แพ็คกิ้ง เครดิต เพื่อการส่งออก บทเรียนจากกรณีมินิแบร์กรุ๊ป

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

การให้สินเชื่อส่งออกในรูปรับซื้อช่วงลดตั๋วส่งออก หรือที่เรียกกันว่าสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิต ของแบงก์ชาติแก่พ่อค้าส่งออกมีมานานแล้ว 30 ปี จุดมุ่งหมายสำคัญมี 2 ประการคือ หนึ่ง-ใช้กลไกสินเชื่อนี้อุดหนุนแก่ผู้ส่งออกเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อผลผลิตจากผู้ผลิต ขณะเดียวกันก็ช่วยผู้ส่งออกในการลดต้นทุนส่งออกเพื่อความสามารถในการระบายผลผลิตสู่ตลาดโลกได้คล่องตัวขึ้น และสอง-ช่วยให้แบงก์พาณิชย์ซึ่งเป็นตัวกลางในการรับซื้อลดตั๋วส่งออกจากพ่อค้าก่อนนำมาขายลดต่อแบงก์ชาติอีกทีหนึ่ง มีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยประมาณ 2%

วงเงินสินเชื่อประเภทนี้โดยปกติแบงก์ชาติจะกำหนดวงเงินในสัดส่วนเมื่อเทียบกับฐานเงินไม่เกิน 40% อยู่ระหว่าง 20,000-30,000 ล้านบาท วงเงินจำนวนนี้แบงก์ชาติจะจัดสรรแก่แบงก์พาณิชย์เพื่อไปปล่อยแก่ผู้ส่งออกอีกต่อหนึ่ง

การจัดสรรแก่แบงก์พาณิชย์ แบงก์ชาติใช้บรรทัดฐาน 2 ประการ คือ หนึ่ง-ดูประวัติการใช้วงเงินอำนวยสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกว่าแบงก์แต่ละแห่งมีจำนวนเท่าไร และสอง-ดูความร่วมมือของแบงก์ฯ ในด้านต่างๆ เช่นการซื้อพันธบัตร การปฏิบัติตามกฎหมายที่แบงก์ชาติขอไป

แต่ความสำคัญสูงสุดแล้วแบงก์ชาติจะดูที่ประวัติการใช้จำนวนเงินสินเชื่อประเภทนี้ของแบงก์ฯ (PAST PERFORMANCE) เป็นจัดหนัก

ซึ่งแน่นอนบนบรรทัดฐานนี้แบงก์กรุงเทพซึ่งมุ่งทำธุรกิจ TRADE FINANCE เป็นจุดหนัก ย่อมได้รับการจัดสรรจำนวนวงเงินสูงสุด (ดูตารางการจัดสรรเงินประกอบ) เมื่อเทียบกับแบงก์อื่น

จากข้อมูลในตารางพบว่า ณ 28 ก.ค. 2531 แบงก์ชาติจัดสรรเงินนี้เป็นจำนวน 21,307.2 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพมีส่วนแบ่งสูงถึง 35%!

วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิต แบงก์ไหนๆ ก็อยากได้รับการจัดสรรสูงสุด เพราะแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ก็ได้รับส่วนต่างดอกเบี้ยจากขายลดถึง 2% สบายๆ

แบงก์ชาติรับซื้อลดตั๋วส่งออกจากแบงก์พาณิชย์ดอกเบี้ย 5% ขณะที่แบงก์พาณิชย์รับซื้อตั๋วส่งออกจากผู้ส่งออกดอกเบี้ย 7%

กระบวนการคิดดอกเบี้ยจากสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตที่เป็นมาเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะสูงขึ้นเป็นเท่าไรก็ตาม!

สำหรับวงเงินรับซื้อตั๋วส่งออกของแบงก์พาณิชย์จากผู้ส่งออกก็ขึ้นอยู่กับประเภทของตั๋ว ถ้าเป็นตั๋ว L/C ก็ 80% ของมูลค่าหน้าตั๋ว ตั๋วแลกเงินก็ 90% ของมูลค่าหน้าตั๋ว ใบสัญญาซื้อขายก็ 70% ของหน้าตั๋ว และถ้าเป็นใบรับฝากสินค้าก็ 60% ของมูลค่าหน้าตั๋ว

แบงก์พาณิชย์ให้ระยะเวลา MATURITY DATE แก่ผู้ส่งออกไม่เกิน 3 เดือนหรือ 180 วัน!

โดยรวมแล้ววงเงินรับซื้อตั๋วส่งออกตามเอกสารประเภทดังกล่าวของแบงก์พาณิชย์จากผู้ส่งออกโดยเฉลี่ยจะอยู่ในอัตราประมาณ 75% ของมูลค่าหน้าตั๋วเท่านั้น

นั่นหมายความว่าผู้ส่งออกจะต้องหาเงินมาสมทบเองอีก 25%!

แต่ผู้ส่งออกพืชผลระดับยักษ์ใหญ่ว่ากันว่าแทบจะไม่ต้องหาเงินตัวเองมาสมทบเลย เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของแบงก์อยู่แล้ว เงินที่มาสมทบก็มาจากแบงก์นั่นแหละไม่จำเป็นต้องเป็นของตัวเองหรอก ดอกเบี้ยที่เสียให้แบงก์ก็ต่ำมากๆ

"อย่างแบงก์กรุงเทพเขาคิดดอกเบี้ยแก่ลูกค้ายักษ์ใหญ่ของเขาในอัตราเท่ากับวงเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตประมาณ 7% หรืออย่างมากก็สูงกว่าไม่เกิน 0.5% เท่านั้น" แหล่งข่าวในแบงก์ชาติกล่าว

รวมความแล้วสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตที่แบงก์ชาติใช้มาตลอด 30 ปี จึงเป็นขนมหวานชั้นดีที่ทั้งแบงก์พาณิชย์และผู้ส่งออกระดับยักษ์ใหญ่ต่างสวาปามกันอย่างเมามัน

บริษัทผู้ส่งออกบางรายอย่างมินิแบร์ (ไทย) ซึ่งส่งออกตลับลูกปืน ว่ากันว่า สวาปามสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตทั้งก่อนและหลังส่งมอบสินค้าทำให้บริษัทแห่งนี้ใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตจำนวนสูงกว่า 1,200 ล้านบาท

ปี 2530 ยอดส่งออกตลับลูกปืนมีมูลค่า 2,492 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตจำนวน 2,633 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดส่งออกเสียอีก สัดส่วนสูงถึง 106.6%!

เฉพาะบริษัทกลุ่มมินิแบร์แห่งเดียวมีส่วนแบ่งใช้แพ็คกิ้ง เครดิตเกือบ 50% เข้าไปแล้ว!

ตัวอย่างนี้แสดงว่าระเบียบการจัดสรรและใช้แพ็คกิ้ง เครดิต มีจุดบกพร่องเอามากๆ

ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่าสมาคมผู้ผลิตตลับลูกปืนของสหรัฐฯ ได้ร้องเรียนไปยัง US TR ให้ออกมาตรการตอบโต้ด้วย CVD ต่อกลุ่มบริษัทมินิแบร์ (ไทย) ที่ผลิตตลับลูกปืนทุ่มตลาดเข้าไปในสหรัฐฯ โดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากได้รับการส่งเสริมจาก B.O.I. และการอุดหนุนสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์ชาติ

ซึ่งถือว่าสิทธิพิเศษเหล่านี้เป็นข้อได้เปรียบด้านต้นทุนส่งออกของกลุ่มบริษัทมินิแบร์ (ไทย) ที่ผู้ผลิตตลับลูกปืนในสหรัฐฯ เห็นว่าไม่เป็นธรรม

US TR ประกาศ SURCHARGE CVD 17.83% แก่มินิแบร์ (ไทย) และหยิบยกเหตุข้อได้เปรียบด้านดอกเบี้ยต่ำจากแพ็คกิ้ง เครดิตเป็นจุดโจมตีว่า

"การที่แบงก์ชาติให้การอุดหนุนการเงินดอกเบี้ยต่ำจากแพ็คกิ้ง เครดิตแก่มินิแบร์ช่วยให้บริษัทมินิแบร์มีต้นทุนการส่งออกตลับลูกปืนได้เปรียบกว่าคู่แข่งขันในสหรัฐฯ สูงถึง 2.8% ของต้นทุนการผลิตรวม"

นี่เป็นบทเรียนที่แบงก์ชาติถือเป็นเหตุหนึ่งในการปรับดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่จาก 7% เป็น 10%!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.