ดร. จ่าง นักวิทยาศาสตร์หัวละร้อยเดียว!!!

โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ว่ากันว่าการเตรียมตัวก่อนครบกำหนดเกษียณอายุข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศไทย ถ้าไม่คิดจะหันหน้าเข้าวัดฟังธรรม ปลูกต้นไม้ เลี้ยงนก เลี้ยงปลา อยู่ในบ้าน ก็มีแต่เตรียมจะขยับขยายหาช่องทางให้ได้ "รับเชิญ" ไปเป็นประธานฯ กรรมการฯ หรือที่ปรึกษาของบริษัทที่ "รักใคร่นับถือกัน" โดยมักจะต้องมีสร้อยคำว่า "กิตติมศักดิ์" ต่อท้ายด้วยเสมอ น้อยคนนักที่จะได้นำความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ชีวิต ที่สะสมมายาวนานของตนมาหาลู่ทางบุกเบิกสร้างงานเตรียมไว้ให้กับตนเอง (ในลักษณะที่ได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์แก่ประเทศชาติ) เหมือน ดร. จ่าง รัตนะรัต

มิหนำซ้ำยังประคองนาวาบริษัทฝ่าคลื่นลมมรสุมเศรษฐกิจมาหย่อนเล็กน้อยก็จะครบ 30 ปี และจากทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2502 ของบริษัทสยามเฆมี บริษัทหนุ่มวัยฉกรรจ์วันนี้มีทรัพย์สินที่ตีราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว!!!

ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเศรษฐีเมืองไทยที่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการมีเงินมากๆ ก่อนจะมีคำว่า ดร. วิ่งมาประดับหน้าชื่อ แต่ในกรณีของดร. จ่างนั้นคือภาพด้านกลับโดยแท้ คำพังเพยว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" คงจะใช้กับเขาไม่ได้ เพราะอาจจะกล่าวได้ว่าทุนเริ่มต้นก่อนตั้งบริษัทสยามเฆมีจริงๆ ก็คือวิชาความรู้ทั้งหมดที่ดร. จ่างมี ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นคนเรียนหนังสือเก่งเอามากๆ ของเขาแท้ๆ

ดร. จ่างมีพ่อเป็นคนจีนแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งลงเรือสำเภามาจากเมืองไฮนานเมื่ออายุได้ประมาณ 30 ปี แล้วมาแต่งงานกับผู้หญิงไทยคนหนึ่งชื่อเลื่อน เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2447 ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดร. จ่างเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงธรรมการ ไปศึกษาต่อที่เยอรมันในสาขาเคมีจนได้ถึงปริญญาดุษฎีบัณฑิต (DOCTORIS PHILOSOPHEAE NATURALIS) เกียรตินิยมและได้ทำงานที่สถาบันวิจัยโลหะ (KAISER WILHELM INSTITUT FIIR MCTALFORSCHING) ที่เมือง STUTTGART 1 ปีก่อนจะกลับประเทศไทย

การได้ไปใช้ชีวิตอยู่เยอรมันถึง 8 ปีนี้ เป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากสำหรับดร. จ่าง เพราะไม่เพียงแต่ได้ร่ำเรียนมีวิชาความรู้ติดตัวในสาขาที่น้อยคนนักจะสนใจหรือคิดถึงว่าจะเอามาทำธุรกิจได้ในขณะนั้น ความประทับใจที่มีต่อคนเยอรมัน ซึ่งดร. จ่างเห็นว่าเป็นคนที่มีระเบียบวินัย ทำงานจริงจัง รู้จักเล่นเป็นเวลา ก็กลายมาเป็นนิสัยในการทำงานที่เขาพยายามปลูกฝังให้กับลูกๆ ด้วย และตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ซึ่งดร. จ่างมีโอกาสไปเมืองนอกเกือบทุกปี ได้รู้จักทำงานกับคนเกือบทุกชาติทุกภาษา ชาวญี่ปุ่นจะเป็นอีกชาติหนึ่งที่เขายกย่องชื่นชมในความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ขยัน สปอร์ต และรู้จักตอบแทน

ดร. จ่างกลับเมืองไทยใน พ.ศ. 2479 เข้ารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กระทรวงกลาโหม ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา เนื่องจากระทรวงกลาโหมขอตัวมาจากกระทรวงธรรมการทำงานอยู่ที่นี่ 5 ปี ก่อนจะถูกจอมพล ป. ย้ายไปประจำอยู่ บ. ปูนซิเมนต์ไทยเพื่อค้นคว้าทดลองเรื่องการถลุงเหล็กใช้ได้เองเป็นร่วมกับนาย JESPERSEN จนประเทศไทยสามารถถลุงเหล็กใช้ได้เองเป็นครั้งแรก ซึ่งกล่าวกันว่าดร. จ่างเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการบุกเบิกบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย ดังจะเห็นว่าดร. จ่างเป็นกรรมการมาตลอด เพิ่งจะลาออกเพื่อเปิดโอกาสแก่คนหนุ่มสาวเมื่อไม่นานมานี้

ในปี พ.ศ. 2487 ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนั้นดร. จ่างอายุ 40 ปีเท่านั้น จึงนับเป็นอธิบดีหนุ่มที่มีอนาคตสดใสรุ่งโรจน์คนหนึ่งของกระทรวงซึ่งก็เป็นความจริงเพราะอีก 4 ปีต่อมา คณะรัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป. ก็มีมติแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ดร. จ่างปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่ง และเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์อยู่ต่อมาถึง 18 ปี โดยเห็นว่า "เป็นช่วงเวลาที่สนุกกับงานมากที่สุด เพราะได้ทำงานที่อยากทำได้เต็มที่" จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 เมื่อคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรียืนยันให้แต่งตั้งดร. จ่างเป็นปลัดกระทรวงอีกครั้งจึงยอมรับ

แม้ว่าเราจะไม่ทราบว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ดร. จ่างจะถูกมองว่า "ร้อนวิชา" มากแค่ไหน แต่เมื่อฟังจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติการทำงานราชการจากคนใกล้ชิดแล้ว จะเห็นได้ว่าดร. จ่างเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองและความรู้ที่เรียนมาสูง กล้าที่จะยืนยันสิ่งที่ตัวเองรู้ตัวเองเชื่อ ชนิดที่ไม่ยอม "ไว้หน้า" เจ้ากรมฯ ซึ่งเป็นเจ้าคนนายคนแรกหลังจากกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ เอาทีเดียว ด้วยความที่มีเรื่องขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งเมื่อเจ้ากรมฯ ฟ้องต่อจอมพล ป. และจอมพล ป. เข้าข้างเจ้ากรมฯ ดร. จ่างเสียใจมากจนล้มเจ็บต้องพักรักษาตัวอยู่ถึงปีเศษ แต่ภายหลังดร. จ่างกับจอมพล ป. ก็นับว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด กับจอมพลสฤษดิ์เอง ดร. จ่างก็มีความเห็นว่า "เป็นคนที่รู้จักฟังเหตุผลและไวต่อการเข้าใจหลักการต่างๆ"

ลักษณะเด่นอีกประการของดร. จ่าง คือความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ ชนิดที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ก็จะต้องช่วยปราบ "คอร์รัปชั่น" คือนอกจากจะไม่รับสินบนแล้วยังต้องตัดที่ต้นเหตุ คือไม่ให้ใครมา "ติดสินบน" อีกด้วย (แต่เมื่อมาเป็นพ่อค้าเองแล้วปรากฏว่าดร. จ่างก็เคยต้องยอม "ติดสินบน" ข้าราชการเพื่อความอยู่รอดของบริษัทสยามเฆมีด้วยเช่นกัน) และความตั้งใจทำงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ผลงานเด่นที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนอกจากผลักดันการจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นได้สำเร็จ และได้เป็นเลขาธิการสภาวิจัยคนแรกแล้ว ก็คือการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมี เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ที่สำคัญและจำเป็นขึ้นใช้เองภายในประเทศ สืบเนื่องมาจากบทเรียนที่ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งตัวเองได้เลยเมื่อขาดการติดต่อกับโลกภายนอกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และคณะกรรมการพิจารณางานอุตสาหกรรมของรัฐบาลในขณะนั้น มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมีตามที่เสนอถึง 6 โรงจาก 9 โรงที่เสนอไปซึ่งมีโรงงานกรดกำมะถัน โรงงานกรดเกลือ โรงงานคลอรีน โรงงานปูนขาวและคาร์บอนไดออกไซด์ โรงงานโซเดียมซัลเฟต โรงงานโซเดียมคาร์บอเนต โรงงานแอมโมเนียคาร์บอเนต โรงงานแก้วและโรงงานกลั่นไม้

ดร. จ่างเป็นคนสนใจติดตามความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของชาติต่างๆ อยู่เสมอ แม้จะมีอคติในเรื่องความนิยมชมชอบบางประเทศเป็นพิเศษแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการยอมรับความก้าวหน้าใหม่ๆ และเป็นคนคิดการละเอียดลออรอบคอบ เช่นการเขียนรายงานในฐานะนักเคมีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถึงการวิเคราะห์ปืนในกรณีสวรรคตของ ร. 8 หรือเหตุผลที่ไม่ยอมรับตำแหน่งปลัดกระทรวงเมื่อได้รับแต่งตั้งครั้งแรกที่ว่า ขณะนั้นมีอธิบดีกรมสำคัญในกระทรวงอุตสาหกรรม 2 กรม ซึ่งเป็นผู้ที่มีรากแก้วหยั่งลึกในกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นคนมีพรรคพวกมาก ซึ่งถ้าดร. จ่างยอมรับเป็นปลัดกระทรวงก็จะต้องมีเรื่องทะเลาะด้วยแน่นอน โดยที่เป็นคนบ้านนอกไม่มีพรรคพวก เมื่อทะเลาะกันก็คงต้องเสียเปรียบมาก

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตราชการเป็นอย่างมาก แต่ความฝันในชีวิตของดร. จ่างคือ "อยากใช้ความรู้ในวิชาเคมีที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์เคมีขึ้นใช้เองในประเทศ จะได้ไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ" และกิจการแรกของดร. จ่าง คือคิดทำน้ำมันใส่ผม น้ำยาดัดผม ไปฝากขายแถวเจริญกรุงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลิกใหม่ๆ โดย "นั่งยองๆ กับพื้นโรงรถ ตักโน่นตวงนี่ ผสมกันไปผสมกันมา" แล้วบรรจุใส่ขวดสวย ติดฉลากรูปหน้าด้านข้างของผู้หญิงที่มีผมเป็นลอนสยายไปข้างหลัง ซึ่งทำอยู่ถึง 2 ปี

ต่อมาจึงตั้งโรงงานผลิตแอมโมเนียโดยร่วมทุนกับเพื่อนๆ เช่น ดร. ประจวบ บุนนาค นายประจวบ ภิรมย์ภักดี นายวิทย์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งทำกำไรถึง 3,000 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2493 เพราะเมื่อสงครามเลิก ก็สามารถสั่งของนอกเข้ามาขายได้ในราคาถูกกว่ามาก

พ.ศ. 2496 จดทะเบียนบริษัทผลิตภัณฑ์อากาศ โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ป้อนโรงงานผลิตเบียร์ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่และโรงงานน้ำอัดลมของยูเนี่ยนโซดา ซึ่งดร. จ่างเล่าว่า "เมื่อตั้งโรงงานผลิตแอมโมเนียและผลิตภัณฑ์อากาศนั้น ผลประโยชน์ที่ได้รับก็เท่าๆ กับผู้ถือหุ้นจำนวนน้อยๆ คนหนึ่ง ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากความคิด การออกแบบและการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะตั้งต้น ฉะนั้นในตอนแรกจะได้รับส่วนแบ่งจากเงินปันผลไม่คุ้มกับที่ลงแรงและความคิด เพราะมีเงินลงทุนได้นิดหน่อยเท่านั้น" แต่สิ่งที่ดร. จ่างไม่ได้คิดถึงด้วยก็คือ เมื่อตั้งบริษัทสยามเฆมีขึ้นมานั้น ดร. จ่างต้องการถือหุ้น 5% แต่ไม่มีเงินพอ ก็มีผู้ยินดีให้กู้จนพอกับความต้องการ

ดร. จ่างแต่งงานกับนางสาวระเบียบ วิชัยดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. 2476 ที่ประเทศเยอรมัน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน โดยมี จิระ รัตนะรัตเป็นบุตรชายผู้สืบสกุลและกิจการทั้งหมดเพียงผู้เดียว ลูกสาวคนโต จารุนี สูตะบุตร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาหลักสูตรกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาฯ ลูกสาวคนรองจากจิระคือ ดร. จริยา บรอกเคลแมน ศาสตราจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนสุดท้องคือ จารุวรรณ วนาสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ วอลเตอร์ ธอมสัน จำกัด

ใครจะรู้บ้างว่าเบื้องหลังผู้คิดสูตรอร่อยของแม่โขง "ยอมสุราดีของไทย" คือ ดร. จ่าง รัตนะรัต ด้วยคนหนึ่ง และที่มีส่วนคิดสูตรน้ำโซดาตราสิงห์ที่ช่วยปรุงเหล้าให้ได้รสยิ่งขึ้นก็คือ ดร. จ่าง รัตนะรัต อีกเช่นกัน โดยได้รับจักรยานหนึ่งคันเป็นของขวัญตอบแทนจากพระยาภิรมย์ภักดีในการมีส่วนคิดสูตรน้ำโซดาซึ่งผสมได้กับเหล้าทุกยี่ห้อนี้สำเร็จ

เมื่อมีคนถามถึงเรื่องนี้ขึ้นมาว่า แล้วดร. จ่างไม่สนใจในธุรกิจสาขานี้บ้างเลยด้วยหรืออย่างไร? จิระ รัตนะรัต ก็จะตอบให้อย่างชัดถ้อยชัดคำทันทีว่า "การคิดสูตรส่วนผสมแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสารเคมีเป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับพ่อ แต่พ่อมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าความเป็นพ่อค้ามากนัก เพราะไม่รู้จะเอาความสามารถนี้ไปค้าขายอย่างไร"

และนั่นทำให้คุณหญิงระเบียบภรรยาคู่ชีวิตเรียกดร. จ่างอย่างล้อๆ ว่า "นักวิทยาศาสตร์หัวละร้อยเดียว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.