พลิกคัมภีร์ธุรกิจ 'สวนสนุก' อัดโปรโมชั่นดึงตลาดคนไทยเที่ยว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 เมษายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการแข่งขันธุรกิจการให้บริการความบันเทิงแม้จะไม่หวือหวามากนักเหมือนกับธุรกิจค้าปลีกทั่วไป เพราะด้วยข้อจำกัดของธุรกิจความบันเทิงที่ไม่สามารถใช้เงินท่องเที่ยวได้ทุกวัน กอปรกับการมีสินค้าเดิมๆเปิดให้บริการซึ่งกว่าจะถึงเวลาเปลี่ยนปรับโฉมใหม่ก็ต้องใช้งบลงทุนที่ค่อนข้างสูงตลอดจนช่วงระยะเวลายาวนานในการประกอบติดตั้งเครื่องเล่น

ที่ผ่านมากลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวประเภทครอบครัวซึ่งเป็นเป้าหมายหลักไม่ได้ลดน้อยลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการมีสถานที่ท่องเที่ยวประเภทให้ความบันเทิงกลับอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้คู่แข่งขันแต่ละค่ายที่เปิดให้บริการต่างเตรียมความพร้อมเพื่อแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดนี้เอาไว้ในมือให้ได้นานที่สุด

ณ วันนี้การขับเคลื่อนและปรับทัพองค์กรเริ่มมีให้เห็นกันอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะธุรกิจสวนสนุกที่ดูจะมีสีสันมากขึ้นเป็นพิเศษเพราะมีช่วงโอกาสที่จะสามารถโกยเงินได้ตลอดทั้งปี จึงไม่แปลกที่ปลายปี 51 จะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของ สวนสยาม และ ดรีมเวิร์ล ออกมาพร้อมอัดเม็ดเงินส่งเสริมการตลาดหวังดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้กลับเข้าไปใช้บริการ

ขณะเดียวกันม้านอกสายตาอย่าง'สยามโอเชียนเวิร์ล'แม้จะมีจุดขายที่ต่างกันด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่วางไว้ว่าเป็นอควาเลี่ยมใต้น้ำกลางเมืองกรุง แต่ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงกับกลุ่มเดียวกับธุรกิจให้ความบันเทิงอื่นๆดังนั้นจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาช่วงกว่า 3 ปี การปรับยุทธศาสตร์ของสยามโอเชี่ยนเวิร์ลยังคงมีออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจุดขายที่มีการนำสัตว์น้ำใต้ทะเลลึกมาให้ชมกันถึงใจกลางเมืองหลวง แต่ด้วยคอนเซปในช่วงแรกๆกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากด้วยราคาบัตรผ่านประตูต่อคนที่ค่อนข้างจะสูงลิบลิ่วนั่นเอง ส่งผลให้สยามโอเชี่ยนเวิร์ลจึงต้องปรับตัวหาแนวทางใหม่มาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับตลาด

การหาพันธมิตรธุรกิจร่วมจึงถูกหยิบนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงภาพยนตร์แบบ 4 มิติที่ลงทุนไปกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐร่วมกับบริษัท ซันโย (ไทยแลนด์) โดยมีการติดตั้งจอ 3 มิติ ระบบเสียง กลิ่น และเก้าอี้สั่นแบบเต็มรูปแบบ โดยมีราคาค่าบัตรเข้าชมรอบละ 250 บาทพร้อมจัดส่วนลดพิเศษขายพร้อมบัตรเข้าชมอุทยานสัตว์น้ำที่ราคาพิเศษ เพื่อหวังกระตุ้นยอดลูกค้าให้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มตลาดลูกค้าคนไทยที่ต้องการให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 แต่ลูกค้าก็ยังไม่เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย

สอดคล้องกับ มร. เจฟ ออลสัน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล กรุงเทพ จำกัด ที่พยายามตอกย้ำจุดยืนการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสาระบันเทิง (Edutainment) โดยเปิดกลยุทธ์เชิงรุกในการจัดกิจกรรมสันทนาการให้ลูกค้าได้สัมผัสอย่างต่อเนื่อง พร้อมการอัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดขบวนการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ให้ลูกค้ามีความรู้สึกดีกับค่ายธุรกิจ

ล่าสุด มีการเพิ่มงบประมาณประชาสัมพันธ์ตลอดปีนี้อีกกว่า 20% เพื่อทำโฆษณาผ่านสื่อทีวีสำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทย ส่วนชาวต่างชาติเน้นสื่อนิตยสารต่างประเทศ หรือทำตลาดผ่านเอเยนต์ทัวร์ โดยจะเน้นกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศน้อยลงจากเหตุการณ์ปิดสนามบินตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันมีการตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยเป็น 60% จากปัจจุบัน 50% และลดสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเหลือ 40% จากปัจจุบัน 50%

เมื่อปีที่ผ่านผู้ใช้บริการโอเชี่ยนเวิร์ลมีจำนวน 6-7 แสนคน ต่ำกว่าเป้าหมาย 15% ส่วนปีนี้มองสถานการณ์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศจากตะวันออกกลางเดินทางเข้ามามากขึ้น ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเดิม เช่น อังกฤษ ยุโรป และสแกนดิเนเวีย ยังมีการเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการปีนี้ 780,000 คน เพิ่มขึ้น 15%

ล่าสุด มีการนำ Mermaids' Magical World: มหัศจรรย์โลกเมอร์เมด การแสดงใต้น้ำสุดอลังการกลับมาเป็นตัวช่วยเสริมเพิ่มยอดลูกค้าในช่วงปิดเทอม โดยจัดแพ็กเกจพิเศษ เด็ก 490 บาท ผู้ใหญ่ 590 บาท เริ่มเปิดแสดง 27 มี.ค.-11 พ.ค.52

'สำหรับกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะมาชม Mermaids' Magical World: มหัศจรรย์โลกเมอร์เมด นั้นจะมุ่งเน้นเป็นกลุ่มครอบครัวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ ที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวตลอดช่วงปิดเทอม มร.เจฟ ออลสัน กล่าว

ว่ากันว่าธุรกิจให้ความบันเทิงไม่ว่าจะเป็นสวนสนุก และอะควาเรียมใต้น้ำ แม้ว่าภาพของการแข่งขันจะใช้จุดขายและโลเคชั่น ที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ด้วยกลุ่มเป้าหมายประเภทครอบครัวชัดเจนเหมือนกันต่างส่งผลให้สงครามการตลาดได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

ในแต่ละปีมูลค่าเม็ดเงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทที่ไหลเวียนเข้าสู่ธุรกิจสวนสนุกของเมืองไทยผสมกับยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีก 10% ในทุกๆปี เชื่อได้ว่าการมีอัตราการยอดรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสวนสนุกในเมืองไทยต้องปรับกระบวนยุทธ์เข้าฟาดฟันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจุดขายใหม่ประเภทเครื่องเล่นที่เริ่มเห็นภาพการแข่งขันที่ชัดเจนมากขึ้น

ปัจจุบันตลาดสวนสนุกในเมืองไทยจึงมีให้เห็นแบรนด์ใหญ่ๆเพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้นที่เปิดให้บริการด้านเครื่องเล่น ซึ่งที่ผ่านมาตำแหน่งทางการตลาดของ ดรีมเวิล์ด ดูจะชัดเจนในเรื่องของการใช้กลยุทธ์นำเครื่องเล่นมาเปิดให้บริการซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งโดยมียอดจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน

ส่งผลให้ปลายปีที่ผ่านมาต้องเปิดตัวเครื่องเล่นใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 รูปแบบ ด้วยงบกว่า 200 ล้านบาท มีทั้งแบบผาดโผนที่รองรับกลุ่มวัยรุ่น และแบบตื่นตาตื่นใจในความแปลกใหม่และสวยงามของพันธุ์ไม้ต่างๆ อย่าง สวนสี่ทวีป เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ

กอปรกับ อำพล สุทธิเพียร กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ สวนสนุกดรีมเวิลด์ บอกถึงแผนการทำตลาดปี 2552 ว่าจะเพิ่มงบประมาณในการทำตลาดอีกไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากที่ผ่านมาใช้งบการตลาดประมาณ 20-30 ล้านบาท สำหรับการเพิ่มเครื่องเล่นใหม่ รวมทั้งปรับปรุงบรรยากาศภายใน เพื่อฉลองครบรอบ 15 ปีของดรีมเวิลด์

'การทำโปรโมชั่นที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค โดยแพ็กเกจดังกล่าวถูกใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งการจัดทำกลยุทธ์ทางด้านราคานี้จะต้องพิจารณาตามช่วงเวลาและโอกาสที่เหมาะสม คงจะไม่ทำตลอดทั้งปี และถ้าช่วงไหนมีเครื่องเล่นเข้ามาใหม่ ก็จะไม่มีการลดราคา'อำพล กล่าว

การออกมาตอกย้ำแผนการตลาดที่สร้างความสำเร็จให้กับดรีมเวิลด์ครั้งนี้ กอปรกับปัจจุบันกระแสความต้องการของกลุ่มตลาดที่ชอบความท้าทายและความสนุกตื่นเต้นบนเครื่องเล่นแปลกใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่การแข่งขันทั้งผู้ประกอบการรายเก่าอย่าง สยามปาร์ค(สวนสยาม) ก็มีการปรับตำแหน่งทางการตลาดใหม่ด้วยการนำเครื่องเล่นมาลงใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการแย่งชิงตลาดธุรกิจสวนสนุกต่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ค่าย พัทยาปาร์ค ภายใต้ชื่อ วันเดอร์เวิล์ด ก็แต่งตัวเสร็จสรรพเปิดให้บริการเครื่องเล่นพร้อมประกาศขอแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุดเช่นกัน

อย่างไรก็ตามจุดขายของแต่ละค่ายที่ถูกนำไปใช้ฟาดฟันกันว่าด้วยเรื่องของกลยุทธ์ด้านกิจกรรมสันทนาการซึ่งให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมกิจกรรมพร้อมอัดโปรโมชั่นต่างๆออกมากระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดขบวนการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้มีความรู้สึกดีกับค่ายธุรกิจนั้นๆ

ดังนั้นสงครามตัดราคาของธุรกิจบันเทิงประเภทนี้จึงไม่ใช่ตัวแปรที่สำคัญของการแข่งขัน แต่จะให้ความสำคัญของยอดผู้เข้าไปใช้บริการมากกว่า สังเกตจากช่วงปีที่ผ่านมาเรื่องของราคาค่าผ่านประตูรวมถึงค่ากิจกรรมเครื่องเล่นแต่ละค่ายจะค่อนข้างสูง และการเลือกที่จะไปสถานที่ท่องเที่ยวแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายนั้นว่าตั้งใจจะไปชมสัตว์หรือต้องการไปเล่นเครื่องเล่น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.