|
โยงใยเครือข่ายระดับโลก
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"ปี 2548 ตอนที่ผมไปประชุมที่สิงคโปร์ ทางวีซ่าเขาแจงตัวเลขมาบอกเฉพาะบัตรวีซ่าการ์ดอย่างเดียว และเฉพาะปีเดียว เขาถูกโกงไปแล้วแสนกว่าล้านบาทแปลงเป็นเงินไทยคือแสนกว่าล้านบาททั่วโลก"
พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสืบสวนปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และอาชญากรรมข้ามชาติ ให้ข้อมูลพร้อมแสดงความวิตกกังวลต่อการขยายตัวของอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการปลอมแปลงบัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม
"ผมกับตำรวจออสเตรเลียกับสิงคโปร์เคยคุยกัน บอกพวกเรานี่นะ ไปไล่ตามจับพวกมัน เราเป็นเหมือนองค์กรแบกะดิน ตำรวจสิงคโปร์นี่งบประมาณก็ไม่มากเท่าไร ตำรวจออสเตรเลียงบประมาณก็ไม่มากเท่าไร แต่เราต้องสู้กับองค์กรใหญ่ที่มีวงเงินใช้จ่ายถึงปีละแสนล้านบาท แล้วมันก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกอบอาชญากรรมไปได้เรื่อยๆ"
การปราบปรามอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้มข้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้หลายราย แต่ผู้ต้องหาที่จับได้ส่วนใหญ่มักทำกันเป็นกลุ่มเล็กๆ
ภาพเครือข่ายของอาชญากรรมประเภทนี้ จึงดูเหมือนมีเป็นแก๊งย่อยๆ หลายแก๊ง จากอาชญากรสัญชาติต่างๆ ไม่เกี่ยวเนื่องกัน
พล.ต.ต.ปัญญากลับไม่ค่อยเชื่ออย่างสนิทใจกับภาพที่เห็นเท่าใดนัก
เขาเชื่อว่า การกระทำของแก๊งต่างๆ น่าจะต้องเป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันและต้องมีตัวผู้อยู่เบื้องหลังคอยบงการ เพียงแต่ผู้บงการเหล่านี้เป็นใครบ้างนั้น ยังเป็นโจทย์ที่ยังต้องหาคำตอบ
แต่ที่แน่ๆ จากผลการจับกุมที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าแก๊งอาชญากรทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาประกอบอาชญากรรมในประเทศไทย ไม่ใช่แค่โจรกระจอกๆ
หลายคนที่ถูกจับได้ มีเบาะแสเชื่อมโยงไปถึงองค์กรอาชญากรรมใหญ่ระดับโลก หรือเป็นหน่วยหารายได้ให้กับกลุ่มการเมืองที่เคลื่อนไหวใต้ดินอยู่ในบางประเทศ
กรณีการจับกุมกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่นำบัตรเครดิตปลอมเข้ามาใช้ในประเทศไทยกลุ่มใหญ่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 ก็บ่งบอกถึงเบาะแสบางอย่าง
"พวกนี้มาเป็นแก๊ง เหมือนแก๊งยากูซ่า ตระเวนไปหลายประเทศแล้ว กดตั้งแต่เยอรมนี เกาหลี แล้วก็มาบ้านเรา เราจับได้ทั้งหมด 19 คน ทุกคนพกบัตร มาถึงก็ใช้กระหน่ำเลย"
รายชื่อผู้ต้องหากลุ่มนี้ อาทิ โอกิตะ มาซาอิ อายุ 34 ปี ยามากูชิ มิชิอะกิ อายุ 42 ปี ฮิโรชิ ยาซูยูกิ อายุ 37 ปี ชิซูกะ ยานากิดะ อายุ 30 ปี เคน โฮกาโน อายุ 24 ปี ฯลฯ
ของกลางที่พบประกอบด้วย
-บัตรเครดิต ประกอบด้วยบัตรเครดิตวีซ่าการ์ด 25 ใบ บัตรเครดิต JCB การ์ด 12 ใบ และบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด จำนวน 8 ใบ
-หนังสือเดินทางประเทศญี่ปุ่น 1 เล่ม หนังสือเดินทางประเทศญี่ปุ่นปลอม 1 เล่ม หนังสือเดินทางประเทศจีน 1 เล่ม
-กระเป๋าสะพายสตรี ยี่ห้อหลุยส์วิตตอง 3 ใบ กระเป๋าใส่ธนบัตร ยี่ห้อหลุยส์วิตตอง 2 ใบ กระเป๋าสำหรับใส่บุหรี่ ยี่ห้อหลุยส์วิตตอง 1 ใบ กางเกงยีนส์สีน้ำเงินขายาว ยี่ห้อลี 1 ตัว เสื้อยืดคอกลมสีขาว ยี่ห้อแซค 1 ตัว เสื้อยืดคอกลมสีขาว ยี่ห้อเดอะโคฟ 1 ตัว ฯลฯ
หรือกรณีผู้ต้องหาชาวศรีลังกา 3 คน ที่นำบัตรเอทีเอ็มที่ทำปลอมมาจากประเทศอังกฤษ ตระเวนกดเงินจากตู้ต่างๆ มาแล้วทั่วโลก แต่มาถูกจับได้ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 (รายละเอียดอ่านจากกรอบแรก) จากการสอบสวนพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ทำหน้าที่หาเงินเพื่อส่งไปให้กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในประเทศศรีลังกา ใช้เป็นทุนในการเคลื่อนไหว
"แก๊งนี้ไปเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปใช้มาหมด ได้เงินมาตั้ง 20 ล้าน แล้วก็โอนผ่านระบบเวสเทิร์น ยูเนี่ยน โดยเมื่อก่อนระบบเวสเทิร์น ยูเนี่ยนนี่ โอนไปปลาย ทางโดยไม่บอกว่า ต้นทางเป็นใคร ก็ทำอย่างนี้มาหลายประเทศ พอเขาใกล้จะจับได้ ก็หนีมาไทย ตำรวจอังกฤษแจ้งเรามา เราก็ประสานกับธนาคารพาณิชย์ของไทยจนมาจับได้ที่ย่านนานา"
ยังมีกรณีที่ตำรวจสามารถจับกุมแก๊งปลอมแปลงบัตรเครดิตที่มีผู้ต้องหาชื่อ เหล่า เซ็งตี้ สัญชาติมาเลเซีย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2551 ทำให้ได้พบพัฒนาการของแก๊งปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นการจับได้พร้อมของกลางคือบัตรเครดิตปลอมของธนาคารต่างๆ ที่ยังไม่ได้ทำข้อมูลจำนวน 1,502 ใบ บัตรเครดิตมีข้อมูลในแถบแม่เหล็กแล้ว 83 ใบ บัตรเครดิตไม่พบข้อมูลในแถบแม่เหล็ก 27 ใบ เครื่องพิมพ์การ์ดพลาสติก 1 เครื่อง เครื่องเคลือบนูนบนการ์ด 1 เครื่อง
ของทั้งหมดเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ทำบัตรเครดิตปลอม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พบ เพราะก่อนหน้านั้นมักพบว่าแก๊งอาชญากรเหล่านี้จะนำบัตรเครดิตที่ถูกปลอมมาแล้วจากต่างประเทศ เข้ามาใช้ในประเทศไทยเท่านั้น
จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า เหล่า เซ็งตี้ เป็นสมุนของอาชญากรแก๊งใหญ่ในประเทศมาเลเซียแก๊งหนึ่ง
ในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีแก๊งอาชญากรใหญ่ๆ อยู่ 4 แก๊ง มีศัพท์เรียกกันในหมู่ตำรวจว่าเป็น "4 อ๋องมาเลย์" ที่ประกอบอาชญากรรม อาทิ ยาเสพติด ฟอกเงิน ปลอมแปลงบัตรเครดิต ฯลฯ
เหล่า เซ็งตี้ เป็นสมุนมือขวาของหัวหน้าอ๋องทางด้านบัตรเครดิตที่ถูกส่งให้เข้ามาประกอบอาชญากรรมในประเทศไทย เป็นการเฉพาะ
แก๊งของเหล่า เซ็งตี้ เป็นแก๊งใหญ่ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยเคยจับคนในแก๊งนี้ได้ผู้ต้องหามาแล้วกว่า 60 คน แต่จากการสืบสวนสอบสวนก่อนหน้านั้นยังไม่พบเบาะแสที่สามารถเชื่อมโยงคนร้ายกลุ่มนี้เข้าหากันได้
"พอเราจับเหล่า เซ็งตี้มาได้ สอบสวนแล้วก็พบว่า ผู้ต้องหาที่เคยจับได้ก่อนหน้านี้ 60 กว่าคนเป็นแก๊งเดียวกันทั้งหมด"
การพบอุปกรณ์ผลิตบัตรเครดิตปลอมในประเทศไทย เมื่อปลายปีก่อน ทำให้เห็นภาพการโยงใยของเครือข่ายอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น
ปัจจุบันในกระบวนการโจรกรรมข้อมูลในบัตรเครดิต และปลอมแปลงบัตรเครดิต มีการแบ่งบทบาทกันอย่างเด่นชัด แยกคร่าวๆ ออกได้เป็น 3 ระดับ
กระบวนการแรก กลุ่มคนร้ายจะมีบทบาทในการโจรกรรมข้อมูลเพียงอย่างเดียวซึ่งอาจทำกันเป็นแก๊ง หรือทำคนเดียวโดดๆ
คนร้ายกลุ่มนี้จะมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลบัตรเครดิตของสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก เมื่อโจรกรรมข้อมูลมาได้แล้วก็นำไปขายต่อให้กับกลุ่มคนร้ายที่มีหน้าที่ผลิตบัตรเครดิตปลอมอย่างเดียวอีกต่อหนึ่ง
เป็นการจบกระบวนการแรก
เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบสามารถจับกุมชาวมาเลเซียที่ใช้ชื่อว่า เดลปิเอโร (Delpiero) หรือ FNU LNU หรือกุ่ย ก๊อกเส็ง (Gooi Kokseng) อายุ 43 ปี ได้ที่ป้อมยามทางเข้าหมู่บ้านปฐวี และหมู่บ้านพิมลกาญจน์ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
การติดตามจับกุมเดลปิเอโรได้ในครั้งนี้เนื่องจากกองบังคับการกองปราบได้รับการประสานจากทางการของสหรัฐอเมริกา โดยศาลแคลิฟอร์เนียได้มีหมายจับเดลปิเอโรในข้อหาสมคบกันมีไว้ครอบครองซึ่งอุปกรณ์การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบค้าอุปกรณ์การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีไว้ในครอบครองซึ่งอุปกรณ์การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตและบุกรุกเข้าไปโจรกรรมข้อมูล
ทั้งนี้ เดลปิเอโรมีพฤติการณ์เป็นผู้ขายข้อมูลบัตรเครดิตรายใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับกลุ่มคนร้ายทั่วโลก โดยโจรกรรมมาด้วยวิธีต่างๆ เช่น จากร้านอาหาร หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เช่น วอลล์มาร์ท ทีเจแม็กซ์ ออฟฟิตดีโป โปโล ราล์ฟลอเรน ฯลฯ
มูลค่าความเสียหายจากการกระทำของคนร้ายรายนี้คาดว่าสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท
"กรณีของเดลปิเอโร เขาไม่ได้มาทำผิดในบ้านเรา เขาไปขโมยข้อมูลจากที่อื่นแล้วก็ขายต่อ เพียงแต่มาอาศัยกบดานในบ้านเราเท่านั้น"
พล.ต.ต.ปัญญายังมีความสงสัยอยู่เลยว่าข้อมูลที่เดลปิเอโรโจรกรรมมา ส่วนหนึ่งอาจจะถูกนำไปขายต่อให้กับแก๊งของเหล่า เซ็งตี้
กระบวนการต่อมา คือแก๊งคนร้ายที่ซื้อข้อมูลบัตรเครดิตมา แล้วนำมาทำเป็นบัตรปลอมเพื่อขายต่อ คนร้ายกลุ่มนี้จะมีความชำนาญในการปลอมแปลงบัตรให้มีลักษณะ เหมือนกับบัตรจริง เมื่อซื้อข้อมูลมาได้แล้วก็จะนำข้อมูลใส่ลงไปในบัตรที่ทำปลอม และก็ขายให้กับแก๊งคนร้ายที่จะนำบัตรไปใช้ ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่ 3
"ก่อนหน้านี้ เราพบว่าแหล่งผลิตบัตรเครดิตปลอมรายใหญ่อยู่ในเวียดนาม หรือไต้หวัน แล้วมาใช้ประเทศไทยเป็นจุดกระจายบัตร แต่ต่อมาภายหลังจากข้อมูลที่เราได้รับมาทำให้เชื่อว่าบัตรเครดิตปลอมส่วนหนึ่งต้องมีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศไทยเราเองด้วย" พงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการป้องกันการทุจริต ธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อ
ซึ่งก็สอดคล้องกับของกลางที่ตรวจพบจากการจับกุมกรณีเหล่า เซ็งตี้
กระบวนการสุดท้าย คือแก๊งคนร้ายที่ซื้อบัตรเครดิตปลอมมาแล้ว นำไปใช้รูดซื้อสินค้าเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดอย่างเดียว
"กระบวนการนี้บัตรถูกปลอมมาแล้วจากต่างประเทศ แล้วก็มีคนนำบัตรเหล่านั้นมาใช้ที่เราเคยพบในช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว (2551) เคยมีการเหมารถทัวร์กันมาเลย แล้วมาที่โคราช มาที่ขอนแก่น มาที่อุดร เอาลงที่นี่ 10 คน ที่นี่อีก 10 คน แล้วก็ไปใช้บัตรอย่างเดียวเลย ซึ่งอันนี้เราก็จับได้" พล.ต.ต.ปัญญาเล่า
คนร้ายในกระบวนการที่ 2 และ 3 อาจเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือแยกเป็นคนละกลุ่มกันเลยก็ได้
กรณีการโจรกรรมข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม และการทำบัตรเอทีเอ็มปลอม ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการแยกบทบาทกันทำเป็นกระบวนการอย่างกรณีของบัตรเครดิต โดยคนร้ายจะประกอบอาชญากรรมทุกกระบวนการให้จบในกลุ่มเดียวกัน ตั้งแต่การโจรกรรมข้อมูล นำข้อมูลไปทำเป็นบัตรปลอม และนำบัตรปลอมนั้นไปรูดเงินสดออกจากตู้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|