สู่องค์กรสร้างสรรค์ ยุควิกฤตสไตล์KTC


ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

* ผ่าแนวคิด Creative Organization
* คน-วัฒนธรรม-บริษัท-ลูกค้า กุญแจสำคัญ
* เผยหลักคิดทำธุรกิจแบบสร้างสรรค์แบบเคทีซี
* อาศัยพื้นฐาน“ Positive Thinking ”ตอบโจทย์

ท่ามกลาง “วิกฤต ย่อมมีโอกาส” โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ ยามเผชิญมรสุมสึนามิ เศรษฐกิจ นับว่า เป็นสิ่งท้าทายองค์กรและผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญหากเรียนรู้จากองค์กรที่มีประสบการณ์มาก่อน สำหรับองค์กรสร้างสรรค์ “เคทีซี” จัดเป็นองค์กรแห่งหนึ่งที่ใช้ “ความคิดสร้างสรรค์ Creativity”ได้อย่างโดดเด่นและต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร ที่เห็นได้ชัดเจนในระยะแรกคือ การแสดงออกความคิดสร้างสรรค์ผ่านโปรดักส์บัตรของเคทีซีที่มีหลากหลาย มีความแตกต่างเป็นจำนวนมาก ช่องทางจำหน่ายผ่านสาขาที่ดีไซน์แบบบูติก ออฟฟืศ รวมทั้งคนในชุดทำงานที่ไม่เหมือนใคร

ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสื่อสารการตลาดองค์กร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประภาส ทองสุข บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์แบบเคทีซี ส่วนหนึ่งมาจาก “ความคิดบวก” (Positive Thinking) มีเป้าหมายให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ว่าเหตุการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไรก็ตามองค์กรก็จำต้องอยู่รอดให้ได้ และมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปตอบโจทย์ตั้งรับที่กำหนดไว้ เพื่อรักษาแนวรับให้แข็งแรงไม่ใช่บุกเพื่อหาลูกค้าและสร้างยอดขายมากมายเหมือนยามสถานการณ์ปกติ

“สำหรับช่วงเวลานี้จึงไม่ใช่เปีนปีของโอกาสของเคทีซีที่จะรุกธุรกิจ เหมือนอดีต แต่เป็นการทำธุรกิจที่ “เน้นตั้งรับ”ที่เร็วขึ้น เช่น งบประมาณก็ไม่จำเป็นต้องตัดทุกด้าน แต่เลือกทำที่ไม่จำเป็น, โปรดักส์ทดลองก็ลดจำนวนลง เน้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยใช้ข้อมูลใช้เกิดประโยชน์ ด้านการสื่อสาร ก็ปรับเปลี่ยนในวิธีการพูดให้ถูกจุดให้คนใช้เงินอย่างไม่พุ่มเฟือย” ผู้ช่วยซีอีโอด้านสื่อสารการตลาด บอกและย้ำอีกว่า

“ถึงเศรษฐกิจไม่ดี แต่ไม่ได้หมายความความสุขจะลดลง แต่ต้องใช้วิธีการความคิดสร้างสรรค์ที่ทันสมัย ซึ่งไม่ใช่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ใช้เงินอย่างไม่ฟุ่มเฟือย ยกตัวอย่าง โครงการIn house Training ใช้เงินไม่กี่หมื่นบาท เฉพาะค่าขนม กาแฟ แต่ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นในองค์กรทั้งความรู้และการลดงบประมาณลดลงอย่างมหาศาล หรือโครงการอบรมด้านการเงิน จากเดิมที่ต้องใช้จ่ายงบก็ให้คีย์แมนด้านการเงินขององค์กรอบรมก็ประหยัดงบในส่วนนี้ได้เป็นจำนวนไม่น้อย”

นอกจากนี้ยังมีโครงการทำ Knowledge Sharingซึ่งอาจเป็นข้อมูลภายนอกที่นำเข้ามา อาทิ หัวข้อการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข มีการใช้ข้อมูลแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันภายในองค์กร ผลลัพท์ที่ได้จึงมี 2 ด้านทั้ง ความรู้สึกที่ดีและความคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้หัวใจขององค์กรคิดสร้างสรรค์แบบเคทีซี คือ ความกล้าคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเดิๆที่อยู่ในธุรกิจการเงิน เพราะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือ คนที่ไม่หยุดนิ่งความคิดอยู่กับที่ หรือวิถีเดิมที่เคยทำ

“สิ่งที่ทำให้เคทีซีโดดเด่นใน 5-6 ปีที่ผ่านมา คือ ไม่เดินตามแนวคิด หรือวิธีปฎิบัติเดิมที่เคยทำมา รวมทั้งองค์ความคิดที่เคยสื่อสารกับผู้คนภายนอกตั้งแต่โปรดักส์ไปยังบุคคล ส่งผลให้เกิดความท้าทายในวิธีปฎิบัติเดิมที่เคยดำเนินการมา มันเป็นรูปแบบของเคทีซีในคอนเซ็ปต์Creative Organization”

ประภาส ย้ำด้วยว่า เคทีซี เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบให้เผชิญภาวะการแข่งขันตั้งแต่ต้น โดยความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นจุดกำเนิดองค์กร ซึ่งเป็นหัวใจของการทำตลาดยุคใหม่ โดยความคิดสร้างสรรค์ถูกใช้ถ่ายทอดผ่านโปรดักส์บัตรที่หลากหลายและแตกต่าง การดูแลลูกค้าที่ออกแบบสาขาสไตล์บูติก ความคิดสร้างสรรค์มันถูกผสมผสานเข้าไปในทุกกลไกลขับเคลื่อนองค์กรโดยภาพรวม

คิดสร้างสรรค์ แบบคุ้มค่า

ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนเดิม ยังบอกด้วยว่า สำหรับกระบวนการความคิดที่ใช้จึงต้องเป็นการคิดให้แตกต่าง ( Break Thought) จากวิถีดั้งเดิมหรือปฎิบัติของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในยุคนั้น อันมีคนเป็นกลไกสำคัญในการนำไปใช้ที่องค์กรต้องหล่อมหลอมให้เป็นแบบนั้นด้วย ดังตัวอย่างโดดเด่นที่พบเห็นต่อเนื่องมา อาทิ การดีไซน์สมาร์ทออฟฟิศ ชุดทำงานของพนักงาน เป็นต้น

สำหรับในปีนี้ ด้านการอบรม (Training) ขององค์กร ก็ปรับหันมาใช้บุคลากรภายในกันเอง หรือ In House Training โดยเฉพาะผู้บริหารคีย์แมนจากแผนกส่วนงานต่างๆ ทั้งด้าน HR การตลาด แทนที่จะไปบรรยายเป็นวิทยากรภายนอกก็หันมาให้ความรู้แก่พนักงานภายในองค์กรแทน

“มันช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันบุคลากรที่บรรยายก็เป็นผู้บริหารระดับบิ๊กจากส่วนงานโดยตรง รวมทั้งผม ซึ่งเดิมด้านการคิดสร้างสรรค์ก็เคยไปสอนตามสถาบันการศึกษาต่างๆในช่วงนี้ก็หันมาให้ความรู้กับคนในองค์กรแทน นอกจากนี้ กิจกรรมพนักงานก็ไม่ได้ตัด แต่เปลี่ยนรูปแบบไป เช่น จากเดิมมีงานเลี้ยง ซึ่งอาจดูฟุ่มเฟือยเปลี่ยนมาเป็นการออกกำลังกายการกุศล เป็นต้น”

ประภาส บอกด้วยว่า เดิมนั้นความคิดสร้างสรรค์มักถูกนำมาใช้ ในมิติของความสนุกสนาน แต่ปัจจุบันก็นำมาใช้อย่างผสมผสาน โดยมีทั้งสนุกสนานเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากฐานความคิดสร้างสรรค์ที่มั่นคง จัดว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ท่ามกลางภาวะวิกฤติ

สำหรับงานด้านสื่อสารองค์กร ในภาวะเช่นนี้เน้นทำให้เกิดรอบด้านและชัดเจนทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร(Round and Clear) คือ การทำให้คนเห็นภาพสถานการณ์จริงตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจในประเด็นต่างๆไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้บุคลากรในองค์กรแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

“Round and Clear เป็นแนวทางสื่อสารที่ทำให้คนในองค์กรไม่สับสน ขณะที่ภายนอกองค์กรเน้นสื่อสารให้ภายนอกเห็นว่าเป็นองค์กรที่ปรับตัวไปกับสภาพธุรกิจไม่ใช่องค์กรLuxury หรือองค์กรที่ไม่สนใจกระแสสังคมหรือการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันเคทีซีก็ยังคงเป็นองค์กรทันสมัยในเชิงความคิดและการปรับตัวในเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้รวดเร็วและตั้งใจที่ทำประโยชน์ให้กับสังคมในมุมอื่นๆที่ยังสามารถทำได้”

ขณะที่งานด้านแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวลด้อมหรือ CSR ก็จะเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ส่งคนเข้าไปดำเนินการโดยใช้กำลังความคิดให้มาก แทนการใช้งบประมาณจำนวนมากแบบเดิมๆ โดยเชื่อว่า การทำในมิติแบบนี้ เมื่อลงมือทำเรื่องหนึ่ง มันก็จะใช้ประโยชน์ได้กับอีกเรื่องหนึ่งในหลายๆด้านเช่นกัน

“การทำให้องค์กรยังมีความสุขอยู่ไม่ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจดำเนินการอย่างไร การทำให้องค์กรมีการสื่อสารภายในได้อย่างชัดเจน มีความเป็นทีมเวิร์คมากขึ้น และให้องค์กรยังสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กรยามวิกฤต”

กุญแจสู่ Creative Organization

ทางด้านดร.สมบัติ กุสุมาวลี อาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ข้อสรุปว่า ลักษณะขององค์กรสร้างสรรค์ จะต้องมีแนวคิดเป็นองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่ หนึ่ง-คนสร้างสรรค์ เกิดขึ้นได้ต้องมาจากกระบวนการจัดการและการบริหารพัฒนาคนให้ได้มาคนที่มีCreative Mind รวมทั้งกระบวนการทีทำให้ทีมงานเกิดความคิดสร้างสรรค์

สอง-มีวัฒนธรรมองค์กรส่งเสริมให้คนแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ สาม-องค์กรต้องเป็นบริษัทสร้างสรรค์รองรับ ในรูปแบบของการสร้างสภาพแวดล้อม และบรรยากาศองค์กร เพื่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creative Environment) สี่-การอยู่ร่วมกับลูกค้าได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะบริษัทธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ เพราะลูกค้า ดังนั้นจำเป็นต้องมีกิจกรรมและการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้ลูกค้าและองค์กรอยู๋ไปได้

“สิ่งสำคัญ คือ องค์กรต้องกล้าคิดแบบสร้างสรรด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักคิด วิเคราะห์ว่า มีทรัพยากรในองค์กรใดบ้างที่สร้างสรรค์และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร”

ในการออกแบบเป็นองค์กรสร้างสรรค์ด้านคน อาจารย์สมบัติ บอกว่า เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้คนองค์กร เมื่อไปที่ใดแล้ว สะท้อนความเป็นองค์กรนั้นๆได้ด้วย ไม่ใช่เพียงสินค้ากับองค์กรเท่านั้น แต่คนกับองค์กรต้องไปในทิศทางเดียวกัน

“ ในกระบวนการทำ จะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ อาทิ การคัดสรรคนเข้าสู่องค์กรจะต้องมีกระบวนการที่สร้างสรรค์ ทั้งในเชิง คุณค่าองค์กรที่ยึดถือดำเนินการตั้งแต่ขั้นแรก การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย รวมทั้งระบบการประเมินหรือตัวชี้วัดให้คุณ-โทษ ที่ไม่กระทบต่อคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าหากระบบตึงเกินไปก็จะทำให้คนไม่กล้าคิดสร้างสรรค์และติดในกรอบความคิด “

ปัจจุบันองค์กรสร้างสรรค์ที่พบเห็นบ่อย ได้แก่ เคทีซี ปูนซีเมนต์ไทย ทรู ดีแทค รวมทั้งค่ายอมรินทร์ พริ้นติ้ง ฯก็พยายามสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมองค์กร เพื่อรักษาคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไว้

อาจารย์ บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร ผู้นำ จัดว่ามีบทบาทสำคัญมาก ข้อจำกัด คือ Mind Set ของผู้บริหารที่มักมองว่า ภาวะวิกฤตจะต้องลดงบประมาน หรือค่าใช้จ่ายทรัพยากร โดยไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าหากมีมุมมองระยะยาวและเข้าใจวงจรธุรกิจ ก็พบว่า วิกฤตมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง

“ห้วงเวลานี้ องค์กรสร้างสรรค์ต้องการผู้บริหารที่วิเคราะห์เป็น และโฟกัสว่าจะทุ่มเททรัพยากรในอนาคตไปในด้านใดบ้าง ดังนั้นในสถานการณ์นี้ จึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และเป็นโอกาสในการมองไปยังอนาคต ถ้าหากต้องการอยู่รอดหรือกลับเข้ามารุกธุรกิจจะต้องใช้อะไรบ้าง”อาจารย์สมบัติ แนะทางออก

เรียบเรียง จากงานเสวนา “เป็นองค์กรสร้างสรรค์ได้อย่างไร ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ” ( Creative organization vs. Economic Crisis ) โดยคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360*รายสัปดาห์

3M’s สูตรพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

1.Mind-set (ปรับมุมมอง)

- รู้จักธรรมชาติของความคิดสร้างสรรค์

2. Mood(ปรับความรู้สึก)
- ค้นพบไฟแห่งการคิดสร้างสรรค์ของตนเองคิดนอกกรอบด้วยการค้นพบกรอบที่กักขังความคิดใหม่ และร่วมกิจกรรมการทำลายกรอบที่ครอบความคิด
- สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของตนเองด้วยการทำแบบทดสอบชุด MBTI เพื่อค้นพบความถนัดในการคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

3. Mechanics (หลักการและวิธีการ)
- ร่วมคิดหาไอเดียใหม่ๆที่จะนำไปใช้จริงในปี 2552 แยกตามแต่ละแผนกและหน่วยงาน
- นำหลักการคิดแบบ Divergent Thinking & Convergent Thinking มาใช้ร่วมกับการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม
- ค้นหา action plan ที่สร้างสรรค์ด้วยการคิดตามกระบวนการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบตามขั้นตอน 6’Fs*
- จัดทำแผนร่าง action plan 2552 เพื่อกำหนดแนวทางการนำไปใช้ในปี 2552
- กำหนดเทคนิคและศิลปะในนำเสนอแผนความคิดใหม่ เพื่อให้เกิดการผสมผสานกับประสบการณ์ของผู้บังคับบัญชา อันจะนำไปสู่การได้รับการอนุมัติให้ปฏิบัติงานได้จริงต่อไปในปี 2552

* หมายเหตุ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ประยุกต์จากโมเดลที่พัฒนาโดย CEF (Creative Education Foundation, USA)

ที่มา : ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ CLO (Chief Learning Officer) บ.37.5 องศาเซลเซียส จำกัด และวิทยากรด้าน Creative Thinking


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.