|
เกมแมวไล่จับหนูที่ไม่สนุกเหมือน Tom&Jerry
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าข่าวคราวเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยทั้งการปลอมแปลงเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม เพิ่งปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง
แต่อาชญากรรมประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
ตรงกันข้าม อาชญากรรมนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ย้อนหลังไปได้มากกว่า 30 ปี และเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
แม้จะมีการปราบปรามอย่างจริงจังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในทั่วทุกประเทศ แต่อาชญากรรมนี้กลับมีพัฒนาการต่อยอดออกไปและซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ
จากแก๊งอาชญากรที่มักจะไปทำอาชญากรรมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เมื่อถูกปราบปรามหนักขึ้นก็หนีไปทำยังพื้นที่อื่น จากกลวิธีในการประกอบอาชญากรรมที่เริ่มจากการปลอมแปลงแบบพื้นๆ หรือขโมยบัตรผู้อื่นมาใช้ เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มจับทางได้ก็พัฒนาเทคโนโลยีในการปลอมแปลงให้สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากขึ้น
จากที่เริ่มทำกันเป็นเพียงกลุ่มโจรกลุ่มเล็กๆ เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มสาวเข้าไปถึงตัวหัวหน้าใหญ่ ก็เริ่มมีการรวมกลุ่มกันเป็นโครงข่ายเป็นขบวนการที่มีเส้นสายโยงใยหนาแน่นยิ่งขึ้น
เปรียบไปแล้วการปราบปรามเอาจริงเอาจังกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่แตกต่างจากการเล่นเกมแมวไล่จับหนู
เพียงแต่ฉากของเกมนี้ไม่หฤหรรษ์เหมือนในการ์ตูน Tom&Jerry
เพราะเป็นอาชญากรรมที่มีตัวอาชญากรจริงๆ ผู้เสียหายมีตัวตนจริงๆ มีมูลค่าความเสียหายที่นับเม็ดเงินได้จริงๆ และถึงที่สุดแล้ว ความเสียหายทั้งหมดได้ตกไปเป็นภาระของสถาบันการเงิน
คดีอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เริ่มพบเห็นในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2520 ที่วัฒนธรรมการใช้บัตรเครดิตเริ่มแพร่หลายเข้ามาใหม่ๆ "จุดเริ่มต้นของอาชญากรรมประเภทนี้มักพบว่าเริ่มเกิดขึ้นในประเทศที่ยังไม่พัฒนาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็คือประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียของเราเอง แล้วค่อยๆ กระจายออกไปยังประเทศอื่นๆ" สมชาย พิชิตสุรกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการผลิตภัณฑ์เครดิตผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย บอก
หากศึกษาการเคลื่อนตัวของแก๊งอาชญากรที่ทำเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูล และปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีพัฒนาการที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียอย่างเห็นได้ชัด
อาชญากรที่มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องนี้มีทั้งชาวยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายจีน
ก่อนปี พ.ศ.2540 แหล่งกบดานใหญ่ของอาชญากรเหล่านี้อยู่ที่เกาะฮ่องกง ซึ่งถูกใช้เป็นทั้งที่พักแหล่งขโมยข้อมูลในบัตร และแหล่งผลิตบัตรปลอม
ในระยะนั้น บัตรปลอมที่พบเกือบทั้งหมดเป็นบัตรเครดิตยังไม่ลามลงมาถึงบัตรเอทีเอ็ม
"คือเมื่อก่อนไปเน้นที่บัตรเครดิต เพราะว่าวงเงินมันสูง แต่เอทีเอ็มเนื่องจากวงเงินไม่มีความแน่นอน เพราะคนฝากเซฟวิ่งในแต่ละบัญชีมันน้อย" พล.ต.ต. ปัญญา มาเม่น หัวหน้าคณะทำงานสืบสวน ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และอาชญากรรมข้ามชาติอธิบาย
การปลอมแปลงบัตรเครดิตมักจะทำควบคู่ไปกับการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง ดังนั้นจึงมักพบว่าอาชญากรหลายแก๊ง ประกอบอาชญากรรมทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน
"แก๊งพวกนี้ต้องทำคู่กันไป คือ ทั้งปลอมบัตรด้วย ปลอมหนังสือเดินทางด้วย พอเขาเอารูปมาก็มาปลอมพาสปอร์ตให้ตรงกับที่เขาใช้ เพื่อที่จะได้ใช้ควบคู่กันไปทั้งพาสปอร์ตและบัตรเครดิต" ร.ต.อ.รัฐพงศ์ แก้วยอด รอง สว.งานสืบสวน กก.1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 ในทีมงานของ พล.ต.ต. ปัญญากล่าวเสริม
รูปแบบของอาชญากรรมในช่วงก่อนปี 2540 ยังเป็นลักษณะพื้นๆ ไม่ได้อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากนัก นั่นคือการขโมยบัตรเครดิตของเหยื่อ หรือขโมยข้อมูลในบัตรของเหยื่อไปใช้ทำบัตรปลอมและหนังสือเดินทางปลอม โดยวิธีง่ายๆ แล้วนำบัตรปลอมดังกล่าวกระจายออกไปใช้ยังประเทศต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
เมื่อรูดบัตรซื้อสินค้ามาแล้วค่อยนำสินค้านั้นไปขายต่อ เพื่อแลกเป็นเงินสด
ประเทศไทยพบว่าเริ่มมีการนำบัตรเครดิตปลอมมาใช้ตั้งแต่ปี 2524 แต่มาพบว่าจำนวนคดีได้เกิดถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2529
ผู้ต้องหาที่ถูกจับได้ในประเทศไทยระยะนั้น นอกจากคนไทยบางคนที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดด้วยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่มาจากฮ่องกง ร่วมกับชาวไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซียกับชาวญี่ปุ่นอีกบางส่วน
(รายละเอียดอ่านเรื่อง "โกงไปแล้วพันล้าน" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมิถุนายน 2530 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
เหตุผลที่ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศเป้าหมายของแก๊งปลอมแปลงบัตรเครดิต เนื่องจากในตอนนั้นประเทศไทยนำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวมาใช้เป็นยุทธศาสตร์หลัก เพื่อแสวงหาเงินตราต่างประเทศเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ตกต่ำ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินรอบแรก ในกลางทศวรรษ 2520 จนกระทั่งมีการลดค่าเงินบาทในปี 2527
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย คือเหยื่ออันโอชะของแก๊งอาชญากรรมประเภทนี้
ความถี่ของคดีที่เกิดขึ้นมากในปี 2529 ถึงขั้นทำให้ตัวแทนของบริษัท อเมริกันเอ็กซ์เพรสในประเทศไทย ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดบัตรเครดิตใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ต้องประกาศว่าไทยเป็นประเทศที่มีคดีการปลอมแปลงบัตรเครดิตสูงเป็นอันดับ 1
ถึงขนาดที่ตัวแทนของอเมริกันเอ็กซ์เพรสในไทยต้องทำเรื่องร้องเรียนไปถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้ลงมาจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปี 2530
พล.อ.เปรมได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.เภา สารสิน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นหัวหน้าชุดในการสะสางคดีเกี่ยวกับการปลอมแปลงบัตรเครดิตเป็นการเฉพาะ
ซึ่งก็มีผลให้จำนวนคดีความเกี่ยวกับการปลอมแปลงบัตรเครดิตในประเทศไทยซาไปได้พักใหญ่ในช่วงหลังจากนั้น
(อ่านเรื่อง "20 กว่าปี เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่วิธีคิดไม่เปลี่ยน" ประกอบ)
ปี 2540 เป็นปีที่โครงสร้างเครือข่ายอาชญากรรมด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ
ปัจจัยประการแรก มีการถ่ายโอนอำนาจการปกครองเกาะฮ่องกงจากอังกฤษ กลับไปอยู่ในมือของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้แก๊งปลอมแปลงบัตรเครดิตที่เคยใช้ฮ่องกงเป็นฐานใหญ่ต้องแตกหนีออกไปสร้างฐานในประเทศอื่นๆ เนื่องจากแก๊งอาชญากรเหล่านี้เกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายของจีนที่รุนแรงมากกว่าของอังกฤษ
แก๊งอาชญากรเหล่านี้ส่วนหนึ่งอพยพไปประกอบอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกา แคนาดา แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่ยังวนเวียนอยู่ในแถบเอเชีย
ปัจจัยประการที่ 2 เกิดการโจมตีระบบการเงินของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย จากกองทุนเก็งกำไรที่มีจอร์จ โซรอส เป็นผู้บริหาร ส่งผลให้ประเทศไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปีนั้น
การลอยตัวค่าเงินบาทของไทยได้ส่งผลลุกลามกลายเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งมีผลกระทบกับระบบการเงินของประเทศในเอเชียแทบทุกประเทศต่างได้รับอานิสงส์ ไปถ้วนหน้า
มาเลเซีย เป็นประเทศเดียวที่ออกนโยบายแข็งกร้าวมาใช้ต่อสู้กับวิกฤติในรอบนี้ โดยไม่ได้นำมาตรการลอยตัวค่าเงิน หรือปรับลดค่าเงินมาใช้ ตรงกันข้าม กลับตรึงค่าเงินริงกิตของตนเองเอาไว้ และออกนโยบายควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด
ว่ากันว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมตรีของมาเลเซียในขณะนั้นไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าต้นตอของวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นกับประเทศในเอเชียรอบนี้ มาจากการเข้าโจมตีของกองทุนเก็งกำไรที่มาจากสหรัฐอเมริกา
จากความไม่พอใจต่อท่าทีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาตามมาในอีกหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับระบบการเงิน
วีซ่า มาสเตอร์ อเมริกันเอ็กซ์เพรส หรือไดเนอร์ส คลับ ล้วนเป็นตรายี่ห้อของระบบบัตรเครดิตที่มีสัญชาติอเมริกันทั้งสิ้น
หลังเกิดวิกฤติการเงินในเอเชียในปี 2540 เป็นต้นมา พบว่าแก๊งปลอมแปลงบัตรเครดิต โดยคนเชื้อสายจีน สัญชาติมาเลเซีย ได้ขยายบทบาทการประกอบอาชญากรรมของตนเองขึ้นมาได้อย่างมาก รวมทั้งได้พัฒนารูปแบบการประกอบอาชญากรรมที่เพิ่มความซับซ้อนและลึกซึ้งมากขึ้น ตามพัฒนาการของเทคโนโลยี
การขโมยข้อมูลจากบัตรด้วยเครื่อง skimmer หรือการเจาะข้อมูลที่ออกมาจากเครื่อง EDC ผ่านทางสายโทรศัพท์ที่ตู้เขียวขององค์การโทรศัพท์ (wire tapping) ก็ได้รับการพัฒนามาจากแก๊งโจรกรรมบัตรเครดิตในมาเลเซียในช่วงนี้
โดยที่ทางการมาเลเซียดูเหมือนไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดการกับแก๊งอาชญากรเหล่านี้อย่างจริงจัง ช่วงปี 2543-2546 เป็นปีที่ในประเทศมาเลเซียเกิดสถิติคดีปลอมแปลงบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นที่ว่าสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตเกือบทุกแห่งทั่วโลก ต้องทำจดหมายแจ้งกับลูกค้าผู้ถือบัตรของตนเองให้หลีกเลี่ยงการนำบัตรเครดิตไปใช้ในประเทศมาเลเซีย
หรือหากใครมีความจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศมาเลเซีย แล้วมีการใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า หรือบริการ เมื่อกลับมายังประเทศที่พำนักอาศัยอยู่แล้ว สถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะรีบแจ้งให้ลูกค้ารายนั้นรีบไปเปลี่ยนบัตรใหม่โดยทันที
สภาวการณ์ดังกล่าวแม้จะได้สะใจที่สามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาได้ แต่กลับส่งผลต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของมาเลเซียได้ลดต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากผู้คนที่เดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซียได้ลดการใช้จ่ายลง เพราะไม่สามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ เพราะกลัวว่าข้อมูลในบัตรจะถูกขโมย จึงหันมาใช้จ่ายโดยใช้เงินสดเพียงอย่างเดียว
ปี 2546 โครงสร้างเครือข่ายอาชญากรรมด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอีกครั้ง
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียแทนมหาเธร์ โมฮัมหมัด บาดาวีมองเห็นความสำคัญที่จะต้องเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ และเห็นถึงจุดบกพร่องของนโยบายการส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซีย ว่ามีส่วนสำคัญมาจากแก๊งปลอมแปลงบัตรเครดิตเหล่านี้
บาดาวีจึงได้ประกาศเป็นนโยบายออกมาอย่างชัดเจนเลยว่า จะเอาจริงกับการประกอบอาชญากรรมปลอมแปลงบัตรเครดิตในมาเลเซีย
เล่ากันว่า หลังจากการประกาศนโยบายดังกล่าวได้มีการโยกย้ายนายตำรวจที่ทำหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรม ทางเศรษฐกิจในประเทศมาเลเซียถึงกว่า 2,000 ตำแหน่ง
"ปี 2546 หลังนายกรัฐมนตรีบาดาวีประกาศนโยบายว่าจะเอาจริงกับแก๊งพวกนี้ แก๊งเหล่านี้ก็กระเจิงออกจากมาเลเซีย ประเทศไทยเราอยู่ใกล้ที่สุดเลยโดนก่อนเป็นประเทศแรก"
ปี 2546 เป็นปีที่ พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยวพอดี
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการโจรกรรมข้อมูลและปลอมแปลงข้อมูลบัตรเครดิตอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
โดยความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างตำรวจของไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ทั้งของไทยและต่างประเทศแทบทุกแห่ง
ว่ากันว่า ปัจจุบันแก๊งอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปปักหลักตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|