"เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่แบงก์ชาติปรับโครงสร้างใหม่แพ็คกิ้ง เครดิตซึ่งเป็นสินเชื่อส่งออกดอกเบี้ยต่ำ
หลังจากปล่อยให้พ่อค้าส่งออกขนาดยักษ์บางรายเสวยสุขจากเม็ดเงินราคาถูกนี้มานาน
เรื่องนี้ส่งผลสะเทือนต่อสถาบันที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นบริษัทส่งออก
แบงก์พาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์-คลังและแม้แต่แบงก์ชาติ…แม้เรื่องนี้ในหลักการจะดูดีแต่รายละเอียดในการปฏิบัติดูจะมีจุดบกพร่องไม่น้อย"
แต่ไหนแต่ไรมา พ่อค้าส่งออกพืชผลเกษตรเป็นตัวจักรสำคัญในการส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลกในสัดส่วน
60-70% ของยอดการส่งออกทั้งหมดของไทย ยิ่งเมื่อประสานเข้ากับมาตรการส่งเสริมการส่งออกอย่างเข้มแข็งจากรัฐด้วยแล้ว
พ่อค้าส่งออกพืชผลเกษตรก็ถูกปฏิบัติราวกับ "ลูกคนสุดท้อง" ที่ได้รับขุนเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพลีมัน
ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินภาษี ยกเว้นภาษีการค้า อุดหนุนสินเชื่อเพื่อการส่งออกด้วยต้นทุนดอกเบี้ยต่ำมากๆ
กล่าวกันว่า การปฏิบัติเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีของรัฐต่อพ่อค้าพืชผลส่งออกเช่นนี้
ทำให้พ่อค้าส่งออกบางรายสามารถสร้างตึกที่ทำการของตัวเองขนาด 200-300 ล้านบาทในย่านทำเลทองอย่างสีลมหรือสาธรใต้สบายๆ
จวบจนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานั้นแหละ ที่ดูเหมือนว่าบทบาทพ่อค้าพืชผลส่งออกดูจะอ่อนล้าลง
เพราะปรากฏว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มเป็นตัวนำในการส่งออกแทนพ่อค้าพืชผล
ปี '28 สินค้าพืชผลเกษตรมียอดส่งออกประมาณ 73,000 ล้านบาทเทียบกับ 95,000
ล้านบาทของยอดสินค้าอุตสาหกรรม ยิ่งปี '30 ด้วยแล้วยอดส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมถีบตัวออกห่างจากสินค้าเกษตรออกไปมากขึ้น
จาก 188,000 ล้านบาทเทียบกับ 83,000 ล้านบาท
ยอดส่งออกห่างกันถึง 100,000 ล้านบาท!
ยิ่งเมื่อเทียบกับยอดส่งออกรวมแล้ว สัดส่วนยิ่งปรากฏเห็นชัดถึงความแตกต่างในทิศทางการส่งออก
ปี '28 สัดส่วนส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็น 37% ของยอดส่งออกรวม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วน
49% และเมื่อปี '30 ยอดส่งออกสินค้าเกษตรก็มีสัดส่วนส่งออกเมื่อเทียบกับยอดรวมลดลงเหลือ
28% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 63%
แสดงว่านับวันแนวโน้มทิศทางการส่งออกกระจุกตัวเข้าหาสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น
ขณะที่สินค้าเกษตรเริ่มลดความสำคัญลงไป
แต่ภายใต้การปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งออกนี้ ปรากฏว่าพ่อค้าส่งออกพืชผลเกษตรก็ยังคงได้รับการอุดหนุนทางการเงินและการคลังจากมาตรการของรัฐอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่ต้องดูอื่นไกล เอากันแค่การอุดหนุนทางการเงินจากแพ็คกิ้ง เครดิตของแบงก์ชาติ!
ตามปกติการตั้งวงเงินอุดหนุนการส่งออกด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เรียกว่าแพ็คกิ้ง
เครดิตของแบงก์ชาติจะอยู่ในสัดส่วนเมื่อเทียบกับปริมาณเงินไม่มากนักอยู่ระหว่าง
20-40%
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่อะไรอื่น เพราะแบงก์ชาติต้องควบคุมไม่ให้วงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตซึ่งถือว่าเป็นเงินพลังสูงไปทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกันแบงก์ชาติก็ไม่ต้องการให้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไปเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตส่งออก
พูดง่ายๆ แบงก์ชาติยืนอยู่ตรงกลางในการควบคุมเงินเฟ้อและส่งเสริมการส่งออก
เท่าที่ผ่านมาอย่างน้อย 30 ปี ต้องยอมรับความจริงกันว่าการส่งออกของไทยเราพึ่งพิงฐานสินค้าเกษตรไม่กี่ตัว
เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นสำคัญ เป็นตัวนำในการส่งออก
ดังนั้นวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิต ส่วนใหญ่เกือบ 70% จึงกระจุกตัวอยู่ที่พ่อค้าส่งออกพืชผลหลักที่ว่านี้เป็นผู้ใช้
แล้วมันช่างเผอิญเสียจริงๆ ที่โครงสร้างกลุ่มบริษัทพ่อค้าพืชเกษตรที่ปรากฏรายชื่ออยู่นับ
40 บริษัทที่เป็นรายใหญ่ๆ โดยแท้จริงๆ แล้วกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มไม่เกิน 10
บริษัทเท่านั้น ที่เหลือเป็นบริษัทในเครือที่แตกลูกแตกหลานกันออกไปทั้งสิ้น
แม้ในปัจจุบันที่โครงสร้างการส่งออกเริ่มเปลี่ยนไปที่สินค้าอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ
แต่พ่อค้าส่งออกพืชผลรายใหญ่ๆ ที่ว่าก็ยังคงเป็นกลุ่มที่กระจุกตัวการใช้วงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิต เป็นส่วนใหญ่อยู่
ตัวเลข ณ 28 ก.ค. 2531 ของแบงก์ชาติได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า ยอดคงค้างรวมของวงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตมีจำนวน 23,812 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่มบริษัทพืชผลส่งออกรายใหญ่ 40
แห่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นของกลุ่มพ่อค้าพืชผลไม่เกิน 10 กลุ่มบริษัท ใช้วงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตไปแล้วเกือบ 7,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม
32 แห่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกกลับมียอดวงเงินใช้สินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตเพียง
6,000 ล้านบาทเท่านั้น (ดูตารางยอดรับซื้อตั๋วฯ ประกอบ) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าการใช้วงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตมีพฤติกรรมที่สวนทางกับโครงสร้างการส่งออกที่แปรเปลี่ยนไป มองในประเด็นนี้ก็เท่ากับว่าการจัดสรรวงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิต ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรทางการเงินของแบงก์ชาติ ผิดรูปไปจากข้อเท็จจริงของการพัฒนาการผลิตและการส่งออกของระบบเศรษฐกิจ
และในขณะเดียวกันก็ดึงให้การจัดสรรทรัพยากรของแบงก์พาณิชย์ผิดรูป หรือสวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามไปด้วยเพราะแบงก์พาณิชย์เป็นตัวปล่อยเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตให้แก่พ่อค้าโดยตรงก่อนนำตั๋วเงินหรือ L/C มาขายลดให้แก่แบงก์ชาติ
โดยกินส่วนต่าง 2% ของดอกเบี้ยอีกต่อหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตามต่อทิศทางการใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตในลักษณะเช่นที่ว่านี้
ทางกลุ่มพ่อค้าพืชผลคือสภาหอการค้าไทยก็พยายามชี้แจงต่อทางแบงก์ชาติให้คล้อยตามว่า
"การจัดสรรวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตแก่ผู้ส่งออกพืชผลมีผลต่อการช่วยเพิ่มอำนาจซื้อผลผลิตการเกษตรแก่เกษตรกร
ให้มีราคาสูงตามความต้องการของตลาดโลกที่พ่อค้าส่งออกเป็นผู้ส่งออกไป"
ซึ่งก็หมายถึงว่าทางแบงก์ชาติไม่ควรปรับทิศทางการใช้/จัดสรรแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกและการผลิตที่เป็นอยู่จริงด้วยจะมีผลกระทบต่อราคาพืชผลของเกษตรกร
แต่ดูเหมือนว่า ข้อชี้แจงของพ่อค้าส่งออกนี้ แบงก์ชาติไม่เชื่อว่าจะเป็นเหตุและเป็นผลกันจริง!
วิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลสายงานกิจการธนาคารในประเทศของแบงก์ชาติได้กล่าวโต้แก่
"ผู้จัดการ" ว่า ราคาพืชผลเกษตรกรไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอัตราดอกเบี้ยต่ำจากวงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตของแบงก์ชาติ แต่แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทานในตลาดโลกและความสามารถในการระบายข้าวสู่ตลาดของพ่อค้า
ซึ่งในจุดนี้เมื่อมองย้อนหลังไป 2 ปีที่ผ่านมา การระบายข้าวสู่ตลาดของพ่อค้าก็อยู่ในจำนวน
3.5-4.0 ล้านตันมาโดยตลอด "ในฤดูการผลิตและตลาดปีใหม่นี้การระบายข้าวสู่ตลาดโลกคงไม่น้อยกว่า
4 ล้านตัน ซึ่งไม่น้อยกว่าปีที่แล้วแน่นอน" สมบุญ ผไทฉันท์ ผู้จัดการสมาคมพ่อค้าข้าวส่งออกแห่งประเทศไทยกล่าวย้ำกับ
"ผู้จัดการ"
นักเศรษฐศาสตร์บางคนอย่าง ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการ" ว่า จากประสบการณ์ในการวิจัยพบว่ามาตรการอุดหนุนด้วยแพ็คกิ้ง
เครดิตแก่พ่อค้าส่งออกข้าง ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการยกระดับราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรเลย
และถ้าหากว่าการจัดสรรแพ็คกิ้ง เครดิตเพื่อหวังว่าจะมีส่วนยกระดับราคาข้าวเปลือกแล้ว
ก็ต้องถือว่าล้มเหลว และถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์ (COST-BENEFIT) ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ
"สมควรยกเลิกไปเลยจะดีกว่า"
จุดนี้ได้รับการสนับสนุนเชิงประนีประนอมจาก ศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทย
ที่กล่าวว่า การยกเลิกแพ็คกิ้ง เครดิตเป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป ระบบการส่งออกปรับตัวไม่ทัน
ทางที่ควรเป็นแบงก์ชาติต้องปรับโครงสร้างการจัดสรรแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการส่งออกและการผลิตที่เป็นจริง
"เพราะพ่อค้าพืชผลส่งออกถูก SPOIL จากมาตรการอุดหนุนแพ็คกิ้ง เครดิตมานานแล้ว"
แนวคิดปรับโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตว่าไปแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติเห็นดีด้วยมาตลอด
และข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้มีการตระเตรียมด้านแนวคิดและระเบียบการจัดระบบโครงสร้างแพ็คกิ้ง
เครดิตมาไม่น้อยกว่า 4 ปีมาแล้ว
ชนวนที่จุดระเบิดแนวคิดให้แบงก์ชาติทบทวนระบบการให้สินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตเกิดขึ้นเมื่อ
4 ปีก่อนที่ธนาคารโลกได้เสนอรายงานการ "ปรับปรุงระบบการเงิน" แก่ผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติยุค
นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการ
ในรายงานฉบับนั้นเน้นว่าระบบและกลไกทางการเงินที่แบงก์ชาติจัดสรรและควบคุมสินเชื่อแก่ระบบธุรกิจต่างๆ
โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการพัฒนากลไกใหม่ๆ ทางการเงิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ DLC (DOSMESTIC LETTER OF CREDIT) เป็นเครื่องมืออำนวยสินเชื่อแก่ธุรกิจส่งออก
ตรงนี้เมื่อหันมาดูข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างที่ธนาคารโลกเขาพูดจริงๆ เพราะจากข้อมูลของแบงก์ชาติปรากฏว่า
ช่วงระหว่างปี 2525-27 ไม่มีพ่อค้าส่งออกรายใดใช้ DLC เลย เพิ่งจะรู้จักใช้กันก็เมื่อ
3 ปีก่อนเท่านั้น แต่ยังมีจำนวนน้อยเพียง 700-800 ล้านบาท/ปี หรืออีกนัยหนึ่งมีสัดส่วนเพียง
2-3% ของยอดรวมสินเชื่อของแบงก์ชาติเท่านั้น และถ้าเทียบกับยอดรวมสินเชื่อรับช่วงซื้อลดตั๋วส่งออกก็มีสัดส่วนเพียง
4-5%/ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปี 2526-27 ซึ่งอยู่ในระยะใกล้เคียงกับที่ธนาคารโลกได้เสนอรายงานชิ้นนี้แก่แบงก์ชาติ
ฐานะดุลงบประมาณของรัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากปัญหาการขาดดุลงบประมาณมากถึง
20,000-30,000 ล้านบาท ทางกระทรวงการคลังก็มาขอกู้จากแบงก์ชาติไปอุดงบขาดดุลเกือบ
10,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันทางแบงก์พาณิชย์ก็มาขอกู้จากแบงก์ชาติเพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ภาคธุรกิจส่งออกทั้งในรูปของเงินแพ็คกิ้ง
เครดิต และหน้าต่างเงินกู้ (LOAN WINDOW) อีกจำนวน 20,000 กว่าล้านบาท
รวมความแล้วในช่วงปีนั้นแบงก์ชาติปล่อยเงินสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 30,000 ล้านบาท
เทียบกับฐานเงินแล้วมีสัดส่วนสูงถึง 40% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขณะนั้นแทบจะไม่มีการเติบโตเลย
สภาพเงื่อนไขเวลานั้น มันเสี่ยงต่อการควบคุมเงินเฟ้อสูงอย่างมาก!
ปัญหาที่น่าคิดก็คือ ถ้าเงินเฟ้อสูงขณะที่ระบบเศรษฐกิจตกต่ำ อะไรจะเกิดขึ้น?
คำตอบก็คือ ระบบเศรษฐกิจการเงินทั้งระบบต้องพังทลายแน่นอน!!
และจุดนี้เอง คือที่มาของการปรับระบบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินไทยเมื่อวันที่
14-15 กันยายน ที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เอง…หลังจากผ่านการศึกษาตระเตรียมทั้งด้านแนวคิดและการจัดระเบียบใหม่ที่หนากว่า
200 หน้ามาเป็นเวลานานถึง 4 ปี!!!
เช้าวันที่ 14 กันยายน มีการประชุมคณะผู้บริหารระดับสูงแบงก์ชาติเพื่อพิจารณาร่างระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง
เครดิตใหม่ที่ วิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้ศึกษา
ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 5 ประเด็น คือ หนึ่ง-กำหนดวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไว้
40,000 ล้านบาท โดยแบ่งสรรสู่ภาคส่งออกและคลังสินค้าสาธารณะจำนวน 38,000
ล้านบาท และจำนวน 2,000 ล้านบาทสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขนาดย่อมในนอกเขตปริมณฑล
กทม. สอง-กำหนดให้แบงก์พาณิชย์จัดสรรวงเงินสินเชื่อซื้อลดตั๋วส่งออกและคลังสินค้าฯ
ในจำนวนสมทบที่ เท่ากับ วงเงินของแบงก์ชาติ สาม-กำหนดเพดานดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง
เครดิตทั้งในส่วนวงเงินที่แบงก์ชาติจัดสรรให้และแบงก์พาณิชย์สมทบรวมกันไม่เกิน
10% ต่อปี สี่-กำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยรับที่แบงก์พาณิชย์จัดสรรสมทบให้แก่อุตสาหกรรมขนาดย่อมในนอกเขตกทม.
ไว้ไม่เกิน 1% และ สุดท้าย-กำหนดให้การจัดสรรเงินแพ็คกิ้ง เครดิตนี้แก่ภาคส่งออกเฉพาะขั้นตอนก่อนส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อ
(PRE-SHIPMENT EXPORT FINANCING) เท่านั้น ไม่รวมถึงขั้นตอนหลังส่งมอบสินค้า
(POST-SHIPMENT EXPORT FINANCING) แต่อย่างใด
รวมความแล้ววงเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาทจากการหมุนรอบการค้า
3 รอบต่อปีก็จะมีวงเงินรวมแพ็คกิ้ง เครดิตที่แท้จริง 240,000 ล้านบาท
เป็นของแบงก์ชาติจริงๆ เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับฐานเงิน
(MONETARY BASE) ก็จะอยู่ในสัดส่วนระหว่าง 40-50% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย!
เรื่องนี้ผู้บริหารแบงก์ชาติวางแผนไว้ว่าจะประกาศเป็นทางการแก่สื่อมวลชนบ่ายวันรุ่งขึ้น
15 กันยายน!!
แต่ปรากฏว่า เช้าวันที่ 14 กันยายน ที่ประชุมคือ กำจร สถิรกุล ผู้ว่าฯ
ได้ขอให้วิจิตรนำร่างไปปรับปรุงใหม่ในส่วนแพ็คกิ้ง เครดิต สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อม
จากเดิมที่กำหนดไว้ 1,000 ล้านบาทให้เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท และส่วนต่างดอกเบี้ยรับของแบงก์พาณิชย์จาก
2% ให้เหลือ 1% (ฐานดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง เครดิตของแบงก์ชาติ คือ 5%)
ข้อท้วงติงให้ปรับปรุงของกำจรนี้ทำให้คณะผู้ทำงานต้องฉุกละหุกกันมากในการตระเตรียมเอกสารร่างฯ
เพื่อนำเสนอที่ประชุมกรรมการแบงก์ชาติเช้าวันที่ 15 กันยายนให้ทัน
เช้าวันที่ 15 กันยายน ที่ประชุมกรรมการแบงก์ชาติมีมติผ่านร่างระเบียบใหม่นี้กันง่ายดาย
และในที่สุดบ่ายวันที่ 15 กันยายน แบงก์ชาติก็แถลงข่าวเรื่องนี้แก่สื่อมวลชนหลังจากเตรียมเอกสารไว้เผยแพร่แก่แบงก์พาณิชย์ทุกสาขาของแบงก์ชาติทุกแห่ง
กรรมการของแบงก์ชาติทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติระเบียบการรับช่วงซื้อลดตั๋วส่งออกของแบงก์ชาติทุกคน
"เจ้าหน้าที่เราทำงานกันหนักมากในการโรเนียวร่างระเบียบใหม่นี้ถึงเกือบ
300,000 หน้า ในช่วงเวลา 24 ช.ม." วิจิตรกล่าวอย่างติดตลกกับ "ผู้จัดการ"
ปัญหาที่น่าคิดก็คือ ทำไมแบงก์ชาติจึงเริ่มใช้ระเบียบใหม่ในเวลานี้?
คำตอบก็คือ เวลานี้การส่งออกกำลังขยายตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงตามมาด้วย
เห็นได้ชัดด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาดกำลังปรับตัวสูงขึ้น
"การปรับลดวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตลงครึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งปรับดอกเบี้ยจาก
7% เพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% จึงลงตัวพอเหมาะกับเหตุการณ์พอดี" ศุภชัย พานิชภักดิ์
จากแบงก์ทหารไทยให้ข้อสังเกต
วิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
ว่า เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ต้องออกระเบียบใหม่แพ็คกิ้ง เครดิตเวลานี้ก็เพราะ
ทราบมาตลอดว่ามีพ่อค้าพืชผลส่งออกหลายรายพยายามใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไปใช้ประโยชน์สร้างสต็อกลม
ขึ้น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการใช้สินเชื่อนี้ "แบงก์ชาติมียอดปรับพวกพ่อค้าที่
สต็อคลม สินค้าเกษตรสูงถึงจำนวน 1,200 ล้านบาทแล้ว" จึงต้องการให้แบงก์พาณิชย์และพ่อค้าส่งออกหันมามีวินัยในการใช้เงินแพ็คกิ้ง
เครดิตนี้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของแบงก์พาณิชย์เองระเบียบใหม่ฯ นี้ต้องสมทบเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง
เครดิตนี้ในสัดส่วนวงเงินที่เท่ากับของแบงก์ชาติด้วย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษถึงปัญหาการฉกฉวยการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นี้
"เพราะแบงก์ชาติจะเพิ่มค่าปรับแบงก์พาณิชย์จาก 2% เป็น 5% ถ้าตรวจพบว่าแบงก์พาณิชย์เลินเล่อปล่อยสินเชื่อแก่พ่อค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์"
วิจิตรกล่าว
จุดนี้ก็เท่ากับว่าแบงก์ชาติได้ดึงให้แบงก์พาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมรับความเสี่ยงในสินเชื่อแพ็คกิ้ง
เครดิตด้วย!
ซึ่งแต่เดิมแบงก์พาณิชย์แทบจะไม่ได้ร่วมกับความเสี่ยงเลย เพราะเพียงเป็นคนกลางกินส่วนต่างดอกเบี้ย
2% จากการเอาตั๋วส่งออกพ่อค้าไปขาดลดให้แบงก์ชาติเท่านั้น
แต่ในครั้งนี้แบงก์พาณิชย์ไม่เพียงต้องรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเองด้วยแล้วยังต้องเสี่ยงต่อการถูกปรับด้วย!
แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แบงก์พาณิชย์ต้องคัดเลือกลูกค้าอย่างระมัดระวังมากขึ้น
ในขณะที่ตลาดแข่งขันกำลังดุเดือดเข้มข้น
ภาวะเช่นนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วระเบียบใหม่แพ็คกิ้ง เครดิตจะแก้ปัญหาการกระจุกตัวการใช้ที่จำกัดอยู่เฉพาะพ่อค้าระดับยักษ์ใหญ่
(หน้าเดิม) ได้หรือไม่?
วิจิตร สุพินิจ จากแบงก์ชาติกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า
การจะหวังให้กลไกตลาดของแบงก์พาณิชย์เป็นตัวจัดสรรเงินแพ็คกิ้ง เครดิตกระจายออกไปสู่พ่อค้าขนาดกลางหรือผู้ส่งออก/ผู้ผลิตหน้าใหม่ๆ
คง ยาก เพราะแบงก์พาณิชย์คงไม่กล้าเสี่ยงกับลูกค้าหน้าใหม่ๆ มากเท่ากับลูกค้าเก่าที่ติดต่อใช้บริการกันมานาน
(ดูตารางกระจุกตัวการใช้แพ็คกิ้ง เครดิตของพ่อค้ายักษ์ใหญ่ประกอบ) ศุภชัย
พานิชภักดิ์ จากแบงก์ทหารไทยกล่าวถึงเหตุผลนี้เพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ"
ว่า
"แบงก์พาณิชย์ต้องเอาลูกค้ารายใหญ่ที่มีวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตจำนวนสูงไว้ก่อนรายย่อย
เพราะประหยัดต้นทุนกว่า สมมุติถ้าคุณเปิด L/C มา 100 ล้านบาท แบงก์ก็เสียต้นทุนดำเนินงานเท่ากับ
L/C 10 ล้านบาท แล้วเรื่องอะไรที่แบงก์จะเอารายย่อยที่เปิดมาแค่ 10 ล้านบาท"
หลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวนี้ดูได้จากแบงก์พาณิชย์คิดดอกเบี้ยจากตั๋วส่งออกของพ่อค้าระดับยักษ์ใหญ่เช่นกลุ่ม
มินิแบร์ ไทย ที่ผลิตตลับลูกปืนส่งออกและเป็นลูกค้าของแบงก์กรุงเทพ
จากหลักฐาน ณ วันที่ 30 มีนาคม 2531 แบงก์กรุงเทพปล่อยสินเชื่อส่งออกแก่กลุ่มมินิแบร์ไปทั้งหมดประมาณ
200 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเพียง 6-7% เท่านั้น ขณะที่ดอกเบี้ยตลาดลูกค้าชั้นดีทั่วไปตกประมาณ
12%…
กลุ่ม เกษตรรุ่งเรืองพืชผล ก็เช่นกัน กลุ่มนี้เป็นยักษ์ใหญ่ส่งออกพืชผลพวกข้าวและมันสำปะหลัง
และเป็นลูกค้าชั้นดีของแบงก์กรุงเทพ จากหลักฐาน "ผู้จัดการ" ตรวจพบว่า
ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2530 กลุ่มนี้กู้ยืมจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งในสิงคโปร์วงเงิน
125 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยเพียง 7.53% เท่านั้น ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มนี้ได้ใช้วงเงินสินเชื่อส่งออกจากแบงก์กรุงเทพจำนวน
1,218 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยเพียง 7% เท่านั้น…
จากตัวอย่าง 2 ตัวอย่างนี้ได้ข้อสรุปว่ากลไกตลาดของแบงก์พาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อส่งออกมุ่งเน้นบริษัทลูกค้ายักษ์ใหญ่เป็นสำคัญ
แม้ดอกเบี้ยจะต่ำก็ตาม เพราะแบงก์เชื่อมั่นว่ากลุ่มลูกค้ายักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นลูกค้าชั้นดีที่มีความเสี่ยงต่ำ
ขณะเดียวกันแม้ดอกเบี้ยที่แบงก์คิดจะต่ำมาก แต่วงเงินที่ใช้ก็สูงมากพอที่จะช่วยให้แบงก์สามารถประหยัดต้นทุนจากขนาด
(ECONOMY OF SCALE) ได้มากกว่าลูกค้ารายย่อยๆ
อย่างไรก็ตามต่อปัญหาการแก้ไขการกระจุกตัวการใช้แพ็คกิ้ง เครดิตนี้ แบงก์ชาติมีความเชื่อว่าทางออกการแก้ปัญหานี้ที่กลไกอัตโนมัติของแบงก์ชาติเองที่ระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง
เครดิตใหม่นี้จะช่วยให้แบงก์ชาติสามารถประหยัดเม็ดเงินได้จำนวนเกือบ 8,000
ล้านบาท (ดูตารางการกระจายเงินสินเชื่อฯ แก่ผู้ส่งออกประกอบ) ซึ่งวงเงินจำนวนนี้แบงก์ชาติสามารถนำไปกระจายสู่ผู้ส่งออกขนาดย่อมและธุรกิจส่งออกอุตสาหกรรมต่างๆ
ที่แต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยได้รับการอุดหนุนสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตนี้มากนัก
เช่น สิ่งทอ ซึ่งปีที่แล้วนี้สินค้าตัวนี้ส่งออกสูงถึง 48,000 ล้านบาท แต่ได้รับสินเชื่อแพ็คกิ้ง
เครดิตเพียง 4,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น ขณะที่ข้าวส่งออก
20,000 ล้านบาท แต่ได้แพ็คกิ้ง เครดิตสูงถึง 15,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง
90% ของยอดส่งออก
"ปีที่แล้วแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบปล่อยสินเชื่อส่งออกประมาณ 87,000
ล้านบาท เป็นวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตจากแบงก์ชาติประมาณ 21% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งออก
4 ใน 5 ที่ไม่ได้รับแพ็คกิ้ง เครดิตจากแบงก์ชาติเลย" วิจิตร สุพินิจ
จากแบงก์ชาติกล่าวแบบยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ถึงความไม่เป็นธรรมในการกระจายวงเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง
เครดิต
เงิน 8,000 ล้านบาทที่แบงก์ชาติประหยัดได้จากผลของการปรับระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง
เครดิตใหม่นี้บวกกับเงินสมทบเพิ่มเติมอีก 8,000 ล้านบาทของแบงก์พาณิชย์รวมเป็น
16,000 ล้านบาท วิจิตรกล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ" ว่า จะจัดสรรไปสู่กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออกจำนวนสูงๆ
เช่น อัญมณี สิ่งทอ มากขึ้น
แหล่งข่าวจากแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ"
ต่อประเด็นนี้ว่า กลไกอัตโนมัติในการจัดสรรเงินแพ็คกิ้ง เครดิตสู่ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณีอาจล้มเหลวลงได้เพราะ
หนึ่ง-ถ้าหากว่าการส่งออกสินค้าเกษตรเติบโตขึ้นอย่างฮวบฮาบ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก็จะดึงเงินแพ็คกิ้ง
เครดิตนี้ไปใช้เสียเอง และ สอง-เมื่อกระแสการส่งออกเป็นอย่างที่ว่าแบงก์ชาตและแบงก์พาณิชย์ก็จะเหลือเงินที่สงวนไว้ให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมน้อยลง
ข้อสังเกตนี้เป็นไปได้สูงมากเมื่อพิจารณาลงไปที่ขนาดของธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณี
ซึ่งแม้มีจำนวนมากรายแต่ก็มีขนาดเล็กการส่งออกแต่ละครั้ง (SHIPMENT) มีวงเงินไม่สูงเมื่อเทียบกับพืชผลเกษตร
เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง
ดังนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณีเมื่อเทียบกับธุรกิจส่งออกพืชผลหลักจึงมีความเสี่ยงและต้นทุนบริหารสินเชื่อที่แบงก์ฯ
แบกรับสูงกว่า โอกาสการใช้แพ็คกิ้ง เครดิตจึงมีไม่มากนัก
นอกจากนี้เมื่อหันมาพิจารณาความเสี่ยงในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเช่นสิ่งทอและอัญมณี
ในอนาคตมีแนวโน้มยุ่งยากมากขึ้นจากกรณีการถูกตอบโต้ด้วยมาตรการ COUNTER VAILING
DUTIES (C.V.D.) จากประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ ที่หยิบยกเหตุดอกเบี้ยต่ำที่แบงก์ชาติให้การอุดหนุนแพ็คกิ้ง
เครดิตมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งในจุดนี้เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก
"จริงๆ แล้ว ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณี ต้นทุนดอกเบี้ยมีสัดส่วนเพียง
2.6% ของต้นทุนรวมเท่านั้น น้อยมากเลย เราเชื่อว่าการอุดหนุนด้วยแพ็คกิ้ง
เครดิตดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 10% นี้ ไม่น่าจะมีผลให้ประเทศคู่ค้าใช้เป็นเหตุอ้างใช้
C.V.D. มาเล่นงานผู้ส่งออกเรา ตรงข้ามเรากลับเชื่อว่าดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง เครดิตที่ขยับขึ้นจาก
7% เป็น 10% น่าจะมีส่วนหันเหความสนใจประเทศคู่ค้าที่จะหยิบเหตุนี้มาอ้างเล่นงานด้วยซ้ำไป"
วิจิตร สุพินิจ จากแบงก์ชาติกล่าวโต้แย้ง
แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะลงเอยกันอย่างไรในข้อเท็จจริง!
ก็ปรากฏว่าทางกลุ่มพ่อค้าพืชผลส่งออกขนาดใหญ่ก็ออกมาโวยวายกันแล้ว โดยยกเหตุผลว่าระเบียบแพ็คกิ้ง
เครดิตใหม่นี้จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและราคาพืชผลของเกษตรกร
"ต้นทุนดอกเบี้ยของพ่อค้าต้องสูงขึ้นแน่นอนไม่น้อยกว่า 2%" คนในสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
และแน่นอนว่าต้นทุนส่วนนี้ผู้ส่งออกก็จะต้องผลักไปให้เกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระแทน
"พ่อค้าก็คงจะให้ความร่วมมือกับแบงก์ชาติเท่าที่จะทำได้" ประยูร
เถลิงศรี ผู้อำนวยการบริหารสภาหอการค้าไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ต่อข้อความที่ว่า ถ้าหากข้อท้วงติงของผู้ส่งออกไม่เป็นผล ซึ่งคำกล่าวของประยูรเช่นนี้ก็หมายความว่า
พ่อค้าฯ ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อนเพื่อรักษาผลกำไร!
การออกมาโวยวายของพ่อค้าพืชผลดูเหมือนมีเสียงขานรับอย่างหนักแน่นจาก รมต.
พาณิชย์ สุบิน ปิ่นขยัน หลังจากได้พูดคุยในปัญหานี้กับพ่อค้าส่งออกที่เข้าพบเมื่อวันที่
23 กันยายนนี้
แต่ กำจร สถิรกุล จากแบงก์ชาติก็ฉลาดพอที่จะหาแนวร่วมกับทางกระทรวงการคลังให้สนับสนุนตน
และดูเหมือนทางกระทรวงการคลังจะเห็นดีด้วยกับกำจร
เรื่องนี้ก็เลยลงเอยแบบกระทรวงพาณิชย์กับคลังขัดแย้งกัน!
และอนาคตของระเบียบแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่นี้ก็คงต้องอยู่ที่ท่าทีของเจ้ากระทรวงทั้ง
2 ว่าจะออกมาในรูปใด!
ถ้าประนีประนอมกันได้ ก็หมายถึงสถานภาพอันอิสระในการดำเนินงานของแบงก์ชาติต้องถูกแทรกแซง
ปัญหาก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้น กำจรจะกล้าท้าทายการแทรกแซงนั้นหรือไม่? เพื่อรักษาเจตนารมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันอิสระอย่างแบงก์ชาติ
เพราะเรื่องการปรับระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตเป็นเพียงมาตรการทางการเงิน
ไม่ใช่นโยบายทางการเงินที่จำต้องได้รับการเห็นชอบจากระทรวงคลังก่อนดำเนินงาน
เรื่องนี้ก็เลยต้องลงเอยกันที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าฤทธิ์เดชของพ่อค้า
(พืชผล) ส่งออกที่เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับเจ้ากระทรวงพาณิชย์จะทำลายประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ในอิสรภาพดำเนินงานของแบงก์ชาติได้หรือไม่?