|

'แอกซ่าประกันภัย'เกาะกระแสท่องเที่ยวชดเชยป้ายแดงวูบพอร์ตหุ้นเฉาดอกเบี้ยดิ่ง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
'แอกซ่าประกันภัย' เบนหัวเรือ หันเปิดสาขาแถบหัวเมืองท่องเที่ยวขยายตลาดลูกค้าต่างประเทศ พึ่งพากระแสอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีวิตด้วยน้ำมือภาครัฐ ทดแทนตัวเลขต่ออายุประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 กำลังเซถลาไร้ทิศทางเพราะยอดขายรถป้ายแดงตกวูบ ขณะที่กำไรจากพอร์ตลงทุน หมดสภาพไปตามสถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวน จนยากเกินเยียวยา ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยที่นับวันจะสาละวันเตี้ยลง ก็ยิ่งซ้ำเติมผลตอบแทนการลงทุนนมากขึ้นไปอีก...
แนวโน้มจะดีหรือเลว สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น ดูได้จากหลายทาง หลักๆ ก็คือ การคาดการณ์ทิศทางการเติบโตจากหน่วยงานต้นสังกัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันวินาศภัย หรือ คปภ. ที่ทำนายไว้ก่อนจะเกิด 'จลาจลสงกรานต์เลือด' ว่า ในปี 2552 อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยน่าจะขยายตัวระดับ 5% ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะให้แต้มแค่ 2%
อีกหนึ่งเหตุผลที่สามารถบ่งบอกอนาคตอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างชัดเจน ก็คือ พอร์ตลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ซึ่งเคยเป็นแหล่งทำรายได้งดงาม ให้ผลตอบแทนมหาศาล กับธุรกิจประกันภัยเกือบทุกแห่งในอดีต แต่บัดนี้กลับตกอยู่ในวัฏจักรดิ่งนรก....ยังไม่นับวิกฤตคนว่างงาน ที่กำลังลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า ตัวเลขจะเลวร้ายมากกว่า 2.5 ล้านคน
หากพ่วงเข้ากับ ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ซึ่งเบี้ยต่ออายุเริ่มขาดหาย จากยอดขายรถป้ายแดงทรุดหนักด้วยแล้ว ผู้คนในแวดวงประกันภัยก็คงคาดเดาได้ไม่ยาก ว่าจะต้องกำหนดทิศทางเดินเกมการตลาดและกลยุทธ์ใหม่ๆ อย่างไร เพื่อให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้...
'เราเป็นแบรนด์ที่ฝรั่งต่างประเทศรู้จักดี ดังนั้นในปีนี้เราก็จะหันไปขยายสาขาตามจังหวัดท่องเที่ยวมากขึ้น'
กี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.แอกซ่าประกันภัย เห็นสัญญาณแนวโน้มการถดถอยของอุตสาหกรรมนี้ ดังนั้นในปีนี้จึงเริ่มมองไปที่การเปิดสาขาใหม่ในจังหวัดและโซนท่องเที่ยว อย่าง เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยามากขึ้น เป็นการเกาะกระแสการท่องเที่ยว ที่ภาครัฐกำลังจะพลิกฟื้นคืนชีวิตเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น
'กลยุทธ์เราคือ จะหากินกับฝรั่งให้มากขึ้น จะเปิดสาขาในโซนท่องเที่ยว เช่น เกาะสมุย กว่า 60-70% มักจะมีรายได้จากเงินยูโร บางส่วนที่เป็นบาร์ คอฟฟี่ชอป ก็จะมีเจ้าของเป็นคนรัสเซียและเชคอยู่ไม่น้อย'
สาขาที่เพิ่งเปิดไปก่อนหน้านี้ ก็คือ หัวหิน ก่อนจะลงไปเปิดสาขาเกาะสมุยในเดือนเมษายนนี้ พร้อมกำหนดเป้าหมายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ประเภทวอล์กอิน คือ เดินเข้ามาติดต่อซื้อกรมธรรม์ด้วยตัวเอง...
'ธุรกิจส่งออกอาจจะสูงถึง 70% ของจีดีพี แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ก็ปาเข้าไปถึง 9% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่การบริโภคภายในประเทศน้อยมาก'
กี่เดช บอกว่า ในปี 2552 เป้าหมายธุรกิจคงเปลี่ยนไป โดยเฉพาะผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ป้ายแดงที่ลดลงมากกว่า 20% จากเคยขายได้ 7 แสนคันในปี 2550 ก็คาดกันว่าจะร่วงลงมาไม่ถึง 5 แสนคัน ขณะที่ปี 2551 มียอดขายรถใหม่ราว 613,000 คัน
ยอดขายรถใหม่ที่ทรุดหนัก จึงเชื่อมมาถึง เบี้ยประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 ที่จะต้องถอยกรูดลงไปด้วย โดยเฉพาะเบี้ยต่ออายุประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 กำลังจะหายไป เพราะเจ้าของรถเริ่มหันมาทำประกันภัยประเภท 2 ประเภท 3 ควบ พ.ร.บ. ประเภท 3 พลัส และประเภท 5 แทน เพราะเบี้ยต่ำกว่า
'การแข่งขันก็คงดุเดือดมากขึ้น เพราะตัวเลขรถใหม่ไม่มี คนไม่ซื้อรถใหม่ ก็จะไม่มีคนทำประกันภัยด้วย'
สำหรับ แอกซ่าประกันภัย มีสัดส่วนพอร์ตประกันภัยรถยนต์ถึง 54% ประกันเบ็ดเตล็ด 31% ประกันภัยขนส่งทางทะเล 8% ประกันอัคคีภัย 7%
ส่วนใหญ่สัดส่วนกว่า 30% เป็นเบี้ยส่งมาจาก ช่องทางโบรกเกอร์ 26% มาจากดีลเลอร์ค้ารถ 19% มาจากตัวแทน 9% มาจากแบงก์แอสชัวรันส์ 7% มาจากงานข้ามชาติ 3% มาจากไดเรกต์มาร์เกตติ้ง รวมวอล์กอิน และช่องทางอื่นอีก 6%
กี่เดช บอกอีกว่า สำคัญกว่านั้นก็คือ พอร์ตลงทุนหุ้นของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยทั้ง 74 บริษัท มูลค่าร่วม 1 แสนกว่าล้าน คิดเป็น 30% ซึ่งเคยเป็นเสาหลัก สร้างผลตอบแทนงดงามในแต่ละปี กำลังตกอยู่ในอาการ 'อัมพาต' เพราะผลพวงจากตลาดหุ้นดิ่งนรก
รายงานจากตลาดหลักทรัพย์ บอกว่า บริษัทขาดทุนจากพอร์ตลงทุนในหุ้นถึง 15,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้
'ในปี 2551 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ติดลบถึง 50% ร่วงจาก 800 จุด มาที่ต่ำกว่า 400 จุด อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แอกซ่าฯ เราก็ลงทุนในตลาดหุ้นเพียง15% ของพอร์ต บาดเจ็บเหมือนกัน แต่ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนเม็ดเงินมหาศาล'
กี่เดช บอกต่อว่า นโยบายการเงินของรัฐบาลทั่วโลก ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้แรัฐบาลทุกประเภทต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทประกันภัยต้องลดน้อยลง จนหลายบริษัทต้องหันมาทำรายได้จากการรับประกันภัยแทน
จุดนี้เองที่ทำให้ทุกบริษัทต้องหันมาบริหารความเสี่ยงจากการรับประกันภัยเข้มงวดขึ้น บางบริษัทก็ปรับเบี้ยในสินค้าบางประเภท ที่มีอัตราความเสียหายค่อนข้างสูง
ผลประกอบการในปี 2551 แอกซ่าประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เป็นกำไรจากการรับประกันภัย 79% ที่เหลือเป็นกำไรจากการลงทุน รวมเป็นกำไรสุทธิ 55 ล้านบาท (ไม่รวมกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้น)
ในปี 2552 กำหนดเป้าหมาย เบี้ยรับรวม 1,900 ล้านบาท กำไรสุทธิ 50 ล้านบาท กำไรจากการลงทุน 34 ล้านบาท และกำไรจากการรับประกันภัย 38 ล้านบาท
ขณะที่แอกซ่าประกันภัย ในรอบ 5 ปีที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย มีการเติบโตเฉลี่ย 24% ในรอบ 5 ปี สำหรับตลาดขยายตัว 19% ขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย มีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท ขยายตัว 1% เศษ
กี่เดช ให้ภาพการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในประเทศ ว่า บริษัทท้องถิ่นมีอัตราการเติบโต 16% บริษัทต่างประเทศขยายตัว 12% บริษัทใหญ่ระดับบิ๊กทรี ขยายตัวร่วม 18% ขณะที่ธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์เติบโตถึง 42% ธุรกิจประกันสุขภาพเติบโตถึง 58%
โดยคาดว่า ภายใน 3-5 ปีข้างหน้าธุรกิจประกันสุขภาพจะเติบโตมากขึ้น เพราะผู้คนหันมาซื้อมากขึ้น ควบคู่ไปกับธุรกิจเทเลมาร์เกตติ้ง ก็มีทิศทางเติบโตอย่างมากในอนาคต...
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|