|
เมื่อยักษ์ใหญ่นำตลาด ตีตรา SCG Eco Value
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ในบรรดาคำประกาศวิสัยทัศน์ (Vision Statement)ของกิจการต่างๆ ผมเห็นว่า วิสัยทัศน์หรือจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะเป็นของเครือซิเมนต์ไทย (SCG)ชัดเจนและท้าทายมาก
ที่สำคัญไม่ใช่แต่ถ้อยคำภาษาดอกไม้ที่ดูดีมีไว้ติดกรอบทองโชว์ แต่มีกำหนดการเป็นพันธกิจและกลยุทธ์ที่มุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้น
วิสัยทัศน์ของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ระบุว่า
“ ภายในปี พ.ศ. 2558 SCG จะเป็นองค์กรที่ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่น่าร่วมงานด้วย และเป็นแบบอย่างด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในปี พ.ศ. 2558 SCGจะเป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคที่มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้แก่อาเซียน และชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายภายใต้คุณภาพการบริหารงานระดับโลก สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล และมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงอีกทั้งยังมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ด้วยสินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพจากกระบวนการดำเนินงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความเป็นเลิศ ”
ด้านยุทธศาตร์หรือกลยุทธ์ที่ “กานต์ ตระกูลฮุน”กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ยืนยัน ก็คือ สร้างความเติบโต (Growth) อย่างยั่งยืน และการเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรม (Innovation )
การเปิดตัวฉลาก เปิดตัวฉลาก SCG eco value จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรับรองว่านวัตกรรมของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสินค้า 87 รายการ ที่นำออกสู่ตลาดขบวนใหญ่เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม
นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมี CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแตกต่างและเพิ่มคุณค่าที่เป็นจุดขายที่ดีเด่น
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี บอกว่า เอสซีจี ยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ฉลาก “SCG eco value” ซึ่งจัดทำขึ้น เพื่อรับรองว่าสินค้าและบริการที่ตัดฉลากนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพี่อเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้บริโภค และผู้ใช้บริการ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
“ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการในตลาด โดยเฉพาะในต่างประเทศ มีการออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรหรือสถาบันระดับประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ EU มีสัญลักษณ์ EU Flower สหรัฐอเมริกา ก็มีสัญลักษณ์ Green Seal หรือญี่ปุ่น มีสัญลักษณ์ Eco Mark สำหรับประเทศไทย ก็มีฉลากเขียว นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็ยังกำหนดมาตรฐานขึ้นรับรองสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองเช่นกัน”
สำหรับประเทศไทย เอสซีจี ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกที่ออกฉลากรับรองผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าหรือบริการที่สามารถใช้ฉลาก SCG eco value ได้ จะต้องผลิตจากกระบวนการพิเศษที่ต่างจากกระบวนการปกติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และดีกว่าสินค้าทั่วไป
ทั้งนี้อ้างอิงตามมาตรฐาน ISO 14021 โดยมีคณะกรรรมการเฉพาะด้าน SCG eco value พิจารณากลั่นกรองและให้การรับรองเพื่อออกสลากผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
SCG eco value แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผลิตภัณฑ์ที่มี
กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Process) 2.ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด (Eco Use) 3.ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาเวียนใช้ใหม่ได้ (Eco Recycle)
มีสินค้าของธุรกิจในเครือที่ผ่านการรับรองให้ติดฉลาก SCG eco value แล้ว 87 รายการ ทั้งสินค้า บริการ และกระบวนการผลิต อาทิ
สินค้าที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กระดาษ Idea Green ที่ลดการใช้ต้นไม้ลงถึง 30% โดยใช้เยื่อ EcoFiber ที่ได้จากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากผลผลิตทางการเกษตร หรือ Green Series ที่ไม่ได้ใช้เยื่อจากไม้ใหม่เลย ใช้ EcoFiber 100%
สินค้าวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม้สมาร์ทวูด แผ่นผนังและฝ้าสมาร์ทบอร์ด เป็นผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ใช้เยื่อเซลลูโลส ปราศจากแอสเบสตอสในกระบวนการผลิต ช่วยลดการใช้ไม้จากธรรมชาติได้มากกว่า 90%
ผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำของ COTTO ทั้งสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำ สุขภัณฑ์ COTTO Dual Flush รุ่นประหยัดน้ำ 3 / 4.5 ลิตร ประหยัดน้ำสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมถึง 25 % ก๊อกน้ำ COTTO ซึ่งมีอัตราการไหลของน้ำน้อยกว่า 4.7 ลิตรต่อนาที ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่ามาตรฐานฉลากเขียวถึง 21% และยังใช้วัตถุดิบทองเหลืองในการผลิตน้อยลง 60% กระเบื้อง COTTO ก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัตถุดิบจากวัสดุรีไซเคิลถึง 60%
ผลิตภัณฑ์ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า เช่น ฉนวนกันความร้อนตราช้าง Green 3 นอกจากจะช่วยประหยัดไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศได้ถึง 47% แล้ว ยังใช้เศษแก้วในการผลิตทดแทนทราย จึงช่วยลดปริมาณขยะ ระบบหลังคาเย็นของซีแพคโมเนีย ก็ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้ถึง 40% เช่นกัน
บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการให้บริการจัดส่งสินค้าของเอสซีจี โลจิสติกส์ ด้วยการใช้พาหนะที่มีอัตราการบริโภคน้ำมันน้อย การลดการขนส่งเที่ยวเปล่าให้มากที่สุด และรวมเที่ยวส่งสินค้า ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 3,240 เมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 108,000 ต้นต่อปี จากปริมาณการขนส่ง 27,000,000 ตัน
กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากความร้อนทิ้ง ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึงปีละ 1,600 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกปีละ 300,000 เมตริกตัน หรือเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 10 ล้านต้น ในกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการลดปริมาณกากของเสียและนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
น่าชื่นชมที่ทราบว่า ธุรกิจที่มีเครือข่ายระดับยักษ์อย่าง SCG ซึ่งกระบวนการผลิตและการค้าจะมีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่มีความมุ่งมั่นในแนวสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน เช่น ในปี 2552 เอสซีจียืนยันการเดินหน้าดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยใช้งบประมาณกว่า 3,500 ล้านบาท สำหรับการติดตั้งระบบลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ ระบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบผลิตไฟฟ้าจากความร้อนทิ้ง (Waste Heat Generation System)
ข้อคิด
ว่าด้วยหลักการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเครือซิเมนต์ไทย หรือ Siam Cement Group ( SCG)ยึดมั่นในแนวทางนี้มาตั้งแต่ยังไม่มี คำว่า CSR ( Corporate Social Responsibility )
แนวคิดและวิถีปฎิบัติที่เอสซีจีดำเนินการผลิตและทำธุรกิจนั้นจุดหมายปลายทางเป็นพัฒนาการสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development )ทั้งต่อตัวกิจการและสังคม แต่แนวทางของCSRเป็นกระบวนการไปสู่ SD ดังกล่าว
การประกาศวิสัยทัศน์ของเครือซิเมนต์ไทยที่จะมุ่งสู่การเป็น “องค์กรที่มีนวัตกรรม”ที่ใครๆก็อยากร่วมงานด้วย และต้องการเป็นแบบอย่างของธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชุมชนที่เข้าไปดำเนินการ โดยมุ่งสร้างคุณค่าให้แ ก่ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ซึ่งยอมหมายถึง สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
ขณะที่อุดมการณ์เอสซีจี ซึ่งกรรมการผู้จัดการใหญ่จะให้ความสำคัญโดยบรรยายให้แก่พนักงานใหม่ทุกคนได้มีจิตสำนึก 4ประการคือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม เชื่อมั่นในคุณค่าสังคม มุ่งมั่นในความเป็นธรรม และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม
ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการเป็น “องค์กรที่ดีและเก่ง”ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังเห็นได้จากกลไกการมีศูนย์รวมตัวแทนระดับบริหารของทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อเป็นกลไกควบคุมทิศทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกภาพ คือคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Committee )
ขณะที่มีคณะกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (SCG eco value committee ) ซี่งจะให้การตรวจประเมินและการรับรองการออกฉลากให้กับนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ที่น่าชื่นชม
นี่แหละตัวอย่างที่ดีของการมีซีเอสอาร์ในกระบวนการทำธุรกิจ ( CSR inprocess)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|