BRIC ไม่กระเทือน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะใช้คำว่าวิกฤติ "โลก" แต่ความจริงประเทศที่เจอวิกฤติจนเศรษฐกิจต้องติดลบคือ
ประเทศตะวันตก หาใช่ตะวันออกไม่

นายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ของจีนกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขารู้สึก "วิตกเล็กน้อย" แต่สิ่งที่เขาวิตกหาใช่เศรษฐกิจของจีน หากแต่เกี่ยวกับสหรัฐฯ Wen กล่าวว่า จีนได้ให้สหรัฐฯ กู้เงินจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นจีนจึงต้องวิตก และ "เตือน" สหรัฐฯ ให้รักษาคำพูด และรับประกันความปลอดภัยให้แก่สินทรัพย์ของจีนที่อยู่ในสหรัฐฯ แปลคำพูดของนายกฯ จีนอีกทีก็คือ บรรดาสถาบันการเงินใน Wall Street ได้ทำทุกอย่างพังจนป่นปี้ และจีนเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจตกฮวบ จึงทำให้จีนต้องวิตกว่า พันธบัตรคลังสหรัฐฯ จำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่จีนซื้อไว้จะต้องพลอยมีมูลค่าลดลงตามไปด้วย

นับเป็นภาพที่กลับกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับเมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่คำ "เตือน" ทั้งหลายมักจะมาจากชาติร่ำรวยอย่างเช่นสหรัฐฯ แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหรือกระทั่งไม่กี่วัน ชาติกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่อย่างจีนกลับแข็งแรงขึ้น เก่งกล้าสามารถทางเศรษฐกิจมากขึ้นและร่ำรวยขึ้น ความเชื่อมั่นก็เพิ่มขึ้นตาม แม้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะถูกเรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ "โลก" ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่วิกฤติ "โลก" เพราะประเทศที่ต้องเจอกับเศรษฐกิจติดลบคือประเทศร่ำรวยเท่านั้น ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาระดับมหาอำนาจอย่างเช่นจีน เพียงแต่ชะลอตัวลง คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ และยุโรปจะติดลบ 3% ในปีนี้และ 6% ในญี่ปุ่น แต่จีนกับอินเดียกลับคาดว่าจะเติบโต 7% และ 5% ตามลำดับ

ช่องว่างของการเติบโตดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ประเทศมหาอำนาจตลาดเกิดใหม่คือบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งเรียกรวมกันว่ากลุ่ม BRIC อาจมี GDP โตแซงหน้า GDP ของชาติ G7 ทั้งหมดรวมกันภายในปี 2027 หรือเร็วกว่าที่เคยคาดไว้เดิมถึงเกือบ 10 ปี

ไม่เพียงผู้นำจีนที่กล้า "เตือน" สหรัฐฯ ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองที่แก่กล้าขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี Manmohan Singh ของอินเดียก็เพิ่งกล่าวโทษรัฐบาล "ชาติพัฒนาแล้ว" ว่า "ล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง" แต่ยังเกรงใจไม่ออกชื่อสหรัฐฯ ตรงๆ แต่ไม่ใช่สำหรับนายกรัฐมนตรี Vladimir Putin แห่งรัสเซียและประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva แห่งบราซิล 2 มหาอำนาจชาติกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจหนักกว่าอินเดียและจีน ซึ่งประณามระบบที่ไม่รับผิดชอบของสหรัฐฯ ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้นำ และระบุว่า สหรัฐฯ จะต้องแบกรับความรับผิดชอบที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจและจะต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาด้วย

Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างปี 2011-2050 รัสเซียจะเติบโต 2.8% บราซิล 4.3% จีน 5.2% และอินเดีย 6.3% ซึ่งหากเป็นจริงก็จะหมายความว่า 3 ใน 4 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ จีน สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น จะเป็นชาติที่อยู่ในเอเชีย ภายในอีกเพียง 2 ทศวรรษข้างหน้าเท่านั้น "ศตวรรษแห่งเอเชีย" กำลังใกล้จะเป็นจริงเข้าไปทุกทีแล้ว

การบริโภคที่ซบเซา การว่างงาน และความรู้สึกถูกปัญหารุมเร้าทุกด้าน ที่กำลังครอบงำชาติตะวันตกอยู่ในขณะนี้ ไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นกับเอเชียเลย ในจีนและอินเดียยอดขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วของจีนและอินเดีย ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมามากพอ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ยอดซื้อสินค้าทุนและเครื่องจักรเติบโตด้วยเลข 2 หลักในอินเดีย และยอดขายปูนซีเมนต์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ชาวอเมริกันจำต้องยกบทนักชอปที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลกให้แก่ชาวจีนและอินเดียไปเสียแล้ว ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในจีนเดือนธันวาคมปีที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 1,000% เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อน ขณะที่รัฐบาลจีนยังประกาศลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับออกมาตรการปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์

คำถามที่ใหญ่ที่สุดของจีนในขณะนี้คือ จะสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับการส่งออกไปยังตลาดตะวันตก แต่ให้ขึ้นอยู่กับการบริโภคภายในประเทศได้หรือไม่ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ Jones Lang LaSalle เชื่อว่าจีนกำลังพยายามทำเช่นนั้น เห็นได้จากการเติบโตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่สูงที่สุดในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ที่รองรับผู้ส่งออกแต่ไปอยู่ในเมืองเล็กกว่าที่รองรับตลาดในประเทศ ซึ่งไม่ต่างจากในบราซิลที่ชนชั้นกลางเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด รวมทั้งในอินเดียซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภค มีสัดส่วนถึง 60% ของ GDP เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติเศรษฐกิจ

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคของกลุ่ม BRIC จะสามารถช่วยกู้โลกให้พ้นจากวิกฤติการเงินได้ เพราะอำนาจซื้อของพวกเขายังคงน้อยกว่าชาติร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจของ BRIC เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อำนาจซื้อของพวกเขาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอีกไม่นานผู้บริโภคในชาติ BRIC จะดึงดูดการลงทุนด้าน R&D ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เส้นทางบินของสายการบินทุกสายจะมุ่งตรงไปที่นั่น รวมทั้งแผนรณรงค์การตลาดของบรรดาบริษัทข้ามชาติด้วย

BRIC ยังอยู่ในฐานะที่พร้อมจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าชาติร่ำรวย เพราะมีการควบคุมเงินเฟ้อที่ดีกว่า ขาดดุลน้อยกว่า มีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น มีโครงการทางสังคมมากกว่าและมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงกว่า ทำให้มหาอำนาจชาติกำลังพัฒนาเหล่านี้มีช่องว่างที่จะผิดพลาดได้มากกว่า ในยามที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคในชาติร่ำรวยกำลังตกต่ำลงอยู่ในขณะนี้ แม้แต่บราซิลกับรัสเซียซึ่งได้รับผลกระทบหนักกว่าจีนกับอินเดีย ก็ยังมีเงินมากพอที่จะสร้างกันชนวิกฤติเศรษฐกิจ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซรวมทั้งถั่วเหลืองและแร่เหล็กซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของรัสเซียและบราซิลตามลำดับ มีราคาแพงขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น รัสเซียได้ทุ่มเงินไปแล้วมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อปกป้องค่าเงินรูเบิลของตน และยังคงมีเงินเหลืออยู่อีกมากในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงถึง 2 แสน 8 พันล้านดอลลาร์ของบราซิล ยังไม่ถูกแตะต้องเลยด้วยซ้ำ

BRIC ยังเรียนรู้จากความผิดพลาดของชาติตะวันตก ผลจากการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ทำให้ภาคการเงินของจีนกับอินเดียแทบไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนใดๆ จากวิกฤติสินเชื่อเลย ครึ่งปีแรกของปี 2008 ธนาคารในจีนกำลังไล่ซื้อธนาคารคู่แข่งจากต่างชาติและกำลังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดการเงินโลกอยู่ ถ้าหากว่าการไล่ซื้อดังกล่าวของจีนไม่สะดุดหยุดชะงักลงเสียก่อนเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ รายงานของ Deutsche Bank ฉบับล่าสุดระบุว่า จีนอาจกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ครอบครองตลาดการเงินโลก ภายในปี 2018 เคียงข้างสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งจะครองส่วนแบ่งตลาด 13% ในตลาดพันธบัตรโลก 40% ในตลาดหุ้นและ 18% ในตลาดการเงินการธนาคารโลก

การส่งออกของจีนคงจะดีขึ้นในอีกไม่ช้า ผลสำรวจคำสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศในจีนปรากฏว่าเพิ่มขึ้นมา 3 เดือนแล้ว โรงงานหลายแห่งในจีนกำลังเร่งผลิตเสื้อผ้าตามคำสั่งซื้อด่วนจากเชนร้านเสื้อผ้าในชาติตะวันตก ซึ่งก่อนหน้านี้ตื่นตระหนก เกินกว่าเหตุและลดคำสั่งซื้อมากเกินไป นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Wal-Mart effect และคาดว่าผู้บริโภคตะวันตกที่กำลังรัดเข็มขัด คงจะสนใจที่จะซื้อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีราคาถูก ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งออกของจีนฟื้นตัว และไม่เพียงแต่จีน แต่สินค้าและบริการทุกชนิดที่ผลิตโดยชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตั้งแต่ปูนซีเมนต์ในเม็กซิโกไปจนถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมในอินเดียซึ่งมีราคาถูก คงจะได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า เมื่อผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มกลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง ดูเหมือนว่าพวกเขาคงจะเลือกซื้อจากประเทศในกลุ่ม BRIC

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 30 มีนาคม 2552


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.