|
![](/img/mgrm/logo_print02.gif)
ภาระของธนาคารพาณิชย์ ว่าไปแล้วก็เหมือนน้ำท่วมปาก
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บทสรุปในกรณีที่เกิดขึ้นกับปรียา ซึ่งได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้สะท้อนถึงบทบาทความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ไทยได้เป็นอย่างดี
เพราะเมื่อเธอได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจและมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารมาตรวจสอบการทำรายการจากตู้เอทีเอ็มย้อนหลัง จนพบหลักฐานว่าเธอถูกขโมยเงินในบัญชี โดยแก๊งอาชญากรที่มีความชำนาญในการปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มจริง
ธนาคารที่เธอเปิดบัญชีเอาไว้ยอมรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยการโอนเงินของธนาคารกลับคืนมาเข้าในบัญชีของเธอในจำนวนเท่าที่เธอถูกขโมยไป
ทั้งพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข จากธนาคารไทยพาณิชย์และสมชาย พิชิตสุรกิจ จากธนาคารกสิกรไทย ยืนยันตรงกันว่าปัญหาของอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่มีผลกระทบไปถึงลูกค้าของธนาคารที่เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย เพราะถ้ามีหลักฐานว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแก๊งอาชญากรจริง ธนาคารทุกแห่งจะรับภาระความเสียหายดังกล่าวไว้เองทั้งหมด
"เราสามารถตรวจสอบได้ทุก transaction ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตร เราสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็น transaction ที่ลูกค้าใช้ หรือถูกใช้โดยกลุ่มคนร้าย" พงษ์สิทธิ์ยืนยัน
การที่ธนาคารยอมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการก่ออาชญากรรมประเภทนี้ถือว่ามีส่วนช่วยทำให้ไม่เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนทั่วไปที่มีบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็มอยู่ในกระเป๋า จนไม่มีใครกล้าใช้บัตรเหล่านั้น เพราะระแวงว่าจะถูกขโมยข้อมูลในบัตร
เพราะหากว่าเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นมาจริงๆ ผลเสียที่จะมีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมนั้นรุนแรงมากกว่า
แต่ในอีกทางหนึ่งการแสดงตัวออกมารับผิดชอบของธนาคารก็อาจก่อให้เกิดเป็นความชะล่าใจ ทำให้คนบางคนไม่ระมัดระวังในการใช้บัตร เพราะคิดว่าถึงอย่างไรธนาคารผู้ออกบัตรก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว
ทางออกที่สมดุลที่สุดในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่น่าคิด
จากบทบาทของธนาคารพาณิชย์ต่อกรณีการก่ออาชญากรรมประเภทนี้ในช่วงที่ผ่านมา เหมือนเป็นฝ่ายที่ต้องวิ่งไล่ตามแก้ปัญหา ขณะที่กลุ่มคนร้ายสามารถดิ้นหนีไปได้เรื่อยๆ ตามแต่เทคโนโลยีที่จะเปิดช่องให้
เจอรูรั่วในระบบตรงไหน หรือพบรูปแบบการกระทำผิดตรงไหน ธนาคารจึงค่อยตามเข้าไปอุด
ยังไม่พบเห็นกระบวนการป้องกันที่เป็นระบบ
เรื่องนี้มันพูดยาก เพราะถ้าพูดในด้านของเทคโนโลยีแล้ว ในหลักการเราสามารถป้องกันได้ 100% แต่มันจะไปมีผลกระทบต่อลูกค้า เพราะลูกค้าจะไม่ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บัตร เช่นกรณีที่ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า หากทุกรายการเมื่อใช้ไปแล้ว ต้องมีเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรศัพท์มาสอบถามทุกครั้ง ว่ารายการนี้คุณใช้จริงหรือเปล่า บางคนอาจจะชอบ แต่บางคนก็อาจจะรู้สึกรำคาญว่าทำไมต้องมาถามทุกครั้งด้วย มันเป็นเรื่องต่างจิตต่างใจของแต่ละคน" สมชายสะท้อน
"มันเป็นเรื่องของความพยายามสื่อสารกับลูกค้า แต่ต้องไม่ลืมว่าในธุรกิจธนาคาร ไม่ใช่จะมีเพียงแต่แผนกของเราที่ต้องการสื่อสารกับลูกค้าฝ่ายเดียว ฝ่ายการตลาดเขาก็ต้องการสื่อสารแบบหนึ่ง เพราะเขาต้องการให้ลูกค้ามาใช้บัตรมากๆ แต่ทางเราก็ต้องการสื่อสารออกไปว่าลูกค้าต้องระมัดระวัง มันก็ขัดแย้งกันเอง ปัญหาคือเราจะสร้างสมดุลตรงนี้อย่างไร"
ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งได้มีการจัดตั้งฝ่ายงานที่ดูแลรับผิดชอบการกระทำผิด หรือการทุจริตขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้าระวังการทำรายการต่างๆ ของลูกค้า ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อคอยดูว่ามีรายการใดที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือเข้าข่ายเงื่อนไขที่ธนาคารตั้งไว้จะรีบตรวจสอบทันทีและหากพบว่าอาจเป็นการทุจริตก็สามารถระงับการทำรายการดังกล่าวได้ทันทีเช่นกัน
เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้ทำงาน 24 ชั่วโมงใน 1 วันและทำงาน 7 วันใน 1 สัปดาห์
นอกจากเฝ้าระวังการทำรายการต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้จะต้องทำงานที่สอดประสานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งระหว่างธนาคารด้วยกันเอง และระหว่างธนาคารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้ในบางธนาคาร อย่างของธนาคารไทยพาณิชย์ จำเป็นต้องจ้างนายตำรวจนอกประจำการให้เข้ามานั่งทำงานประจำ
เพราะเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะ
บางธนาคารมีการจัดสายตรวจตระเวนออกไปตรวจสอบตู้เอทีเอ็มตามที่ต่างๆ หากพบว่าตู้ใดมีการติดตั้ง skimmer และกล้องวงจรปิดเอาไว้ก็จะรายงานข้อมูลไปให้ธนาคารที่เป็นเจ้าของตู้รับทราบและเข้ามาแก้ไขทันที
บางธนาคาร อาทิ กสิกรไทยก็มีบริการที่ช่วยเพิ่มความระมัดระวังให้กับลูกค้า เช่นบริการ SMS Alert ซึ่งเป็นบริการที่เมื่อลูกค้าได้ทำรายการรูดบัตรเพื่อจ่ายค่าสินค้า ระบบจะแจ้งกลับมายังลูกค้ารายนั้นทันทีว่าได้มีรายการเหล่านี้เกิดขึ้น
แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะป้องกันไม่ให้มีอาชญากรรมประเภทนี้ เกิดขึ้นมาได้อีกในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
![Creative Commons License](http://i.creativecommons.org/l/by-nc-nd/3.0/th/88x31.png) ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|