บลจ.ยังกลัวหุ้นกู้เสี่ยง


ผู้จัดการายวัน(23 เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมตราสารหนี้ไทย มองตลาดหุ้นกู้เอกชน รายย่อยสนใจมากกว่าบลจ. เหตุเกรงผลประกอบการลดฮวบครึ่งปีหลัง จนฉุดอันดับความน่าเชื่อถือ หวั่นซ้ำรอย "TFSC" ประเมินไตรมาส 2 ปริมาณหุ้นกู้ลด ก่อนจะดีดตัวในช่วงปลายปี ด้านกองทุน มองบอนด์เอกชนยังน่าสนใจ คัดเกรดลงทุน AAA ขึ้นไป แนะลงทุนดูความเสี่ยงแล้ว ต้องดูอายุด้วย เหตุหากยาวไปนักลงทุนไม่ชอบ

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ามีปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2551 ถึงกว่า 3 เท่าตัว โดย 3 เดือนแรกของปี 2552 มียอดการออกหุ้นกู้ไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมามีการออกหุ้นไปเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ของแบงก์พาณิชย์ และความยากลำบากในการกู้เงินจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทเอกชนหันมาระดมทุนในช่องทางนี้มากขึ้น

สำหรับภาวะการลงทุนของหุ้นกู้เอกชนไตรมาสที่ผ่านมานั้นพบว่า นักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ให้ความสนใจลงทุนในหุ้นกู้เอกชนน้อยลง เนื่องจากเกรงว่าผลประกอบการของบริษัทเอกชนอาจมีการปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ และจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของบริษัททำให้ตราสารที่ลงทุนเกิดขาดทุนได้ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามยังมีหุ้นกู้เอกชนบ้างตัวที่บลจ.ให้ความสนใจลงทุนอยู่บ้างเช่นกัน

"จากบทวิเคราะห์ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนของสถาบันจะลดลงตั้งแต่ปลายปี 2008 จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 47% ลดลงมาอยู่ที่ 38% ส่วนรายย่อยกลับส่วนทางกันคือเพิ่มขึ้นจาก 38% มาเป็น 43% และเทรนมันก็น่าจะเป็นแบบนี้ แต่สถาบันเองเขาเลือกลงทุนในตัวดีๆ เช่นกัน และไม่ใช่ว่าหุ้นกู้เอกชนที่ออกมาจะขายได้หมดมันต้องแล้วแต่ดีมานนักลงทุนด้วย"นายณัฐพลกล่าว

นอกจากนี้ ต้นทุนการออกหุ้นกูของบริษัทเอกชนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลกับสถานะของบริษัท ซึ่งปัจจุบันเรตติ้งในระดับ A- อายุ 5 ปีจะอยู่ที่ประมาณ 2.8% บวกค่าลิสต์ฟีที่ประมาณ 2.4% แต่ในส่วนของเรตติ้งระดับ BBB+ ที่ต่ำลงมาอีกหนึ่งขั้นกลับห่างกันมากคือประมาณ 3.9% บวกค่าลิสต์ฟีอีกประมาณ 2.4% ซึ่งช่วงห่างนี้เป็นส่วนที่บริษัทเอกชนต้องแบกรับเนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงของนักลงทุนในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นายณัฐพล เชื่อว่า แนวโน้มการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในส่วนของรายย่อยในปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ เนื่องจากสถานการณ์ในเรื่องเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น นอกจากนี้การที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำทำให้ผลตอบแทนที่ได้จากการฝากเงินลดลงจะกระตุ้นให้นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้หันมาลงทุนในหุ้นกู้เอกชนมากขึ้น

"ที่ผ่านมานักลงทุนอาจกังวลเรื่องของ TFSC แต่ในปีนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะนักลงทุนถ้าไปลงในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นขณะนี้มันก็น้อยแค่ 1% กว่าไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ 2-3% ยิ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดด้วยแล้วน่าจะส่งผลต่อการลงทุนในหุ้นกู้ได้" นายณัฐพลกล่าว

ส่วนแนวโน้มการออกหุ้นกู้ของเอกชนในปีนี้เชื่อว่าน่าจะมีประมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้น่าจะมีปริมาณลดลงกว่าในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากบริษัทและแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ทยอยออกมาขายมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรตาม เชื่อการออกหุ้นเอกชนน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ทำให้ปริมาณการออกหุ้นกู้เอกชนใกล้เคียงกับปีที่แล้ว สำหรับการออกหุ้นกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ในไตรมาสนี้พบว่าจะมีอยู่ 2 บริษัทคือ ปตท.สผ.ที่ออกขายในช่วงเดือนพฤษภาคมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อีกบริษัทคือปูนซีเมนไทยอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ด้านนายต่อ อินทวิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจกองทุนรวมเเละที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า หุ้นกู้ มีความน่าสนใจเเง่ของผลตอบเเทนในระยะยาว เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนตั้งเเต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งในส่วนของกองทุนรวมตลาดเงินหรือมันนี่มาร์เก็ตของบลจ.ไอเอ็นจี ก็มีการลงทุนในหุ้นกู้เเละตั๋ว B/E อยู่บ้าง เเม้จะมีสัดส่วนในการลงทุนไม่มากเท่าไร ซึ่งทางบลจ.เองจะมีการคัดเลือกบริษัทที่มีหุ้นกู้เรทติ้ง AAA ขึ้นไปเเละมีคุณภาพด้วย

ในส่วนของการจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อลงทุนในหุ้นกู้เเละตั๋ว B/E นั้น คงจะยังไม่มีในขณะนี้ เนื่องจากดอกเบี้ยในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผลตอบเเทนของตราสารหนี้ภายในประเทศยังไม่มีความน่าสนใจ ในขณะที่ต่างประเทศเช่น อิตาลี หรือเกาหลี นั้นให้ผลตอบเเทนตราสารหนี้ในประเทศที่ดีกว่า อันดับเรตติ้งก็ดีกว่า ประกอบกับตราสารหนี้ที่กองทุนส่วนใหญ่ไปลงทุนจะเป็นของรัฐบาลหรือรัฐบาลประเทศนั้นค้ำประกันซึ่งเมื่อเทียบเเล้วตราสารหนี้รัฐต่างประเทศนั้นดีกว่า

สำหรับการกรณีที่บริษัทจัดทะเบียนจะออกหุ้นกู้หรือตั๋ว B/E จะส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ของบลจ.ตนมองว่า ลูกค้าของบลจ.เเละบจ.มักจะเป็นคนละกลุ่มกัน เเต่หากเป็นกลุ่มเดียวกันนักลงทุนส่วนใหญ่ก็จะจัดสรรเงินลงทุนได้ว่าจะเลือกลงทุนระยะสั้นหรือเลือกลงทุนระยะยาว
ส่วนนายชัยเกษม วัฒนะศิริพงษ์ หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่วยกองทุน บลจ. อเบอร์ดีน กล่าวว่า การที่บริษัทจดทะเบียนหันมาออกหุ้นกู้มากขึ้นนั้น ในส่วนของอเบอร์ดีนเองคงไม่มีการจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อเข้าไปลงทุนในหุ้นกู้หรือตั๋วB/E เหล่านี้โดยเฉพาะ เพราะปัจจุบันในส่วนของกองทุนรวมผสมภายใต้การบริหารของอเบอร์ดีน ซึ่งได้แก่ กองทุนเปิดอเบอร์ดีน เฟล็กซิเบิ้ลแคปปิตอล และกองทุนเปิดอเบอร์ดีน แวลูนั้น มีมีนโยบายลงทุนอยู่แล้ว โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ AAA ขึ้นไปในสัดส่วน 30% ของพอร์ตตราสารหนี้

ทั้งนี้ สำหรับหุ้นกู้ที่ออกมาในช่วงนี้ มองว่าความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนยังมี แต่จะต้องมองอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนว่าเป็นอย่างไร ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทผู้ออก รวมไปถึงแนวโน้มธุรกิจว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากขณะนี้ดีมานด์ในตลาดยังคงมีอยู่ แต่หากบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีความมั่งคงสูง และให้ผลตอบแทนดี ก็อาจจะเข้าลงทุน โดยขณะนี้ อเบอร์ดีนจะเน้นการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ AAA ขึ้นไป

"ถึงแม้ว่าการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนจะให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน แต่การลงทุนของอเบอร์ดีนนั้น จะเน้นความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นหลัก โดยหากมีการเข้าไปลงทุนในหุ้นกูเอกชนนั้น อเบอร์ดีนจะเลือกความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารตั้งแต่AAA ขึ้นไป ขณะเดียวกัน การลงทุนในหุ้นกู้ของของอเบอร์ดีน จะเลือกลงทุนโดยพิจารณาจากอายุของตราสารหนี้ให้อยู่ในระยะสั้นๆ" นายชัยเกษม กล่าว

ขณะที่นายอาสา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ มอง ว่าความน่าสนใจของหุ้นกู้เเละตั๋วB/E ของบจ.นั้นอาจจะขึ้นอยู่กับชื่อของบริษัทหลักทรัพย์ว่ามีความน่าสนใจมากน้อยเพียงใด โดยในส่วนของบลจ.ก็อาจจะให้ความสนใจในการลงทุน ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาของหุ้นกู้เเละตั๋ว B/E เสียก่อนว่ามีอายุมากน้อยเเค่ไหน เพราะตามปกติเเล้วตลาดของผู้ลงทุนตราสารหนี้ของของกองทุนนั้น จะไม่ชอบตราสารหนี้ที่มีระยะยาวมากจนเกินไป ส่วนใหญ่บจ.เเล้วนี้มักออกหุ้นกู้อายุ 5-7 ปี หรือมากกว่านั้น ขณะเดียวกันคงต้องดูเรื่องของเครดิตของหุ้นกู้เหล่านั้นอีกด้วย นอกจากนี้เเล้วคงต้องดูเรื่องของผลตอบเเทนว่าสามารถชดเชยความเสี่ยงที่นักลงทุนได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.