เวนเจอร์แคปปิตอลไทย เกิดง่าย แต่โตคงยาก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

พูดถึงธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอล หลายคนคงมีปุจฉาขึ้นในใจว่า "เอะ มันคืออะไรกัน" ? ไม่แปลกที่เป็นเช่นนี้เพราะอันที่จริงแล้ว ธุรกิจนี้มันใหม่เอามากๆ ในสหรัฐอเมริกาเองที่เป็นต้นตำรับธุรกิจนี้ก็เพิ่งมีธุรกิจนี้มาเพียง 40 กว่าปีเท่านั้นเอง (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย) และเพิ่งจะมีการพัฒนากันอย่างจริงจังก็ต้นทศวรรษที่ 70 นี้เอง เมื่อตลาดซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาด (OVER-THE COUNTER) เป็นที่นิยมของนักลงทุน

ว่ากันว่ากลุ่มธุรกิจที่บุกเบิกธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน พอเอ่ยชื่อก็คงรู้จักกันทั่วไป เช่น พวกร็อคกี้ เฟลเลอร์, วิทนี่ย์ และฟิลิปป์ นั่นเอง

ส่วนในอังกฤษ กลุ่มผู้บุกเบิกก็พวกตระกูลร็อทไชลด์! ผู้รู้บางท่านให้ข้อสังเกตว่า เหตุที่ธุรกิจนี้ไม่ค่อยจะเติบโตเท่าไรนักในแถบยุโรปก็เพราะพวกประเทศแถบยุโรปมีข้อแตกต่างกันด้านภาษา กฎหมาย และประเพณีนิยมในเชิงธุรกิจ

แต่อุปสรรคข้อนี้ หลังปี 1992 ไปแล้วไม่แน่เหมือนกัน เพราะยุโรปจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว บางทีธุรกิจนี้อาจจะบูมเหมือนกับในสหรัฐซึ่งมียอดเงินลงทุนในธุรกิจต่างๆ สูงถึง 500,000 ล้านบาทก็ได้

ในเมืองไทยเราธุรกิจนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกลางปีที่แล้วนี้เอง ผู้บุกเบิกเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ได้แก่ ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงศรีฯ นครธน ไทยทนุ และเอเชีย โดยมี USAID ให้ความช่วยเหลือเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 4% /ปี จำนวน 80 ล้านบาท และที่เหลืออีก 80 ล้านบาท แบงก์พาณิชย์ 6 แห่งที่ว่าเฉลี่ยกันออก

รวมความว่าธุรกิจนี้ตั้งไข่ขึ้นในเมืองไทยด้วยเงินทุน 160 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ภายใต้ชื่อบริษัท ธนสถาปนา (BUSINESS VENTURE CAPITAL PROMOTION CO., LTD.) หรือ "BVP"

นอกจากบริษัทนี้ "ผู้จัดการ" ทราบว่าในอนาคตอันใกล้จะมีอีก 3 บริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจนี้อีกคือ บริษัท ไทยร่วมทุนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร (TAVC) ที่บริหารโดยกลุ่ม VENTANA บริษัทสีวี (ไทย) ที่บริหารโดยกลุ่มสีวี สิงคโปร์ และบริษัท VENTURE CAPITAL

เฉลียว สุวรรณกิติ กรรมการผู้จัดการธนสถาปนา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ปรัชญาของธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอลอยู่ที่การเข้าไปร่วมลงทุน (EQUITY PARTICIPATION) กับนักลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 125 ล้านบาท และไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยจะเลือกโครงการที่มีอนาคตดีและผลตอบแทนสูง

ตรงนี้ก็มีข้อสังเกตว่าโครงการที่ธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอลจะเข้าไปร่วมลงทุนนั้นขีดวงไว้เป็นโครงการขนาดกลางและเล่าเท่านั้น ซึ่งโดยธรรมชาติมักจะมีความเสี่ยงสูง ปัญหาก็มีอยู่ว่าโครงการที่ดีมีอนาคตดังว่า มีวิธีการสืบค้นหรือวิเคราะห์อย่างไรจึงพอจะคาดหมายได้ว่าดีหรือไม่ดี?

ในปุจฉาแรกเฉลียวเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เขาใช้วิธีสืบค้นและวิเคราะห์จากเครือข่ายข้อมูล และตัวบุคคลที่มีอยู่เป็นวิธีการสำคัญมากกว่าจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ประเมินผลได้ในโครงการ (PROJECT APPRAISAL) ที่แบงก์ชอบใช้

"ตอนที่บริษัทเราจะร่วมลงทุนกับบริษัท THAI CIRCUIT ผลิต PRINTED CIRCUIT BOARD ผมยังไม่รู้จักสินค้าตัวนี้เลยว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร? ผมสืบค้นโครงการนี้โดยวิธีไหว้วานให้อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ 3 ท่านมาเป็นที่ปรึกษาให้ความรู้กับผมตั้งแต่เรื่องเทคนิคของสินค้าไปจนถึงลู่ทางการตลาดของสินค้าตัวนี้ จนผมเข้าใจดี เสร็จแล้วก็ปรากฏผลว่าผมตัดสินใจร่วมลงทุน 30% เวลานี้ทราบว่าราคาหุ้นของบริษัทแห่งนี้ได้ถีบตัวขึ้นจาก 100 บาท เป็น 280 บาทแล้วในตลาดซึ่งขายนอกตลาดหลักทรัพย์" เฉลียวยกตัวอย่างให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงวิธีการสืบค้นพิเคราะห์การตัดสินใจร่วมลงทุนของบริษัทธนสถาปนา

ในขณะนี้ บริษัทธนสถาปนามีส่วนร่วมลงทุนในโครงการทั้งหมด 4 โครงการแล้วคือ โครงการผลิตไข่ผงของบริษัทผลิตภัณฑ์ไข่ผงแปดริ้วในสัดส่วน 5% ของวงเงินทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โครงการผลิต CIRCUIT BOARD ของบริษัท THAI-CIRCUIT ในสัดส่วนของทุน 30% โครงการผลิตผักผลไม้กระป๋องของบริษัท RIVER KWAI INTERNATIONAL ในสัดส่วน 25% ของทุน โครงการผลิต INTREGATED CIRCUIT ของบริษัท THAI MICRO SYSTEM TECHNOLOGY ในสัดส่วน 30% ของทุน

เฉลียวย้ำให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ธุรกิจเวนเจอร์แคปปิตอลเป็นกลไกสำคัญตัวหนึ่งในการสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมให้บังเกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อธุรกิจเกิดขึ้นก็ย่อมต้องมีเถ้าแก่เกิดขึ้นด้วยตามมา โดยบริษัทเวนเจอร์ แคปปิตอลจะไม่เข้าไปเป็นเถ้าแก่ด้วยเพราะ "เป้าหมายการเข้าไปร่วมลงทุนต้องการผลตอบแทนสูงสุดจาก CAPITAL GAIN ไม่ใช่เข้าไปยึดอำนาจการบริหารหรือทุน"

ทุกวันนี้ธุรกิจเวนเจอร์ แคปปิตอลในเมืองไทยเพิ่งอยู่ในระดับตั้งไข่วงเงินที่ลงทุนร่วมในโครงการมีไม่มากเพียง 30-40 ล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจเวนเจอร์ แคปปิตอล ในประเทศสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในออสเตรเลีย

ปัญหามีว่า ในอนาคตธุรกิจนี้มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตหรือไม่? มองในปัจจุบันมีอุปสรรคไม่น้อยเลยเพราะ

ข้อจำกัดของธุรกิจนี้ไม่เพียงแค่ในแง่การรับรู้ถึงความสำคัญของมันเท่านั้น ในหมู่นักลงทุนไทย แต่กินความรวมถึงวัฒนธรรมทางธุรกิจในบ้านเราด้วยที่ยังคงฝังรากลึกอยู่กับรูปแบบของครอบครัว มากกว่าการเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการเลือกลงทุนของบริษัทเวนเจอร์ แคปปิตอล

ด้วยเหตุนี้การตื่นตัวของนักลงทุนไทยที่จะมาชวนให้บริษัทเวนเจอร์ แคปปิตอลเข้าร่วมลงทุนในโครงการก็ดี หรือขอคำแนะนำหรือช่วยเหลือโครงการก็ดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นผลนัก ด้วยข้อจำกัดดังว่า

ตรงนี้เฉลียวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า ส่วนใหญ่นักลงทุนไทยจะนึกถึงความต้องการนี้ถึงแบงก์พาณิชย์ก่อนใครอื่นด้วยความเคยชิน และเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเปลี่ยนทัศนคตินี้ให้หันมาหาบริษัทเวนเจอร์ แคปปิตอล

แต่เฉลียวก็ยังมีความหวังอยู่ว่า เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง และบริษัทเวนเจอร์ แคปปิตอลแต่ละแห่งสามารถผนวกหรือร่วมประสานงานการให้บริการธุรกิจ (CO-BUSINESS) แก่นักลงทุนได้

ตรงจุดนี้ก็เป็นไปได้อย่างมากที่นักลงทุนอาจจะเปลี่ยนทัศนคติการลงทุนจากการที่พึ่งพิงแต่แบงก์พาณิชย์มาใช้ธุรกิจเวนเจอร์ แคปปิตอลมากขึ้นก็ได้

ก็ไม่รู้ว่าอีก 2 ปีข้างหน้าที่ครบกำหนดวาระสัญญาที่เฉลียวอยู่กับธนสถาปนา เขาจะได้เห็นความหวังนี้เป็นจริงหรือไม่?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.