สภาพัฒน์ คือทบวงการเมืองของนักวางแผนระดับชาติ ที่มีบทบาทสำคัญต่อชะตากรรมของประเทศโดยเฉพาะในยุครัฐบาลเปรมตั้งแต่แผน
5 เป็นต้นมา เมื่องานเร่งรัดพัฒนาตึงมือ สภาพัฒน์ฯ ก็ต้องการอำนาจในการผลักดันมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันก็สร้างทีดีอาร์ไอให้เป็นพลังความคิดของตน จนทีดีอาร์ไอถูกแซวว่าเป็นสภาพัฒน์ฯ
สาขาซอยอโศก การประสานอำนาจกับพลังความคิดเพื่อการใหญ่ยังไม่ลงตัวดีพอ ขณะที่ปัญหาข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองก็ปะทุขึ้นในยุครัฐบาลชาติชาย
สภาพัฒน์ฯ และทีดีอาร์ไอกับงานสร้างนโยบายจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่เรียกสั้นๆ
อย่างคุ้นเคยว่า "สภาพัฒน์" มีรากฐานกำเนิดจากอิทธิพลของระบบราชการที่เข้ามาแทรกแซงกำกับทิศทางและนโยบายการพัฒนาระดับชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ
สภาพเช่นนี้ไปกันได้กับกระแสการปรับเปลี่ยนบทบาทของรัฐต่อสังคมเศรษฐกิจในอเมริกา
ยุโรป และญี่ปุ่นช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากที่เคยอยู่นอกวงการกำกับทางเศรษฐกิจ
ปล่อยให้เป็นเรื่องของ "กลไกตลาด" ได้กลายมาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดผลทางปฏิบัติอย่างมากมายต่อธุรกิจเอกชนและผู้คนในสังคมทั้งประเทศ
เช่น นโยบายราคา การวางแผนเศรษฐกิจ การสร้างรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
สำหรับในประเทศกำลังพัฒนา การแทรกแซงของรัฐเข้มข้นกว่าหลายเท่านัก ส่วนหนึ่งเป็นผลสะเทือนจากสงครามเย็นที่ทำให้การสบายปีกของ
"ค่ายเสรีนิยม" ครอบคลุมองค์กรรัฐและสถาบันแห่งรัฐของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเปิดกลยุทธ์รุกเอากับ
"ค่ายสังคมนิยม"
สภาพัฒน์เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะเหตุนี้ภายใต้ความช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกันช่วงหลังจากการปฏิวัติ 2475 การเข้ายึดกุมอำนาจรัฐของกลุ่มข้าราชการและทหารได้กลายเป็นแท่นฐานสำหรับบทบาทของรัฐต่อการแทรกแซงวางแผนระดับชาติในช่วงต่อมา
อำนาจรัฐยุคสฤษดิ์เป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด
อันที่จริงสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ในสภาพที่ระบบทุนนิยมไทยยังเป็นเพียงหน่ออ่อน
กลุ่มผู้นำธุรกิจชั้นแนวหน้าในขณะนั้นยังอยู่ในฐานะ "ทุนพาณิชย์"
เช่น อิมปอร์ตเตอร์ และนายธนาคารเท่านั้น ซึ่งอาจประเมินได้ว่า เป็นข่ายธุรกิจที่ไม่สร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจขึ้นมา
(UNPRODUCTIVE) เป็นแต่เพียงการสะสมทุนแบบโบราณเท่านั้น
ส่วนในข่ายการผลิตที่มีผลิตภาพ ซึ่งก็คือ อุตสาหกรรมการผลิตนั้นจะขยายตัวเติบใหญ่ได้ก็ต้องรอการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
และการเปิดประเทศให้กลุ่มทุนจากต่างชาติเข้ามา สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดบทบาทของอำนาจรัฐในเวลานั้น
สภาพัฒน์ถือเป็นกลไกอันหนึ่งที่มีฐานะทบวงการเมือง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
จัดตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2493 ใช้ชื่อ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
มีการปรับปรุงหน่วยงานครั้งสำคัญในสมัยสฤษดิ์ที่เริ่มวางแผนเศรษฐกิจระยะ
5 ปี
บทบาทที่ได้รับตลอดมาก็คือ การประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในด้านโครงการพัฒนา
รวบรวมจัดหมวดหมู่ประกอบการวางแผน
แต่ภายหลังม่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและอำนาจหน้าที่รวม 9 ครั้ง จนกระทั่งปัจจุบัน
สภาพัฒน์มีอำนาจตามเนื้อความของพระราบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พ.ศ. 2521 (ดูแผนผังองค์กรสภาพัฒน์)
หน้าที่หลักคือการวางแผนระยะปานกลาง และระยะยาวโดยประสานงานกับกำลังทรัพยากร
และงบประมาณ (ดูแผนภาพงานวางแผน) นอกจากนี้ยังต้องทำเฉพาะเรื่อง (AD HOC)
ที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเสนอความเห็นผ่านคณะรัฐมนตรีหรือนายกฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาโครงการแผนงานของหน่วยราชการต่างๆ
ภารกิจที่ตราไว้เป็นกฎหมายได้กลายมาเป็นปฏิบัติการที่มีชีวิตชีวาในยุคสมัยของรัฐบาลเปรม
ทั้งนี้ก็เพราะลักษณะพิเศษของการเมืองระบอบเปรมคือ การปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า
ดุลงบประมาณ ความยากจนของเกษตรกรที่ตกทอดมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ
1960 และการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานไปด้วย สิ่งเหล่านี้ต้องดำเนินไปในช่วงที่ระบอบรัฐสภากำลังเติบโตเป็นลำดับ
อย่างน้อยกลไกพรรคการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจได้เข้ามาเป็นปากเสียงที่แข็งขันในการผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ
ตามแนวนโยบายของพรรคตน
ปัญหาก็คือว่า ผลประโยชน์ของชาติกับผลประโยชน์ของพรรคการเมืองมักมีจุดกระทรวง
ทบวงกรม และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ แนวทางขัดแย้งกันเสมอมา
กลไกรัฐอาจมองตนเองในฐานะผู้ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและสามารถเข้าถึงข้อมูลและความเป็นจริงของปัญหาของประเทศได้ดีกว่า
ในขณะที่นักการเมืองก็เห็นไปว่า ตนเป็นปากเสียงของกลุ่มชนนอกวงราชการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชน
หรือกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ จึงควรมีบทบาทเป็นผู้กำหนดนโยบายของชาติ
รัฐบาลเปรม คือ ภาพสะท้อนความขัดแย้งและการประนีประนอมอำนาจระหว่างกลไกรัฐกับภาคเอกชน
บทบาทของสภาพัฒน์เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ชัดถึงสิ่งนี้
สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่พลเอกเปรมเรียกใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาจัดทำโครงการพิเศษ
และผลักดันให้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็ตั้งตนเป็นด่านเหล็กคอยพิจารณาโครงการต่างๆ
ที่พรรคการเมือง หรือหน่วยงานอื่นเสนอผ่านกระทรวง ทบวงกรม เข้ามาเพื่อเสนอต่อไปยังนายกฯ
หรือ ครม.
รูปแบบองค์กรที่ออกมาจึงมีคนของสภาพัฒน์เข้าไปทำหน้าที่เลขานุการในหน่วยงานต่างๆ
เช่นคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ คณะกรรมการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นต้น
"คุณเปรมอยากดึงอำนาจออกจากภาคธุรกิจจำนวนหนึ่ง แล้วให้กลไกราชการอย่างสภาพัฒน์ยันกันไว้
คุณเปรมก็เล่นเกมตามในครม. เศรษบกิจก็มีสภาพเป็นคนเตรียมเสนอเรื่องบทบาทนี้สำคัญมาก
เพราะรัฐมนตรีไม่มีเวลาทำการบ้าน" แหล่งข่าวกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสที่ครม. พิจารณาโครงการพัฒนาเป็นรายๆ ไปนั้นมีน้อยมาก
ส่วนใหญ่จะพิจารณาร่วมๆ ไป 2 ช่วง คือ ช่วงที่สภาพัฒน์เสอนผ่านเข้ามาขออนุมัติเป็นแผนพัฒนา
กับ ช่วงที่พิจารณาในแง่งบประมาณประจำปีก่อนนำเสนอต่อรัฐสภา
นอกจากนี้บทบาทของสภาพัฒน์ ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานงบประมาณและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทำหน้าที่เป็นด่านตรวจสอบโครงการพัฒนาทุกโครงการ
โดยสภาพัฒน์จะกลั่นกรองเสนอความเห็นต่อครม. เมื่อครม. อนุมัติแล้วถ้าเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดินก็จะส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณ
(สงป.) แต่ถ้าเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศก็ส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(สศค.) (ดูแผนภาพสามด่านเหล็ก)
การทำงานของกลไกรัฐเหล่านี้โดยเฉพาะสภาพัฒน์มีประสิทธิผลอย่างยิ่ง สร้างความปวดหัวให้กับนักการเมืองที่พยายามผลักดันโครงการของตนเป็นอย่างยิ่ง
และกลายเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
สมัคร สุนทรเวช ผู้เคยเจ็บปวดกับการทำงานของหน่วยงานนี้สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม
กล่าววิจารณ์อย่างตรงไปตรงมากับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า
"นักการเมืองที่เข้ามาทำงานในคณะรัฐมนตรี ถ้าไม่โง่จริงๆ ก็ต้องทำเป็นโง่ไม่เช่นนั้นอยู่ไม่ได้
เพราะข้าราชการได้สร้างระบบไว้ เนื่องจากเกรงว่า จะถูกหาว่าคดโกงหรือหาว่าไม่มีระเบียบการสร้างระบบดังกล่าวทำให้ข้าราชการแตะต้องไม่ได้
ยกตัวอย่างในการประชุมครม. เมื่อมีการเสนอโครงการอะไรขึ้นมาก็พิจารณากันในคณะรัฐมนตรี
แต่เมื่อหาทางออกไม่ได้ก็โยนเรื่องไปให้สภาพัฒน์ ซึ่งหน่วยงานนี้เปรียบเหมือนเงาใหญ่ของรัฐบาล
โครงการต่างๆ ที่นักการเมืองเสนอไปมักจะถูกยับยั้งจากพวกนี้เสมอ ยิ่งถ้าผ่านเข้าไปสำนักงบประมาณ
หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ผมเรียกพวกนี้ว่า สามก๊ก
เพราะพวกนี้คือปัญหาของระบบข้าราชการประจำอย่างชัดเจน"
แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยผ่านงานนโยบายและงานวิชาการอย่าง ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุล
ก็สะท้อนความเห็นอีกด้านหนึ่งซึ่งสะท้อนธาตุแท้จองนักการเมืองว่า
"นักการเมืองชอบโครงการใหญ่ๆ ถ้าทำโดยสุจริตเขาก็ยังชอบ มันมีผลงานมองเห็น…"
(หน้า 91-94 หายไป)
(เริ่มที่หน้า 95) พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (กพอ.)-กลไกรัฐของการเมืองยุคเปรมออกทำงานชิ้นสำคัญอีกครั้งหนึ่งด้วยความเชื่อมั่นของ
ดร. เสนาะที่ว่า "ถ้ายุทธศาสตร์นี้ถูกต้อง การดำเนินงานนี้ก็ถูกต้อง
ซึ่งผมเชื่อว่าถูกต้อง"
หากพิจารณาอย่างสมเหตุสมผล ยุทธศาสตร์นี้นับว่าเป็นการพัฒนาบนแนวทางที่ถูกต้อง
สามารถแก้ไขจุดอ่อนที่เกิดจากการพัฒนา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ทว่าในขั้นตอนการดำเนินการมีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่านั้นอีก
ความเชื่อมั่นของดร. เสนาะที่จะทำให้ยุทธศาสตร์นี้ปรากฏเป็นจริง ทำให้มีการปรับระบบกลไกการปฏิบัติให้คล่องตัวและอยู่ในความควบคุม
โดยให้ "กพอ." สามารถตัดสินใจก่อหนี้ได้อย่างอิสระ
โดยปกติ โครงการที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศ ต้องดำเนินการโดยสภาพัฒน์จะจัดทำบัญชีโครงการเงินกู้ต่างประเทศ
เพื่อควบคุมการก่อหนี้ แล้วส่งเรื่องให้ "คณะกรรมการนโยบายหนี้ของประเทศ"
ที่นายกฯ แต่งตั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวงเงินกู้ประจำปี เมื่ออนุมัติแผนเงินกู้ประจำปีแล้วก็เสนอให้ครม.
อนุมัติ แล้วกระทรวงการคลังจึงนำไปดำเนินการเจรจาขอกู้เงิน
ขั้นตอนเช่นนี้ถึงกับไม่ได้ใช้กับโครงการพิเศษอย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะได้ให้อำนาจเต็มในการตัดสินการก่อหนี้กับ
กพอ. โดยเมื่อโครงการได้รับการอนุมัติจาก กพอ. ก็สามารถผูกพันเงินกู้และจัดสรรงบประมาณได้ทันที
คณะกรรมการนโยบายหนี้ หรือสำนักงบประมาณเพียงแต่ได้รับแจ้งให้ทราบเท่านั้น
ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะหลักการที่ว่า "คณะกรรมการพิเศษเช่นนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อเร่งกระบวนการตัดสินใจสำหรับโครงการหรือแผนงานต่างๆ
ที่ถือว่ามีลำดับความสำคัญที่สุด"
"อาจารย์เสนาะแกขออำนาจในที่ประชุมครม. เศรษฐกิจว่าการตัดสินใจสิ้นสุดที่คณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด
โดยอ้างว่าประธานคณะกรรมการคือนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น มันก็ไม่น่าผ่านกระบวนการตามปกติ
แกต้องการคอมมานด์" แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เรื่องทำนองนี้ กลายเป็นปัญหาที่มองได้หลายมุม คนที่วิจารณ์การทำงานอันนี้
ก็ด้วยเหตุผลที่ว่ามันไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ กลายเป็นว่า โครงการยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวพันกับชะตากรรมของประเทศ
ต้องแขวนไว้ในมือของคนกลุ่มหนึ่งโดยปราศจากการตรวจสอบที่ดีพอ
ในบันทึกภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยของเวิลด์แบงก์ ได้ลงข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานอันนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
"การปฏิบัติการเช่นนี้ ช่วยเร่งกระบวนการตัดสินใจให้เร็วขึ้น และเป็นการติดต่อโดยตรงกับผู้มีอำนาจทางการเมือง
แต่วิธีการนี้อาจเป็นการทำลายอำนาจและความน่าเชื่อถือของหน่วยงานวางแผนส่วนกลาง
อันนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างสถาบัน ปัญหาในการจัดสรรทรัพยากร ตลอดจนความขัดแย้งในการให้ลำดับความสำคัญของการลงทุนนั้นได้"
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการปรับระบบราชการให้คล่องตัว สามารถรับมือกับโครงการสำคัญเช่นนี้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมองกันอย่างไร สิ่งที่ตามมาก็คือความขัดแย้งในทางความคิดและการผลักดันโครงการนี้
รวมทั้งบทบาทของสภาพัฒน์
กลุ่มที่ขัดแย้งทางความคิดกับโครงการนี้ในสภาพัฒน์ ก็คือ กลุ่มแนวคิดพัฒนาชนบทยากจนที่มีโฆษิต
ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นหัวหอก กลุ่มนี้มีแนวคิดพื้นฐานที่มุ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท
ผ่านการทำงานวิจัยภาคสนามมามาก จนสามารถสรุปเป็นนโยบายพัฒนาชนบทยากจนบรรจุไว้ในแผน
5 กลุ่มเหล่านี้จึงเน้นอยู่ที่แนวคิด "จิ๋วแต่แจ๋ว" (SMALL IS
BEAUTIFUL) ดังนั้นจึงรู้สึกได้ไวเมื่อปีก ดร. เสนาะ ผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมา
เพราะเห็นว่าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ เน้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งย่อมทำให้ไปดึงเอาทรัพยากรจากภาคเกษตร
หรือกระทั่งละเลยการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง
"แต่ระหว่างที่ทำไปก็มีข้อขัดแย้งทางความคิดดำรงอยู่ ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไม่ใช่ที่อื่นเท่านั้น
ในสภาพัฒน์เองก็มีหลายแนวความคิด ซึ่งก็ดีที่แสดงว่าที่นี่ไม่ใช่เผด็จการเลย
ความคิดนี่เขาจำเป็นต้องมีและผมก็ให้อิสระเขาทีจะแสดงความคิดเห็นได้พอสมควร
คือ เขาจะไม่เห็นด้วยกับผมเลย ผมก็ต้องฟังเขา แต่ผมอาจไม่เห็นด้วยกับเขาก็ได้
แต่ว่าในที่สุดแล้ว เราต้องพยายามรักษาแนวอันนั้นไว้" ดร. เสนาะ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
แนวทางอันนั้นมีปรัชญาเบื้องหลังความคิดของ ดร. เสนาะที่แตกต่างจากกลุ่มพัฒนาชนบทตรงที่ว่า
"ในช่วงระยะหนึ่งต้องให้ความสำคัญกับบางอย่างก่อน เพื่อจะได้มีฐาน มีกำลังไปช่วยอีกทางหนึ่งได้
เพราะฉะนั้นในขณะที่ทุ่มเทให้อีกด้านหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าเอียงไป ไปช่วยเศรษฐกิจให้มันแข่งแกร่งขึ้นมา
ทางด้านอื่นจะขึ้นมาได้ยาก"
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดกันอย่างไร ที่สุดความคิดของปี
ดร. เสนาะ ก็ยังได้รับการผลักดันต่อไป แล้วก็ต้องไปเผชิญหน้ากับความขัดแย้งกับกลุ่มที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอในขณะนั้น ซึ่งก็มี ดร. วีรพงษ์ รามากูร ดร. อาณัติ
อาภาภิรม ดร. อัมมาร สยามวาลา เป็นต้น ทั้งนี้โครงการนี้กำลังถูกผลักไปในขณะที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและทางการเงินช่วงปี
2527-2528 ทำให้เกิดวิวาทะอันเผ็ดร้อนในปัญหาการผลักดันโครงการ "ในช่วงระยะหนึ่งต้องให้ความสำคัญกับบางอย่างก่อน
เพื่อจะได้มีฐาน มีกำลังไปช่วยอีกทางหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่ทุ่มเทให้อีกด้านหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าเอียงไป
ไปช่วยเศรษฐกิจมากจนเกินไป ผมคิดว่าถ้าไม่มีฐานเศรษฐกิจให้มันแข็งแกร่งขึ้นมา
ทางด้านอื่นจะขึ้นมาได้ยาก"
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีความขัดแย้งทางความคิดกันอย่างไร ที่สุดความคิดของปี
ดร. เสนาะ ก็ยังได้รับการผลักดันต่อไป แล้วก็ต้องไปเผชิญหน้ากับความขัดแย้งกับกลุ่มที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และนักวิชาการจากทีดีอาร์ไอในขณะนั้น ซึ่งก็มี ดร. วีรพงษ์ รามางกูร ดร.
อาณัติ อาภาภิรม ดร. อัมมาร สยามวาลา เป็นต้น ทั้งนี้โครงการนี้กำลังถูกผลักไปในขณะที่เกิดวิกฤษทางเศรษฐกิจและทางการเงินช่วงปี
2527-2528 ทำให้เกิดวิวาทะอันเผ็ดร้อนในปัญหาการผลักดันโครงการ "ปุ๋ยแห่งชาติ"
ซึ่งจะได้กล่าวถึงข้างหน้า
แต่สำหรับข้อวิจารณ์ที่มีต่อบทบาทของสภาพัฒน์ กลายเป็น HOT ISSUE เมื่อ
ดร. อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ รัฐมนตรีสำนักนายกฯ ที่ดูแลงานของสภาพัฒน์ลงมาเล่นงาน
ดร. เสนาะถึงที่ทำงาน เบื้องหลังก็คือ ข้อครหาที่ว่า สภาพัฒน์เล่นบทที่ออฟไซด์
"สภาพัฒน์พลาดไปทำเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นคนวางแผนเอง ทำเอง แล้วก็มีคนของสภาพัฒน์ลงทุนด้วย
ก็เลยถูกด่าถูกครหามากขึ้น พอเปลี่ยนกลุ่มรัฐบาลจากภาคราชการมาเป็นภาคธุรกิจ
เขาก็จวกเอาก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาก็ต้องการริดรอนอำนาจพวกราชการ"
แหล่งข่าวระบุเรื่องราวให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
อันที่จริงเรื่องแบบนี้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปเสียแล้ว ยากจะพูดถึงในรายละเอียด
แต่ที่ควรกล่าวถึงก็คือ ข้อวิจารณ์ที่เรียกร้องให้สภาพัฒน์ลดงานเฉพาะหน้าลงแล้วมาทำงานวางแผนให้มากขึ้น
"สภาพัฒน์ไม่ใส่ใจกับงานหลัก แต่ไปทำงานแบบนี้ ซึ่งมันก็เข้ากับการเมืองยุคเปรมที่เป็นการแย่งอำนาจ
ประสานอำนาจของสองฝ่าย ดังนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็วางไว้แค่นั้นไม่มีใครเอาไปใช้
ราชการเวลาเขาจะเอาตามแผน เขาต้องการงบประมาณ เขาก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นไปตามแผน
แผนมันเป็นเพียงแหล่งอ้างอิง ไม่ได้จริงจังอะไร คุณเห็นเขาเม็คดีซิชั่นกันตูมๆ
ใครเขากางแผนกัน ถ้ามองในแง่นี้สภาพัฒน์เป็นเสือกระดาษทำอะไรไม่ได้"
แหล่งข่าวให้ข้อวิจารณ์กับ "ผู้จัดการ"
นอกเหนือจากนี้ ยังมีข้อวิจารณ์ที่เป็นทางการผ่านการวิจัยโดย ดร. ทินพันธุ์
นาคะตะ ที่ชื่อ "การบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ"
เสนอต่อทีดีอาร์ไอเมื่อปีที่แล้ว โดยเนื้อความมุ่งที่เรียกร้องให้สภาพัฒน์กลับมาทำงานวางแผน
และประสานหน่วยงานเพื่อวางแผนการพัฒนาให้รัดกุม
กับข้อวิจารณ์เช่นนี้ มองจากจุดยืนของนักวางแผนกลับเห็นว่า นับตั้งแต่แผน
5 สิ่งที่วางไว้ในกระดาษ ได้กลายมาเป็นโครงการปฏิบัติที่ให้เห็นเป็นจริงเป็นจังได้มากทีเดียว
การผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดโดยนายกฯ สภาพัฒน์ และ "กพอ."
คือการปรับกลไกรัฐเพื่อผลักดันให้ยุทธศาสตร์นี้ เป็นจริง ส่วนการวางแผนหลักนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าสภาพัฒน์ละเลย
แต่เป็นเพราะยังขาดหน่วยงานที่จะทำงาน "วิจัยด้านนโยบาย" ซึ่งมุ่งเก็บข้อมูลพื้นฐานและมองภาพเศรษฐกิจสังคมไทยโดยรวมในระยะยาวเพื่อป้อนให้สภาพัฒน์นำไปวางแผนและประสานงานต่อไป
งานวิจัยนโยบายที่สภาพัฒน์เรียกร้องต้องการเป็นอย่างยิ่งเพราะ "สภาพัฒน์ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการทำแผนระยะ
5 ปี มีปัญหาความยุ่งยากในการพยายามหาการศึกษา หรืองานวิจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมาสนับสนุนกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศ
แต่ทว่า สภาพัฒน์มีปัญหาภายในหน่วยงานตรงที่ ข้าราชการส่วนใหญ่ต้องผูกพันตนเองกับงานในหน้าที่ประจำ
อันได้แก่ การวิเคราะห์นโยบายและวางแผน การจัดทำและวิเคราะห์โครงการ ร่วมประชุมอื่นๆ
จนไม่มีเวลาจะให้กับงานศึกษาวิจัยเฉพาะเรื่องได้อย่างจริงจัง" วิญญู
วิจิตรวาทการกล่าวไว้ในเค้าโครงการจัดตั้งทีดีอาร์ไอ
แต่บางทัศนะกลับมองการสร้างทีดีอาร์ไอจากปัญหา CALIBER ของสภาพัฒน์ในแง่ที่ว่า
ไปทำงานเฉพาะหน้ามากเกินไป จนไม่สามารถสร้างบุคลากรที่จะมาทำให้สภาพัฒน์กลายเป็น
THINK TANK ขึ้นมาได้อย่างเพียงพอ
"จุดนี้ทำให้สร้างทีดีอาร์ไอขึ้นมาเป็นติ่งอิสระ ไม่อยู่ในระบบราชการ
สามารถทำวิจัยได้เสรี หวังให้ทำวิจัยนโยบายให้สภาพัฒน์ก็จะอุดช่องว่าง ให้ทีดีอาร์ไอทำให้สภาพัฒน์ผลักไปถึงรัฐบาล"
แหล่งข่าววิเคราะห์ไปอีกทาง
อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอกำเนิดขึ้นจากความริเริ่มของ ดร. เสนาะ อูนากูล
และคนสภาพัฒน์ ซึ่งได้ไปดูงานสถาบันวิจัยนโยบายหลายประเทศโดยเฉพาะของเกาหลีใต้ที่ชื่อ
KOREA DEVELOPMENT INSTITUTE หรือเรียกย่อๆ ว่า เคดีไอ (KDI)
เคดีไอ ก่อตั้งเมื่อปี 2514 โดยการริเริ่มของประธานาธิบดีปักจุงฮี ทำการรวบรวมนักวิชาการด้านเศรษฐกิจสังคมชั้นแนวหน้าของประเทศมาปฏิบัติงานด้านวิจัยนโยบาย
เพื่อสนับสนุนงานวางแผนของคณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศในสังกัดของกระทรวงวางแผนแห่งชาติ
มีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อการจัดตั้งเป็นการเฉพาะ ให้เงินงบประมาณแผ่นดินอุดหนุน
และตั้งเงินเดือนบุคลากรไว้สูงกว่าข้าราชการถึง 4 เท่า
โมเดลอันนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจ ดร. เสนาะเป็นอย่างยิ่ง อยากจะสร้างให้เป็นจริงอย่างนั้นบ้าง!
ขณะเดียวกันแรงผลักดันอีกทางจากเวิลด์แบงก์ที่ตั้งเงื่อนไขมาพร้อมกับการให้กู้เงินว่า
ประเทศไทยจะต้องจัดตั้งสถาบันวิจัยนโยบายขึ้น
"ก็มีเงื่อนไขอันหนึ่งกำหนดไว้ในการกู้เงินของประเทศไทยกับเวิลด์แบงก์ว่า
เราสมควรมีสถาบันอย่างนี้ในประเทศไทย เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดไว้ในการกู้เงินเลย
เขาจัดวงเงินกู้สำหรับการนี้ไว้แล้วประมาณสองล้านเหรียญในระยะเริ่มต้น ทีนี้ก็พิจารณาถึงความเป็นจริงในประเทศไทยมีแล้ว
แต่ถ้าใช้เงินกู้นั้นเข้ามาตั้งเป็นสถาบันขึ้นมา ก็คงต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ
หรือหน่วยงานที่มีระเบียบทางราชการค่อนข้างมากทีเดียว แต่เนื่องจากเราหาทางออกไม่ได้
และก็ยังไม่เห็นคุณค่าการวิจัยนโยบายกันมากนัก วิธีการของเราจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป"
ดร. เสนาะเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ความพยายามที่ ดร. เสนาะจะให้ทีดีอาร์ไอเป็นแบบเคดีไอในทันทีจึงเป็นไปไม่ได้
ในระยะแรกจึงต้องออกมาในรูปของสถาบันอิสระที่อยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ
"พอดีตอนนั้นนายกฯ แคนาดาเดินทางมาไทยแล้วก็มาประกาศว่า ประเทศไทยนี้จะเป็น
CORE COUNTRY ต่อไปนี้แคนาดาถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศหลักที่ต้องให้ความช่วยเหลือ
เขาจึงให้ความสนับสนุนเป็นเงินให้เปล่า เมื่อก่อนเขาก็ไม่เคยให้เท่าไหร่จึงคิดจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิ
ทางรัฐบาลตอนนั้นไม่ได้สนับสนุนด้านการเงิน แต่ก็ช่วยโดยผ่านกรอ. สนับสนุนให้ตั้งสถาบันอันนี้ขึ้นเป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์และการกุศลจากนั้นนำเรื่องเข้าครม.
ก็อนุมัติ" ดร. เสนาะชี้แจง
ความที่มันต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สภาพัฒน์ก็ไม่มีกำลังคนเพียงพอที่จะเข้าไปกำกับทิศทางทีดีอาร์ไออย่างจริงจัง
ทำให้การดึงบุคลากรที่เข้ามาจับงานที่นี่ กลายเป็น "นักวิชาการอิสระ"
ไม่ใช่ "คนของสภาพัฒน์"
ท่าทีของนักวางแผนที่มุ่งมั่นผลักดันให้ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องบรรลุ จึงเผชิญหน้ากับการตรวจสอบของนักวิชาการอิสระวิวาทะเรื่องโครงการปุ๋ยแห่งชาติ
ช่วยปี 2528-2529 เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ถึงจุดนี้
กลุ่มที่สนับสนุนโครงการนี้ ได้แก่ ดร. เสนาะแห่งสภาพัฒน์ ดร. สาวิตต์แห่งสำนักงานคณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด
เกษม จาติกวณิชแห่งบริษัทปุ๋ยแห่งชาติญี่ปุ่นที่ให้กู้เงิน ผู้รับเหมา ผู้จำหน่ายเครื่องจักรเครื่องมือจากต่างประเทศ
และนักเก็งกำไรที่ดิน
กลุ่มนี้ให้ความเห็นว่า โครงการนี้มีข้อดีหลายประการคือ ผลตอบแทนสูงเพียงพอที่จะลงทุนเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศในระยะยาวสามารถพึ่งตนเองเรื่องปุ๋ยได้
มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีปุ๋ยราคาถูกจำหน่ายแก่เกษตรกร นอกจากนี้โครงการนี้ลงทุนไปแล้ว
223 ล้านบาท มีหนี้สิน 111 ล้านบาท ถ้ายกเลิกต้องเสียค่าปรับ 83 ล้านบาท
เท่ากับเสียเปล่าไปทั้งสิ้น 417 ล้านบาท
แต่กลุ่มไม่เห็นด้วยอันได้แก่ ดร. อาณัติ อาภาภิรมและ ดร. วีรพงษ์ รามางกูรที่ปรึกษานายกฯ
และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทีดีอาร์ไอ ดร. อัมมาร สยามวาลาแห่งทีดีอาร์ไอ
ก็เสนอความเห็นขัดแย้งออกมาในกระแสเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัย สมหมาย ฮุนตระกูลแห่งกระทรวงการคลัง
และธนาคารกรุงเทพ
กลุ่มเหล่านี้เห็นว่า ราคาปุ๋ยในตลาดโลกกำลังตกลงเนื่องจากอุปทานมากเกินไปค่าเงินเยนสูงขึ้นทำให้โครงการนี้ไม่อยู่ในฐานะชำระหนี้ได้
อัตราผลตอบแทนมีเพียง 8.18% ในช่วงที่ดีที่สุด ซึ่งต่ำเกินไปต่อความผันผวนของราคาปุ๋ย
อัตราที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับ 16-18%
ยิ่งไปกว่านั้นกรณีที่ราคาปุ๋ยไม่ดีขึ้นและค่าเงินเยนไม่อาจถูกกำหนดให้อยู่ในระดับ
160 เยนต่อดอลลาร์ ผลตอบแทนของโครงการจะเท่ากับ -5.91% ทำให้เกิดปัญหาการขาดเงินหมุนเวียน
12,550 ล้านบาท และขาดทุนสะสม 11,492 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินการ
ส่งผลให้รัฐบาลต้องให้เงินอุดหนุน 1,000 ล้านบาทในขณะที่กำลังมีปัญหาการขาดดุลงบประมาณและมีหนี้สินต่างประเทศเรื้อรัง
นอกจากนี้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า ชาวนาจะได้รับประโยชน์จากโครงการในรูปของปุ๋ยราคาถูก!
วิวาทะที่สะท้อนการเผชิญหน้าระหว่างอำนาจกับพลังความคิดอิสระเป็นไปอย่างคึกคักและก่อนผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อการตัดสินใจของพลเอกเปรม
นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องตัดงบประมาณการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานถึง 30%
และในวันที่ 27 ตุลาคม 2529 รัฐบาลก็มีมติให้ระงับโครงการปุ๋ยแห่งชาติ และคณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ดก็ตัดสินใจให้โครงการนี้เป็นการดำเนินงานของเอกชนแทนที่จะเป็นของรัฐ
ผลของการตัดสินใจเช่นนี้ ทำให้โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมบริเวณมาบตาพุดต้องชะลอตัวลง
และน้ำหนักการดำเนินงานไปตกอยู่ที่การพัฒนาแหลมฉบังมากขึ้น
"เราพยายามรักษาแนวอันนั้นไว้ แต่ว่าเมื่อถึงจุดที่มันไปไม่ไหวจริงๆ
เราก็ต้องยอมช้าลงไปบางส่วน การที่เรายอมช้าไปตอนนั้น เรากำลัง PAY ในขณะนี้
เพราะถ้าเราเสร็จแล้วตอนนี้ ปัญหาท่าเรือคลองเตยอะไรต่างๆ เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น
เราก็รู้ว่านี่เป็น COST ที่เราต้องจ่าย แต่ขณะนั้นเนื่องจากความจำเป็นในเรื่องฐานะของประเทศไทยขณะนั้น
และเราเองก็ไม่มีทางจะไปรู้ล่วงหน้าได้ว่าความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมันจะมาถึงเร็วขนาดนี้"
ดร. เสนาะสรุปบทเรียนต่อไปว่า
"ผมจึงใช้คำว่า "STRATEGICLY FIRM" กับ "TACTICLY
FLEXIBLE" คือหมายความว่า ด้านยุทธศาสตร์ต้องยืนยันต้องเอาให้ได้ แต่ว่าในการพิจารณาปัญหาเฉพาะหน้า
ในบางครั้งทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่น่าชลอหรืออะไรเลย แต่ว่าฝ่ายการเงินเขาแบให้เห็นอย่างนี้
เราก็ต้องคิดว่า เอาอะไรก่อนเพื่อรักษาฐานะของประเทศไว้ก่อนไม่ให้ล้มละลายของแบบนี้มันไม่มีอะไรสมบูรณ์หรอก
PRIORITY ในแต่ละระยะมันเปลี่ยนแปลงได้"
นอกจากการต่อสู้ทางความคิดครั้งนั้นจะมีผลตัดสินต่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว
ยังเป็นตัวบ่งบอกถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสภาพัฒน์กับทีดีอาร์ไอด้วยว่า
ทีดีอาร์ไอแม้ว่าจะถือกำเนิดจากการผลักดันของสภาพัฒน์ แต่ก็ใช่ว่าจะถูกครอบงำความคิดได้ง่ายๆ
จุดยืนที่เป็นอิสระเป็นสิ่งที่มีคุณูปการทั้งกับความเป็นความตายของประเทศชาติและให้บทเรียนกับนักวางแผนเป็นอย่างดี
ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุลให้หลักการเกี่ยวกับความเป็นอิสระจากประสบการณ์ของท่านว่า
"การที่เราจะทำงานด้านนโยบายเราน่าจะมีหน่วยงานที่เป็นเอกเทศ คือ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลโดยตรง
อย่างเราไปศึกษาดูเคดีไอ เขาก็ทำงานได้ดีทุกอย่าง แต่มีปัญหาที่ว่าต้องขึ้นกับรัฐบาล
คือไม่มีใครจะให้ความเห็นที่เป็นอิสระแตกต่างไปจากรัฐบาล มันก็ดีคืองานมันเร็ว…แต่ก็อาจผิดพลาดได้ง่าย
แต่ถ้ามีหน่วยงานที่เป็นอิสระ ไม่ต้องรอฟังว่ารัฐบาลจะว่าอย่างไร มันก็น่าจะรอบคอบอยู่บ้าง"
เมื่อพิจารณาถึงจุดนี้ การทำงานของสภาพัฒน์ก็ยังคงมีจุดอ่อนโดยธรรมชาติขององค์กร
คือ เป็นระบบราชการที่ทำงานให้กับรัฐบาล ยิ่งในยุคที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งรัด
รัฐบาลจะมีงานเฉพาะหน้าให้ผลักดันมากมาย และเท่ากับกระตุ้นให้เกิดสไตล์การทำงานของนักวางแผนที่เชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ของคน
รีบเร่งผลักดันอย่างหวังผลในทางปฏิบัติมากที่สุด และต้องใช้อำนาจมากที่สุด
แต่กับทีดีอาร์ไอ เป็นหน่วยงานที่อิสระทั้งสายงานบังคับบัญชา และการแสดงความเห็น
จึงสามารถทำงานนโยบายได้อย่างสุขุมหนักแน่น และมีพลังงานตรวจสอบโดยธรรมชาติ
"ปัญหามันอยู่ที่สภาพัฒน์อยู่ในระบบราชการ คือ อย่างของเรานี่ถ้าท่านบอกว่า
3 วัน เราก็บอกท่านว่าไปทำเอง แต่ของเขาพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นระบบราชการในแต่ละวันมันก็มีปัญหาก็ต้องวิ่งไปทำ
แต่ถ้าทำงานวางแผนมันต้องใช้เวลา ก็ไม่มีให้" ดร. ไพจิตรชี้จุดอ่อนของสภาพัฒน์ให้
"ผู้จัดการ" เห็น ขณะเดียวกันก็ให้เส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างสภาพัฒน์กับทีดีอาร์ไอได้ด้วยว่า
"กับสภาพัฒน์ เราพร้อมจะทำ BACKGROUND STUDY ให้ มันคงไม่ถูกต้องถ้าให้เรากำหนดนโยบายมันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น
คือ การที่เราไปศึกษาวิจัยนี่มันชอบธรรมแต่ถ้าให้เราบอกว่าเพราะฉะนั้นนโยบายควรเป็นอย่างนี้ๆ
เราคงเสนอในแง่วิชาการส่วนว่าเขาจะไปผสมผสานอย่างไรกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเมือง
เป็นหน้าที่ที่เขาจะทำไม่ยังงั้นเราก็เป็นสภาพัฒน์แห่งที่สอง ยังงี้จะไม่มีประโยชน์อะไร
คือ มันจะต้องแบ่งงานกันให้ชัดเจน คือ อย่าลืมว่าหน่วยงานของเราจะเป็นประโยชน์
มันต้องรักษาความเป็นกลางเอาไว้ให้ได้ แต่เราจะหยิ่งยโสไม่คบใครไม่ได้ ทำเองอ่านเองก็ไม่ได้
แต่เราต้องยิ่งกว่าสภาพัฒน์ คือ เราจะยิ่งถอยห่างออกมาอีกกับฝ่ายการเมือง
เราให้ข้อมูลได้ แต่เราไม่เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจ"
การแสวงหาความสัมพันธ์ที่ลงตัวระหว่างสภาพัฒน์กับทีดีอาร์ไอขณะนี้ ยังไม่มีปัญหามากนักเนื่อง
เพราะผู้นำองค์กรทั้งสองฝ่ายต่างก็มีหลักการและเข้าใจในกันและกันช่วยให้เกิดการถ่วงดุลระหว่างอำนาจ
กับพลังความคิดได้ดี
แต่ทว่าการทำงานของสภาพัฒน์กับทีดีอาร์ไอในยุครัฐบาลชาติชาย ต้องเผชิญกับการปรับตัวครั้งสำคัญ!
สภาพัฒน์ถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงที่สุดจากรมต. สำนักนายกฯ ผู้รับผิดชอบหน่วยงานนี้
ขณะเดียวกันสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทีดีอาร์ไอที่เคยเป็นที่ปรึกษานายกก็ลดลงเหลือเพียงคนเดียว
คือ ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี รองประธานบริหารของทีดีอาร์ไอ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ยุคสมัยของการเร่งรัดพัฒนาโครงการพิเศษที่ชี้ขาดความเป็นตายของประเทศได้ผ่านพ้นไปขั้นหนึ่งแล้วในยุคนั้น
บทบาทของกลไกรัฐมีฐานะเป็นกองหน้ามุ่งผลักดันยุทธศาสตร์การปฏิรูปเศรษฐกิจสภาพัฒน์
และทีดีอาร์ไอจึงรับบทตัวเอกในด้านการใช้อำนาจและพลังความคิด
ในยุคสมัยรัฐบาลชาติชาย ดูจะเป็นยุคที่มุ่งผลักการปฏิรูปทางเศรษฐกิจไปสู่การกระจายความเจริญ
และเปิดโอกาสการลงทุนการค้าของเอกชนให้ก้าวไปสู่ขั้นตอนใหม่ของการแสวงหาตลาดและการต่อสู้กับการกีดกันการค้า
การใช้อำนาจจึงตกอยู่ในมือของส.ส. ที่มาจากฐานเศรษฐกิจภาคเอกชนต่างๆ ที่ดำรงตำแหน่งประจำกระทรวงและในรัฐสภามากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ใช้พลังความคิดจากกลุ่มที่ปรึกษาทั้งที่มาสายพรรคชาติไทยทางภาคเอกชนที่มีวรรณ
ชันซื่อเป็นแกนนำและที่มาจากเทคโนแครทอิสระที่มีพันศักดิ์ วิญญรัตน์เป็นแกนนำ
(โปรดอ่านเรื่อง 6 ที่ปรึกษานายกฯ ในฉบับ)
เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพัฒน์คงต้องปรับตัวไปสู่การทำงานวางแผนตามปกติ และขณะเดียวกันก็คงต้องประสานงานกับทีดีอาร์ไอสร้างงานวิจัยนโยบายในระยะยาวมากยิ่งขึ้น
"การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องธรรมดาก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่ต้องไปทำงานที่ปรึกษามากๆ
ก็จะได้ทำงานวิจัยมากๆ …ต่อไปทีดีอาร์ไอจะเน้นทำโครงการหลักซึ่งจะเป็นโครงการที่ดึงเอาทุกๆ
อย่างมากรวมกันเรียกว่า โครงการประเทศไทยในศตวรรษ 2010 เราต้องมองไกล ที่เลือกปี
2010 ก็เพราะเราใช้คนเป็นหลักคือ DEMOGRAPHIC MODEL ทำให้สามารถ PREDICT
ไปข้างหน้าได้ชัดเจนเป็นเวลา 15-20 ปีข้างหน้า มันจะออกมาเป็น REQUIREMENT
ชัดเจน แล้วทำให้งานวิจัยทั้งหลายมุ่งไปสู่จุดเดียวกันโดยใช้ โมเดลอันนี้"
ดร. เสนาะกล่าวถึงการปรับตัวในอนาคต
นับแต่นี้สภาพัฒน์กับทีดีอาร์ไอจะกลับมาเป็น THINK TANK มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพิสูจน์ผลงานให้รัฐบาลยุคนักการเมืองครองอำนาจเห็นด้วยว่า
หน่วยงานแบบนี้มีประโยชน์อย่างไร ข้อเตือนใจสำหรับอนาคตที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็คือ
คำกล่าวของดร. ไพจิตรที่ว่า
"การวิ่งเข้าไปรับใช้นักการเมืองมันก็ไม่ถูกต้อง แต่การจะไปอวดดีกับเขาแล้วเขาไม่ใช้เลยก็ไม่เป็นประโยชน์
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องรักษา BALANCE ให้ดี"
การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ อำนาจและพลังความคิดก็ไม่พ้นวิถีทางนี้ไปได้ตราบกาลนาน!