เมื่อรายได้หลักอยู่ที่ non-voice


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤษภาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามที่จะเร่งสร้างรายได้จากตลาด non-voice ของค่ายโทรศัพท์มือถือ ด้วยการผนึกกำลังกับบริษัทผู้ผลิตสื่อบันเทิง ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจทั้งสองเหลื่อมซ้อนกันมากขึ้น พร้อมกับช่องทางการขายใหม่ๆ ที่เน้นสู่การขายตรงมากขึ้น

ล่าสุดอาร์เอสและดีแทคได้ปรับช่องทางการขายเสียงเพลงรอสายรูปแบบใหม่ ด้วยการส่งกองทัพแฮปปี้ให้บริการเสียงเพลงรอสาย (Ring Back Tone) แบบประชิดตัวให้แก่ลูกค้าดีแทคทั่วประเทศ

พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ "ขบวนการเหมา *339" ให้ลูกค้าดีแทคและแฮปปี้ดาวน์โหลดและเปลี่ยนเพลงรอสายของศิลปินอาร์เอสได้ไม่จำกัด ด้วยอัตราค่าบริการแบบเหมาจ่ายเพียง 20 บาท/เดือน โดยตั้งเป้า 3 เดือนแรกจะมีผู้สมัครใช้บริการกว่า 6 แสนราย

ยรรยง อัครจินดานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริการเสียงเพลงรอสาย (Ring Back Tone) ถือว่าเป็นบริการที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2551-มีนาคม 2552) บริการเสียงเพลงรอสายมีอัตราการใช้งานที่เติบโตขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับจำนวนบริการเสริมทั้งหมด

"จำนวนผู้ใช้บริการเสียงเพลงรอสายยังอยู่ในวงจำกัดและอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาร์เอสในฐานะเจ้าของคอนเทนต์มองว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจอยู่อีกมากในการที่จะขยายตลาดบริการเสียงเพลงรอสายให้กว้างมากขึ้นได้อีก"

ขณะที่ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ระบุว่า การประสานความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจบันเทิงจะมีมากขึ้น เพราะฝ่ายหนึ่งต้องการคอนเทนต์ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการช่องทางการจำหน่ายและนำส่งสู่ลูกค้า

"ในอนาคตทีมงานของทั้ง 2 บริษัทจะร่วมทำงานเป็นทีมเดียวกันโดยไม่มีการแบ่งงานกันตามขอบเขตของบริษัท หากแต่ต้องนำความรู้ความชำนาญของทั้ง 2 ธุรกิจ ตั้งแต่การออกแบบสินค้าและบริการ ไปจนถึงการนำเสนอ ตลอดจนการทำ CRM เพื่อที่จะกำหนดเป้าหมายและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น"

ขบวนการเหมา *339 นับเป็นการพัฒนาบริการที่ต่อยอดจาก Ring4U ที่เดิมต้องเสียค่าบริการดาวน์โหลด 20 บาทต่อ 1 เพลง มาเป็นวิธีคิดเหมาเป็นรายเดือนแทน ปัจจุบันดีแทคมีลูกค้าใช้งาน Ring4U อยู่ประมาณ 3.4 ล้านคน มีรายได้คิดเป็น 15% ของรายได้จากกลุ่มบริการเสริมทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.