บริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจในต่างประเทศนี้มีมานานแล้ว ในไทยเพิ่งจะเริ่มต้นไม่นาน
และบูมจริง ๆ ก็ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อของสังคมข้อมูลข่าวสาร
(INFORMATION SOCIETY) ที่ว่าถ้าใครมีข้อมูลมากกว่าและดีกว่า ย่อมจะตัดสินใจได้ดีกว่าบริษัทคู่แข่ง
บริษัทหนึ่งที่มักจะได้รับงานใหญ่คือ ธาราสยาม ชื่อบริษัทที่ออกจะดูไทย
ๆ แต่ก่อตั้งโดยความคิดริเริ่มของชาวสก็อตที่ชื่อจอห์น จอห์นสโตน อดีตกรรมการผู้จัดการของลอยด์แบงก์
สาขาสิงคโปร์ โดยมีผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย 3 คนคือ ม.ล. ตรีทศยุทธ เทวกุล ซึ่งถือในนามของบริษัทโมเบ็กซ์
ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน, โรงแรม…, นิจจพร จรณจิตร์ (ลูกสาวคนโปรดของหมอชัยยุทธ
กรรณสูตร แห่งอิตัลไทยกรุ๊ป) ปัจจุบันเป็นรองประธานฝ่ายการเงินของอิตาเลี่ยนไทย,
อดิศร จรณจิตร์ (สามีของนิจจพร) ผู้จัดการ บริษัทไทยอินดัสเตรียล แต่ทั้งคู่ถือในนามส่วนตัวไม่ใช่ของอิตัลไทยกรุ๊ป
ในด้านการบริหารงานนั้น จอห์น จอห์นสโตน ทำงานเต็มตัวในฐานะกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหาร
โดยที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยเพียงให้คำแนะนำปรึกษาเท่านั้น
"เหตุผลส่วนตัวคือทำงานกับธนาคารมานาน ปัญหาหนึ่งคืออยู่กับธนาคารไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็ไม่มีปัญญาเป็นเจ้าของได้
จึงต้องการมีธุรกิจส่วนตัวและในช่วงที่อยู่สิงคโปร์เดินทางมาไทยบ่อย รู้จักคนไทยมากขึ้น
ผมดูว่าบริษัทที่ปรึกษาในเมืองไทยมีน้อย และยังมีคุณภาพไม่ดีนัก ขณะที่ความต้องการสูงมากขึ้นทุกที"
จอห์นโสตนกล่าวถึงแรงจูงใจก่อตั้งบริษัทนี้
แม้ว่าบริษัทนี้ตั้งขึ้นมาอย่างเอกเทศ ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือหรือบริษัทต่างประเทศถือหุ้น
แต่ความที่จอห์นสโตนเป็นนายธนาคารมานาน สายสัมพันธ์ในหมู่แบงก์และลูกค้าต่างประเทศนับว่ากว้างขวาง
ซึ่งเอื้อต่อธุรกิจที่ปรึกษาของเขามากทีเดียว
ลักษณะงานของธาราสยามนั้นเป็นงานด้านข้อมูล เป็นที่ปรึกษาแบงก์และลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
ให้คำแนะนำด้านการวางกลยุทธทางการตลาด, การเงิน, การบริหาร ตลอดจนข้อมูลเฉพาะที่ลูกค้าต้องการ
ลูกค้าของธาราสยามนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศที่ต้องการมาลงทุนในเมืองไทย
ธนาคารต่าง ๆ ที่ไม่มีสำนักงานตัวแทนในไทย ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาให้กับสถานทูตต่าง
ๆ หลายแห่งเป็นการให้ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, ธุรกิจ… ผลพลอยได้คือ
ธาราสยามได้ลูกค้าจากคำแนะนำของธนาคารและสถานทูตไปไม่น้อย ล่าสุดสถานทูตแคนาดาเพิ่งตัดสินใจเลือกธาราสยามเป็นบริษัทที่ปรึกษาเป็นเวลาหนึ่งปี
ปี 2529 ธาราสยามได้โปรเจคใหญ่ของบีโอไอ ที่ต้องการข้อมูลของบริษัทคนไทยที่สนใจจะร่วมทุนกับต่างประเทศ
ซึ่งแห่มาลงทุนในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเกษตรให้ยูนิโด้
(UNITED NATION INTERNATIONAL DEVELOP ORGANIZATION)
ผลงานที่ค่อนข้างจะฮือฮามากคือออกหนังสือ THAI SECURTIES INDUSTRY 1988
ซึ่งเป็นหนังสือเสนอรายละเอียดและวิเคราะห์ตลาดหุ้นของไทย โดยกล่าวถึงความเป็นมาและพัฒนาการทางการบริหารของตลาดหลักทรัพย์ฯ
รวมถึงกฎข้อบังคับกลไกและกฎเกณฑ์ของตลาดฯ และมีการวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัว
ตลอดจนกองทุนของต่างประเทศ หนังสือนี้พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเพราะเน้นลูกค้าต่างประเทศสนนราคา
876 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 2 หมื่นกว่าบาทซึ่งนับว่าราคาแพงมาก นี่เป็นตัวอย่างการคิดราคาซึ่งคงจะบอกได้ชัดว่าราคาที่คิดค่าบริการคงจะแพงมาก
ๆ
"เรายึดเรื่องคุณภาพเป็นหลัก งานของเราแต่ละชิ้นจึงแพงมาก อย่างน้อยต้อง
10,000 เหรียญขึ้นไป เพราะต้นทุนส่วนใหญ่ของเราคือคนนั้นเราจ้างด้วยราคาที่สูงมาก"
จอห์น สโตนบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงมาตรฐานการคิดค่าบริการของบริษัท
ความสามารถในการทำกำไร จอห์น สโตนหัวเราะและบอกว่าไม่ตอบดีกว่าเดี๋ยวสรรพากรมาไล่เบี้ยเอา
แต่กล่าวได้ว่าบริษัทเติบโตเร็วมากจากเริ่มต้นมีพนักงานเพียง 3 คน ปัจจุบันมี
15 คน และมกราคม 2532จะขยายออฟฟิศออกไปอีก รองรับงานเป็นที่ปรึกษาแบงก์ต่างประเทศ
8 แบงก์
ธาราสยามจึงเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่น่ากลัวสำหรับคู่แข่ง ปัจจัยหนึ่งที่ธาราสยามได้รับความเชื่อถือจากลูกค้า
จอห์น สโตนคิดว่า "เพราะเราไม่ได้พูดว่าใช่ใช่ เราไม่ได้พยายามที่จะขายประเทศไทย
ถ้าเขาสนใจในการมาลงทุนแถบเอเชียนั้น ประเทศหนึ่งที่ควรมองคือไทย แต่ไม่ใช่หมายความว่าประเทศไทยเหมาะสมที่สุด
บางสถานการณ์บางธุรกิจอาจจะไม่เหมาะสม บางครั้งเราบอกว่าไม่ ทำให้ลูกค้าเชื่อถือและมีความสัมพันธ์กับเราต่อเนื่องไม่ใช่จบแค่โปรเจคเดียว"
การแข่งขันในธุรกิจที่ปรึกษานั้น นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ความจำเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
ทำให้บางบริษัทอาจจะไม่เลือกวิธีการ จนบางครั้งบางบริษัทถึงกับมีการจารกรรมข้อมูลกัน
และการที่เป็นที่ปรึกษาให้หลายประเทศ อาจจะมีการยักย้ายข้อมูลของบางประเทศเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศอื่น
ราวกับเป็นซีไอเอหรือสายลับทางธุรกิจ ซึ่งจุดนี้ดูเหมือนจะท้าทายจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัทที่ปรึกษาทั้งหลาย
ไม่เพียงแต่ธาราสยาม…
ตรงนี้แหละ เป็นเส้นแบ่งประสิทธิภาพของบริษัทที่ปรึกษาในสายตาลูกค้าว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน?
ข้อมูลที่ได้มาเพื่อนำไปแนะนำให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง ในหลายเหตุการณ์บริษัทที่ปรึกษาอาจจะต้องก้าวล้ำเส้นความมีจริยธรรมไป
เพื่อสำแดงให้ลูกค้าเห็นถึงความมีประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์
กล่าวถึงที่สุดแล้ว บริษัทที่ปรึกษาอาจจะแลดูน่ากลัว ในสายตาสาธารณชนทั่วไปด้วยมาตรฐานเส้นวัดทางจริยธรรม
แต่เขาก็อาจจะเป็นที่น่ารักใคร่ในสายตาลูกค้าก็เป็นไปได้ด้วยมาตรฐานประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์