สินค้าสุขภาพ+เทคโนโลยีสีเขียวคีย์ไดเรกชั่นชาร์ปไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ชาร์ป สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่ง พลาสม่า คลัสเตอร์ และ ฮีลซิโอ เจาะตลาดสุขภาพ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานจากโซลาร์เซลล์ มาสู่ แอลอีดี ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ชูคีย์ไดเรกชั่นใหม่ Health, Global Warming, Energy Saving รุกตลาดทั่วโลก

สมรภูมิในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้านอกจากห้ำหั่นกันด้วยสงครามราคาและการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหนือคู่แข่งแล้ว ยังมีการสร้างคอนเซ็ปต์ใหม่ๆในการทำการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคซึ่งที่ผ่านมามีการสร้างเทรนด์ สร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ๆให้กับผู้บริโภค ตลอดจนการพัฒนาดีไซน์สินค้าให้เป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งในบ้าน ล่าสุดกระแสโลกร้อนได้กลายเป็นประเด็นให้บรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายค่ายหยิบยกมาโปรโมตสินค้า แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการทำการตลาดในลักษณะของการมีส่วนร่วมต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าที่ผ่านมามักเกิดจากกฎระเบียบที่บังคับธุรกิจต้องเดินตาม มิฉะนั้นจะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ตั้งแต่โครงการประหยัดไฟเบอร์ 5 มากถึงมาตรฐาน RoHS ที่ถูกกำหนดโดยสหภาพยุโรป โดยสินค้าใดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน RoHS ก็จะไม่สามารถนำเข้าไปจำหน่ายในยุโรปได้

การตลาดสีเขียวทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาซึ่งราคาน้ำมันสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่างๆแพงขึ้น จนกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ยักษ์ใหญ่วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายค่ายจึงโปรโมตสินค้าของตัวเองที่นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังชูประเด็นเรื่องการประหยัดพลังงานเพื่อให้นวัตกรรมสีเขียวเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้นเพราะช่วยให้ผู้บริโภคจ่ายค่าไฟน้อยลง ทั้งนี้นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องสุขภาพยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำควบคู่กันไป ซึ่งนอกจากจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

Health, Global Warming, Energy Saving ถือเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญของชาร์ปไทย ในการตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของชาร์ป ซึ่งที่ผ่านมาชาร์ปมีการทำเทคโนโลยีพลาสมา คลัสเตอร์ เพื่อตอบสนองในเรื่องสุขภาพ ในปี 2546 โดยเริ่มจากเครื่องปรับอากาศ จากนั้นในปี 2547 ก็ขยายเทคโนโลยีดังกล่าวสู่เครื่องฟอกอากาศ และตู้เย็น โนฟรอสท์ ซึ่งสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีพลาสม่า คลัสเตอร์ จะมีราคาแพงกว่าสินค้ารุ่นปกติประมาณ 3,000 บาท โดยแผนตลาดสำหรับพลาสม่าคลัสเตอร์จะทำตลาดแบบนิชมาร์เก็ต เน้นกลุ่มคนที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพ โดยชาร์ป ประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเทคโนโลยีฟอกอากาศพลาสม่า คลัสเตอร์ไปใช้ในสินค้าอื่นๆ เช่น ฟอกอากาศในรถยนต์ ลิฟท์ สินค้าประเภทสุขภัณฑ์

ล่าสุด ชาร์ป ไทย ลอนช์ ไมโครเวฟ รุ่น ฮีลซิโอ เพื่อเติมเต็มจิ๊กซอว์ในการตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยไมโครเวฟรุ่น ฮีลซิโอ มีคุณสมบัติ ในการเป็นทั้งเตาอบ เตาย่าง อบไอน้ำธรรมดา และอบไอน้ำพลังสูง ทำให้ประกอบอาหารได้หลากหลายกว่า โดยมีราคาสูงกว่าไมโครเวฟทั่วไปของคู่แข่งประมาณ 10% เจาะตลาดคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่ม 30-35 ปี ที่มีฐานใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการบริจาคไมโครเวฟรุ่นใหม่ให้กับคณะคหกรรมตามสถาบันการศึกษาต่างๆ พร้อมส่งทีมโภชนากรเข้าไปแนะนำวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการสร้างฐานลูกค้ารุ่นใหม่ ที่มีวิถีชีวิตในการเข้าครัว จึงมีโอกาสที่จะเป็นลูกค้าของชาร์ปในอนาคต

'ผู้บริโภคยุคนี้ตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ไมโครเวฟที่ช่วยลดเกลือ ลดไขมัน และรักษาวิตามินในอาหาร จึงได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ไมโครเวฟฮีลซิโอ เข้ามาทดแทนไมโครเวฟรุ่นเก่าเกือบหมด ขณะที่ตลาดเมืองไทย ยังต้องใช้เวลาในการเอ็ดดูเคตให้ผู้บริโภคได้รู้จัก' คาซูโอะ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการ ชาร์ป ไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากฮีลซิโอ มีราคาแพงกว่าไมโครเวฟทั่วไป จึงต้องเน้นการเดินสายโรดโชว์เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีประสบการณ์ในการใช้สินค้า ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรม Cooking Class โดยร่วมกับดีลเลอร์หลักกว่า 30 รายทั่วประเทศที่มีศักยภาพในการทำตลาดสินค้าไฮเอนด์ ตลอดจนการทำกิจกรรม จัดดิสเพลย์และวางแผนงานร่วมกับผู้แทนจำหน่ายเพื่อให้สินค้าสามารถจำหน่ายออกจากร้านค้าได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมี Nutrition Center ที่ตั้งอยู่ที่บิ๊กซี ราชดำริ เพื่อทำกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ร่วมกับลูกค้าและพัฒนาสูตรในการประกอบอาหารด้วยผลิตภัณฑ์ของชาร์ป โดยบริษัทตั้งเป้าว่าใน 6 เดือนแรกจะสามารถสร้างยอดขายไมโครเวฟ ฮีลซิโอ ได้ 1,000 เครื่อง

ตลาดไมโครเวฟในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการเติบโตเท่าที่ควรโดยปริมาณความต้องการอยู่ที่ 400,000 กว่ายูนิต มีการทำสงครามราคาค่อนข้างหนัก ซึ่งบางครั้งมีการทำโปรโมชั่นจนมีราคาอยู่ที่ 900 กว่าบาท ทำให้ตลาดไม่มีการเติบโตในเชิงมูลค่า ดังนั้นหลายๆค่ายจึงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเช่น ไมโครเวฟ รุ่น โซลาร์โดม ของแอลจี ที่ชูคุณสมบัติในการทำงานที่เร็วกว่าไมโครเวฟปรกติ 4 เท่า ทำให้ประหยัดไฟ 50% นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรม โดยมีเชฟจากโรงเรียนสอนการทำอาหารนานาชาติสวนดุสิต และดาราศิลปินมาสร้างสีสันในงาน และมีการจัดคอร์สสอนทำอาหารจากเตาอบไมโครเวฟของแอลจี

ในส่วนของเทคโนโลยีสีเขียว นอกจากชาร์ปจะมีการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์แล้วชาร์ปยังมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีแอลอีดีซึ่งจะช่วยทำให้ผู้บริโภคประหยัดพลังงาน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถไปได้ทั้งในธุรกิจอุปกรณ์แสงสว่าง และแอลอีดีทีวี ซึ่งกำลังจะเข้ามามีบทบาทในตลาดภาพและเสียงแทนพลาสม่าทีวีและแอลซีดีทีวีในอนาคต

คีย์ไดเรกชั่นของชาร์ป นอกจากจะช่วยสร้างจุดเด่นหนือคู่แข่งแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยพลาสม่าคลัสเตอร์มีราคาสูงกว่าสินค้าธรรมดา 3,000 บาท ส่วนไมโครเวฟ ฮีลซิโอ ก็มีราคาแพงกว่าคู่แข่ง 10% ในขณะที่เทคโนโลยีแอลอีดี ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากกว่า 100% เช่น แอลอีดีทีวี 40 นิ้ว มีราคาหลักแสนบาท สูงกว่าแอลซีดีทีวี ขนาดเดียวกันซึ่งมีระดับราคาประมาณ 30,000-40,000 บาท

เทรนด์โลกสีเขียว ผลิตภัณฑ์สีขาว จึงได้รับความสนใจจากค่ายยักษ์ใหญ่แห่งวงการไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นไดเรกชั่นที่สำคัญของหลายบริษัท เช่น โตชิบามีการวางนโยบายให้ผู้แทนจำหน่ายหลักที่มีกว่า 400 ราย ร่วมรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาซื้อสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ยังมีการสร้างโลโก้ ทีจัง T-Chan เป็นสัญลักษณ์ของ Green Innovation ซึ่งจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สินค้านั้นๆอย่างถูกวิธีเพื่อยืดอายุการใช้งานและก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า พร้อมด้วยการดีไซน์ที่เรียกว่า ECO Design เพื่อทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โตชิบาจะยึดหลัก 3R Reduce ลดวัสดุ Reuse นำกลับมาใช้ใหม่ Recycle นำไปแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น ตู้เย็นรุ่นลลิมเลดี้มีการพัฒนาฉนวนกันความร้อนพิเศษที่บางลงทำให้มีการใช้วัสดุพื้นผิวตู้เย็นลดลงเมื่อถูกทิ้งก็จะก่อขยะในปริมาณที่น้อยกว่าตู้เย็นทั่วไป ขณะเดียวกันยังคงมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าไฟ หรืออย่าง แอลซีดีทีวี Regza ก็มีการพัฒนาให้เบาลง 30% ซึ่งนอกจากจะลดวัสดุที่ใช้ทำสินค้าแล้ว ยังลดวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ รวมถึงกินไฟลดลง 30% ขณะที่เครื่องซักผ้ามีฟังก์ชั่น Zero Standby Power ที่สามารถตัดระบบไฟฟ้าออกจากวงจร เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้า ขณะที่เสียบปลั๊กเครื่องซักผ้าทิ้งไว้โดยเครื่องไม่ทำงาน ซึ่งหากเป็นเครื่องซักผ้าธรรมดาเมื่อไม่ใช้งานแต่เสียบปลั๊กไว้จะกินไฟ และอาจเกิดความร้อนทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้

ขณะที่ฟิลิปส์มีการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินค่าไฟที่จะประหยัดได้จากการใช้หลอดประหยัดไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่าหลอดประหยัดไฟช่วยลดค่าไฟแต่ยังไม่มีรายใดออกมาสื่อให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนว่าหลอดประหยัดไฟแต่ละหลอดช่วยประหยัดค่าไฟได้เท่าไรจนกระทั่งฟิลิปส์มีการทำแคมเปญ Save Energy-Save Cost ประหยัดพลังงาน ประหยัดต้นทุน ลดค่าไฟให้ลูกค้าโครงการ

ซึ่งก่อหน้านั้นมีการทำ แคมเปญ End of Life โดยร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมในการทำลายหลอดไฟที่มีสารปรอทเกินมาตรฐานโดยฟิลิปส์ออกค่าใช้จ่ายให้เพียงแต่โรงงานต้องซื้อหลอดไฟขั้วเขียวจากฟิลิปส์ซึ่งมีราคาสูงกว่าหลอดปกติเกือบ 40% แต่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า รวมถึงมีสารปรอทน้อยกว่ากำหนดทำให้โรงงานสามารถทิ้งหลอดรุ่นใหม่โดยไม่ต้องไปรีไซเคิลใหม่เป็นการช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะพิษของโรงงาน

ตลอดจนการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ Energy Efficiency Lighting Solution โดยมีการนำเทคโนโลยีแสงสว่างมาแนะนำให้กับลูกค้าโครงการโดยชูจุดขายในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แม้หลอดจะมีราคาแพงกว่าแต่สามารถคืนทุนได้เร็วจากการประหยัดค่าไฟ

ในขณะที่ตลาดคอนซูเมอร์ก็มีแคมเปญ Make a Simple Switch รณรงค์ให้ผู้บริโภคประหยัดการใช้พลังงาน ช่วยลดภาวะโลกร้อน พร้อมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้หลอดไส้ให้หันมาใช้หลอดตะเกียบหรือหลอดประหยัดไฟแบบต่างๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลอดไส้มีราคาประมาณหลอดละ 20 บาท ขณะที่หลอดตะเกียบมีราคาเฉลี่ย 100 บาท ถ้าสามารถทำให้ตลาดหลอดไส้เปลี่ยนมาใช้หลอดตะเกียบก็เท่ากับทำให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าจากมูลค่าตลาดหลอดไส้เดิม ทว่าผู้บริโภคก็จะได้ความคุ้มค่าจากการประหยัดค่าไฟในแต่ละเดือน 80%

ส่วน พานาโซนิค งัดกรีนคอนเซ็ปต์ภายใต้แนวคิด อีโค ไอเดียส์ (Eco Ideas) ขยายฐานตลาดหลอดประหยัดไฟท้าชนฟิลิปส์ ด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้สินค้า ด้วยการแจกหลอดประหยัดไฟ อีโค เฟรนด์ลี่ (Eco Friendly) กว่า 2,000 หลอด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นประสิทธิภาพในการประหยัดค่าไฟ

นอกจากนี้ พานาโซนิค ยังมี ผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน เช่น การพัฒนาพลาสม่าทีวีให้มีความร้อนที่หน้าจอลดน้อยลงซึ่งนอกจากลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของหน้าจอแล้วยังช่วยให้อุณหภูมิห้องไม่สูงจนกระทบต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาศ รวมถึงกระบวนการผลิตหน้าจอที่ไม่มีการใช้สารตะกั่วและปรอทให้เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม, กล้องวิดีโอดิจิตัลที่มีสายชาร์จแบตเตอรี่ปราศจากพีวีซี, โทรศัพท์ไร้สายที่ไม่มีสารเคมีต้องห้ามเป็นส่วนผสม เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โปรมีน ส่วนเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นระบบอินเวอร์เตอร์มีระบบประหยัดไฟ สำหรับเครื่องซักผ้าถังเอียงก็ช่วยประหยัดน้ำที่ใช้ซักผ้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.