพรสชั่น ที่เมืองฮาร์ดฟอร์ด พ่อของเธอเป็นวิศวกรเครื่องยนต์ในโรงงานผลิตภัณฑ์นมของที่นั่น แม่ของเธอดูแลบ้านที่แบ่งส่วนหนึ่งให้เช่า

เธอเล่าว่าแม่ของเธอไม่เคยทิ้งสิ่งของใดๆ เลย ถ้าผ้าปูที่นอนขาด เธอก็จะตัดและเย็บต่อกับผืนอื่น ทำเป็นผืนใหม่ คนเช่าในสมัยก่อนไม่เรื่องมากเหมือนคนสมัยนี้ เธอจะปะชุนซ่อมแซมผ้าขนหนูที่เก่า และผืนไหนที่ขอบขาดรุ่ย เธอจะตัดขอบทิ้ง และทำเป็นผ้าถูตัว ส่วนผ้าปูที่นอนเก่าแต่ไม่ขาดก็จะตัดเป็นเส้นๆ และนำมาถักทอเป็นผ้าห่มผืนใหม่ ถ้าต้องการเพิ่มสีสันก็จะนำเส้นผ้าที่ตัดมาจากเสื้อผ้าเก่าๆ ทอแทรกเข้าไป

ในยุคนั้นไม่มีใครซื้อเสื้อผ้าจากห้าง ร้าน แต่จะซื้อผ้าราคาถูกมาตัดเย็บสวมใส่กันเอง ถุงเท้าขาดก็ปะชุนกันง่าย เพราะทำจากผ้าฝ้าย ต่างจากถุงเท้าสมัยนี้ที่ทำจากใยสังเคราะห์ นอกจากนั้นแม่ของเกลดี้ส์ยังทำกรอบรูปเปเปอร์มาเช่ สำหรับใส่รูปสวยๆ ที่ตัดมาจากแค็ตตาล็อกของห้างเซียร์ที่ได้มาฟรี "พวกเขารีไซเคิลทุกอย่าง ฉันจะบอกให้ ทุกอย่าง" ปัจจุบัน เกลดี้ส์เกษียณอายุจากอาชีพครูและเจ้าหน้าที่สอบสวนประกัน

แอนนา เจน นิโคลัส วัย 87 ปีแห่งโอคมอนท์ รัฐเพนน์ซิลเวเนีย มีชีวิตวัยเด็กที่โชคดีกว่าอีกหลายคน จากที่เธอวิเคราะห์จากตัวเลขสถิติของครอบครัวของเพื่อนร่วมชั้นของเธอจำนวน 40% ไม่สามารถซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้ลูกได้ แต่พ่อของเธอสามารถรักษางานที่โรงงานเหล็กในเมืองแกรี่ รัฐอินเดียนาไว้ได้ตลอดระยะเวลาเกรท ดีเพรสชั่น กระนั้น ครอบครัวของเธอใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมาก แม่ของเธอตัดเย็บเสื้อผ้าและผ้าม่านด้วยตัวเอง แม้กระทั่งผ้าคลุมเก้าอี้ เธอจะปูโต๊ะหลังบ้าน ด้วยผ้ากระสอบและตั้งอาหารสำหรับผู้คนที่ย้ายถิ่นมาหางานทำ

"แม่ของฉันเป็นผู้หญิงที่ใจดีมาก ถ้าวันไหนเธอทำขนม เธอจะเอาไปวางที่โต๊ะหลังบ้านเสมอ บางครั้งเราได้รับข้อความเล็กๆ ว่า ขอบคุณ คุณผู้หญิง"

"มีหญิงคนหนึ่งเดินเข้ามา ซึ่งฉันประหลาดใจมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย หญิงคนนั้นพูดว่าขนมปังขิงของเธออร่อยมาก เธอถือเศษกระดาษที่เหมือนว่าฉีกมาจากถุงใบหนึ่งมีข้อความว่าฉันชอบทำขนมปังขิงเสมอ และขนมปังขิงของคุณอร่อยมาก" เป็นความทรงจำในวัยเยาว์ของ แอนนาต่อน้ำใจของผู้คนที่มีต่อกันในยามยาก

ปีเตอร์ จี โฮลเดน วัย 92 ปี แห่งนิวยอร์ก ผู้ทำงานให้แก่สวนสาธารณะเมือง นิวยอร์กนานถึง 35 ปี และยังใช้ชีวิตอยู่ใน เมืองแมนฮัตตัน เขาเติบโตที่เมืองรัฐนอร์ท แคโรไลนา ที่ซึ่งแม่ของเขาเป็นภารโรงของ มหาวิทยาลัยนอร์ม แคโรไลนา สเตรท

ส่วนพ่อของเขาเป็นคนงานก่ออิฐ เสียชีวิตขณะที่ปีเตอร์มีอายุได้เพียง 7 ปี เขาจำได้ว่าบ้านที่เขาเติบโตมามีไฟฟ้าใช้ แต่ไม่มีน้ำใช้ ถ้าจะใช้น้ำ เขาจะต้องไปตักจากบ่อน้ำของเพื่อนบ้านที่อยู่ไกลออกไปและลากกลับมาที่บ้าน

เขาจำได้ดีถึงความรู้สึกที่ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะผิวดำหรือผิวขาว "ปู่ของฉันมีสวน และท่านจะนำผัก มาให้เพียงพอสำหรับ 2-3 วัน ข้าวโพดหรือ มะเขือเทศ อะไรก็ตามที่ออกผลในฤดูกาลนั้น และพวกเราจะแบ่งปันกัน บางทีพวกเราจะทานถั่วต้มเกลือใส่หมู อาทิตย์ละ 4 ครั้ง ส่วนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เราจะได้ทานอาหารดีๆ แม่ของฉันจะนำสเต๊กที่ราคาอาจจะประมาณ 25 เซ็นต์ต่อปอนด์กลับมาบ้าน แม่ได้ค่าจ้างอาทิตย์ละ 8-9 เหรียญ ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งอาทิตย์ ยังมีเหลือเก็บด้วยเล็กน้อย"

แต่แล้วสถานการณ์พลิกผัน ครอบ ครัวต้องแยกจากกัน เมื่อแม่ของเขาถูกให้ออกจากงานที่ทำอยู่ ต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำที่เมืองอื่น แม่ของเขาพาน้องสาว ไปด้วย ขณะที่เขาต้องอยู่ที่นี่ต่อไปเพื่อเรียนหนังสือ ปีเตอร์สำเร็จมัธยมปลายในปี ค.ศ.1934

"แม่ของฉันบอกพวกเราเสมอว่า พวกเธอสามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเป็นได้ อย่ามาบอกฉันว่า เธอไม่สามารถเป็นนี่ได้ และพวกเขาไม่ยอมให้ฉันเป็นนั่น" ซึ่งหลังจากจบมัธยมปลาย ปีเตอร์ไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จนกระทั่งแม่ของเขาส่งเงินจำนวน 10 เหรียญมาให้ พร้อมข้อความว่า "ลูกชาย เธอจงนำเงินนี้ไปที่วิทยาลัยเซนต์ออกัสทีน ลองดูว่าเขาจะไม่รับเงินก้อนนี้เป็นเงินดาวน์ และถ้าเขาไม่รับ ก็ให้ส่งเงินกลับมาให้แม่ และแม่จะกลับมาตีเจ้าให้น่วม" ซึ่งเขาได้ทำตามที่แม่สั่ง เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี ค.ศ.1938 "เป็นอย่างที่แม่เคยพูดไว้ ถ้าเธอต้องการจะทำอะไรสักอย่างจริงๆ เธอสามารถทำได้"

จากต่างที่ ต่างถิ่น หากแต่ทุกคน ในที่นี้ต่างมีประสบการณ์ในวัยเยาว์ร่วมกัน เมื่อวันเวลาผ่านไป คงไม่มีใครนึกว่า ในบั้นปลายของชีวิต วัฏจักรเศรษฐกิจที่ถดถอยกำลังเวียนมาอีกครั้ง... ครอบครัวอเมริกันต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ จนมีวันที่กลับมาเล่าประสบการณ์ของตนกับคนรุ่นหลังต่อไป...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.