มหาอำนาจนักชอปมือใหม่


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

4 มหาอำนาจตลาดเกิดใหม่ BRIC เปลี่ยนไปบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจของพวกเขาจะเจริญรุ่งเรืองต่อไป แม้ตลาดส่งออกอย่างสหรัฐฯ จะยังไม่ฟื้นตัว

ยอดเกินดุลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ของจีนตกต่ำลง ผลผลิตอุตสาหกรรมก็ตกลงต่ำสุดทำลายสถิติ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวจีนหลายล้านคนต้องอพยพออกจาก Shenzhen และเมืองอื่นๆ ในภาคตะวันออกของจีน หลังจากโรงงานพากันปิดกิจการ ทำให้ Jim O'Neill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ถูกกระหน่ำด้วยอีเมลจากลูกค้าที่ต่างรุมถามว่า 4 ประเทศ BRIC ซึ่งเป็นศัพท์ที่ Goldman Sachs คิดขึ้นใน ปี 2001 เพื่อให้หมายถึงบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน 4 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกกำลังจะถึงจุดจบแห่งความฝันเสียแล้วหรือ

คำตอบชัดๆ จากหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman คือ "ไม่" ตรงกันข้าม O'Neill กลับคิดว่า เศรษฐกิจของกลุ่ม BRIC จะเติบโตแซงหน้ากลุ่ม G7 ได้ภายในปี 2027 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิมที่เขาเคยคาดการณ์ไว้ภายในปี 2035 ถึงเกือบ 10 ปี

หากดูการเติบโตของยอดค้าปลีกในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในกลุ่ม BRIC จะพบว่า ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์เติบโตถึง 15% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ที่แท้จริงของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจีนกำลังกระตุ้นความต้องการบริโภค ผ่านการเพิ่มงบประมาณก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและยังประกาศเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพครั้งใหญ่ ซึ่งอาจเป็นการปลดปล่อยเงินออมจำนวนมหาศาลของจีนครั้งมโหฬาร ตลาดหุ้นระดับ A-share ของจีน ซึ่งดิ่งลงมากกว่า 60% ในปี 2008 ได้ถึงจุดต่ำสุด ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วันนั้นเป็นวันที่จีนประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านหยวน ตั้งแต่นั้นมาตลาดหุ้นของจีนก็พุ่งขึ้นมากกว่า 30% แซงหน้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกือบ 50%

O'Neill ไม่เห็นด้วยที่มีคนบอกว่าแนวคิด decouple ตายแล้ว decouple คือแนวคิดที่บอกว่า การที่ BRIC เริ่มหันไปพึ่งพิงความต้องการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจของ BRIC สามารถจะเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าตลาดส่งออกสำคัญที่สุดอย่างสหรัฐฯ จะถดถอยก็ตาม แนวคิดนี้ถูกโจมตีเมื่อปีก่อน ในช่วงที่การล่มสลายของตลาดสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศ BRIC

Goldman คาดว่า ในระยะยาวการเติบโตของจีนจะอยู่ที่ 5.8% ระหว่างปี 2001-2050 โดยจะชะลอตัวลงเหลือ 5.2% ระหว่าง ปี 2011-2050 แต่ก่อนหน้านี้จีนยังคงเติบโตมากกว่าสองเท่าของการคาดการณ์ดังกล่าว ส่วนในปีนี้คาดกันว่าจีนคงจะเติบโต 7% ในขณะที่การคาดการณ์ของ Goldman ยังต่ำกว่านั้นคือ 6% ส่วนปีหน้าคาดว่าจีนจะเติบโตมากกว่า 8% ในขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม BRIC ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะเติบโต 2.8% ในระหว่างปี 2011-2050 ส่วนอินเดียซึ่งประชากรเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่ม BRIC คาดว่าจะเติบโต 6.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ในปีนี้กลุ่ม BRIC จะโตเฉลี่ยประมาณ 4% ซึ่งดีกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก ในขณะที่ GDP ทั่วโลกสำหรับปีนี้จะติดลบประมาณ 1.1% สหรัฐฯ ติดลบ 3.2% เขตยูโรลบ 3.6% ญี่ปุ่นลบ 6.1% แต่ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเกือบ 3% โดยจีนจะกลับมาเติบโตที่ 9% และอินเดีย 6.6%

ประชาชนนักชอปในประเทศ BRIC กำลังมีส่วนมากขึ้นในการทำให้การบริโภคของโลกเติบโต ตัวเลขยอดขายปลีกตั้งแต่ปี 2004-2008 ชี้ว่านักชอปชาวยุโรปและญี่ปุ่นแทบจะไม่มีส่วนช่วยในการเติบโตของการบริโภคทั่วโลกเลย ส่วนนักชอปอเมริกันก็มีส่วนน้อยลงในปี 2007 ก่อนจะรูดซิปปิดกระเป๋าสตางค์อย่างแน่นหนาในปี 2008 แต่นักชอปในประเทศ BRIC กลับทำให้การบริโภคของโลกเติบโตขึ้นในปี 2008 จะเติบโตต่อไปอีก แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผู้บริโภคในประเทศ BRIC กำลังมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นและแนวคิด decouple ก็จะยังคงอยู่ต่อไป

ประเทศในกลุ่ม BRIC ที่มีความสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้บริโภคในครั้งนี้คือจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เท่ากับอีก 3 ประเทศ BRIC รวมกัน และสิ่งที่เกิดกับจีนย่อมมีความสำคัญต่อกลุ่ม BRIC และต่อโลกด้วย เมื่อดูจากการที่รัฐบาลจีนประกาศจะให้หลักประกันสุขภาพแก่ชาวจีน 90% ในชนบท และบรรดาอภิมหาโครงการยักษ์ที่จีนจะลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมไปถึงการที่จีนได้ผ่อนคลายเงื่อนไขด้านการเงินอย่างขนานใหญ่ คำถามเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนี้ จึงไม่ใช่จีนจะกลับมาเติบโตได้อีกหรือไม่ หากแต่เป็นจีนจะกลับมาเติบโต "มากกว่า" 8% ได้เร็วเพียงใด

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 30 มีนาคม 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.