ภายใต้การจับตามองอย่าง (ค่อนข้าง) ห่วงใย และใกล้ชิดของบรรดานักธุรกิจ
นายธนาคาร นักลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศวันนี้ บริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ
(ปคช.) ยังคงมีปัญหาให้คอยติดตามแก้ไขไม่สร่างซา
ความล่าช้าของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา (INFRASTRUCTURE) นั้น แม้จะไม่ทำให้โครงการนี้เป็นหมันลงกลางคัน
แต่คงพอจะทำให้แคระแกร็นเหมือนเด็กเป็นโปลิโอเอาได้ง่าย ๆ
การลาออกไปอยู่ธนาคารกรุงเทพอย่างกะทันหันของ ดร. ศิริ จิระพงศ์พันธุ์
ผู้จัดการฝ่ายแผนและประสานงาน ยอดฝีมือที่เชี่ยวชาญทางด้านปิโตรเคมีอย่างลึกซึ้งที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนของประเทศ
ทำให้ ปคช. สะดุดหยุดกึกลงไปช่วงหนึ่ง
ปัญหาอื่น ๆ อาทิ การขาดแคลนบุคลากร และวิศวกรที่มีความสามารถนั้น เมื่อเทียบกับเวลาอีกไม่เต็มปีที่
ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้จัดการใหญ่ ปคช. ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปในช่วงเวลาที่เหลือก็ดูจะหนักหนาสาหัสเอาการ
แต่อย่างน้อยก็พอจะอุ่นใจได้ว่า ข้างกายของ ดร. สิปปนนท์ ยังมี "เกรียงไกร
ศิริมงคล" ผู้จัดการฝ่ายบริหารและบุคคลคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานกับ
ปคช. เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นคนที่ "รู้มือ" และ "รู้ใจ"
กันมาเป็นเวลานาน คอยช่วยเหลือดูแลเรื่องราวต่าง ๆ อย่างรอบคอบและใกล้ชิดที่สุดอยู่แล้ว
เกรียงไกร จบการศึกษาชั้น ม. 6 จากอัสสัมชัญ ศรีราชา ต่อจากนั้นไปต่อไฮสคูลที่
GENERAL CERTIFICATION OF EDUCATION ที่ UNIVERSITY OF LONDON ประเทศอังกฤษ
ศึกษาระดับปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ที่ HAMBURG UNIVERSITY ฮัมบูร์ก เยอรมันตะวันตก
ได้ปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ที่ UNIVERSITY OF SANTO THOMAS มะนิลา ฟิลิปปินส์
กลับมาทำงานครั้งแรกเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายธุรการสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มี ดร. สิปปนนท์ เกตุทัตเป็นรองผู้อำนวยการอยู่ขณะนั้น
"พ่อผมอยากให้รับราชการ มันมั่นคงดี พ่อบอกผมว่ากิจการป่าไม้ที่ทำอยู่ที่บ้าน
นานไปจะไม่ก้าวหน้า" เกรียงไกรบอกเหตุที่ไม่กลับไปดูแลกิจการดั้งเดิมที่ครอบครัวของเขาทำอยู่ที่ลำปางและไม่ไปทำงานกับเอกชน
ทำงานอยู่ในสำนักฯ ได้ไม่นานก็ลาออกไปศึกษาต่อด้านการทูตที่ชิคาโกเป็นเวลาห้าปี
จนได้รับปริญญาโทมาอีกสองใบคือ รัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ที่
NORTHEASTERN ILLINOIS UNIVERSITY, CHICAGO และรัฐศาสตร์ (วิเคราะห์นโยบายสาธารณะ)
จาก GOVERNORS STATE UNIVERSITY, PARK FOREST SOUTH สหรัฐอเมริกา
เป็นเลขานุการประจำกงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ของไทยในนครชิคาโก กลับมาเมืองไทยเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารงานกลาง
บริษัทผาแดงอินดัสตรีส์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2526-2528 ก่อนผันตัวเองไปทำงานด้านวิชาการ
เน้นหนักไปที่การติดต่อให้ข้อมูลข่าวสาร จัดประชุมในหลายประเทศ ไม่ว่าเกาหลี
ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จัดเทรดมิสชั่นให้พ่อค้า นักธุรกิจที่ต้องการส่งออก
และนำเข้าสินค้ามาพบปะกัน โดยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการบริหาร สภาหอการค้าฯ
สมัยที่มียุกต์ ณ ถลาง นักบัญชีและนักธุรกิจชื่อดังเป็นประธานฯ อยู่ตั้งแต่ปี
2528 ทำอยู่สามปีก่อนออกมารับงานที่ ปคช.
เท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายที่ปรึกษา หรือนักธุรกิจเขี้ยวลากดินที่เราท่านได้ยินข่าวสารความเคลื่อนไหวมากมายในวงการธุรกิจแบบวันต่อวันนี้
น้อยคนนักที่จะเคยได้ยินชื่อ "เกรียงไกร ศิริมงคล"
แต่ "ความสำคัญ" หรือ "คุณค่า" ของเกรียงไกรอยู่ที่เขาเป็น
"แม็ทช์เมคเกอร์" ที่ยอดเยี่ยมหาตัวจับยากเพราะมีไม่กี่คนที่จะทำหน้าที่เหมือนเขา
ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ผาแดงฯ สภาหอการค้าฯ จนกระทั่งมาอยู่ ปคช. งานหลักของเกรียงไกรคือ
ติดต่อกับต่างประเทศทั้งภาครัฐ และเอกชน
เกรียงไกรเคยทำงานกับสถานกงสุลไทยในชิคาโก รู้จักคุ้นเคยกับผู้หลักผู้ใหญ่มากมายในกระทรวงการต่างประเทศ
พอย้ายมาผาแดงฯ ก็ทำหน้าที่เดียวกันเพราะธุรกิจที่ทำอยู่ต้องติดต่อต่างประเทศบ่อยครั้งมาก
พอมาที่ปิโตรเคมีแห่งชาติ ช่วงเวลาที่ผ่านมา งานติดต่อกับต่างประเทศที่เขาช่ำชองชำนาญนั้น
อาจจะเห็นได้ไม่ชัดนัก เพราะเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึงปีดี แต่สายสัมพันธ์ที่มีในวงราชการนั้นมีส่วนทำให้การติดต่อหลาย
ๆ เรื่องสะดวกรวดเร็วขึ้น
"อย่างเรื่องนำเข้าเอททิลีนโปรโพลีน ต้องติดต่อสามกรมกระทรวงเดียวคือ
กรมการค้าระหว่างประเทศเรื่องการนำเข้า ติดต่อกรมสรรพสามิตเรื่องภาษี ติดต่อกรมการค้าภายใน
ในกระทรวงพาณิชย์ฯ เพื่อขออนุญาตเพียงใบเดียว" เกรียงไกรเล่าให้ฟัง
ซึ่งการติดต่อข้าราชการในหลายระดับมาก่อนทำให้สิ่งที่ใคร ๆ คิดว่ายากนั้นง่ายเข้า
"ผมเคยเป็นข้าราชการมาก่อนเลยจึงค่อนข้างได้เปรียบที่จุดนี้ งานแบบนี้ต้องใช้ไหวพริบและความอดทนเป็นพิเศษ
ราชการมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เอกชนก็มีวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง" เกรียงไกรบอก
"ผู้จัดการ"
ทว่า…วันหน้า อาจไม่มีชื่อเกรียงไกร ศิริมงคล อยู่ในทำเนียบนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมากมายจนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปก็เป็นได้
เพราะเกรียงไกรได้ "วางแผน" สำหรับช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตของเขาไว้แล้ว
"ผมคิดว่าเมื่ออายุห้าสิบ ผมอยากจะสอนหนังสือ มันดีกว่าที่จะเปิดหนังสือแล้วมาสอนเด็ก
ๆ สู้เอาประสบการณ์จากการทำงานที่เราพบเห็นมาไปสอนเขาไม่ได้" เกรียงไกรกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในอนาคตที่ค่อนข้างจะอยู่ไกลพอสมควร
เพราะปีนี้เขาเพิ่งมีอายุ 43 ปีเท่านั้น
เส้นทางของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากมายที่เกษียณอายุราชการแล้วถูกดึงตัวให้ไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทธุรกิจเอกชน
ไม่ว่าจะเป็นอดีตอธิบดีกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ. ณรงค์ มหานนท์ วิทย์ ตันติยกุล
อดีตอธิบดีกรมสรรพากรก็พอจะบอกให้รู้เป็นนัย ๆ ว่าการติดต่อกับราชการนั้นเป็นด่านสำคัญที่ธุรกิจ
"เอกชน" จะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ซึ่งบุคคลที่มีความสามารถจะติดต่อกับทั้งราชการและเอกชนได้นั้น
เป็นที่บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ปรารถนาจะได้จนเนื้อตัวสั่น แต่ก็ไม่ใช่ง่าย
ๆ ที่จะได้คนเช่นนี้มาสักคนหนึ่ง
"โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ คนส่วนใหญ่ก็สนใจที่จะเข้ามาร่วมงานด้วย
และผมอยากทำงานกับ ดร. สิปปนนท์มานานแล้ว ท่านเป็นคนมีเมตตาธรรม มีคุณธรรม
มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นจากผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอ" เกรียงไกรบอกกับ
"ผู้จัดการ" ถึงความคิดที่ทำให้เขามาทำงานกับ ปคช.
"ไม่แน่ว่าผมจะอยู่ที่นี่จนเกษียณเลยก็ได้" เกรียงไกรกล่าวแบ่งรับแบ่งสู้กับอนาคตของเขา
ยังมีเวลาอีกมากกับโครงการปิโตรเคมีระยะที่หนึ่ง ที่จะเป็นรูปเป็นร่างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่เกรียงไกรก็จะเป็นคนหนึ่งที่ประคับประคอง
ดูแลให้โครงการนี้สำเร็จตามความมุ่งหมาย
ส่วนอนาคตที่แท้จริงของเขาจะเป็นอย่างไร ก็คงจะต้องรอดูกันต่อไป