โธ่…ซีเกท


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

จากนี้ไปการดำเนินกิจการของกิจการของซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) คงจะไม่ราบรื่นเหมือนอย่างที่เป็นมาแล้ว

ห้าปีที่ผ่านมานั้นซีเกทปรับกลยุทธ์ใหม่เลียนแบบความสำเร็จของญี่ปุ่น ด้วยการโยกย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐอเมริกามายังเอเชียอาคเนย์ ด้วยหวังแรงงานกึ่งฝีมือราคาถูก (รายละเอียดใน "ผู้จัดการ" ตุลาคม)

ครั้งแรกนั้นซีเกทกะทุ่มทรัพยากรสู่สิงคโปร์ แต่หลังจากนั้นก็เบนเข็มสู่เมืองไทย หลังจากที่สืบรู้มาว่าค่าแรงเมืองไทยย่อมเยากว่าสิงคโปร์หลายเท่านัก คนในวงการคาดว่าซีเกทคงจะเจริญรอยตามความสำเร็จของเนชั่นแนล เซมิคอนดั๊กเตอร์ (เอ็นเอส) ผู้ฝังรกราก ณ ประเทศไทยกว่าทศวรรษแล้ว

เนื่องด้วยปี 2526 ที่ซีเกทมุ่งสู่เมืองไทยนั้น ซีเกทแทบจะเริ่มต้นจากศูนย์ในปีนั้น บุคลากรในระยะเริ่มแรกมีเพียง 50 คน ผู้รู้กล่าวว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงการตั้งไข่ของซีเกทเพื่อลงหลักปักฐานในเมืองไทยอย่างค่อนข้างถาวร

ปัญหาในระยะเริ่มแรกที่ซีเกทประสบนั้น "คือปัญหาบุคลากร" คนวงในเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้น

ซีเกทแก้ปัญหาโดย "การซื้อตัว"

คนซีเกทเล่าให้ฟังว่าพนักงานระดับหัวกะทิส่วนใหญ่จะถูกดึงตัวมาจากเอ็นเอสแทบทั้งสิ้น เช่น กานต์ โอสถานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการผลิตคนปัจจุบัน "เพราะตระกูลเขาใหญ่และสายสัมพันธ์กว้างขวางนอกเหนือจากฝีมือดีแล้ว" พนักงานระดับกลางของซีเกทคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

แผนการ "ซื้อตัว" ดูเหมือนจะเป็นแผนหลักในระยะเริ่มแรกเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็เริ่มประกาศรับพนักงานระดับวิศวกรและซูเปอร์ไวเซอร์ รวมทั้งพนักงานระดับปฏิบัติการขนานใหญ่หลังจากได้ควานหาหัวกะทิได้มากพอสมควรแล้ว

ช่วงเวลานั้นเหมือนกับจะเป็นปีทองของการแสวงหาพนักงานโดยแท้ เนื่องจากปลาย 2526 ต่อ 2527 เศรษฐกิจไทยตกต่ำ จำนวนคนว่างงานเหลือคณานับซึ่งรวมทั้งบัญฑิตเตะฝุ่นปริมาณมหาศาล พนักงานในระยะเริ่มแรกของซีเกทจึงเป็นพนักงานระดับยอดฝีมือ คนเหล่านี้ภายหลังได้รับการส่งเสริมให้เลื่อนตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง "เดี๋ยวนี้พวกเขากลาเป็นผู้จัดการไปแล้วแทบทั้งสิ้น" คนซีเกทกล่าว

ซีเกทจึงค่อนข้างจะสนุกสนานมากกับค่าแรงงานถูกจำนวนมากของเมืองไทยพนักงานหลายระดับได้รับการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะพนักงานระดับโอปอเรชั่นนั้น ถูกกดค่าแรงมาก "เมื่อเทียบกับผลงานของเรากับสิงคโปร์แล้ว ไทยเราดีกว่าสิงคโปร์มากแต่ค่าแรงต่ำกว่าหลายเท่าตัว" พนักงานที่เคยเห็นผลงานของทั้งสองประเทศวิจารณ์

พนักงานระดับโอปอเรชั่นได้รับค่าแรงเป็นรายวัน ในระยะเริ่มต้นวันละ 73 บาท แต่ถ้าผลงานดีมากและไม่มีการพักเลยจะได้เพิ่มขึ้นอีกวันละ 4 บาท ขณะที่ต้องทำงานอยู่ในโรงงานวันละ 8 ชั่วโมง บางวันอาจมีโอเวอร์ไทม์ก็โชคดีไป ถ้าต้องการจะให้ได้เดือนละสี่พันต้องทำโอเวอร์ไทม์จนไม่ลืมหูลืมตาเลยทีเดียว

วันเวลาเก่าๆ ของซีเกทกับการตักตวงผลประโยชน์จากแรงงานราคาถูกนับวันจะหมดไปแล้ว

ซีเกทกำลังเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับเอ็นเอสได้ประสบมาแล้ว นั่นคือปัญหามันสมองไหล

คนวงในเล่าให้ฟังว่าขณะนี้อัตราการลาออกในซีเกทมีปริมาณสูงมากแต่ยังไม่น่ากลัวนัก ทว่าที่น่าหวาดหวั่นคือปริมาณ TURN OVER แฝง "คือขณะนี้พนักงานจำนวนมากได้ลาหยุดไปสมัครงานบริษัทใหม่ที่จ่ายค่าแรงสูงกว่า" พนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์คนหนึ่งเล่า

บริษัทที่เป็นมารผจญซีเกทก็คือไมโครโปลิส

ไมโครโปลิสนั้นหากมองเพียงยอดขายแล้วดูจะห่างชั้นกับซีเกทมาก เพราะซีเกทมียอดขายเฉียดพันล้านไปไม่กี่ดอลลาร์ ส่วนไมโครโปลิสนั้นยอดขายยังไม่ถึง 300 ล้านด้วยซ้ำ แต่ไมโครโปลิสก็เป็นคู่แข่งกับซีเกทจนได้ เพราะไมโครโปลิสก็ต้องการต้นทุนต่ำเช่นกัน

ไมโครโปลิสจึงดำเนินแผนเช่นซีเกทนั่นคือการย้ายฐานการผลิตสู่เอเชียอาคเนย์ และไทยก็คือเป้าหมาย

ขณะนี้แผนการของไมโครโปลิสเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว และเริ่มรับสมัครงานแล้ว

คนในวงการกล่าวว่าที่ไมโครโปลิสจะทำให้ซีเกทกระอักก็คือ "ค่าตอบแทน" ที่สูงกว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับซีเกทแล้วค่าตอบแทนของไมโครโปลิสสูงกว่าซีเกทอย่างมากๆ "พนักงานระดับโปรดักชั่นเพียงแค่ไขสกรูอย่างเดียว 4,000 บาท" แหล่งข่าวคนหนึ่งเล่า

ขณะที่ซีเกทนั้นกว่าจะทำเงินได้เท่านี้ต้องอดตาหลับขับตานอนกระทั่งสุขภาพเสียไปก็มาก บางคนถูกโรคกระเพาะอาหารโจมตีอย่างรุนแรง

สำหรับพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์แล้วค่าตอบแทนยิ่งสูงขึ้นเป็นทับทวี

ขณะที่ซีเกทจ่ายเพียง 4,800 บาทต่อเดือน (ไม่รวมค่าครองชีพ) ไมโครโปลิสให้ถึง "8,000 บาทต่อเดือนถ้ามีประสบการณ์แล้ว 6,000 บาทสำหรับมือใหม่" พนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ผู้เชี่ยวชาญจากซีเกทคนหนึ่งเล่าให้ฟังเพื่อเปรียบเทียบให้ "ผู้จัดการ" เห็น

ซีเกทจึงประสบปัญหาปั่นป่วนอย่างมากๆ พนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์เตรียมการโยกย้ายกันขนานใหญ่ กระทั่งพนักงานระดับล่างๆ ก็ขยับจะโยกย้ายเช่นกัน ที่สำคัญก็คือไมโครโปลิสจะตั้งโรงงานใกล้ๆ กับโรงงานที่เป็นหัวใจของซีเกทด้วย "ตั้งแถวๆ รังสิต แว่วมาว่าอยู่แถวๆ ตรงข้ามหมู่บ้านสิวลี"

นอกจากไมโครโปลิสซึ่งผลิต HARD-DISC DRIVE แต่ตัวใหญ่กว่าแล้วยังมีบริษัท MINISCRIBE ซึ่งผลิต HARD-DISC DRIVE เช่นเดียวกัน ก็กำลังจะโยกย้ายมาประกอบในเมืองไทยเช่นกันเท่าที่ผมรู้มาคงจะตั้งไม่ไกลจากรังสิตนัก"

สงครามการแยกตัวพนักงานจึงรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และผู้ประสบชะตากรรมในครั้งนี้ก็คือซีเกท แต่ซีเกทคงไม่ท้อถอยแน่ "แต่เขาก็เสียวๆ เหมือนกัน" พนักงานผู้เตรียมตัวทิ้งซีเกทเล่า

ที่แน่ๆ ซีเกทคงหลีกเลี่ยงชะตากรรมนี้ไม่พ้น โธ่…ซีเกท!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.