เพย์สบายผนึกเพย์พาล จิ๊กซอว์ดีแทคบนออนไลน์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

จับตาโอเปอเรเตอร์เบอร์สอง 'ดีแทค' กรุยทางวางรากฐานสร้างโอกาสในอนาคตบนโลกออนไลน์ หลังให้ 'เพย์สบาย' บริษัทในเครือ จับมือ 'เพย์พาล' ยักษ์ใหญ่ระบบชำระเงินออนไลน์ระดับโลก พัฒนาธุรกิจในฐานะพันธมิตรช่องทางจำหน่าย เปิดเส้นทางอี-คอมเมิร์ซไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

การผนึกความร่วมมือกันทางธุรกิจระหว่าง 'เพย์สบาย' และ 'เพย์พาล' กำลังกลายเป็นการสร้างช่องทางให้ 'ดีแทค' ก้าวไปอีกขั้นในโลกออนไลน์ ที่ถูกมองกันว่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญในอนาคต

'ดีแทครู้ว่าอัตราการเติบโตของโลกออนไลน์มีมาก จึงเล็งเห็นช่องทางว่างและเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมา'

เป็นคำกล่าวของ โรอาร์ วิค แอนเดรซเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์ และพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค และว่า 'ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของเพย์สบาย ดีแทคมั่นใจว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะผู้บริการระบบการชำระเงินออนไลน์ที่ได้มาตรฐานให้กับเพย์สบาย แต่ยังช่วยสร้างชื่อเสียงและความเป็นที่รู้จักให้กับดีแทคด้วย'

ดีแทคมองว่าปัจจุบัน ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของประเทศไทยอยู่ในขั้นของการเติบโต การร่วมมือระหว่างเพย์สบาย กับเพย์พาลซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบการชำระเงินออนไลน์ขนาดใหญ่ของโลก จะช่วยให้ความรู้และช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการทำธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการทำธุรกิจ และธุรกรรมการเงินออนไลน์ในรูปแบบที่หลากหลายและยิ่งกว้างขวางมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีโมบายบรอดแบนด์เกิดขึ้นในอนาคต

สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพย์สบาย จำกัด กล่าวว่าการได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ให้บริการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ชั้นแนวหน้าของโลกอย่างเพย์พาล ส่งผลดีต่อภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของเพย์สบาย เพราะแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานการให้บริการของบริษัทไทยอย่างเพย์สบายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะทำให้เพย์สบายเป็นศูนย์กลางให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ให้กับร้านค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ของร้านค้าไทยที่จะได้มีโอกาสเสนอขายสินค้าให้กับผู้ซื้อที่เป็นสมาชิกของเพย์พาลกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกอีกด้วย

เพย์สบายจะเพิ่มระบบชำระเงินออนไลนืของเพย์พาลให้กับเว็บไซต์ของร้านค้าสมาชิกนอกเหนือจากระบบชำระเงินของเพย์สบายที่มีอยู่เดิม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าออนไลน์มีทางเลือกการชำระเงินให้กับผู้ซื้อได้หลากหลายมากขึ้น โดยผู้ซื้อที่มีบัญชยีเพย์พาลสามารถเลือกชำระเงินผ่านระบบการชำระของเพย์พาลได้ทันที ในขณะที่ผู้ซื้อทั่วไปยังสามารถชำระด้วยระบบของเพย์สบายตามปกติ และเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบเพย์พาล ร้านค้าสมาชิกของเพย์สบายสามารถเช็ครายการรับชำระเงินได้ในทันทีผ่านทางระบบเพย์สบาย

'ที่ผ่านมาผู้ซื้อในต่างประเทศที่ต้องการซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เป็นสมาชิกเพย์สบาย ต้องชำระผ่านบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการให้ข้อมูลบัตร แต่ความร่วมมือนี้ผู้ซื้อจากต่างประเทศสามารถชำระเงินด้วยบัญชีเพย์พาลได้โดยตรง โดยไม่ต้องเปิดเผยหมายเลขบัตรเครดิต และร้านค้าก็ปลอดภัยจากการปฏิเสธการจ่ายในภายหลัง น่าจะช่วยดึงดูดผู้ซื้อต่างชาติได้เป็นอย่างดี'

จากการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติในปี 2551 พบว่ามีมูลค่าธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2550 สูงถึง 427,460 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกรรมในกลุ่ม B2C (Business-to-Consumer) 14.8% หรือประมาณ 68,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขายไปตลาดต่างประเทศ 24.7% ซึ่งเพย์สบายคาดว่ามูลค่าของธุรกรรมในกลุ่มธุรกิจ B2C จะเติบโตขึ้น 20-30% หรือคิดเป็นเงินมูลค่า 82,000 ล้านบาท

ในขณะที่ยอดการส่งออกสินค้าผ่านออนไลน์จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เนื่องจากมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการธุรกิจจะหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการทำการต้าเพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในยุคที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้รูปแบบการชำระเงินออนไลน์ที่ได้มาตรฐานยังมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจให้ผู้ซื้อต่างชาติได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์กับกระทรวงพาณิชย์ ณ เดือนมีนาคม 2552 มี 4,600 ร้านค้า เพย์สบายให้บริการชำระเงินออนไลน์ให้กับร้านค้ากว่า 1,500 ร้าน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 30% มียอดการชำระเงินผ่านทางระบบของเพย์สบายในปี 2551 ประมาณ 300 ล้านบาท โดยคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 33% และในปีนี้คาดว่าจะมีร้านค้าที่สมัครใช้บริการเพย์สบายเพิ่มขึ้นกว่า 200 ร้านค้า ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 37%

ด้านมาริโอ ชีเลียกี้ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพย์พาล เซ้าธ์อีสเอเชีย แอนด์ อินเดีย กล่าวว่าเพย์พาลสามารถช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศไทย พร้อมทั้งช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล้กทรอนิกส์ ด้วยการช่วยให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ และกลุ่มผู้ซื้อในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มฐานกำไรทางการค้าให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.