|

ผู้บริโภคจี้บัตรเครดิต - สินเชื่อบุคคลลดดอกเบี้ย วอนแบงก์ชาติบีบผู้ประกอบการช่วยประชาชน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 เมษายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนสติแบงก์ชาติบีบผู้ประกอบการบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลลดดอกเบี้ยลง หลังจากดอกเบี้ยกู้ประเภทอื่นลดลงกันถ้วนหน้า ชี้ปี 2549 ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตเคยขอปรับดอกเบี้ยจาก 18% เป็น 20% แต่วันนี้ดอกเบี้ยฝากเหลือไม่ถึง 1% กลับนิ่ง แถมใช้ดอกเบี้ยเก่าสูบเงินจากประชาชนที่กำลังเดือดร้อน แนะใช้ดอกเบี้ยต่ำเท่ากับลดหนี้เสียไปในตัว
คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จาก 1.5% ลงเหลือ 1.25% เมื่อ 8 เมษายน 2552 นับเป็นการส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีจากดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% หลังจากที่ปรับลดครั้งใหญ่ไปเมื่อ 3 ธันวาคม 2551 จาก 3.75% เหลือ 2.75%
หากนับตั้งแต่ต้นปีกนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา 1.5% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากราว 1-1.25% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงมา 0.5-0.75% แม้ว่าธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากันระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ยังเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ที่ต้องผ่อนชำระหนี้ได้ในระดับหนึ่ง
นั่นคือผลดีจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์หรือภาคเช่าซื้อล้วนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ที่จะเป็นแรงหนุนกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐ
แต่ในอีกด้านหนึ่งแม้สถาบันการเงินหลายแห่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามดอกเบี้ยนโยบายที่ส่งสัญญาณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลกลับยังคงอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต่อลูกค้ามาโดยตลอด โดยดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดที่ 18% สินเชื่อบุคคลคิดดอกเบี้ยที่ 28% ทั้ง 2 อัตราเป็นแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate)
อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2549 โดยที่ดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลถูกควบคุมให้อยู่ที่ระดับ 28% มีผลเมื่อ 20 กรกฎาคม 2549 ส่วนดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้ขอปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 18% เป็น 20% มีผลเมื่อ 13 พฤศจิกายนปีเดียวกัน
ไม่ยอมลดดอกเบี้ย
แหล่งข่าวจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เป็น 20% นั้น เกิดขึ้นจากการที่ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตได้เข้าไปร้องขอต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2549 หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับเพิ่มขึ้นโดยดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้นอยู่ที่ 4-5% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้(MLR)อยู่ที่ 7.5-7.75%
ในปี 2549 กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 4% เป็น 5% ในช่วงต้นปีและตรึงดอกเบี้ยที่อัตราดังกล่าวตลอดครึ่งปีหลัง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยขึ้น ต้นทุนในการทำธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจึงสูงขึ้นตามทำให้ต้องขอปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น
จากวันนั้นถึงวันนี้เพียง 2 ปีเศษ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากที่เคยสูงที่ 5% เหลือเพียง 1.25% แต่ดอกเบี้ยของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลยังอยู่ในระดับเดิมคือ 18% และ 28%
ตรงนี้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดแสดงตัวออกมาว่า อยากจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนเมื่อครั้งขอขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าดอกเบี้ยที่ 20% หรือ 28% จะเป็นเพดานที่กำหนดไว้ แต่หากผู้ออกบัตรแสดงความจริงใจทำไมไม่ลดดอกเบี้ยลงมาเหลือสัก 10-12% เพราะถ้าเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ต่ำกว่า 1% ส่วนต่าง 9-11% ก็สร้างกำไรให้กับผู้ประกอบการได้ไม่น้อย อีกทั้งอัตราดังกล่าวก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยซื้ออสังหาริมทรัพย์ จึงน่าจะเป็นที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย
'ตอนนี้ทุกคนเงียบกันหมด แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างก็ไม่คืบหน้า'
วอนอย่าอุ้มผู้ออกบัตร
วันนี้สถานการณ์ตรงข้ามกับปี 2549 แบงก์ชาติไม่เคยออกมาแสดงความเป็นห่วงใยของภาคประชาชน มองแต่ว่าคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตนั้นเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่มีวินัยทางการเงิน เห็นได้จากการกำหนดให้ยอดชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตต้องอยู่ที่ 10% จึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติปกป้องใครมากกว่ากัน เพราะทุกอย่างเน้นไปที่คุ้มครองผู้ออกบัตรเป็นหลัก แถมยังปล่อยให้มีส่วนต่างของดอกเบี้ยในธุรกิจประเภทนี้สูงถึง 19%
แม้ว่าแบงก์ชาติจะให้เหตุผลในเรื่องของความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน แต่ต้องพิจารณาด้วยว่านี่เป็นเรื่องของธุรกิจ ที่ผู้ให้บริการต้องมีความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย หากแบงก์ชาติปล่อยให้ผู้ออกบัตรกินส่วนต่างสูงเช่นนี้ แถมบีบให้ผู้ผ่อนชำระต้องชำระขั้นต่ำที่ 10% อย่างนี้ไม่เรียกว่าอุ้มผู้ออกบัตรแล้วจะเรียกว่าอุ้มใคร
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ภาคประชาชนไม่มีแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำให้นำไปใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต เมื่อไม่มีทางเลือกจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็ต้องยอมเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล ถามว่าระหว่างลูกค้าที่เป็นหนี้แบบผ่อนชำระกับลูกค้าดีที่จ่ายครบตามจำนวนผู้ให้บริการชอบลูกค้าประเภทไหนมากกว่ากัน
ทุกคนก็รู้คำตอบดีว่าหากเป็นลูกค้าที่ผ่อนชำระ ผู้ออกบัตรจะมีรายได้ 2 ทางคือจากเจ้าของสินค้าตามยอดขายสินค้าและได้ดอกเบี้ยผ่อนชำระอีก 18-20% แต่ถ้าเป็นลูกค้าดีจะมีรายได้แค่ทางเดียวตามยอดใช้จ่ายจากเจ้าของสินค้าเท่านั้น
ลดดอกเบี้ยหนี้เสียน้อย
ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปัญหา ประชาชนบางส่วนถูกเลิกจ้าง ผู้ออกบัตรเครดิตหลายแห่งได้เพิ่มรายได้ขั้นต่ำของผู้สมัครบัตรเครดิตจาก 15,000 บาทต่อเดือนเป็น 20,000 บาทต่อเดือนเพื่อลดความเสี่ยง
แต่หากผู้ออกบัตรลองพิจารณาดูว่าลูกค้าที่ดีนั้น หากท่านปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดมา ย่อมทำให้โอกาสของหนี้เสียจากลูกค้าของท่านจะน้อยลงหรือไม่ หรือเลือกคงดอกเบี้ยในอัตราเดิมแต่ต้องมาเสี่ยงกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการที่ลูกหนี้ไม่มีปัญญาที่จะจ่าย
นอกจากนี้หากใครที่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง ก็จะทราบดีว่าขั้นตอนในการเจรจาประนอมหนี้เกือบทุกรายจะเน้นไปที่การลดอัตราดอกเบี้ยให้(แล้วแต่ตกลง) บางรายดอกเบี้ยไม่คิดแถมลดเงินต้นให้อีกส่วนหนึ่งก็มี ตรงนี้ผู้ให้บริการคงต้องมานั่งทบทวนว่าดอกเบี้ยที่ต่ำติดดินเกือบ 0% ในเวลานี้หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา นอกจากจะเป็นการช่วยลูกค้าของท่านแล้วยังเป็นการช่วยกิจการของท่านเอง ซึ่งไม่แตกต่างกับการที่ลูกหนี้เบี้ยวแล้วค่อยมาเจรจากันภายหลัง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|