ตลาดรถมือสองบูม ค่ายรถแห่ชิงเค้กก้อนโต


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจรถมือสองเนื้อหอม โตโยต้า ชัวร์-เชฟวี่ โอเค-มิตซูบิชิ ไดมอนด์ ยูสคาร์ เปิดแนวรบชิงเค้กก้อนโต จากตลาดรวมกว่าปีละ 1.8 ล้านคัน อาศัยเครือข่ายดีลเลอร์ที่เข้มแข็ง ผนึกกับความพร้อมของศูนย์บริการ คาดเต็นท์รถรายย่อยสะเทือนหนัก ค่ายรถหวังการแตกไลน์รถมือสองช่วยดันยอดขายรถใหม่ พร้อมสร้างรายได้เพิ่มให้ดีลเลอร์

ปริมาณของตลาดรถมือ 2 ที่มีอยู่ประมาณปีละ 1.8 ล้านคัน แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 60% รถปิกอัพและรถอื่นๆ 40% คิดเป็นยอดขายประมาณ 3 เท่าของยอดขายรถใหม่ในแต่ละปี กำลังเป็นเค้กก้อนโต ที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เล็งเข้ามาเฉือน แข่งกับผู้ประกอบการรถยนต์มือสอง โดยเฉพาะเต็นท์รถยนต์ตามพื้นที่ต่างๆ

เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ภายใต้การทำตลาดของ เจเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย หรือจีเอ็ม เริ่มขยับเข้าหาตลาดรถมือสองอย่างจริงจัง ภายใต้แบรนด์ 'เชฟวี่ โอเค' อันโตนิโอ ซาร่า รองประธานฝ่ายขาย การตลาด และบริการหลังการขาย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การรุกตลาดรถมือสองในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการสร้างแบรนด์เชฟโรเลตให้เป็นที่รู้จักทั้งในส่วนของรถใหม่และรถเก่า ประกอบกับต้องการให้ราคาของรถมือสองดีและแข่งขันได้ในตลาด โดยยอดขายของรถมือสองของเชฟวี่ โอเคในปัจจุบันคิดเป็น 10% ของยอดขายรวม ซึ่งเชฟวี่ โอเค มีจำนวน 9 แห่ง และจะทำการขยายสาขาในปีนี้อีก 9 แห่ง รวม 18 แห่ง

นอกจากการเพิ่มโชว์รูมเชฟวี่แล้ว แคมเปญโปรโมชั่นของเชฟโรเลตในช่วงที่ผ่านมาก็มีส่วนที่จะช่วยหนุนรถมือสองของพวกเขา อาทิ 'เก่าไป-ใหม่มา' โดยมีข้อเสนอให้ลูกค้าสามารถนำรถยนต์ยี่ห้อใดก็ได้มาแลกซื้อรถใหม่ของเชฟโรเลต ซึ่งลูกค้าจะได้รับราคาตามเว็บไซต์ประเมินราคารถมือสอง Red Book www.redbookasiapacific.com/th นอกจากนั้นแล้วยังจะได้รับมูลค่าเพิ่มอีกหลายหมื่นบาท ซึ่งแคมเปญดังกล่าวถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นยอดขายรถใหม่และเพิ่มพอร์ตรถมือสองให้กับเชฟวี่ โอเค

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่มีนโยบายสนับสนุนให้ดีลเลอร์เปิดแผนกรถมือสอง และใช้ชื่อว่า ไดมอนด์ ยูสคาร์ โดยเหตุผลของการรุกของค่ายตราเพชรในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการปกป้องตลาดและเป็นการพยุงราคาขายต่อรถมิตซูบิชิ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือดีลเลอร์ในการสร้างรายได้ เนื่องจากยอดขายในกลุ่มรถใหม่นั้นยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันดีลเลอร์ของมิตซูบิชิที่มีแผนกรถมือสองอย่างเป็นทางการมีจำนวน 4 แห่ง และจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 10 แห่งภายในปีนี้

ขณะที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์มือสองอย่างเป็นทางการผ่านเครือข่ายดีลเลอร์ และโชว์รูมรายใหญ่ๆ ของโตโยต้า ภายใต้แบรนด์ โตโยต้า ชัวร์ ผลการตอบรับนั้นถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่โตโยต้าคาดการณ์ คือในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8,500 คัน และในปีนี้มีการตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10,000 คัน

ในปีนี้โตโยต้า มีแผนงานจะขยายโชว์รูม โตโยต้า ชัวร์ อีก 22 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 40 แห่ง และคาดว่าภายในปี 2553 จะขยายโตโยต้า ชัวร์ ให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่ผ่านมา โตโยต้า สามารถสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อบรรดาผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสอง โดยเฉพาะรายย่อย เนื่องจากโตโยต้า ชัวร์ สามารถแก้ปัญหาความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าได้ และทำให้ปัญหาการย้อมแมวรถมือสองลดลงได้อย่างมาก

ปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้ายอมที่จะจ่ายแพงกว่า แลกกับความคุ้มค่า เช่นเดียวกับการเลือกซื้อรถมือสองจากค่ายรถแต่ละค่าย ที่แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเต็นท์รถมือสองทั่วไป แต่คุณภาพ การรับประกัน และการบริการหลังการขายผ่านโชว์รูมและศูนย์บริการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศก็ย่อมเป็นสิ่งการันตีความได้เปรียบของค่ายรถยนต์ที่มีต่อเต็นท์รถอิสระได้

ยกตัวอย่างมาตรฐานของรถมือสองจากค่ายรถที่ได้รับการยอมรับอย่าง โตโยต้า ชัวร์ คือ ต้องผ่านการตรวจสอบ 176 รายการ ผ่านการใช้งานไม่เกิน 5 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร ขณะที่รับประกันระบบเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง 1 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร บริการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และบริการศูนย์ฮอตไลน์ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั่วประเทศตลอดระยะเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ดี โตโยต้า มอเตอร์ ค่อนข้างเข้มงวดกับการอนุมัติให้ดีลเลอร์ของตัวเองเปิดให้บริการ โตโยต้า ชัวร์ เพื่อต้องการรักษาคุณภาพ และบริการให้ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งปัจจุบันโตโยต้า ชัวร์ หลายๆ แห่งเริ่มเปิดกว้างกับรถยนต์ที่ไม่ใช้แบรนด์โตโยต้า เข้ามาจำหน่ายในโชว์รูม โตโยต้า ชัวร์

ทั้งนี้การก้าวเข้ามารุกตลาดรถมือสองของบรรดาบริษัทผู้ผลิต ทั้งเชฟโรเลต และมิตซูบิชิ จึงน่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อบรรดาเต็นท์รถมือสอง โดยเฉพาะรายย่อยที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องการให้บริการหลังการขาย อีกทั้งค่ายรถยนต์เองก็ยังใช้ธุรกิจรถมือสองของตัวเองช่วยให้ดีลเลอร์สามารถรับแลกรถเก่า กับรถใหม่ป้ายแดงได้โดยไม่ต้องผ่านเต็นท์รถมือสอง ที่อาจถูกกดราคารถยนต์แบรนด์ตนเอง ซึ่งหมายถึงภาพลักษณ์ของรถยนต์รุ่นนั้นอีกด้วย

ขณะเดียวกันดีลเลอร์เองก็ยังมีรายได้เพิ่มจากการใช้บริการหลังการขายของรถยนต์มือสอง ที่ถูกขายโดยโชว์รูมต่างๆ ได้อีกทางหนึ่ง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะให้ความมั่นใจใช้บริการกับผู้ที่ขายรถให้กับตัวเองมากกว่า อย่างน้อยดีลเลอร์ส่วนใหญ่ที่ขายรถมือสอง จะมีการรับประกันคุณภาพรถยนต์เหล่านั้น

เรียกได้ว่าการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ของค่ายรถยนต์ นอกจากจะเป็นการแก้ไขวิกฤตยอดขายรถรวมและพยุงราคาขายต่อรถมือสองของตัวเองให้ได้ราคาดีแล้ว ยังเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว เพราะกระสุนเม็ดแรกก็ทำให้คู่แข่งที่เป็นค่ายรถยนต์ด้วยกันสะเทือน และกระสุนลูกต่อมาก็เป็นการตอกฝาโลงให้กับเต็นท์รถรายย่อย โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่บรรดาลีสซิ่งเช่าซื้อรถยนต์มีความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งถ้าหากในกลุ่มธุรกิจหลังนี้ไม่มีการปรับตัวสู้ เช่นการเพิ่มไลน์ธุรกิจมาจำหน่ายรถใหม่ป้ายแดง งานนี้คงต้องโบกมือลาวงการยานยนต์อย่างถาวร เพราะแนวโน้มในอนาคตคาดว่าค่ายรถยนต์แต่ละค่ายจะมีทยอยเข้ามาเล่นในตลาดรถมือสองกันอย่างจริงจังมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.