ความท้าทายของผู้นำรุ่นที่ 5 (ตอนที่ 1)

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากที่บารัค โอบามา วัย 47 ปี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ทิศทางการผลัดใบ-ถ่ายเลือดจาก "นักการเมืองรุ่นเก่า" ไปสู่ "นักการเมืองรุ่นใหม่" ในหลายประเทศทั่วโลกก็ดูเหมือนจะมุ่งไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำสูงสุดของภูฏานที่ชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีเคเซอร์ นัมเกล วังชุก วัย 29 พรรษา ดมิทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซีย วัย 43 ปี (รับตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551) รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีอายุเพียง 44 ปี

ภายใต้กระแสการเปลี่ยนถ่ายเลือดของผู้นำรุ่นใหม่ของหลายประเทศทั่วโลกเช่นนี้ ก็มีหลายคนถามผมบ่อยครั้งว่า แล้วประเทศจีนล่ะเป็นอย่างไรบ้าง? นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ. 1949) จนถึงปัจจุบัน หากอธิบายอย่างคร่าวๆ ประเทศจีนเปลี่ยนผู้นำสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น 4 รุ่น ประกอบไปด้วยเหมา เจ๋อตง (ผู้นำรุ่นที่ 1) เติ้งเสี่ยวผิง (รุ่นที่ 2) และเจียง เจ๋อหมิน (รุ่นที่ 3) และหู จิ่นเทา (รุ่นที่ 4)

โดยปัจจุบันรุ่นที่ 4 มีผู้ที่กุมอำนาจอยู่ในแกนกลาง 3 คน ประกอบไปด้วยหู จิ่นเทา ประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมการการทหารกลาง เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรี และอู๋ ปังกั๋ว ประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน

ขณะที่มีสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (Standing Committee of the Political Bureau of the Central Committee) จำนวน 9 คน (โดยหู เวิน และอู๋ถูกรวมอยู่ในจำนวน 9 คนนี้ด้วย) เป็นแกนหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกุมอำนาจในการปกครองประเทศอีกต่อ

ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงผู้นำโลกในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองครั้งสำคัญ อย่างเช่นในสหรัฐฯ โอบามา ใช้คำว่า Change เพื่อให้คำจำกัดความในภาพใหญ่ว่านับแต่ นี้ต่อไปนโยบายทั้งของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนแปลงหมด เพราะที่ผ่านมานโยบายของผู้นำสหรัฐฯ รุ่นก่อนๆ ได้ก่อปัญหาให้กับชาวอเมริกันและชาวโลกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ก่อการร้าย ปัญหาการต่างประเทศ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ขณะที่ประเทศภูฏานเองกษัตริย์พระองค์ใหม่ก็มีพระราชดำริว่าประเทศจะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ส่วนประเทศไทย นายกฯ อภิสิทธิ์เองก็ตกอยู่ภายใต้วังวนของวิกฤติทางการเมืองซึ่งกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบบการเมืองเก่าไปสู่การเมืองเก่า อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากซีกโลกตะวันตก

ในส่วนของการบริหารประเทศจีน นับตั้งแต่ผู้นำรุ่นที่ 4 คือ หู จิ่นเทา และเวิน เจียเป่า เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ต่อจากผู้นำรุ่นที่ 3 คือ เจียง เจ๋อหมิน และจู หรงจี ในปี 2546 (ค.ศ.2003) ภารกิจหลักของหูและเวิน ก็คือ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศจีน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการพัฒนาเศรษฐกิจช่วง 25 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของผู้นำรุ่นที่ 2 และผู้นำรุ่นที่ 3 ที่มุ่งผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตในระดับราวร้อยละ 10 ต่อปีมาตลอด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา หูและเวินต้องพยายามผลักดันให้ใช้ทฤษฎีการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการสร้างสังคมกลมกลืน เข้ามาลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาความแตกต่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนและลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้เองถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนแตกต่างกับประเทศอื่นๆ ในโลก กล่าวคือ ในขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ มีภารกิจในการใส่ยากระตุ้นแล้วกระตุ้นอีกให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ แต่ผู้นำจีนกลับมีภารกิจในการทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจฝ่อลง ให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน

ด้วยทิศทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่สวนทางกับทิศทางโลกเช่นนี้นี่เองที่ทำให้สภาพทางการเมืองภายในของจีนในยุคของหูและเวิน ปราศจากความวุ่นวายและแรงกระเพื่อมใดๆ อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วง 5 ปีแรกของการทำงานของหูและเวิน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยังไม่ลดความร้อนแรงลงก็ตาม กระนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ภายหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าอาจจะประสบกับภาวะถดถอยที่ว่ากันว่าร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ.1930 เป็นต้นมา หูและเวินก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ

กล่าวคือด้วยภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ โลกที่ส่งผลกระทบมายังประเทศจีน ผู้นำรุ่นที่ 4 ของจีนมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และนโยบายให้เกิดความเท่าทันกับภาวะวิกฤติของโลก รักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปี เพื่อไม่ให้อัตราการว่างงานเลวร้ายลง อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพของสังคมและการเมืองในภาพรวม ก่อนที่สุดท้ายแล้วในช่วงปี พ.ศ.2555-2556 จะได้ส่งต่อประเทศไปสู่มือผู้นำรุ่นที่ 5 ได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้หากจะกล่าวถึงภูมิหลังของผู้นำตั้งแต่รุ่นที่ 3 ถึงรุ่นที่ 4 ของจีนแล้ว เราสามารถสังเกตได้ว่า พื้นเพของผู้นำมีนัยสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 นั้น ถือเป็นนักเทคโนแครตที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยคมนาคมแห่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงของเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้เจียงยังมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศรัสเซีย ก่อนที่จะกลับมาทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานรถยนต์ที่เมืองฉางชุนและเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรม เป็นพ่อเมืองและเลขาธิการพรรคประจำเมืองเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีอันเป็นจุดสูงสุดทางการเมือง

ในส่วนของหู จิ่นเทา ผู้นำรุ่นที่ 4 และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หูเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนในมณฑลเจียงซู มารดาก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กแถมบิดายังถูกใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ทว่าด้วยความเฉลียวฉลาดและขวนขวายส่งผลให้หูสามารถสอบเข้าเรียนทางด้านวิศวกรรมทางน้ำในมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยระดับหัวแถวของประเทศจีนได้ ในส่วนของเส้นทางการทำงาน ชีวิตทำงานของหูถือว่าขรุขระพอๆ กับชีวิตวัยเด็ก กล่าวคือ ถูกส่งไปทำงานในเขตพื้นที่แร้นแค้นโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมณฑล กานซู่ กุ้ยโจว ก่อนที่จะไปสร้างชื่อเสียงด้วยการปราบการจลาจลในทิเบต ซึ่งผลงานที่ทิเบตนี้เองที่ถือเป็นใบผ่านทางสำคัญที่ส่งให้ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 14 เมื่อปี พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) หูมีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่วงโคจรอำนาจของคณะผู้นำสูงสุดด้วยการเป็น 1 ใน 7 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง โดยในเวลานั้นหูถือเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยไม่ถึง 50 ปีดี

ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของเจียงและหูนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ขณะที่เจียงเป็นเทคโนแครตหัวก้าวหน้า มีประสบการณ์ในต่างประเทศ พูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษาทั้งอังกฤษ รัสเซีย โรมาเนีย มีโอกาสได้เป็นพ่อเมืองมหานครใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ หูกลับเป็นนักพัฒนาที่เข้าใจภาคชนบท เข้าถึงคนจน คุ้นเคยกับความขัดแย้งและความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เขาสามารถประสานรอยร้าวและสร้างความประนีประนอมระหว่างชนชั้น อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดี

ความแตกต่างนี้ว่ากันว่าเป็นการออกแบบของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ที่มองเห็นล่วงหน้าว่า ผู้นำประเทศในรุ่นที่ 3 และ 4 ควรจะต้องมีบุคลิกและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันเพื่อสร้างความสมดุลให้กับการพัฒนาประเทศจีนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เติ้ง เสี่ยวผิง ก็มิอาจดำรงชีวิตยืนยาวพอที่จะออกแบบผู้นำในรุ่นที่ 5 ทิ้งเอาไว้

สำหรับผู้นำรุ่นที่ 5 ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีการวางตัวผู้นำรุ่นที่ 5 เอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบไปด้วยแคนดิเดตหลัก 2 คน คือ สี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง โดยทั้งสองคนถูกเลือกจากสมาชิกกรมการเมืองจำนวน 25 คนให้เป็น 1 ใน 9 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (4 ใน 9 คนเป็นสมาชิกใหม่)

ทั้งนี้แวดวงของนักวิเคราะห์การเมืองจีน (ในภาษาอังกฤษคือ China Watcher หรือ Pekingologist) ระดับโลกต่างทราบดีและคาดหมายตรงกันว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ สมัยที่ 18 สี จิ้นผิง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีนั้นคงจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยสี จิ้นผิง น่าจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากหู จิ่นเทา ส่วนหลี่ เค่อเฉียง น่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากเวิน เจียเป่า

แน่นอนว่า ทั้งสองคนจะต้องเป็นผู้รับไม้ในการบริหารประเทศต่อจากหูและเวิน ทว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ทั้งสองคน แม้จะถูกวางตัวเป็นทายาทและผู้นำทางการเมืองรุ่นที่ 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะต้องทำงานร่วมกันในการบริหารประเทศต่อ แต่แท้จริงแล้วทั้งคู่กลับมาจากคนละกลุ่ม/แก๊งในพรรค อีกทั้งยังมีพื้นเพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

คำถามที่สำคัญที่สุดก็คือภายใต้สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายดุลอำนาจของโลกจากตะวันตกมายังตะวันออก ดังเช่นปัจจุบัน ด้วยเงื่อนไขความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเช่นนี้ จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศหรือไม่? และเศรษฐกิจจีนจะถูกกำหนดทิศให้มุ่งไปในทางใด?


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.