โครงการท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชัง"สิงคโปร์เล็กๆ" เพ้อฝันจริงหรือ

โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

คนที่เคยไปเกาะสีชังแล้วจะเห็นว่ามีเรือขนาดใหญ่จอดทอดสมออยู่หน้าเกาะขนถ่ายสินค้า เพราะมีขนาดใหญ่เกินไปไม่สามารถจะเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาได้

สำหรับท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 นั้น (เสร็จประมาณ 2533) กล่าวกันว่าสามารถรับเรือขนาดสูงสุดได้ไม่เกิน 30,000 ตัน เนื่องจากพื้นที่เป็นอ่าวเปิดน้ำตื้น

ดังนั้นเรือขนาดตั้งแต่ 40,000 ตัน จนถึง 20,000 ตัน ต้องจอดทอดสมอกลางทะเลขนถ่ายสินค้า (ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทกอง เช่น มันสำปะหลัง) หน้าเกาะสีชังต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือความไม่สะดวกเนื่องจากคลื่นลมทำให้ทำงานล่าช้าและสูญเสียมาก ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต้องบวกไปในราคาสินค้า

ส่วนสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งต้องส่งไปทวีปอเมริกาหรือยุโรปเป็นส่วนใหญ่ก็ต้องขึ้นเรือเล็กที่เรียกว่า FEEDER ไปขนถ่ายขึ้นเรือแม่ขนาดใหญ่ที่จอดรออยู่สิงคโปร์เรือเหล่านี้ส่วนมากมีขนาดใหญ่กว่าที่จอดเทียบท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังสร้างอยู่ ไทยยังต้องใช้ FEEDER ไปส่งยังสิงคโปร์ต่อไป ซึ่งจะเป็นผลให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น

นั่นคือจุดเด่นของท่าเรือเกาะสีชังจะเป็นทางผ่านของสินค้าเข้าและออก และส่งต่อไปถึงจุดหมายต่างๆ ในประเทศ (ดูแผนที่ 1) แสดงระยะห่างจากเกาะสีชังไปตามจุดต่างๆ ในประเทศ เช่น ใช้เรือข้ามฟากซึ่งรถบรรทุกลงไปได้ (FERRY) วิ่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง กับตัวเกาะสีชัง ซึ่งห่างกันประมาณ 8 กิโลเมตร, ใช้เรือกระแชง (BARGE) จากท่าเรือนครสวรรค์หรือคลังสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเกาะสีชังเป็นจุดที่ใกล้ปากแม่น้ำมากที่สุด

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของท่าเรือนี้คือจะมีระบบขนถ่ายที่ทันสมัยเช่นสินค้าเทกองที่มีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะมีระบบดูดฝุ่น และเก็บกลับไปลงระวาง ไม่ให้เกิดการสูญเสียอย่างในปัจจุบัน ซึ่งมีการคำนวณว่าความสูญเสียระหว่างการขนถ่ายมันสำปะหลังประมาณ 3% จาก 4.5 ล้านตันเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท

จิระให้ภาพของโครงการนี้เพิ่มเติมว่า "ปุ๋ยเป็นแสนตันที่เราสั่งเข้ามา ที่นี่จะเป็นศูนย์กลางการแพ็คเกจจิ้ง เสร็จแล้วลงใต้ สงขลา-สุราษฎร์ธานี เรือที่ขนมันสำปะหลังลงมาจากคลังสินค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขากลับก็จะให้นำปุ๋ยกลับไป ต้นทุนเราจะถูกขึ้นอีกมาก แล้วเรือใหญ่นี่ต้องเติมน้ำมัน เราทำเป็นศูนย์เติมน้ำมันที่เรียกบังเกอร์ ถ้าเมืองไทยบูม เรือที่จะเข้ามาตรงอีสเทิร์นซีบอร์ดผมว่ามันจะยิ่งดุเดือด ถึงแหลมฉบังจะสร้างเสร็จก็จะรองรับไม่พอ แนวโน้มการค้ากับอินโดจีนจะมีขึ้น พม่าอีกไม่ช้าก็ต้องเปิดเมือง เมืองไทยจะเป็นศูนย์กลางคนไทยมัจะมีระบบคิดแบบฮิตาชิเปิดปุ๊บติดปั๊บไม่มองไปข้างหน้า อยากจะเป็นนิคส์ แต่อะไรก็ไม่พร้อม น้ำประปาไม่มี โทรศัพท์ไม่มี ควรจะมองไปข้างหน้าอีก 10 ปี แล้วเตรียมการไว้ให้พร้อม เอกชนสร้างท่าเรือของตัวเองมีคนบอกท่าเรือคลองเตยมีอยู่แล้วสร้างทำไม วันนี้คลองเตยแออัดมาก ถ้าไม่มีท่าเรือเอกชนที่สร้างมาหลายสิบท่าช่วยแบ่งเบาวันนี้ คลองเตยจะชุลมุนวุ่นวายมากกว่านี้ อีกหน่อยแหลมฉบัง CONGEST แล้วจะนึกถึงผม เราไม่ได้สร้างมาแข่งกับแหลมฉบัง แต่มาช่วยเสริมจุดอ่อนของแหลมฉบัง ซึ่งน่าจะร่วมมือกัน…"

ถ้าความคิดอ่านของจิระเป็นจริง เกาะสีชังก็จะดูเหมือน "สิงคโปร์เล็กๆ" หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า "เพ้อฝัน" ไปกระมัง!?!

คำถามส่วนใหญ่มุ่งไปที่ประเด็น "คุ้มหรือไม่" เพราะต้องลงทุนสูงและค่าขนส่งจะถูกขึ้นจริงหรือ?

"พ่อค้าส่วนใหญ่มีไซโลของตัวเองเช่น มาบุญครอง ใช้วิธีขนถ่ายขึ้นเรือใหญ่ในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เอาเรือโป๊ะมาเทียบถ่ายขึ้นเรือใหญ่ การที่ต้องนำสินค้ามาพักที่ไซโลของท่าเรือสีชังก่อนค่อยถ่ายลงเรือใหญ่ เท่ากับเป็น DOUBLE HANDLING แต่ถ้าจะขนถ่ายจากเรือโป๊ะขึ้นเก็บไว้ในไซโลได้ปริมาณมากๆ และเครื่องมือทันสมัยก็อาจจะสามารถทำให้ระยะเวลาที่เรือแม่มาจอดน้อยลงเช่นจาก 20 วันเหลือ 10 วัน ค่าระวางจะถูกลง อย่างนี้เป็นไปได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท่าเรือนี้ และความสามารถที่จะจัดระบบการขนถ่ายซึ่งมีลูกค้ามากราย และระดับคุณภาพสินค้าที่ไม่เท่ากัน จริงๆ แล้วปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ว่าถูกกว่าหรือไม่…" พ่อค้ามันสำปะหลังแสดงความเห็นกับ "ผู้จัดการ"

และในประเด็นที่หวังว่าจะให้เรือแม่มาจอดที่เกาะสีชังแทนสิงคโปร์นั้น บริษัทเดินเรือใหญ่แห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า "ตารางเวลาของเรือใหญ่ระหว่างชาตินี้ถูกเซทเวลาและสถานที่ไว้หมดแล้ว การที่จะให้เรือแม่มาจอดที่นี่เป็นเรื่องยาก มันเป็นเรื่องของเครื่องมือที่ต้องทันสมัยมากๆ อย่างของสิงคโปร์ แต่ถ้าเป็นสินค้าเทกองแบบที่เขาเข้ามาอยู่แล้ว อันนั้นเป็นไปได้"

และการที่โครงการนี้ออกมาในนามบริษัท จิระทิพ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทส่วนตัวของจิระกับหงศ์ลดารมย์บางคน (เพื่อความคล่องตัวในการจัดการในระยะแรกแล้วจะโอนเป็นของบริษัทสีชังทองโดยที่สยามเฆมีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในภายหลัง) ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้จักไม่รู้ว่ามีสยามเฆมีเป็นกำลังหลัก จึงมีการตั้งข้อสงสัยถึงฐานการเงินที่จะมาสนับสนุน บางคนเมื่อได้รับการบอกเล่าจาก "ผู้จัดการ" ว่ามีสยามเฆมี ก็นึกภาพไม่ออกเช่นเดิม นั่นเป็นเพราะสยามเฆมีปิดตัวเองเงียบมาตลอดจนพวกเกาหลีบอกว่าสยามเฆมีเป็น THE SILENT EMPIRE

แผนการในการก่อสร้างท่าเรือนั้น จิระเปิดเผยว่า "มันขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนสนับสนุนมากเพียงใด ถ้ามีมากโครงการนี้ก็ไปเร็ว แต่ถ้าน้อยผมจะสร้างเล็กๆ ก่อนอาจจะลงทุน 100 ล้านก่อนสร้างให้เรือแสนตันจอดได้สัก 2 ลำก่อน แล้วจึงค่อยขยายไปเรื่อยๆ โดยเน้นที่จะรองรับสินค้าในเครือซึ่งต้องนำเข้าและส่งไปตามที่ต่างๆ เพราะท่าเรือของเราที่พระประแดงคับแคบเกินไปแล้ว ความจริงมีกลุ่มพ่อค้าที่นำเข้ามันสำปะหลังของเนเธอร์แลนด์ซึ่งซื้อมันจากไทยปีละประมาณ 4.5 ล้านตันแสดงความจำนงอยากจะมาสร้างหรือมาร่วมทุนกับเรา ซึ่งจริงๆ แล้วใจผมอยากให้ท่าเรือนี้เป็นของคนไทยมากกว่า จึงคิดว่าเริ่มจากเล็กๆ"

ความจริงแล้วโครงการนี้จิระต้องการที่จะทำตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากตอนนั้นสยามเฆมีฐานยังไม่ใหญ่พอ และติดปัญหาที่ดินซึ่งใบแสดงกรรมสิทธิ์เป็น สค. 1 ซึ่งไม่อาจจะนำไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารได้ ซึ่งได้นำไปยื่นต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอเปลี่ยนเป็น นส. 3ก ก็ยังไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้

การนำโครงการนี้มาปัดฝุ่นใหม่ครั้งนี้จิระมีความมั่นใจมากกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ตัวแปรที่สำคัญจะอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยที่จะยอมให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ์หรือไม่ และอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลที่จะอนุญาตให้สร้างท่าเรือเอกชนขนาดใหญ่นี้หรือไม่?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.