HARA JAPAN Top of the World Baseball Classic 2009

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

World Baseball Classic 2009 ปิดฉากลงพร้อมกับตำนานใหม่แห่งวงการเบสบอลโลก ที่เล่าขานผ่านการช่วงชิงตำแหน่งชนะเลิศของทีมจากทวีปเอเชียระหว่างทีมชาติเกาหลีใต้เจ้าของเหรียญทองเบสบอลโอลิมปิกครั้งล่าสุดกับทีมชาติญี่ปุ่นเจ้าของบัลลังก์แชมป์โลกรายการนี้เมื่อปี 2006*

ปัจจุบันกีฬาเบสบอลในระดับนานาชาติภายใต้การดูแลของ IBAF (International Baseball Federation) มีด้วยกัน 3 รายการได้แก่ (1) การแข่งขันเบสบอลในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (2) Baseball World Cup และ (3) World Baseball Classic (WBC) หากแต่การแข่งขันใน 2 รายการแรกนั้นจัดอยู่ในระดับ minor league เนื่องเพราะช่วงเวลาการแข่งขันมักทับซ้อนกับฤดูกาลลงสนามของนักเบสบอลอาชีพทั้งฝั่งอเมริกาและญี่ปุ่น

ในขณะที่ WBC มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้เบสบอลเป็นกีฬาระดับโลก (Global Sport) ด้วยรูปแบบการแข่งขันที่คัดเลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดจาก major league รวมเข้าเป็นทีมชาติซึ่งหากเปรียบกับฟุตบอลแล้ว WBC พึงมีศักดิ์ศรีเทียบเท่าฟุตบอลโลกในเวอร์ชั่นเบสบอล

WBC 2009 ในครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 16 ทีมจาก 4 ทวีป เหมือนครั้งก่อน แต่เปลี่ยนระบบวางสายการแข่งขันแบบ Double Elimination ซึ่งหากแพ้ 2 ครั้งในรอบคัดเลือกก็ตกรอบ ไปจนกระทั่งเหลือ 4 ทีมเข้ารอบสุดท้าย ซึ่งจะแข่งแบบพบกันครั้งเดียวแพ้คัดออก (ดูแผนผังการแข่งขันประกอบ)

โดยที่ MLB (Major League Baseball) แจงถึงเหตุผลไว้ว่าเพื่อให้โอกาสแต่ละทีมสามารถแก้ตัวได้หากแพ้ไปแล้วหนึ่งครั้งประกอบกับคำนวณรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันในแต่ละนัด, การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก, ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดผ่านดาวเทียมและรายได้จากสปอนเซอร์ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 16 ล้านดอลลาร์

จากข้อสังเกตภายใต้บริบทการวางสายการแข่งขันดังกล่าว ตัวเต็ง 3 ทีมของรายการคือทีมคิวบา, เกาหลีใต้และญี่ปุ่น จะถูกจัดวางอยู่ในสายเดียวกันซึ่งกรณีนี้ทำให้ทีมเกาหลีใต้มีโอกาสพบกับทีมญี่ปุ่นทั้งหมด 5 ครั้งและทีมคิวบามีโอกาสพบกับทีมญี่ปุ่น 2 ครั้ง (ในรอบคัดเลือกของ Pool 1) ในขณะที่อีกฟากหนึ่งของสายการแข่งขันเหลือเพียงทีมชาติอเมริกาที่เป็นตัวเต็งเข้ารอบสุดท้ายเพียงทีมเดียว

แม้ว่า Sadaharu Oh ซึ่งเคยนำทีมชาติญี่ปุ่นคว้าตำแหน่งชนะเลิศ WBC จากการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2006 จะหายป่วยเป็นปกติหลังจากผ่าตัดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารแล้วก็ตามปัญหาสุขภาพในวัยเกษียณอายุนั้นย่อมส่งผลให้การเลือกสรรผู้จัดการทีมคนใหม่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

คณะกรรมการ NPB (Nippon Professional Baseball) เสนอชื่อของ Tatsunori Hara ผู้จัดการทีม Yomiuri Giants มานำทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งใช้ชื่อเล่นทีมในครั้งนี้ว่า HARA JAPAN และในเวลาต่อมาได้ประกาศรายชื่อผู้เล่นสัญชาติญี่ปุ่น 28 คนจาก major league ในญี่ปุ่นและที่ไปเล่นใน major league ของอเมริกาโดยมี Ichiro Suzuki เป็นหัวหน้าทีมและเรียกลูกทีมทั้งหมดว่า "Samurai Japan"

บทเรียนจากโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาสะท้อนภารกิจที่สำคัญยิ่งไปกว่าการเชื่อมั่นในศักยภาพส่วนบุคคลของ บรรดา Samurai Japan ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นคู่แข่งกันใน major league นั้นก็คือการหล่อหลอมทีมให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้เงื่อนไขของเวลาอันจำกัด

ทันทีที่ WBC 2009 เปิดฉากขึ้นในต้นเดือนมีนาคม การแข่งขันอันเข้มข้นเริ่มขึ้นตั้งแต่รอบคัดเลือก โดยเฉพาะ Pool A ที่ใช้สนามแข่งขันในญี่ปุ่น โดยที่ทีมญี่ปุ่นชนะเกาหลีใต้ 14 : 2 ก่อนที่ทีมเกาหลีใต้จะแก้ กลับเอาชนะทีมญี่ปุ่นในการพบกันครั้งที่ 2 ด้วยคะแนน 0 : 1 ซึ่งทั้ง 2 ทีมจับมือผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบที่ 2 ไปตามความคาดหมาย

ในรอบคัดเลือกรอบที่ 2 มีทีมจาก Pool B สมทบอีก 2 ทีม ได้แก่ ทีมคิวบาด้วยศักดิ์ศรีรองแชมป์เก่าและ เจ้าของเหรียญเงินเบสบอลโอลิมปิกครั้งล่าสุด กับทีมเม็กซิโกซึ่งเคยทำให้ทีมอเมริกาตกรอบไปเมื่อ WBC 2006 ยิ่งเพิ่มดีกรีความดุเดือดให้การแข่งขันภายใน Pool 1

แม้ว่าทีมคิวบาจะมี Pitcher ที่ขว้างบอลได้เร็วที่สุดในโลกอย่าง Aroldis Chapman ด้วยสถิติอัตราเร็ว สูงกว่า 160 km/h แต่ Samurai Japan อาศัยทีมเวิร์ก ที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ชัยชนะเหนือทีมคิวบาทั้ง 2 นัด ด้วยคะแนน 6 : 0 และ 5 : 0 ส่งผลให้ทีมคิวบาไม่สามารถผ่านสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย ขณะที่ทีมญี่ปุ่นพ่ายเกาหลีใต้ไป 1 : 4 ในการพบกันครั้งที่ 3 ก่อนที่จะพลิก เอาชนะทีมเกาหลีใต้ด้วยคะแนน 6 : 2 ในการพบกันครั้งที่ 4 ซึ่งทั้งทีมเกาหลีใต้และญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายไปพบกับทีมอเมริกาและเวเนซุเอลา

จาก Pool 2 ไฮไลต์ของ WBC 2009 ครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระหว่างทีมเกาหลี ใต้และญี่ปุ่นที่ผลัดกันแพ้-ชนะทีมละ 2 ครั้งจากการพบกัน 4 ครั้งตั้งแต่รอบคัดเลือก การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ เริ่มขึ้นตั้งแต่ 10 โมงเช้าของวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้ชมหลายล้านคนจากทั้งสองประเทศรวมถึงแฟนเบสบอลทั่วโลกต่างใจจดใจจ่อเฝ้าติดตามดูการแข่งขัน ซึ่งเฉพาะในญี่ปุ่นมีเรตติ้งผู้ชมการ ถ่ายทอดสดพุ่งสูงกว่า 60% ทั้งที่เป็นวันทำงานเริ่มต้นสัปดาห์

ทีมญี่ปุ่นออกนำไปก่อน 1 : 0 ในเกมที่ 3 จากนั้นทั้งสองทีมผลัดกันทำคะแนนจนกระทั่งเกมที่ 9 ซึ่งเป็นเกมสุดท้ายที่ทีมญี่ปุ่นนำอยู่ 3 : 2 แต่ ทีมเกาหลีใต้สามารถทำคะแนนตีเสมอได้ การแข่งขันต่อเวลาออกไปในเกมที่ 10 เริ่มจากฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่ง Ichiro Suzuki ตีลูกเบสบอลจากการขว้างของ Chang Yong Lim ส่งผลให้ Seiichi Uchikawa และ Akinori Iwamura วิ่งกลับเข้าโฮมทำคะแนนทิ้งห่างทีมเกาหลีใต้เป็น 5 : 3 จากนั้นทีมเกาหลีใต้ไม่สามารถทำคะแนนเพิ่มได้จากการขว้างของ Yu Darvish ในเกมสุดท้ายทำให้ Samurai Japan คว้าแชมป์ติดต่อกันได้เป็นครั้งที่ 2

นอกเหนือจากภาพการแข่งขันแล้ว กิริยามารยาทของกองเชียร์เกาหลีใต้ที่ถ่ายทอดสดจาก Dodger Stadium ใน Los Angeles แพร่ภาพออกไปสู่สายตาผู้คนทั่วโลกนั้นยิ่งตอกย้ำความจริงที่ว่าด้วย "ความพ่ายแพ้สมบูรณ์แบบ" อีกครั้งไม่ต่างไปจากคราว WBC 2006

หากพิจารณา WBC 2009 ที่จบลงไปในแง่ของผลการแข่งขันแล้วคงกล่าวได้ว่ามาตรฐานของทีมเบสบอล จากทวีปเอเชียก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้าซึ่งได้รุกคืบสู่ห้วงรับรู้ของผู้คนทั่วโลกแล้ว

หากพิจารณาทั้งในแง่รายได้ที่สูงขึ้นและจำนวนผู้ชมทั้งหมดซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวอาจประเมินได้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ในระดับที่น่าพอใจแต่ยังไม่เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่ากีฬาเบสบอลได้เป็นกีฬาระดับโลกอย่างแท้จริง

แม้กระนั้นก็ตามที WBC ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อผลักดันกีฬาเบสบอลให้บรรลุสู่เป้าหมายในอนาคต

พบกันใหม่ครั้งหน้าใน WBC 2013

- ขอบคุณภาพสวยจากโฮมเพจของ WBC และ NPB

*อ่านเพิ่มเติม :
นิตยสารผู้จัดการคอลัมน์ Japan Walker ฉบับพฤษภาคม 2549


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.