|

ความจริงกับความหวังใน G20
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลการประชุม G20 เมื่อเดือนเมษายน ดูเหมือนจะห่างไกลจากความคาดหวังที่เกิดขึ้นมากมายก่อนการประชุม ก่อนหน้าที่จะถึงวันประชุมเมื่อต้นเดือนเมษายน นายกรัฐมนตรี Gordon Brown ของอังกฤษเดินทางทัวร์ 4 ทวีป เพื่อโปรโมตข้อเสนอของเขาให้ทำข้อตกลงใหม่ของโลก ซึ่งเขาเรียกว่า New Deal ส่วนประธานาธิบดี Nicholas Sarkozy แห่งฝรั่งเศสกับนายกรัฐมนตรี Angela Merkel แห่งเยอรมนี ต่างกล่าวถึงการ "สร้างทุนนิยมแบบใหม่" Sam Palmisano CEO ของ IBM เรียกร้องให้การประชุม G20 ปลดปล่อยคลื่นลูกใหม่ของการลงทุนระยะยาว ส่วน Fred Bergsten นักวิเคราะห์วิจารณ์ด้านเศรษฐกิจ ชื่อดังกล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นความหวังสุดท้ายที่ผู้นำโลกจะร่วมมือกันในด้านนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก
แต่ Jeffrey E. Garten ศาสตราจารย์ด้านการค้าและการเงินระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Yale School of Management เตือนว่า ในยุคที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางสูงอย่างทุกวันนี้ หากความจริงกับความหวังแตกต่างกันมากเกินไป ก็อาจสร้างความผิดหวังให้แก่ตลาดการเงิน นักลงทุนและผู้บริโภค ได้ และยังอาจกลายเป็นการส่งเสริมลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่อันตราย ซึ่งกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นได้ ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือกันในระยะยาวของผู้นำชาติต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าการประชุมสุดยอดเพียงแค่วันเดียว ดังนั้น สิ่งที่บรรดาผู้นำระดับโลกที่จะประชุมสุดยอดอย่างเช่นการประชุม G20 เมื่อเดือนที่แล้ว ควรจะตระหนักก็คือจะต้องลดความคาดหวัง ไม่ใช่กระพือความคาดหวังจนสูงเกินไปถึงความสำเร็จของการประชุม
แม้กระทั่งในยามปกติ การร่วมมือกันระหว่างประเทศก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย ยิ่งมีปัญหาเศรษฐกิจโลกอย่างทุกวันนี้ การร่วมมือกันก็ยิ่งยากมากขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้นำแต่ละประเทศต่างก็ต้องเผชิญกับความกดดันอย่างหนักจากภายในประเทศของตน ซึ่งเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่รุมเร้า ทั้งการเติบโตที่ติดลบ การปล่อยสินเชื่อติดลบ การค้าติดลบ การว่างงานพุ่งสูง และการประท้วงที่เกิดขึ้นไปทั่ว เมื่อสมัยที่ G7 ยังเป็นเวทีหลักในการหารือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก การพยายามจะเจรจาให้ทุกประเทศร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาให้มีความเป็นเอกภาพก็ยากอยู่แล้ว แต่การเจรจาใน G20 ยิ่งยากเย็นและซับซ้อนมากขึ้นกว่า อีกหลายเท่า เพราะมีจำนวนชาติสมาชิกมากขึ้นและแต่ละประเทศก็ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งยังมีกระบวนการทางการเมืองในประเทศที่แตกต่างกันไปอีก
นอกจากนั้นการจะตัดสินใจใดๆ ในการประชุมสุดยอดแบบ G20 ก็ยิ่งยากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างสูงในขณะนี้ จนป่านนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะกินเวลายาวนานและจะหนักหนาสาหัสเพียงใด ไม่มีใครรู้สภาพที่แท้จริงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในระบบการเงินการธนาคารในขณะนี้ และไม่มีใครรู้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ออกไปแล้วนั้นจะเพียงพอหรือไม่
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความแตกต่างทางความคิดของบรรดาชาติสมาชิก G20 สหรัฐฯ ซึ่งเกรงว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตนได้ทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาล จะทำให้ยุโรปพลอยได้รับประโยชน์ไปแบบฟรีๆ จึงพยายามจะผลักดันให้ EU เพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้นอีก แต่ EU กลับต้องการให้สหรัฐฯ เพิ่มการควบคุมตลาดการเงินโลกให้เข้มงวดและครอบคลุมมากกว่านี้ ขณะเดียวกันทั้งสหรัฐฯ และ EU ต่างก็กลัวว่าจีนจะเพิ่มการอุดหนุนการส่งออก ด้านบราซิลอยากจะให้เปิดเจรจาการค้าโลกรอบใหม่ แต่ประธานาธิบดี Obama ของสหรัฐฯ ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง
สิ่งที่การประชุมแบบ G20 จะทำได้อย่างดีที่สุดก็คือ การประกาศเป้าหมายที่หนักแน่นชัดเจนและสามารถทำได้จริงเพียงไม่กี่ประการ ที่ไม่ใช่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างการยกเครื่องระบบการเงินโลกระดับ Bretton Woods เมื่อครั้งที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง และ G20 ควรจะมีการประชุมกันทุกๆ ไตรมาสหลังจากนี้เป็นต้นไป เพื่อแสดงให้เห็นว่า การประชุมที่ประกาศว่าเพื่อจะร่วมมือกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกนั้น ไม่ใช่โอกาสเพียงเพื่อให้ผู้นำโลกได้มาถ่ายภาพร่วมกันเท่านั้น
การประชุม G20 ควรสามารถจุดประกายความหวังให้แก่ตลาดโลกและประชาชนว่า ผู้นำโลกกำลังจะลงมือออกมาตรการสำคัญในอีกไม่ช้า แต่ในขณะเดียวกันก็สมควรถ่วงดุลความหวังนั้นด้วยความจริงที่ว่า การประชุมสุดยอดผู้นำโลกแบบ G20 นี้ สามารถจะบรรลุเป้าหมายได้แต่เพียงจำกัดเท่านั้น แม้ว่าในเวลานี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ตระหนักแล้วว่า การทำอะไรไปโดยลำพังโดยไม่สนใจคนอื่น เป็นสิ่งที่อันตรายและเปล่าประโยชน์ แต่ความตระหนักดังกล่าวนั้นก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ยอมร่วมหัวจมท้ายกัน จนถึงขั้นที่สามารถจะสร้างระบบการเงินโลกขึ้นใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถาบันการเงินระดับโลกแห่งใหม่ เพราะผู้นำโลกยังไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนที่จะยอมรับการมีสถาบันทางการเงินระดับโลกที่มีอำนาจในการควบคุมด้วย หรือในแง่ของกรอบความคิด บรรดาประเทศสำคัญต่างๆ ใน G20 ก็ยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศของตนอย่างถึงแก่น เพื่อที่จะรองรับความจำเป็นระหว่างประเทศ
โดยสรุปคือรัฐบาล G20 กำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากวิกฤติการเงินโลก แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยังไม่พร้อมหรือมีศักยภาพมากพอที่จะจับมือกันทำเรื่องใหญ่อย่างการยกเครื่องระบบการเงินโลกได้
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 30 มีนาคม 2552
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|