ไกรศรีปีนี้ใกล้ชราแล้ว แต่บุคลิกภาพของเขากลับมิได้โรยราไปตามวัย 58 ปี
ยามเดินตัวตรงดั่งลำทวน เปี่ยมพลานามัยที่แข็งขันอันเพาะสร้างมาจากการกีฬาใช้แรงอย่างเทนนิสและว่ายน้ำ
หลังจากผ่านพ้นเภทภัยที่กรมศุลกากร ทุกวันนี้ถูกเชื้อเชิญมารับภารกิจที่ท้าทายฝีมือคือ
รื้อฟื้นความรุ่งโรจน์ของบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีจากสภาพหนี้สินล้นตัว ด้วยฐานะประธานบริษัท
คนเชื้อเชิญก็สนิทสนมคุ้นเคย และให้ความเชื่อมั่นศรัทธากันมานาน เพราะเขาเป็นบุคคลที่บิดาของเขาเองฝากเนื้อฝากตัวกับไกรศรี
เมื่อครั้งยังเป็นเศรษฐกรแห่งกระทรวงการคลังในคราวที่มาพบปะทำธุระกับบิดา
หลังจากยกมือไหว้กันแล้ว ความเชื่อมั่นศรัทธาของบิดาต่อไกรศรีก็บังเกิดขึ้นในตัวบุตรชายเช่นกัน
คนเชื้อเชิญคนนั้นก็คือ ชาตรี โสภณพนิชแห่งธนาคารกรุงเทพ
คนที่ยินดีกับการเชื้อเชิญครั้งนี้ ก็เห็นว่า "พี่ไกรศรีเป็นผู้ปั้นโรงปุ๋ยมา
ท่านกลับมาคุมก็ถูกแล้ว" คำเรียกฐานะที่ยกย่อง บ่งบอกความเป็นมาอย่างเชื่อมั่นและวางใจ
แสดงถึงความยินดีของคนผู้นี้ - สว่าง เลาหทัย แห่งศรีกรุงวัฒนา
ความเชื่อมั่นวางใจมาจากผลงานอันโดดเด่นของไกรศรีตลอดระยะเวลาที่รับราชการ
เขาเจรจากับคณะรัฐมนตรีมาเลเซีย พลิกมติให้ยอมต่ออายุสัญญาภาคีข้อตกลงดีบุกเมื่อคราวเกิดวิกฤตดีบุกปี
2510 เป็นผู้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2517 ตัดสินใจถอนใบอนุญาตราชาเงินทุนในยามวิกฤตตลาดหลักทรัพย์ปี
2522 เจรจาต่อรองกับ "ฟูลออร์" ที่เรียกร้องค่าใช้จ่ายต่อรัฐในโครงการโรงงานแยกก๊าซ
จนลดทอนค่าใช้จ่ายไปมากและเปลี่ยนผู้ลงทุนหาที่ดีกว่าแทน เจรจาหาผู้ลงทุนโครงการผาแดง
ผลักดันให้เกิดขึ้น เข้าไปฟื้นฐานะธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ตกต่ำถึงขั้นวิกฤตจนมีฐานะมั่นคง
และปฏิวัติระบบการทำงานแบบราชการของกรมศุลกากร
กับไทยเซ็นทรัลเคมี เดิมก็คือ โครงการปุ๋ยแม่เมาะที่ริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลถนอมปี
2506 ตอนนั้นโครงการครบวงจรตั้งแต่อัฟสตรีม แต่ไกรศรีขณะเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและรับผิดชอบโครงการนี้ไม่เห็นด้วย
เนื่องจากยังไม่มีก๊าซธรรมชาติเป็นของเราเอง และไม่คุ้มการลงทุน จึงเห็นว่าควรจะเริ่มจากดาวน์สตรีมให้มีฐานที่แข็งแรงก่อน
โครงการปุ๋ยแม่เมาะจึงเริ่มขึ้นจากการนำเข้าปุ๋ยมาผสมขายให้กับเกษตรกร
โครงการนี้ดำเนินไปด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน ปี 2517 โครงการนี้ก็อยู่ในมือของกลุ่มศรีกรุงวัฒนาในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียว
ไทยเซ็นทรัลเคมี คือชื่อใหม่ที่มีนิชโช-อิวายแห่งญี่ปุ่นถือหุ้นร่วมด้วยและอาศัยเงินกู้จากแบงก์กรุงเทพมาดำเนินการ
ในระยะหลัง กลุ่มศรีกรุงวัฒนาประสบภาวะวิกฤต โดยเฉพาะ "เจ้าพระยาพืชไร่"
บริษัทยักษ์ใหญ่ในเครือที่ขาดทุนมหาศาลฉุดให้บริษัทอื่น ๆ อัปปางไปด้วย
กลุ่มศรีกรุงเป็นหนี้ไทยเซ็นทรัลเคมีอยู่ 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันไทยเซ็นทรัลเคมีเองก็ร่อแร่ปางตายเพราะถูกกระหน่ำอย่างต่อเนื่องจากการลดค่าเงินบาทครั้งล่าสุด
ทำให้วัตถุดิบนำเข้าราคาแพง ภาวะราคาพืชผลตกต่ำ และการแทรกแซงตลาดของรัฐบาลด้วยปุ๋ยราคาถูก
หนี้สินจึงล้นตัวหลายพันล้านบาท นิชโช-อิวายจึงเข้ามาบีบให้เพิ่มทุนจดทะเบียน
และขอเป็นผู้ถือหุ้นทุนจดทะเบียนจำนวนนั้น
ปัญหาที่เสนอตัวขึ้นมาก็คือจะรักษาไทยเซ็นทรัลเคมีไว้กับกลุ่มศรีกรุงฯ
ไว้อย่างไร?
คำตอบก็คือ สว่าง-ไกรศรีชาตรี
ชาตรีเข้าครอบครองกิจการโดยให้กู้เงินอีก 500 ล้านบาท และสว่างต้องโอนหุ้น
75% ให้ชาตรี ส่วนนิชโช-อิวายยังคงถืออยู่ประมาณ 20% ที่เหลือเป็นของกลุ่มศรีกรุง
จากนี้จึงมีไกรศรีตัวละครสำคัญที่กำหนดอนาคตของไทยเซ็นทรัลเคมี
ปัญหาการฟื้นคืนกิจการที่ไกรศรีเห็นว่าสำคัญที่สุด แก้ไขตรงจุดที่สุด ก็คือ
การขยายกำลังการผลิต
ที่ผ่านมา บริษัทปุ๋ยเอกชนต่างถูกสกัดกั้นการขยายกำลังการผลิต เพราะนโยบายแทรกแซงการตลาด
และโครงการปุ๋ยแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม บังเอิญที่ไทยเซ็นทรัลเคมียังหลงเหลือใบอนุญาตขยายกำลังการผลิตอยู่อีกหนึ่งใบ
ช่วยต่อชีวิตไปได้
งานนี้ต้องลงทุนอีก 1 พันล้านบาทขยายกำลังการผลิตจาก 6 แสนตันเป็น 9 แสนตันต่อปี
ชาตรีหนุนช่วยเงินลงทุนด้วยความมั่นใจในการมองตลาดปุ๋ยที่กำลังคึกคักตามภาวะราคาพืชผลที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2530 เป็นต้นมา การขาดแคลนปุ๋ย และการล้มลงของโครงการปุ๋ยแห่งชาติ
ภารกิจอีก 2 ประการที่จะหนุนการฉุดรั้งจากปลักโคลนแห่งการขาดทุน ก็คือ
การหาวัตถุดิบราคาถูกและการหาตลาดที่แน่นอน
ภารกิจแรก ไกรศรีต้องออกเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เพื่อเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบสำหรับปุ๋ยที่ราคาถูก
ส่วนภารกิจที่สอง ไกรศรีประสบความสำเร็จเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ในการเจรจากับเอเย่นต์จำหน่ายปุ๋ยจนสามารถเซ็นสัญญาขายปุ๋ยต่อเนื่องเป็นเวลา
5 ปี ได้ออเดอร์ถึง 2 ล้านกว่าตัน
ความเป็น NEGOTIATOR ของไกรศรี ยังเป็นฝีมือที่เชื่อถือได้ตลอดกาลนาน
ทุกวันนี้เขาเข้าบริษัทบ้าง ไปโรงงานบ้าง คอยคุมนโยบายของบริษัท ขณะที่พนักงานระดับปฏิบัติก็ล้วนแต่เป็นคนเก่าที่คุ้นเคยเมื่อครั้งแรกเริ่มก่อตั้งบริษัท
ไกรศรี จาติกวนิชจึงเป็น RENEWAL FACTOR ที่สำคัญเพียงพอจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในอนาคตข้างหน้านี้