ปรีชา ทิวะหุต นอกจากจะเป็นผู้บริหารระดับกลาง
ยังเป็นนักเขียนอีกด้วย มีงานเขียนมากมายหลายชิ้นตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจระดับโลกจนถึงแง่มุมทางจิตวิทยา
ความเป็นคนช่างคิดช่างเขียน มาจากพื้นฐานความเป็นคนชอบเรียนรู้และสะสมประสบการณ์
จบเศรษฐศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ทำกิจกรรมกลุ่มเศรษฐ-ธรรมรุ่นปี
2512
พอจบออกมาทำงานได้สองแห่ง ก็ไปเรียนต่อปริญญาโททางสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก
แล้วก็ลงเรียนวิชาสถิติภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน
กลับมาทำงานที่เมืองไทยได้อีกสองแห่งก็ยังฟิตไปเรียนปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยบอร์โดส์
ฝรั่งเศส แถมลงเรียนวิชาในสาขาเดิมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยเกรอในโนบเบลอะจบ
COURCE WORK ก็กลับมาทำงานที่เมืองไทย
"ผมอยากมีงานทำเลยไม่อยากเป็นดอกเตอร์ เพราะปริญญาตัวนี้ทำให้หางานยาก
คนเขาจะมองเราสูงเกินจริง" ปรีชาให้ทัศนะ
หากดูสายงานส่วนใหญ่ ปรีชาผ่านงานแบงก์ คือ เคยเป็นเศรษฐกรที่ธนาคารกรุงเทพ
เป็นผู้จัดการส่วนวางแผนการตลาดของธนาคารทหารไทย และเป็น ASSISTANT VICE
PRESIDENT ด้านสินเชื่อของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ความถนัดจึงน่าจะเป็นงานแบงก์ แต่ทว่าล่าสุดก่อนไปอยู่แบงก์มหานคร เขาอยู่ที่ซีพีระยะหนึ่งโดยเริ่มจากตำแหน่ง
FINASCIAL CONTROLLER ของซีพีที่เบลเยียม ต่อมาก็มาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในสต๊าฟงานของ
ดร. อาชว์ เตาลานนท์
ความจริงการได้ทำงานกับบริษัทยิ่งใหญ่อย่างซีพีเป็นสิ่งที่มืออาชีพใดก็ปรารถนา
แต่การตัดสินใจออกจากซีพีมาแบงก์มหานครของปรีชา น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนข้อสรุปที่ว่า
"สำหรับมืออาชีพ งานท้าทายคือสิ่งที่พวกเขาแสวงหา"
ซีพีเป็นธุรกิจที่มาถึงทุกวันนี้เรียกได้ว่า ลงตัวแล้วในด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการทำธุรกิจ
เพราะระบบมันเดินไปได้ดีอยู่แล้ว แต่ความที่ระบบมันใหญ่โต มีคนทำงานมากมาย
ทำให้โอกาสที่จะสร้างงานให้ปรากฏและก้าวไปข้างหน้ามีน้อยลง
แต่กับแบงก์มหานคร ที่นี่เปรียบเสมือนป้อมค่ายที่เพิ่งถูกตีแตกไปถึงสองครั้งสองคราในช่วง
2-3 ปีมานี้ ครั้งแรกประสบวิกฤติขาดทุนถึง 4,400 ล้านบาทในยุคที่ คำรณ เตชะไพบูลย์
คุมบังเหียนจนแบงก์ชาติต้องเข้ามาควบคุม
ภายหลังที่ สุนทร อรุณานนท์ชัย และทีมงานเข้ามาบริหารได้เพียง 10 เดือน
วิกฤติการณ์ครั้งที่สองก็เกิดขึ้นจากการขายหุ้นของแบงก์ 100 ล้านหุ้นโดยให้พนักงานแบงก์และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ช่วยกันขายและแบ่งค่าคอมมิชชั่นกัน
แต่หลังจากขายหมดสุนทรถูกพนักงานโวยวายหาว่าเอาเปรียบที่มีการหักภาษีในอัตราที่มากกว่าค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับ
และยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้รับผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นด้วย
ผลก็คือสุนทรและทีมงานยกขบวนออกทั้งชุด เล่นเอาแบงก์ชาติต้องดันให้ มาโนช
กาญจนฉายา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาสะสางมลทินเหล่านี้ในฐานะประธานกรรมการ
ประธานกรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ สามเก้าอี้เลยทีเดียว
"แบงก์นี้กำลังอยู่ในระหว่างที่ต้องเร่งสร้างรายได้ เราต้องระดมทุกทาง…ตอนที่ผมเดินเข้ามามีหนี้เสียเยอะ…เพราะฉะนั้นต้องทำให้มันหายเร็วๆ
…ต้องขยายสินเชื่อ" มาโนชกล่าวกับนิตยสารฉบับหนึ่ง
สภาพเช่นนี้แบงก์มหานครจึงต้องการกำลังคน ชนิดที่ว่ามีความสามารถอะไรก็งัดออกมาให้หมดไส้หมดพุง
นี่จึงเป็นแรงดึงดูดอันแรงกล้า ดึงเอามืออาชีพอย่างปรีชามาจนได้…
การมาของปรีชามีลักษณะเด่นตรงที่ หนึ่ง-เขามารับตำแหน่งผู้จัดการสำนักบริหารในอัตราเงินเดือนเท่ากับที่ได้ที่ซีพี
สอง-เขาไม่ใช่คนใหม่ที่แปลกหน้าของที่นี่ แต่เป็นคนใหม่ที่มีเพื่อนเก่าอยู่ที่นี่
"เป็นแผง"
ลักษณะเด่นเหล่านี้ทำให้เกิดข้อดีต่อการทำงานก็คือ ลดทอน "ความแปลกแยก"
ที่เขาต้องประสบกับคนมหานครไปได้มาก เพราะปรีชามาในฐานะคนทำงานธรรมดาคนหนึ่ง
ไม่ใช่มืออาชีพที่พอเข้ามาก็กระโดดข้ามหัวคนอื่นไปอย่างน่าเกลียด เรื่องแบบนี้ทำเอาผู้บริหารระดับสูงตกม้าตายมาหลายรายแล้ว
เพราะ "ไม่ได้รับความร่วมมือ"
ยิ่งไปกว่านั้นการได้ปรีชามาเสริม "ความเป็นแผง" กับเพื่อนเก่าของเขาที่นี่
ทำให้เขามีความมั่นใจกับบรรยากาศการทำงานที่เข้าขา และสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเพื่อนเก่าของเขาคือลูกหม้อของแบงก์ที่อยู่กับระบบงานมานาน
รู้ตื้นลึกหนาบางของกลไกการขับเคลื่อนแบงก์นี้กระจ่างดุจดูเส้นสายลายมือของตน
คนที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้คือมาโนช ซึ่งชาญฉลาดอ้าแขนรับปรีชาเข้ามา
"ผมเห็นว่าทีมงานก็ดีอยู่แล้ว พวกนี้เป็นคนเก่ามานานและงานที่อยู่ในมือของเขาก็คล่องตัวดีอยู่แล้ว
ถ้าหากผมเข้าไปแล้วต้องไปทะเลาะกับคนข้างใน ทำอย่างไรมันก็ไม่สำเร็จ เรื่องความสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญที่สุด"
มาโนชประเมิน "แผง" นี้กับนิตยสารฉบับหนึ่ง
ปรีชาเป็นโลหิตเม็ดใหม่ที่เพิ่มพูนความเข้มข้นขึ้นตลอดเวลา ทุกวันนี้เขายังต้องฝึกปรือวิทยายุทธ์กับเจ้านายเก่าๆ
ที่เขานับถือเป็นอาจารย์ใหญ่ ได้อาศัยประสบการณ์และบทเรียนมาศึกษาเพื่อปิดจุดอ่อนช่องโหว่ที่อาจพลั้งเผลอ
เรียกได้ว่าปรีชามีคุณสมบัติของความเป็น "ผู้นำ" ที่ดีเด่นประการหนึ่งซึ่ง
JOHN KOTTER เจ้าทฤษฎีบริหารแห่งฮาร์วาร์ดบิสสิเนสสคูลเขียนไว้ในงานชิ้นลือลั่นที่ชื่อ
THE LEADERSHIP FACTOR นั่นคือ ผู้นำควรมีข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางกับผู้คนในวงการธุรกิจ
และสามารถนำมาช่วยให้กลยุทธ์ธุรกิจของตนก้าวไปข้างหน้า
เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้ จึงกล่าวได้ว่าปรีชาเลือกมาถูกทางแล้ว วัย 40
ปีของเขาในตอนนี้ตรงกับคำกล่าวที่ว่า เป็นวัยที่เพิ่งจะเริ่มต้น
แต่เป็นการเริ่มต้นที่มั่นคง ฉากต่อๆ ไปของแบงก์มหานครคงไม่มีอุปสรรคใดๆ
ที่จะฟันฝ่าไปไม่ได้!